คู่มือมนุษย์

คู่มือมนุษย์

สพฺพทานํง ธมฺมทานํ ชินาติ
ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง


คู่มือมนุษย์

สพฺพทานํง ธมฺมทานํ ชินาติ
ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง
ความในใจของผู้จัดทำ
สารบัญ
คำอนุโมทนา
คำชี้แจงขององค์การฟื้นฟูพุทธศาสนา เกี่ยวกับคู่มือมนุษย์
ทำไมข้าพเจ้าจึงต้องพยายามเป็นมนุษย์ให้ได้
ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน?
พุทธศาสนามุ่งชี้อะไรเป็นอะไร
ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง (ไตรลักษณ์)
อำนาจของความยึดติด (อุปาทาน)
สิ่งที่รู้จักยากที่สุด
คำอนุโมทนา
(เกี่ยวกับคู่มือมนุษย์ )

ตามที่คุณปุ่น จงประเสริฐ ผู้ก่อตั้งองค์การฟื้นฟูพุทธศาสนา ได้ย่นใจความ และตัดทอนคำ
ไม่จำเป็น ในคำบรรยายหลักพระพุทธศาสนา เล่ม ๑ แห่งชุดตุลาการิกธรรม ของข้าพเจ้าให้เหลือ
รัดกุม และเปลี่ยนแปลงถ้อยคำจากคำวัดๆ มาเป็นคำบ้านๆ เพื่อสะดวกแก่ผู้ที่ไม่คุ้นกับภาษาวัด
โดยเฉพาะ คือภาษาบาลี ดังที่ปรากฏเป็นหนังสือเล่มนี้ เพื่อเผยแพร่ไปในหมู่คนที่หาเวลาว่างได้ยาก
แล้วจัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ ในนามขององค์การฟื้นฟูพุทธศาสนา โดยวิธีชักชวนผู้มีศรัทธาบางท่าน
หรือบางพวก บางคณะให้ช่วยกันออกทุนจำนวนหนึ่งๆ จัดพิมพ์ขึ้นแจกจ่าย ไม่มีการจำหน่าย
ที่เป็นการมุ่งค้าหากำไร เพื่อให้เป็นการช่วยกัน เผยแพร่ธรรม ตามที่ข้าพเจ้าแสดงอย่างกว้างขวาง
ออกไปอีกทางหนึ่งนั้น ข้าพเจ้าได้พิจารณาถึงเจตนาดี และการกระทำอันนี้แล้ว ขออนุโมทนาในการ
กระทำ ของบรรดาท่านทั้งหลายนี้ ด้วยเป็นอย่างสูง
ข้าพเจ้าขอแสดงความหวังอย่างยิ่งไว้ในที่นี้ด้วยว่า หนังสือเล่มนี้จักเป็นบันไดขั้นต้น
หรือเป็นหนังสือเล่มแรกที่ถ้าได้ศึกษาให้ละเอียดลออแล้ว จะสะดวกแก่การศึกษาธรรมะ
ในขั้นสูงเรื่องอื่นๆ ที่ข้าพเจ้าเคยแสดงไว้ในที่ต่างๆ สืบไปโดยแน่นอน
โมกขพลาราม ไชยา
๒ มกราคม ๒๕๐๑

คำชี้แจงขององค์การฟื้นฟูพุทธศาสนา
เกี่ยวกับคู่มือมนุษย์

ในบรรดาหนังสือธรรมะราว ๕๐ เล่ม ขององค์การฟื้นฟูพุทธศาสนา หนังสือ “คู่มือมนุษย์”
ได้รับความนิยมชมชอบจากชาวพุทธอย่างกว้างขวางมากที่สุด ถึงกับมีผู้นำเอาไปแปลเป็น
ภาษาต่างประเทศ เช่น ในสิงคโปร์ อเมริกา สาว และในประเทศไทยเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่า
ท่านพุทธทาสได้บรรยาย เรื่องอันสำคัญที่สุด ที่มนุษย์ทุกคนควรจะรู้ และควรจะ
ปฏิบัติตามให้ได้ จึงจะไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา หากท่านผู้ใด
ไม่มีเวลาอ่านหนังสือธรรมะเล่มอื่นๆ ก็ขอให ้หาโอกาสอ่าน “คู่มือมนุษย์” อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง
ยิ่งได้อ่านเร็วเท่าใดก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของท่านเร็วมากขึ้นเท่านั้น เพราะท่านจะได้รู้เคล็ดลับ
ของการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขทางใจ ไม่ว่าชาวโลกเขาจะวุ่นวาย
กันไปอย่างไร ทั้งนี้ก็เนื่องจากหลักธรรมที่แสดงไว้ในหนังสือเล่มนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้พบกับ
ความเป็นอิสระทางใจอย่างแท้จริง ซึ่งท่านไม่เคยได้พบมาก่อน
หนังสือเล่มนี้จะชี้ให้เห็นด้วยว่า พุทธศาสนาที่แท้นั้นพระพุทธเจ้าเริ่มสอนเรื่องอะไร
และผลของการปฏิบัติตามคำสอนจะเป็นอย่างไรในที่สุด หากคำสอนของผู้ใดผิดไปจากหลักที่
อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้ถือได้ว่านั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ปุ่น จงประเสริฐ
องค์การฟื้นฟูศาสนา

ทำไมข้าพเจ้าจึงต้องพยายามเป็นมนุษย์ให้ได้?!

คนไม่มีศาสนา แม้ว่าบิดา มารดาและบรรพบุรุษของข้าพเจ้าจะนับถือพุทธศาสนา
เมื่อเยาว์วัย ข้าพเจ้าก็เคยไปวัดทำบุญไหว้พระกับท่าน แต่ก็ไม่รู้ความหมายของการกระทำนั้น
เลย แต่เมื่อข้าพเจ้าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าศาสนาไม่จำเป็นแก่คนเราเลย โดยคิด
ว่าคนเราหากมีเงินเพื่อซื้อหาสิ่งที่ตนปรารถนาก็เป็นการเพียงพอแล้ว และยังเห็นไปว่า หากไปมี
ศาสนาเข้า จะเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่โดยไม่จำเป็นเลย ข้าพเจ้าจึงกลายเป็นคนไม่มีศาสนา
อยู่ระยะหนึ่ง

คนเราเกิดมาทำไม? ต่อมาข้าพเจ้าเกิดความคิดขึ้นว่า คนเรานี้ไม่เห็นมีอะไร วันหนึ่งๆ
เช้าขึ้นก็ กิน-ทำงาน-เที่ยวเตร่-เสพกาม-นอน ซ้ำๆ ซากๆ ไม่เห็นมีแก่นสารอะไรเลย ถ้าเช่นนั้น
คนเราเกิดมาทำไม? ทุกวันนี้คนเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรกันแน่? ข้าพเจ้าตั้งปัญหาถามตนเองและ
ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เช่นว่า ชีวิตคืออะไร? ทำอย่างไร? จึงจะได้หรือพบสิ่งที่ชีวิตต้องการนั้น? แต่ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถตอบปัญหาชีวิตดังกล่าวได้
“คู่มือมนุษย์” ของท่านพุทธทาสภิกขุ ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๑ ข้าพเจ้าโชคดีอย่างประหลาดที่
ได้พบหนังสือเล่มนี้ ชื่อแปลกดี “คู่มือมนุษย์” มนุษย์จำต้องมีคู่มือด้วยหรือ? ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์
หรือเปล่า? ขณะนั้นข้าพเจ้าเข้าใจเอาง่าย ๆ ว่า คนคือมนุษย์ มนุษย์ก็คือคน ไม่ต่างกัน (ซึ่งความจริงต่างกันไกล) ข้าพเจ้าได้อ่านเพียงจบแรก ข้าพเจ้าก็ได้แนวคำตอบในปัญหาชีวิต
ดังกล่าวเป็นแนวลางๆ ขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อได้อ่านเที่ยวต่อๆ ไป คำตอบในปัญหาชีวิตดังกล่าว
ก็กระจ่างขึ้นทุกที

คุณค่าของศาสนาหรือธรรมะ เมื่อข้าพเจ้าได้ศึกษา “คู่มือมนุษย์” และงานของท่าน
พุทธทาสภิกขุมาพอสมควร ข้าพเจ้าจึงรู้ว่า เดิมข้าพเจ้าเป็นอะไรก็บอกไม่ถูก แต่ก็เหมือนกับ
สัตว์เดรัจฉานอยู่ ๔ ประการ คือ รู้จักแต่เรื่องกลัว-กิน-นอน-เสพกาม และคิดอยู่แต่เรื่อง
ทรัพย์สินเงินตรา และอุปกรณ์ให้ได้สิ่งดังกล่าวเท่านั้น แต่เมื่อข้าพเจ้าได้ศึกษาธรรมะ จึงทราบ
ว่า ทรัพย์เป็นเพียงเครื่องนำมาซึ่งความปลื้มใจแบบชาวโลกเท่านั้น แต่ไม่ทำให้คนแตกต่าง
จากสัตว์เดรัจฉาน

