ขิง ต้านหวัด

ขิง ต้านหวัด

ขิง ต้านหวัด

ขิง ต้านหวัด​
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale Rosc.
​“ขิง” เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายมานาน เห็นได้จาก ประเทศจีน ซึ่งเป็นชนชาติที่เก่าแก่ ก็ได้มีการใช้ประโยชน์จากขิง
แพทย์จีนโบราณจัดขิงเป็นพืชรสเผ็ดอุ่น มีฤทธิ์แก้หวัดเย็น ขับเหงื่อ บำรุงกระเพาะ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ลดคลอเลสเตอรอลที่สะสมในตับและเส้นเลือด
ในตำรับเภสัชของสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1985 จึงบรรจุขิง ทั้ง “ขิงสด” “ขิงแห้ง” และ “ทิงเจอร์ขิง” เป็นยาสมุนไพรแห่งชาติตัวหนึ่ง
แพทย์จีนโบราณจะใช้ประโยชน์จากขิงสดและขิงแห้งในแง่มุมที่ต่างกัน
.
โดยจะใช้ขิงแห้งในภาวะที่ขาดหยาง (ภาวะขาดหยาง คือ ภาวะที่ร่างกายมีอาการเย็น หนาวง่าย ทนต่อความเย็นได้น้อย การย่อยอาหารไม่ดี เป็นต้น)
.
จะใช้ขิงสดเมื่อต้องการกำจัดพิษที่เกิดจากการติดเชื้อภายในร่างกาย โดยการขับพิษออกมาทางเหงื่อ
ขิงสด ช่วยทำให้ร่างกายปรับสภาพในภาวะที่ร่างกายมีอาการเย็นได้เช่นเดียวกับขิงแห้ง ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
นอกจากนี้ ยังช่วยกำจัดพิษโดยการเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขับเสมหะ (สุภาภรณ์ ปิติพร. 2545)
สิ่งที่คนทุกมุมโลกใช้เหมือนกัน ก็คือ การใช้ในการแก้หวัด และแก้ไอ ซึ่งได้มีการศึกษาพบว่า “ขิง”
มีสารหลายชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และมีการทดลองพบว่า
น้ำขิงที่ได้จากการต้ม 30 นาที ช่วยกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจ (Macrophage) ที่มีหน้าที่ในการจับกินเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดีขึ้น
ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณค่าภูมิปัญญาอันเก่าแก่ในการใช้ประโยชน์จากขิง (Imanishi N et al, 2006)
มีการศึกษาประสิทธิผลของขิงต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีการศึกษาในสัตว์ทดลอง ทำการป้อนน้ำมันหอมระเหยขิง ผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าน้ำมันหอมระเหยจากขิงมีผลต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันผ่านเซลล์ T lymphocyte ซึ่งอาจมีประโยชน์ในทางคลินิก เช่น การอักเสบเรื้อรังและโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Zhou HL, et al. 2006)
มีการทดลองโดยใช้ขิงแห้งและขิงสดมาทำเป็นเครื่องดื่มน้ำขิงร้อน เพื่อทดสอบกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัสอาร์เอสวี (Human Respiratory Syncytial Virus) ผลลัพธ์พบว่าน้ำขิงที่ได้จากขิงสดมีประสิทธิผลต่อต้านการสะสมของเชื้อไวรัสบริเวณเยื่อบุผิวทางเดินหายใจด้วยการป้องกันการยึดเกาะ หรือป้องกันการแพร่ของไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายได้ (Chang JS, et al. 2013)
. ขิง จึงเป็นสมุนไพรแนะนำสำหรับการใช้เป็นเครื่องดื่มในช่วงหวัดโควิดระบาดนี้ เพราะขิงเป็นสมุนไพรที่หาง่าย มีความปลอดภัยสูง ใช้กันมานาน คนทั่วไปคุ้นเคย กินง่าย ทำได้เอง
ปัจจุบันขิงบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และองค์การอนามัยโลกรับรองในการรักษาหวัด
ข้อจำกัดในการกินขิงปริมาณสูง
– ในหญิงตั้งครรภ์
– ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี
– ในผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาฟาริน
ในกรณีที่เป็นหวัด น้ำขิงที่ต้มเองจะดีที่สุด
Reference
สุภาภรณ์ ปิติพร. ขิง : ยาดีที่โลกรู้จัก. นิตยสารหมอชาวบ้าน 2545. เดือน พฤศจิกายน เล่มที่ 283.
Chang JS, et al. Fresh ginger (Zingiber officinale) has anti-viral activity against human respiratory syncytial virus in human respiratory tract cell lines. J Ethnopharmacol 2013;145(1):146-51.
Imanishi N, et al. Macrophage-mediated inhibitory effect of Zingiber officinale Rosc, a traditional oriental herbal medicine, on the growth of influenza A/Aichi/2/68 virus. Am J Chin Med 2006;34(1):157-69.
Zhou HL, et al. The modulatory effects of the volatile oil of ginger on the cellular immune response in vitro and in vivo in mice. J Ethnopharmacol 2006;105(1-2):301-
SHARE NOW

Facebook Comments