มนุษย์คือใคร? มนุษย์คือผู้มีใจสูง ชนิดที่กิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิด
ทุกข์ ท่วมทับไม่ได้ เมื่อท่วมทับไม่ได้ เขาผู้มีใจสูงก็เป็นผู้ชนะทุกข์ หรือปราศจากทุกข์โดยสิ้นเชิง
ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้นั้นก็คือ ความไม่มีทุกข์โดยเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์นั่นเอง

ท่านพุทธทาสชุบชีวิตข้าพเจ้า เพราะท่านทำให้ข้าพเจ้าพ้นจากความเป็นสัตว์เดรัจฉาน
พ้นจากการทำลายชีวิตตนเอง ตลอดจนพ้นทุกข์จากทุกสิ่ง ที่ข้าพเจ้าและทุกชีวิตไม่พึงปรารถนา
ท่านทำให้ข้าพเจ้าได้พบแนวทางชีวิตที่ถูกต้อง กล่าวคือ มุ่งไปสู่ความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์
ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าจึงบูชาท่านอย่างสูงสุดและจริงใจ
บัดนี้ ข้าพเจ้าภาคภูมิใจอย่างเหลือเกิน ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์สมตามความหมายของคำๆ นี้ และได้พบพระพุทธศาสนา หรือแนวทางชีวิตดังกล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าก็เสียชาติเกิด

วิโรจน์ ศิริอัฐ
ประธานมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ

ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน?
ถ้าเราเปิดหนังสือทุกเล่มที่เขียนกันในสมัยปัจจุบันอันว่าด้วยต้นเหตุของการเกิดศาสนา
แล้วจะเห็นว่าเขาเขียนไว้เหมือนๆกัน ตรงกันที่ว่าคนป่าดั้งเดิมกลัวฟ้าผ่าฟ้าร้องกลัวความมืด
กลัวพายุ กลัวสิ่งต่างๆที่อยู่เหนือความเข้าใจหรือความต้านทานของคนป่าเหล่านั้นและวิธี
ที่จะหลบหลีกอันตรายก็คือต้องแสดงอาการยอมแพ้หมอบกราบอ้อนวอนบูชาแล้วแต่คนฉลาด
ที่สุดในสมัยนั้นเห็นว่าจะต้องทำตามที่ตนนึกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผีเหล่านั้นจะชอบใจ
นี่นับว่า ศาสนาเกิดขึ้นมาในโลกด้วยอำนาจของความกลัวและมีการปฏิบัติไปด้วยความกลัว
ความกลัวของคนชั้นหลังๆ
เลื่อนสูงขึ้นมาถึงกลัวความทุกข์
ชนิดที่อำนาจทางวัตถุช่วยไม่ได้
เช่น ความเกิดแก่ เจ็บ ตาย
ความหม่นหมองมืดมัวเพราะ
อำนาจของความอยากความโกรธ
ความหลงผิด
ถึงแม้คนเราจะมีอำนาจหรือเงินทองสักเท่าไหร่ก็ไม่สามารถระงับอาการอันโหดร้ายของความทุกข์
เหล่านั้นได้ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่เจริญด้วยนักคิดนักค้นคว้าผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย
จึงได้ละทิ้งการไหว้บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาทำการค้นคว้าหาวิธีเอาชนะความเกิดแก่ เจ็บ ตายหรือเอาชนะความอยากความโกรธ ความหลงผิดให้ได้นี่นับว่าเป็นบ่อเกิดของศาสนาที่สูง
ขึ้นไปในทางปัญญาในที่สุดก็ได้พบวิธีที่จะเอาชนะความเกิดแก่ เจ็บ ตายหรือเอาชนะกิเลส
ต่างๆ ได้
สำหรับพระพุทธศาสนาก็มีมูลมาจากความกลัวแบบหลังนี้เหมือนกันพระพุทธเจ้าเป็นผู้พบวิธี
ที่จะเอาชนะสิ่งที่คนกลัวได้เต็มตามความประสงค์และเกิดวิธีปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์ชนิดที่เรียกว่า
พระศาสนา พุทธศาสนาแปลว่า ศาสนาของผู้รู้เพราะ พุทธะแปลว่าผู้รู้คือรู้ความจริงของ
สิ่งทั้งปวงได้ถูกต้องเพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญาหรืออาศัยวิชา
ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น
การทำพิธีรีตองเพื่อบูชาบวงสรวงอ้อนวอนบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่ใช่พุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าไม่รับเข้ามาไว้ในศาสนาของพระองค์เลยเพราะเป็นสิ่งที่น่าขบขันน่าหัวเราะและ
ถือเอาเป็นที่พึ่งแท้จริงไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง
มีคำกล่าวในพระพุทธศาสนา”ความรู้ความฉลาด และความสามารถที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์
นั่นแหละ เป็นตัวฤกษ์ที่ดีอยู่ในตัวมันเองแล้วดวงดาวในท้องฟ้าจะทำอะไรได้ประโยชน์ที่ควร
จะได้ก็ผ่านพ้นคนโง่ๆที่มัวแต่นั่งคำนวณดวงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น”ดังนี้ และว่า”ถ้าน้ำ
ศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำคงคาฯลฯ จะทำให้คนหมดบาปหมดทุกข์ได้แล้วพวกเต่า ปูปลา หรือหอย
ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำหรือสระศักดิ์สิทธิ์นั้นก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน”
หรือ “ถ้าหากว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงบูชาอ้อนวอนเอาๆแล้ว ในโลกนี้
ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลยเพราะว่าใครๆต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น”
โดยเหตุที่ยังมีคนที่มีความทุกข์ทั้งที่ได้กราบไหว้บูชาหรือทำพิธีรีตองต่างๆอยู่ จึงถือว่าไม่เป็น
หนทางที่จะเอาตัวรอดได้ฉะนั้นเราจะต้องพิจารณาโดยละเอียดลออให้รู้ให้เข้าใจว่าอะไรเป็น
อะไร แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆให้ถูกต้อง
พุทธศาสนาไม่ประสงค์การคาดคะเนหรือทำอย่างที่เรียกว่าเผื่อจะเป็นอย่างนั้นเผื่อจะเป็น
อย่างนี้เราจะทำไปตรงๆตามที่มองเห็นด้วยปัญญาของตัวเองโดยไม่ต้องเชื่อคนอื่นแม้จะมี
คนอื่นมาบอกให้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเชื่อเขาทันทีเราจะต้องฟังและพิจารณาจนเห็น
จริงว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้แล้วจึงจะเชื่อและพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง
ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยมดูเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่งดูอีกเหลี่ยมหนึ่งก็เป็นไป
อีกอย่างหนึ่งแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหนก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะ
ที่แตกต่างกันได้แม้พุทธศาสนาก็ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้
คนเราย่อมเชื่อความคิดเห็นของตัวเองเพราะฉะนั้นความจริงหรือสัจจะสำหรับคนหนึ่งๆนั้น มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจและมองเห็นเท่าไรเท่านั้นเองสิ่งที่เรียกว่า”ความจริง”ของแต่ละคน
ไม่เหมือนกันคนเราเข้าถึงปัญญาหนึ่งๆได้ตื้นลึกกว่ากันหรือด้วยลักษณะที่ต่างกันและด้วย
สติปัญญาที่ต่างกันสิ่งใดที่อยู่เหนือสติปัญญาความรรู้ความเข้าใจของตนหรือตนยังไม่เข้าใจ
คนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความจริงของเขาถ้าเขาจะพลอยว่าจริงไปตามผู้อื่นเขาก็รู้สึกอยู่แก่ใจว่า
ไม่เป็นความแท้ความจริงของเขาเลย
ความจริงของคนหนึ่งๆนั้น จะเดินคืบหน้าได้เสมอตามสติปัญญาความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น
ทุกๆ วัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้ายคนเราก็มีการศึกษามาต่างกันและมีหลักพิจารณา
สำหรับจะเชื่อต่างๆกัน ฉะนั้น ถ้าจะเอาสติปัญญาที่ต่างกันมาดูพุทธศาสนาก็จะเกิดความคิด
ความเห็นต่างกันไปทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไรๆครบทุกอย่างที่จะให้คนดู
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วพุทธศาสนาคือวิธีปฏิบัติเพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์โดยการทำให้รู้
ความจริงว่าอะไรเป็นอะไรตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อนและได้ทรงสอนไว้
แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไรๆเพิ่มขึ้นได้ทุกโอกาสที่คนชั้นหลังเขาจะเพิ่มเติมลงไป
พระไตรปิฎกของเราก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกันคนชั้นหลังๆเพิ่มเติมข้อความเข้าไป
ตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับยุคนั้นๆเพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้นๆหรือกลัวบาปรักบุญ
มากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่
แม้แต่พิธีรีตองต่างๆที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆน้อยๆ ก็พลอย
ถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพชเช่น การจัดสำรับคาวหวานผลหมากรากไม้
เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระเป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้
ตามหลักของพุทธศาสนาแต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนาและได้สอนกัน
ถือกันอย่างเคร่งครัด
พิธีรีตองต่างๆทำนองนี้ ได้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมากมายจนห่อหุ้ม
ของจริง หรือความมุ่งหมายเดิมให้สาปสูญไปขอยกตัวอย่างเช่น
ในเรื่อง การบวชนาคก็เกิดพิธีทำขวัญนาคเชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดู
กันอย่างเมามายเอิกเกริกทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้านบวชไม่กี่วัน
ก็สึกออกมาแล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี
นี่ขอให้คิดกันดูเถิดว่าสิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น
การบวชสมัยพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่าบุคคลใดที่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้วก็ปลีกตัว
จากเรือนเป็นคนที่ทางบ้านตัดบัญชีทิ้งได้ไปอยู่กับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์โอกาสเหมาะสม
เมื่อไรท่านก็บวชให้โดยมิได้พบหน้าบิดามารดาญาติพี่น้องเลยจนตลอดชีวิตก็ยังมีแม้บางรายจะ
มีกลับมาเยี่ยมบิดามารดาบ้างก็ต่อโอกาสหลังซึ่งเหมาะสมแต่ก็มีน้อยเหลือเกินในพุทธศาสนามี
ระเบียบว่ามาบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลสมควรและพึงทราบไว้ด้วยว่าพวกที่บวชนั้นไม่ได้เวียนมา
บ้านไม่ได้ บวชในที่ต่อหน้าบิดามารดาไม่ได้ ฉลองกันเป็นการใหญ่แล้วไม่กี่วันสึกสึกแล้วก็ไม่มี
อะไรดีขึ้นกว่าเดิม อย่างที่เป็นกันอยู่ในเวลานี้
เราหลงเรียกการทำขวัญนาคและการทำพิธีต่างๆตลอดถึงการฉลองอะไรๆเหล่านั้น ว่าเป็น
พุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่งจนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า
พุทธศาสนาใหม่ๆอย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่งธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมา
แต่ก่อนนั้นถูกห่อหุ้มโดยพิธีรีตองจนมิดเกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไปเช่นการบวชก็กลายเป็น
เรื่องสำหรับแก้หน้าเด็กหนุ่มๆที่ถูกหาว่าเป็นคนดิบหาเมียยากอะไรเหล่านี้เป็นต้นในบางถิ่น
บางแห่ง ถือเป็นโอกาสสำหรับรวบรวมเงินที่มีผู้นำมาช่วยเป็นการหาทางา่ำรวยเสียคราวหนึ่ง
ถึงอย่างนั้นเขาก็เรียกว่าพุทธศาสนา ใครไปตำหนิติเตียนเข้าก็ถูกหาว่าไม่รู้จักพุทธศาสนา
หรือทำลายศาสนา
อีกเรื่องหนึ่งตัวอย่างเช่นกฐิน พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายจะให้ภิกษุทำจีวรเป็นด้วยตนเอง
ด้วยกันทุกรูปและให้พร้อมเพรียงกันทำด้วยมือของตัวเองในเวลาอันรวดเร็วถ้าผ้าที่ช่วยกันทำ
นั้นมีผืนเดียวก็มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าอาวาส
แต่เป็นภิกษุซึ่งหมู่สงฆ์เห็นว่ามีคุณสมบัติสมควรที่จะใช้จีวรผืนนั้นได้หรือขาดแคลนผ้าจะใช้
สอยให้เป็นผู้ใช้สอยจีวรผืนนั้นได้ในนามของสงฆ์ทั้งหมด
พระองค์ทรงมุ่งหมายจะให้พระทุกรูปหมดความถือเนื้อถือตัวไม่ว่าจะเป็นพระผู้น้อยสมภาร
เจ้าวัดหรือพระผู้ใหญ่มีศักดิ์มีเกียรติอะไรก็ตามต้องลดตัวลงมาเป็นกุลีกันหมดในวันนั้นเพื่อ
จะมาระดมกันกะผ้าตัดผ้าเย็บผ้าต้มแก่นไม้ทำสีย้อมผ้าและอะไรๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้จีวรนั้น
สำเร็จได้ในวันนั้นเพราะเป็นการรวบรวมเอาเศษผ้ามาต่อกันเป็นจีวรพระพุทธเจ้าท่านทรง
มุ่งหมายให้สิ่งที่เรียกว่ากฐินเป็นอย่างนั้นคือไม่ต้องไปเกี่ยวกับฆราวาสเลยก็ได้แต่เดี๋ยวนี้กฐิน
กลายเป็นเรื่องมีไว้สำหรับประกอบพิธีหรูหราหาเงินเอิกเกริกเฮฮาสนุกสนานพักผ่อนหย่อนใจ
โดยไม่ได้รับผลสมความมุ่งหมายอันแท้จริงแต่กลับใช้เวลามากเปลืองเงินมากยุ่งยากมาก
จนกลายเป็นโอกาสสำหรับสำมะเลเทเมาคือไปทอดกฐินเพื่อกินเหล้ากันปลาเล่นไพ่เฮฮากัน
อย่างสนุกสนานหรือไม่ก็มุ่งหน้าหาเงินกันเท่านั้น
พุทธศาสนาเนื้องอกทำนองนี้ มีขึ้นใหม่ๆมากมายหลายร้อยอย่างโดยไม่ต้องระบุชื่อเพราะมาก
จนระบุไม่ไหวแต่อยากจะให้เชื่อว่า”พุทธศาสนาเนื้องอก”เป็นเนื้อร้ายชนิดหนึ่งซึ่งงอกขึ้นๆ จน
ปิดบังห่อหุ้มเนื้อดีหรือแก่นแท้ของพุทธศาสนาให้ค่อยๆลบเลือนไป ด้วยเหตุฉะนี้แหละ
สิ่งที่เราเรียกว่าพุทธศาสนาๆจึงมีเพิ่มขึ้นมากมายหลายประเภทจากตัวแท้ของศาสนาที่มีอยู่
ดั้งเดิม เกิดเป็นนิกายใหญ่และนิกายย่อยๆอีกตั้ง ๒๐-๓๐นิกาย ที่กลายเป็นนิกายตันตระ
ที่เนื่องกับกามารมณ์ไปก็มีจำเป็นที่จะต้องแยกแยะให้รู้ตักตัวพุทธศาสนาเดิมแท้ไว้เสมอ
จะได้ไม่หลงงมงายยึดถือเปลือกที่หุ้มภายนอกหรือติดแน่นในพิธีรีตองต่างๆจนกลายเป็นการ
ประพฤติผิดไปจากความมุ่งหมายเดิมที่ถูกต้องยิ่งขึ้น
พวกเราเองจะไปอ้างเอา “พุทธศาสนาเนื้องอก” มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้ หรือ คนใน
ศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอกเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่อย่างน่าบัดสีอย่างน่าละอายว่าเป็นพุทธศาสนา
ก็ไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่เป็นการยุติธรรมเพราะสิ่งนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา แต่เป็น”เนื้องอก” พวกเราที่
จะช่วยกันจรรดลงพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา
เองก็ตาม จะต้องรู้จักจับฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นเนื้อร้ายเนื้องอกดังที่
กล่าวมาแล้ว
แม้พุทธศาสนาตัวแท้ก็ยังมีหลายแง่หลายมุม ที่จะทำให้เกิดการจับฉวยเอาไม่ถูกความหมายที่แท้
ของพระพุทธศาสนาก็ได้
ถ้ามองด้วยสายตาของนักศีลธรรม ก็จะเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศีลธรรม(Moral) เพราะ
มีกล่าวถึงบุญบาป ความซื่อตรง ดีชั่ว ความกตัญญูกตเวที ความสามัคคี ความเป็นคนที่เปิดเผย
ตัวเอง และอะไรต่างๆ อีกมากมาย ล้วนแต่มีอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งนั้น แม้ชาวต่างประเทศก็มองดู
ในส่วนนี้อยู่มากหรือว่าชอบพุทธศาสนาเพราะเหตุนี้ก็มีอยู่มาก
พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจจธรรม (Truth) คือ กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับ
นอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเห็นได้ ส่วนนี้ก็ได้แก่ความรู้เรื่องความว่างเปล่าของ
สรรพสิ่งทั้งปวง (สุญยตา) เรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเป็นทุกข์(ทุกขัง) ความไม่ใช่
ตัวตน(อนัตตา) หรือเรื่องการเปิดเผยว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับ
สนิทของทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ในฐานะเป็นความจริง
อันเด็ดขาดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (อริยสัจจ์) ซึ่งทุกคตนควรจะต้องรู้ นี้เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะ
เป็นสัจจธรรม
พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) คือส่วนที่เป็นตัวระเบียบปฏิบัติ ซึ่งได้แก่ ศีล
สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่าเมื่อใคร
ปฏิบัติแล้วจะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ได้จริง นี่เรียกว่า พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศาสนา
เรายังมี พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา (Psychology)เช่น คัมภีร์พระไตรปิฎกภาคสุดท้าย
กล่าวถึงลักษณะของจิตไว้กว้างขวางอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงงันและน่าสนใจแก่นักศึกษา
ทางจิตแม้แห่งยุคปัจจุบัน เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดได้ว่าแยบคายหรือลึกลับกว่าความรู้
ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบันไปเสียอีก
พุทธศาสนายังมีเหลี่ยมความรู้ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรัชญา (Philosophy) คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้อง
อาศัยการคำนึงคำนวณไปตามหลักแห่งการใช้เหตุผลแห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง แต่
ถ้าเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือด้วยการพิสูจน์ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย “ตาใน”
คือญานจักษุก็ตาม เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ (Science) ได้ ความรู้อันลึกซึ้ง เช่นเรื่องสุญญตาย่อม
เป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันทีสำหรับผผู้ที่
บรรลุธรรมแล้ว เช่น พระอรหันต์ เพราะท่านได้เห็นแจ้งประจักษ์แล้วด้วยจิตใจของท่านเองไม่ต้อง
คำนึงคำนวณตามเหตุผล
หลักพระพุทธศาสนาบางประเภท ก็เป็นวิทยาศาสตร์ โดยส่วนเดียว เพราะพิสูจน์ได้ชัดแจ้งด้วย
ความรู้สึกภายในใจของผู้มีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น ถ้าผู้ใดมีสติปัญญา
สนใจศึกษาค้นคว้าแล้วจะมีเหตุผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญา
เหมือนอย่างบางเรื่อง
สำหรับบุคคลผู้บูชาวัฒนธรรม ก็จะพบว่ามีคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาหลายข้อที่ตรงกับหลัก
วัฒนธรรมสากล และมีคำสอนอีกมาก ที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยเฉพาะ ซึ่งดีกว่าสูงกว่า
วัฒนธรรมสากลอย่างมากมาย
แม้พุทธศาสนาส่วนที่เป็นตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด ก็มีมากด้วยเหมือนกัน
โดยเฉพาะในพวกพระอภิธรรมปิฎกบางคัมภีร์ เช่น คัมภีร์กถาวัตถุเป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามอยากจะขอยืนยันว่า พุทธศาสนาเหลี่ยมซึ่งชาวพุทธจะต้องสนใจที่สุด นั้นคือ
เหลี่ยมที่เป็นศาสนา ซึ่งหมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร
การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนา มีผลดียิ่งไปกว่า
ที่จะถือเป็นเพียงศีลธรรมขั้นพื้นฐาน และสัจจธรรมอันเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งอย่างเดียวโดยไม่ปฏิบัติ
อะไร และเป็นผลดีกว่าที่จะถือเป็นปรัชญา ที่มีไว้คิดไว้นึกไว้เถียงกันอย่างสนุกๆ แล้วไม่ละกิเลสอะไร
ได้ หรือดีกว่าที่จะถือเป็นเพียงวัฒนธรรมสำหรับการประพฤติที่ดีงามน่าเลื่อมใสในด้านสังคมแต่
อย่างเดียว
อย่างน้อยที่สุด เราทั้งหลายควรถือ พุทธศาสนาในฐานะ
เป็นศิลปะ (Art) ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีวิต
คือเป็นการกระทำที่แยบคายสุขุม ในการที่จะมีชีวิตอยู่
เป็นมนุษย์ให้น่าดูน่าชมน่าเลื่อมใส น่าเลื่อมใส น่าบูชา
จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย จนคนอื่นพอใจทำตามเรา
ด้วยความสมัครใจ ไม่ต้องแค่นเข็นกัน เราจะมี ความ
งดงามในเบื้องต้น ด้วยศีลบริสุทธิ์ มีความงดงามใน
ท่ามกลาง ด้วยการมีจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำ
งานในด้านจิต มีความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความ
สมบูรณ์แห่งปัญญา คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวง ว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสิ่ง
ทั้งปวงนั้น
เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม ๓ ประการ เช่นนี้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีวิตอย่าง
สูงสุด ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศิลปะแห่งชีวิตโดยนัยนี้เป็นอันมาก
และกล่าวขวัญกันมากกว่าแง่อื่นๆ
การที่เราเข้าถึงตวแท้ของพระพุทธศาสนา จนถึงกับนำมาใช้เป็นแบบเห่งการครองชีวิตได้นั้น มัน
ทำให้เกิด ความบันเทิงรื่นเริงตามทางของธรรมะ ไม่เหงาหงอยไม่เบื่อหน่าย หรือหวาดกลัวดังที่
เกรงกันอยู่ว่า ถ้าละกิเลสกันเสียแล้วชีวิตนี้จะแห้งแล้งไม่มีรสชาติอะไรเลย หรือถ้าปราศจากตัณหา
ต่างๆ โดยสิ้นเชิงแล้ว คนเราจะทำอะไรไม่ได้ หรือไม่คิดทำอะไรอย่งนี้เป็นต้น แต่โดยที่แท้แล้ว
ผู้ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตามศิลปะแห่งการครองชีวิตของพระพุทธเจ้านั้น คือผู้มีชัยชนะอยู่
เหนือสิ่งทั้งปวงที่เข้ามาแวดล้อมตน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งของหรืออะไรก็ตาม จะเข้ามา
ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจก็ตาม ย่อมจะเข้ามาในฐานะผู้แพ้ ไม่อาจจะทำให้เกิดความ
มืดมัว สกปรก เร่าร้อน ให้แก่ผู้นั้นได้ อากัปกิริยาที่เป็ฯฝ่ายชนะอารมณ์ทั้งปวงนี้ ย่อมเป็นที่บันเทิง
เริงรื่นอย่างแท้จริง และนี่คือข้อที่ควรถือเป็นศิลปะในพุทธศาสนา
ธรรมะในพระพุทธศาสนา จะให้ความเพลิดเพลินแก่จิตใจที่ต้องการธรรมะ นับได้ว่าเป็นอาหาร
จำเป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน คนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสยังต้องการอาหารทางตา หู จมูก ลิ้น
กาย แสวงหากันไปตามวิสัยปุถุชนนั้นก็ถูกแล้ว แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ลึกและไม่ต้องการอาหาร
อย่างนั้น สิ่งนี้คือวิญญาณซึ่งเป็นอิสระหรือบริสุทธิ์ ต้องการความบันเทิงเริงรื่น คืออาหารทางธรรมะ
นับตั้งแต่ความยินดีปรีดาที่รู้สึกว่าตนได้ทำอะไรอย่างถูกต้อง เป็นที่พอใจของผู้รู้ทั้งหลาย มีความ
สงบระงับในใจชนิดที่กิเลสมารบกวนไม่ได้ มีความเห็นแจ่มแจ้งรู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร
ไม่ทะเยอทะยานในสิ่งใด มีอาการเหมือนกับนั่งลงได้ ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมาเหมือนคนทั้งหลาย ชนิดที่ท่านให้คำเปรียบไว้ว่า “กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ”
“กลางคืนอัดควัน” นั่น หมายถึงการนอนไม่หลับกระสับกระส่าย มือก่ายหน้าผาก คิดจะแสวงหา
อย่างนั้นอย่างนี้ คิดจะกระทำเพื่อให้ได้เงิน ได้ลาภหรือสิ่งต่างๆ ที่ตนปรารถนา อันเป็นควันกลุ้ม
อยู่ในใน เพราะมันยังมืดค่ำ ลุกไปไหนไม่สะดวก ต้องทนนอนอัดควันอยู่
ครั้งถึงเวลารุ่งขึ้น ก็ออกวิ่งว่อนไปตามความต้องการของ “ควัน” ที่อัดไว้เมื่อคืน นี่เรียกว่า”กลางวัน
เป็นไฟ” เป็นอาการของจิตใจที่ไม่ได้รับความสงบ ไม่ได้รับอาหารทางธรรมเป็นความหิวกระหาย
ไปตามอำนาจของกิเลสและตัณหา “กลางคืนอัดควัน” ร้อนกลุ้มอยู่แล้วทั้งคืน “กลางวันยังเป็นไฟ”
คือทั้งร้อนทั้งไหม้อะไรไปในตัวเสร็จตลอดทั้งวันแล้วจะหาความสงบเยือกเย็นอย่างไรได้
ถ้าคนเราต้อง “กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ” ไปจนตลอดชีวิต ถึงตายแล้ว จะเป็นอย่างไรบ้าง
ขอให้ลองคิดดู เขาเกิดมาทนทุกข์ทรมานจนตลอดชีวิต คือนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเน่าเข้าโลงไปที
เดียว โดยไม่มีสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า สำหรับช่วยแก้ไขให้เบาบางลงตามส่วน เมื่อเขาได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้นเท่าไร ควันหรือไฟก็จะลด
น้อยลงเท่านั้น
ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้นมีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายมุม เหมือน
กับภูเขาลูกเดียวมองจากทิศต่างๆ กัน ก็เห็นเป็นรูปต่างๆ กัน ได้ประโยชน์ต่างๆ กัน แล้วแต่ใคร
จะมองอย่างไร แม้พระพุทธศาสนา จะมีมูลมาจากความกลัว ก็ไม่ใช่ความกลัวที่โง่เขลา ของคน
ป่าเถื่อน จนถึงกับนั่งไหว้รูปเคารพหรือไหว้สิ่งที่มีปรากฏการณ์แปลกๆ แต่เป็นความกลัวชนิดที่สูง
ด้วยสติปัญญา คือกลัวว่าจะไม่ได้รอดพ้นไปจากการบีบคั้นของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความ
ทุกข์ทั้งหลายที่เรามองเห็นๆ กันอยู่
พุทธศาสนาตัวแท้ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่เสียงบอกเล่าตามพระไตรปิฎก หรือตัวพิธีรีตอง
ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ต้องเป็น ตัวการปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ชนิดที่
จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอหรือหมดสิ้นไปในที่สุด ไม่จำเป็นต้องเนื่องด้วยหนังสือ ด้วยตำรา ไม่
ต้องอาศัยพิธีรีตองหรือสิ่งภายนอก เช่นผีสางเทวดา แต่ต้องเนื่องด้วยกาย วาจา ใจโดยตรง
คือจะต้องบากบั่นกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป จนเกิดความรู้แจ่มแจ้ง สามารถทำอะไรให้ถูกต้อง
ได้ด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน ที่แหละคือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา
ในส่วนที่เราจะต้องเข้าถึงให้จงได้ อย่าได้ไปหลงยึดเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนา มาถือว่า
เป็นตัวพระพุทธศาสนากันเลย
พุทธศาสนามุ่งชี้อะไรเป็นอะไร
คำว่า “ศาสนา” มีความหมายกว้างขวางกว่า “ศีลธรรม” ศีลธรรมหมายถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับ ประโยชน์สุขในขั้นพื้นฐานทั่วไป และมีตรงกันแทบทุกศาสนา ศาสนาหมายถึงระเบียบปฏิบัติใน ขั้นสูง ผิดแปลกแตกต่างไปเฉพาะศาสนาหนึ่งๆ ทีเดียว ศีลธรรมทำให้คนเป็นคนดี มีการปฏิบัติไม่ เบียดเบียนตนหรือคนอื่น ตามหลักสังคมทั่วๆ ไป แต่เมื่อได้ปฏิบัติครบถ้วนตามนั้นแล้ว คนก็ยังไม่ พ้นทุกข์จากการเกิดแก่เจ็บตาย ยังไม่พ้นทุกข์จากการเบียดเบียนของกิเลส อำนาจของศีลธรรมได้ สิ้นสุดลงเสียก่อนที่จะกำจัดโลภะ โทสะ โมหะ ให้สิ้นสุดไปไได้ และไม่สามารถจำกัดความทุกข์ อันเกิดจากการ เกิดแก่เจ็บตาย ได้
ส่วนขอบเขตของศาสนานั้นยังไปไกลต่อไปอีก โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ย่อมมุ่งหมายโดยตรง ที่จะกำจัดกิเลสโดยสิ้นเชิง หรือดับทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการเกิดแก่เจ็บตาย ให้สิ้นไป นี้ชี้ ให้เห็นว่า ศาสนากับศีลธรรมนั้นต่างกันอย่างไร พุทธศาสนาไปได้ไกลกว่าศีลธรรมสากลของโลก
ทั่วๆ ไปอย่างไร เมื่อเข้าใจได้ดังนี้แล้ว เราจะได้สนใจพุทธศาสนาโดยเฉพาะ
พุทธศาสนา คือ วิชารวมทั้งระเบียบปฏิบัติ สำหรับจะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ขอให้สนใจในคำจำกัด ความนี้ให้มากเป็นพิเศษ เพื่อประโยชน์ที่จะเข้าใจพุทธศาสนาได้โดยเร็ว และ โดยง่าย
ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูว่า ท่านรู้จักอะไรเป็นอะไรกันหรือเปล่า แม้จะรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ชีวิต หน้าที่การงาน อาชีพ เงินทอง ข้าวของ เกียรติยศ ชื่อเสียง คืออะไรก็ตาม ใครกล้ายืนยันว่ารู้ถึงที่สุด บ้าง ถ้าเรารู้อะไรเป็นอะไรจริงๆ แล้ว เราย่อมไม่ปฏิบัติผิดต่อสิ่งทั้งปวง เมื่อปฏิบัติถูกแล้ว ก็เป็นอัน แน่นอนว่า ความทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้ เดี๋ยวนี้เรายังไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรเราจึงปฏิบัติผิดไม่มากก็น้อย ความทุกข์ก็เกิดขึ้นตามส่วน การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาก็คือปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวง คืออะไร เมื่อรู้แจ้งแท้จริงก็ย่อมหมายถึงการบรรลุมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่ง หรือถึงขีดสูงสุดเพราะความ รู้นั่นเองเป็นตัวทำลายกิเลสไปในตัว
เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไรจริงๆ แล้ว ความเบื่อหน่าย
คลายความอยาก และความหลุดพ้นจากทุกข์
ย่อมจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เราทำความเพียร
ปฏิบัติก็แต่ขั้นที่ยังไม่รู้อะไรเป็นอะไรกันเท่านั้น โดย
เฉพาะก็ในขั้นที่ยังไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงที่เรากำลังหลง
รักใคร่ยินดี เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงหลงรัก
ยินดีติดพันยึดถือในสิ่งเหล่านั้น ครั้นรู้จริงตามวิธี
ของพระพุทธศาสนา คือมองเห็นชัดว่า สิ่งทั้งปวง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอะไรน่าผูกมัด
ตัวเองเข้ากับสิ่งนั้นจริงๆ แล้ว จิตก็จะเกิดความหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาทันที
ขอยืนยันในคำจำกัดความข้อนี้ว่า เป็นคำจำกัดความที่เพียงพอ และเหมาะสมแก่ท่านทั้งหลาย ที่จะเอาไปใช้สำหรับการปฏิบัติของตน เพราะเหตุว่าหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งพระไตรปิฎก ก็ล้วนแต่เป็นการบ่งระบุให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร? เท่านั้นเอง เช่นเรื่องอริยสัจจ์ ๔ ประการ ซึ่งจะนำมา เปรียบเทียบกับคำจำกัดความดังกล่าวเพื่อดูว่าจะลงรอยกันได้เพียงใด
อริยสัจจ์ข้อที่ ๑ แสดงว่าสิ่งปรุงแต่งทั้งปวงเป็นทุกข์ นี่คือบอกตรงๆ ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอะไรนั่นเอง สิ่งทั้งปวงเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ใจ แต่คนทั้งหลายไม่รู้ไม่เห็นว่าสิ่งทั้งปวงเป็นความทุกข์ จึงได้มี ความอยากในสิ่งเหล่านั้น ถ้ารู้ว่ามันเป็นความทุกข์ ไม่น่าอยากและไม่น่ายึดถือ ไม่น่าผูกพันตัวเอง เข้ากับสิ่งใดแล้ว เขาก็คงจะไม่ไปอยาก
อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ แสดงว่าความอยากด้วยอวิชชานั้นเป็นต้นเหตุของความทุกข์ คนทั้งหลายก็ยังไม่รู้ ไม่เห็นไม่เข้าใจความอยากนี่แหละ เป็นตัวต้นเหตุของความทุกข์ใจจึงได้พากันอยากนั่นอยากนี่ ร้อยแปดพันประการ เพราะไม่รู้ว่าความอยากด้วยอวิชชานั้นคืออะไร
อริยสัจจ์ข้อที่ ๓ แสดงว่านิโรธหรือนิพพานคือการดับความอยากเสียได้สิ้นเชิง เป็นความไม่มีทุกข์ คนทั้งหลายยิ่งไม่รู้จักกันใหญ่ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่อาจลุถึงได้ในที่ทั่วๆ ไปคือพบได้ตรงที่ความอยากมัน ดับลงไปนั่นเอง นี่คือไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงไม่มีใครปรารถนาที่จะดับความอยาก ไม่ปรารถนา นิพพาน เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือนิพพาน
อริยสัจจ์ข้อที่ ๔ ที่เรียกว่ามรรคอันได้แก่วิธีดับความอยากนั้นๆ เสีย ไม่มีผู้ใดเข้าใจว่า การทำอย่างนี้ เป็นวิธีดับความอยากไม่มีใครสนใจเรื่องอริยมรรคอันมีองค์ ๘ ประการซึ่งดับความอยากเสียได้ ไม่รู้ จักว่าอะไรเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง อะไรควรขวนขวายอย่างยิ่ง จึงไม่สนใจกับเรื่องอริยมรรคของ พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เลิศประเสริฐที่สุดในบรรดาวิชาความรู้ของมนุษย์เราในโลกนี้ นี่แหละ คือการไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างน่าหวาดเสียว
ทั้งหมดนี้จะได้เห็นว่า อริยสัจจ์ ๔ ประการ นั้นคือ ความรู้ที่บอกให้เห็นชัดว่า อะไรเป็นอะไร อย่างครบถ้วนนั่นเอง เรื่องความอยากนั้นบอกให้รู้ว่า เมื่อไปเล่นกับความอยากจนเต็มไปด้วยความ ทุกข์ นี่แหละเป็นความโง่เขลาที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรตามที่เป็นจริง จึงปฏิบัติผิดทุกอย่าง จะมีถูก บ้างก็เล็กน้อยเกินไป และมักจะถูกตามความหมายของคนที่มีกิเลสตัณหา ซึ่งถือกันว่าถ้าได้อะไร มาตรงตามความต้องการของตนแล้ว ก็จัดว่าเป็นการปฏิบัติถูก อย่างนี้ทางธรรมถือว่าไม่ถูกเลย
ทีนี้ลองเอาหลักทางบาลี ที่เรียกว่าหัวใจของพระพุทธศาสนาหรือคนถาของพระอัสสชิมาพิจารณา
กัน เมื่อพระอัสสชิได้มาพบกับพระสารีบุตรก่อนได้บวช พระสารีบุตรได้ถามถึงใจความของพระพุทธ ศาสนาว่า มีอยู่อย่างไรโดยย่อที่สุด พระอัสสชิตอบว่า “สิ่งเหล่าใดเกิดมาเพราะมีเหตุทำให้เกิด พระ ตถาคตเจ้าแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิงของสิ่งเหล่านั้น เพราะหมด เหตุ พระมหาสมณเจ้าตรัสอย่างนี้” นี่คือการบอกว่าสิ่งทั้งปวงมีเหตุปรุงแต่งขึ้นมา มันดับไม่ได้จน กว่าจะดับเหตุเสียก่อน นี้เป็นการชี้ให้รู้ว่า อย่าไปเห็นอะไรเป็นตัวตนที่ถาวร เพราะมีสิ่งที่เกิดจากเหตุ และงอกงามต่อไปตามอำนาจของเหตุและจะดับไปเพราะสิ้นเหตุ เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์ทั้ง หลายในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นผลิตผลของสิ่งที่เป็นเหตุ เป็นความเลื่อนไหลไปไม่มีหยุด เพราะอำนาจ ของธรรมชาติ ที่มีลักษณะไม่หยุดปรุง สิ่งต่างๆ จึงปรุงแต่งกันไม่หยุด และเปลี่ยนแปลงไม่หยุด
พระพุทธศาสนาบอกให้เรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน มีแต่การปรุงแต่งกันไป และมีความทุกข์รวม อยู่ในนั้นด้วย เพราะความไม่มีอิสระ จึงต้องเป็นไปตามอำนาจของเหตุ จะไม่มีความทุกข์ก็ต่อเมื่อ หยุด จะหยุดได้ก็ต่อเมื่อดับเหตุ เพื่อไม่ให้มีการปรุง ข้อนี้เป็นการบอกให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างลึก ซึ้งที่สุดเท่าที่ผู้มีสติปัญญาจะบอกได้ นับว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาจริงๆ การบอกนี้คือบอกให้รู้ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นแต่เรื่องของมายา อย่าไปหลงยึดถือจนชอบหรือชังมันเข้า เมื่อทำจิตใจให้เป็นอิสระได้ จริงๆ แล้วนั่นแหละ คือการออกมาเสียได้จากอำนาจของเหตุ เป็นการดับเหตุเสียได้ เราก็จะไม่ต้อง เป็นทุกข์เพราะความชอบหรือความชังอีกต่อไป
อีกทางหนึ่งนั้น อยากจะชี้ให้สังเกตดูถึง วัตถุประสงค์แห่งการออกผนวชของพระพุทธเจ้า ว่าท่าน ออกผนวชโดยความประสงค์อันใด พระพุทธภาษิตที่ตรัสถึงข้อนี้มีอยู่อย่างชัดเจนว่าพระองค์ ออกผนวชเพื่อแสวงหาว่า อะไรเป็นกุศล คำ “กุศล” ของพระองค์ในที่นี้ หมายถึงความฉลาด หมาย ถึงความรู้ที่ถูกต้องถึงที่สุด โดยเฉพาะก็คือรู้ว่าอะไรเป็นความทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็น ความไม่มีทุกข์ อะไรเป็นวิธีให้ถึงความไม่มีทุกข์ เพราะถ้ารู้อย่างถูกต้องสิ้นเชิงจริงๆ แล้ว ก็คือ ความฉลาดหรือความรู้ถึงที่สุด ฉะนั้น ความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นแหละ คือ ตัวพุทธศาสนา
เรื่องไตรลักษณ์ ก็เป็นหลักสำคัญอีกแนวหนึ่งมีหัวข้อสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันเป็น
หลักที่เราต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็เรียกว่าไม่รู้จักพุทธศาสนา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้คือ การประกาศความจริง
ออกไปว่า “สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงเป็นทุกข์ สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน”
ที่ว่าเป็นอนิจจัง ก็คือสิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อยไม่มีอะไรเป็นตัวเองที่หยุดอยู่แม้ชั่วขณะ ที่เป็น
ทุกขัง นั้นหมายถึงว่า สิ่งทั้งปวงมีลักษณะเป็นความทนทุกข์ทรมานอยู่ในตัวของตัวเอง มีลักษณะ
ดูแล้วน่าชังน่าเบื่อหน่าย น่าระอาอยู่ในตัวเองมันเองทั้งนั้น และที่ว่าเป็น อนัตตา นั้นก็คือ การบอก
ให้รู้ว่า บรรดาสิ่งทั้งปวงไม่มีอะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดมั่นด้วยจิตใจว่า เป็นตัวเราหรือเป็นของเรา
ถ้าไปยึดถือก็ต้องเป็นทุกข์ และบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงนั้นมันเป็นไฟที่มองไม่เห็น เราจึงเข้าไปกอดกอง
ไฟกันด้วยความสมัครใจ แล้วก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดกาล นี่คือการบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร โดย
นัยแห่งไตรลักษณ์ เป็นการชี้ให้เห็นชัดว่า พุทธศาสนาคือ วิชาและระเบียบปฏิบัติที่ทำให้เรารู้ได้ว่า
อะไรเป็นอะไรเท่านั้นเอง
เมื่อได้กล่าวถึงหลักที่ว่า เราต้องรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร และต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะตรงต่อกฏ
ธรรมชาติของสิ่งทั้งปวง ดังนี้แล้ว หลักในพระบาลีก็มีอีกพวกหนึ่งเรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ แปลว่า
คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด มีอยู่ ๓ ข้อ สั้นๆ คือ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้
เต็มที่ และทำจิตใจให้สะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง นี้เป็นหลักสำหรับปฏิบัติ
เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยว เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ยึดถือไม่ได้และไปหลงไหลด้วยไม่ได้ เราก็ต้องปฏิบัติ
ต่อสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องด้วยความระมัดระวัง คือเว้นจากการทำชั่ว หมายถึงการละโมบโลภลาภด้วย
กิเลส ไม่ลงทุนด้วยการฝืนศีลธรรมขนบธรรมเนียมต่างๆ เพื่อไปทำความชั่ว อีกทางหนึ่งนั้นให้
ทำแต่ความดีตามที่บัณฑิตสมมติตกลงกันว่าเป็นคนดี แต่ทั้งสองข้อนี้เป็นเพียง ขั้นศีลธรรม ข้อที่
สามที่ว่า ทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองโดยประการทั้งปวงนั้นนั่นแหละ เป็นตัวพุทธ
ศาสนาโดยตรง หมายความว่าทำจิตใจให้เป็นอิสระ ถ้ายังไม่เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำของสิ่ง
ทั้งปวงแล้ว จะเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ไปไม่ได้ จิตจะเป็นอิสระก็ต้องมาจากความรู้ว่า อะไรเป็น
อะไรถึงที่สุด ถ้ายังไม่รู้จะไปหลงรักหรือหลงชังอย่างใดอย่างหนึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วจะเรียกว่า
เป็นอิสระแท้จริงได้อย่างไร คนเรามีความรู้สึกอยู่สองอย่างเท่านั้น คือความพอใจ กับไม่พอใจ
(อภิชฌาและโทมนัส)
คนเราตกเป็นทาสของอารมณ์ ไม่เป็นอิสระแก่ตัวเองเลยเพราะไม่รู้ว่าอารมณ์หรือสิ่งทั้งปวงนั้น
คืออะไรนั่นเอง ความพอใจมีลักษณะที่จะรวบรัดอะไรๆ เข้ามาหาตัว ความไม่พอใจมีลักษณะที่
จะผลักไสอะไรๆ ออกไปเสียจากตัว ถ้ายังมีความรู้สึกสองอย่างนี้อยู่ ก็หมายความว่าจิตใจยังไม่
เป็นอิสระ เพราะยังหลงรักหลงชังอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จึงไม่มีทางที่จะบริสุทธิ์ปราศจากการครอบ
งำของสิ่งทั้งปวงได้ โดยเหตุนี้เองหลักพระพุทธศาสนาในขั้นสูงสุดนี้ จึงปฏิเสธการยึดถือสิ่งที่น่ารัก
น่าชัง ปฏิเสธเลยขึ้นไปถึงกับไม่หลงติดทั้งในความดีและความชั่ว จิตจึงจะเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง
และบริสุทธิ์อยู่เหนืออารมณ์ต่างๆ
ศาสนาอื่นนิยมกันเพียงให้เว้นจากความชั่ว และให้ยึดถือในความดี ให้หลงยึดผูกพันในความดี
จนถึงยอดของความดี คือพระผู้เป็นเจ้า พระพุทธศาสนายังไปไกลกว่านั้นมาก คือไม่ยอมผูกพัน
ตัวเองกับสิ่งใดเลย การผูกพันในความดีนั้น ก็จัดว่าเป็นการปฏิบัติถูกในระยะต้นหรือระยะกลาง
เมื่อเรายังทำอะไรให้สูงไปกว่านั้นไม่ได้เท่านั้นเอง ในระยะแรกเราเว้นจากความชั่ว ในระยะถัดมา
เราก็ทำความดีให้เต็มที่ ส่วนในระยะสูงนั้น เราทำจิตใจให้ลอยสูงเหนือการครอบงำของทั้งความดี
และความชั่ว
การที่ผูกพันตัวเองอยู่ภายใต้ผลของความดี ยังไม่ใช่การพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง เพราะคนชั่ว
ก็จะมีความทุกข์ไปตามประสาคนชั่ว คนดีก็จะต้องมีความทุกข์ไปตามประสาของคนดี ถึงเป็นมนุษย์
ที่ดีก็มีความทุกข์อย่างมนุษย์ที่ดี จะดีอย่างเทวดาก็มีความทุกข์อย่างเทวดา แม้จะเป็นพรหมก็มีความ
ทุกข์อย่างพรหม จะไม่มีความทุกข์เลยก็ต่อเมื่อไปให้พ้น สูงเหนือจากสิ่งที่เรียกว่าความดี กลายเป็น
โลกุตตระ (โลกของพระอริยเจ้า) คือเป็นพระอริยเจ้าเสียเอง ถ้าขึ้นถึงที่สุดก็เรียกว่า พระอรหันต์
ที่นี้คำว่าพระพุทธศาสนานั้น แปลว่าอะไร? พุทธแปลว่า พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าแปลว่าผู้รู้ พุทธ
ศาสนาก็แปลว่า ศาสนาของผู้รู้ พุทธศาสนิกก็แปลว่าผู้ปฏิบัติตามศาสนาของผู้รู้ ที่ว่ารู้นั้น หมายถึง
รู้อะไร? ก็คือรู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงนั่นเอง จึงกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาก็คือ ศาสนาที่ทำให้รู้ว่าอะไร
เป็นอะไร เป็นศาสนาเกี่ยวกับความรู้จริง เราจึงต้องปฏิบัติจนเรารู้ได้เอง เมื่อรู้ถึงที่สุดแล้วไม่ต้องกลัว
กิเลสตัณหาต่างๆ จะถูกความรู้นั้นทำลายไปหมดสิ้นไป ความไม่รู้ (อวิชชา) ก็จะดับไปทันที ในเมื่อ
ความรู้ได้เกิดขึ้นมา ฉะนั้น ข้อปฏิบัติต่างๆ จึงมีไว้เพื่อให้วิชชาเกิด
ท่านทั้งหลายจงปักใจมั่นในทางที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น
ขอแต่ให้เป็นความรู้ที่ถูกต้อง รู้ด้วยความเห็นแจ้งจริงๆ อย่ารู้อย่างโลกๆ รู้ครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งไปหลง
สิ่งที่ไม่ดีว่าดี หลงสิ่งซึ่งเป็นที่เกิดของความทุกข์ว่าเป็นความสุขดังนี้ ก็จะค่อยๆ รู้ไปตามลำดับ นั่น
แหละจะเป็นการรู้จักพุทธศาสนาแท้ๆ
ถ้าศึกษาพุทธศาสนาโดยวิธีนี้แล้ว แม้คนตัดฟืนขายที่ไม่รู้หนังสือก็จะเข้าถึงตัวพุทธศาสนาได้ ใน
ขณะที่มหาเปรียญหลายประโยคที่กำลังง่วนอยู่กับพระไตรปิฎกไม่อาจเข้าถึงพุทธศาสนาได้เลย
พวกเราที่มีสติปัญญากันอยู่บ้าง น่าจะสามารถพินิจพิจารณาสิ่งทั้งปวง ให้รู้ตามที่เป็นจริงได้ ฉะนั้น
เมื่อถูกความทุกข์อะไรเข้าแก่ตัวเองแล้ว ก็จะต้องศึกษาสิ่งนั้นให้เข้าใจแจ่มแจ้งว่ามันเป็นอย่างไรกัน
แน่ ความทุกข์ที่เกิดขึ้น และกำลังเผาลนเราให้เร่าร้อนอยู่นั้น มันคืออะไร เป็นอย่างไร มาจากไหน
ถ้าทุกคนตั้งสติ คอยเฝ้ากำหนดพิจารณาความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ตน ในลักษณะดังกล่าวนี้แล้ว ก็จะ
เป็นทางให้เข้าถึงพุทธศาสนาได้ดีที่สุด ดีกว่าการที่จะเรียนเอาจากพระไตรปิฎกอย่างเปรียบเทียบกัน
ไม่ได้ทีเดียว การที่ใครจะมัวแต่ศึกษาพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎก ในแง่ของภาษาหรือวรรณคดีนั้น
จะไม่มีทางรู้ว่าอะไรเป็นอะไรทั้งๆ ที่พระไตรปิฎกก็เต็มไปด้วยคำบรรยายว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้
เป็นอย่างนี้ เขาฟังอย่างนกแก้วนกขุนทอง พูดตามที่จำไว้ได้ แต่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความจริงของ
สิ่งทั้งหลาย เว้นไว้แต่เขาจะได้ทำการพิจารณาให้เห็นเป็นเรื่องของชีวิตจิตใจ เข้าถึงตัวจริงของกิเลส
ของความทุกข์ของธรรมชาติ หรือของสิ่งทั้งปวงซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเขานั่นแหละ จึงจะเข้าถึง
ตัวพระพุทธศาสนาที่แท้ได้
คนที่ไม่เคยอ่านเคยฟังพระไตรปิฎกเลย แต่เคยพิจารณาอย่างละเอียดลออทุกครั้ง ที่ความทุกข์
เกิดขึ้นแผดเผาจิตใจของตน นี้แหละเรียกว่าเขากำลังเรียนพระไตรปิฎกโดยตรงและอย่างถูกต้อง
ดียิ่งกว่ากำลังเปิดเล่มพระไตรปิฎกอยู่ทุกๆ วัน แต่แล้วไม่รู้จักอมฤตธรรมคำสอนที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก
เขาก็คล้ายกับการที่เรามีตัวเอง ใช้ตัวเอง ปฏิบัติตัวเอง ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเอง
ให้ลุล่วงไปได้ ยังคงมีความทุกข์ ยังคงมีตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์เพิ่มมากขึ้นทุกๆ วัน ตามที่อายุ
เพิ่มขึ้น นี่เพราะไม่รู้จักตัวเราอย่างเดียวเท่านั้น
ชีวิตจิตใจที่สวมอยู่กับเรา เราก็ยังไม่รู้จัก การที่จะไปรู้สิ่งที่ลึกลับที่ซ่อนอยู๋ในพระไตรปิฎกนั้นมันยุ่ง
ยากกว่าเป็นไหนๆ เพราะฉะนั้นจงหันมาศึกษาพุทธศาสนาหรือรู้จักตัวพุทธศาสนาด้วยการศึกษา
จากตัวจริง คือจากสิ่งทั้งปวงซึ่งรวมทั้งร่างกายและจิตใจนี้เอง จากชีวิตซึ่งกำลังหมุนอยู่ในวงกลม
ของความอยากกระทำตามความอยาก- แล้วก็เกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาหล่อเลี้ยงเจตนาที่อยาก
-จึงทำสืบต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด-ต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร หรือทะเลแห่งความทุกข์ เพราะความที่
ไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไร ข้อเดียวเท่านั้น
สรุปความว่า พุทธศาสนา คือวิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อเรารู้ว่า อะไรเป็น
อะไรถูกต้องจริงๆ แล้ว ไม่ต้องมีใครมาสอนเราหรือมาแนะนำเรา เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ถูกต้องได้ด้วย
ตนเอง แล้วกิเลสก็จะหมดไปเอง เราเป็นอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งขึ้นมาทันที เราจะปฏิบัติอะไร
ไม่ผิดขึ้นมาทันที เราจะลุถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ หรือที่ชอบเรียกกันว่า มรรคผลนิพพาน นี้
ได้ด้วยตนเอง เพราะการที่เรามีความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรโดยถูกต้องถึงที่สุดอย่างแท้จริงเท่านั้น
ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง (ไตรลักษณ์)
บทนี้จะกล่าวถึงข้อที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงประกอบอยู่ด้วยลักษณะอันเรียกว่า “ไตรลักษณ์”
หรือลักษณะ ๓ ประการ กล่าวคือ ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
อนิจจัง แปลว่าไม่เที่ยง หมายความว่าสิ่งทั้งหลายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไป ไม่มีความ
คงที่ตายตัว ทุกขัง แปลว่าเป็นทุกข์ มีความหมายว่า สิ่งทั้งปวงมีลักษณะที่เป็นทุกข ์มองดูแล้ว
น่าสังเวชใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้ที่ไม่มีความเห็นอย่างแจ่มแจ้งในสิ่งนั้นๆ อนัตตา
แปลว่าไม่ใช่ตัวตน หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน
ไม่มีลักษณะอันใดที่จะทำให้เรายึดถือได้ว่าเป็นตัวเราของเรา ถ้าเห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนถูกต้อง
แล้ว ความรู้สึกที่ว่า “ไม่มีตัวตน” จะเกิดขึ้นมาเองในสิ่งทั้งปวง แต่ที่เราหลงเห็นไปว่าเป็นตัวเป็น
ตนนั้น ก็เพราะความไม่รู้อย่างถูกต้องนั่นเอง
ขอให้ทราบว่า ลักษณะสามัญ ๓ ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากกว่าคำสั่งสอนอื่นๆ
ในบรรดาคำสั่งสอนทั้งหลายจะนำมารวบยอดอยู่ที่การเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ทั้งนั้น
บางทีก็กล่าวตรงๆ บางทีก็พูดด้วยโวหารอย่างอื่น แต่ใจความมุ่งแสดงความจริงอย่างเดียวกัน
เรื่องของความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลายนี้ เคยมีสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้ขยาย
ความให้ลึกซึ้งถึงที่สุด ไม่ประกอบด้วยเหตุผล และไม่สามารถชี้ถึงวิธีดับทุกข์ที่สมบูรณ์จริงๆ ได้
เพราะยังไม่รู้จักความทุกข์อย่างเพียงพอเท่ากับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ส่วนเรื่องความไม่ใช่ตัว
ไม่ใช่ตนนี้ มีสอนแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ข้อนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่รู้จักว่าอะไรเป็น
อะไรถึงที่สุดเท่านั้น จึงจะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน เหตุนั้นจึงมีสอนแต่
โดยพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรได้ถึงที่สุดจริงๆ
คำสอนเรื่องลักษณะ ๓ ประการนี้ มีวิธีปฏิบัติเพื่อให้เห็นแจ้งมากมายหลายวิธีด้วยกัน ถ้าปฏิบัติ
จนเห็นแจ้งแล้ว เราจะพบว่ามีข้อสังเกตข้อหนึ่ง คือต้องการเห็นจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่ายึดถือ
ไม่มีอะไรที่อยากจะเอา จะมี จะเป็น ซึ่งสรุปสั้นๆ ว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น” เมื่อท่านมองเห็นว่า ความมีความเป็นอย่างใดก็ตามเป็นของหลอกลวง เป็นมายา ไม่น่าเอา
ไม่น่าเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นจริงๆ ดังนี้แล้ว นั่นแหละ คือการเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างถูกต้อง
ส่วนคนที่ท่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ทั้งเช้าทั้งเย็นหลายร้อยหลายพันครั้งมาแล้ว ไม่อาจเห็นก็ได้
เพราะไม่ใช่วิสัยที่จะเห็นได้ด้วยการฟัง หรือด้วยการท่อง
การคำนึงคำนวณเอาตามหลักเหตุผลนั้น ไม่ใช่ “การเห็นแจ้ง” อย่างที่เรียกว่า “เห็นธรรม” การเห็น
ธรรมไม่อาจจะเห็นได้ด้วยการคิดไปตามเหตุผล แต่ต้องเห็นแจ้งด้วยความรู้สึกภายในที่แท้จริง
เช่นพิจารณาเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำความเจ็บปวดให้แก่ตนที่เข้าไปหลงไหลอย่างสาสม อาศัยการ
ที่ได้กระทบจริงๆ จนเกิดเป็นความรู้สึกแก่จิตใจขึ้นมาจริงๆ แล้วเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความสลด
สังเวชขึ้นมา อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเห็นธรรม หรือเห็นแจ้ง
การเห็นแจ้งทำนองนี้ อาจเลื่อนสูงขึ้นไปตามลำดับ จนกว่าจะถึงเรื่องสุดท้ายที่ทำให้ปล่อยวาง
สิ่งทั้งปวงได้ ส่วนผู้ที่ท่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพิจารณาอยู่ทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าไม่เกิดความ
รู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง คือไม่อยากเอาอะไร ไม่อยากเป็นอะไร ไม่อยากยึดถือในอะไรแล้ว
ก็เรียกว่ายังไม่เป็นอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงสรุปเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ความไม่ใช่ตัวตน
ลงไว้ที่คำว่า “เห็นจนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่น่าเอาหรือน่าเป็น”
พุทธศาสนามีคำอยู่คำหนึ่งเป็น คำรวบยอด คือคำว่า “สุญญตา” ซึ่งแปลว่า ความเป็นของว่าง
คือว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ว่างจากสาระที่เราควรจะเข้าไปยึดถือด้วยกำลังใจ
ทั้งหมดทั้งสิ้นว่า ตัวเรา-ของเรา การเพ่งพิจารณาดูให้เห็นว่า สิ่งทั้งปวงว่างจากสาระที่ควรเข้าไป
ยึดถือนั้น เป็นตัวศาสนาโดยแท้ เป็นหัวใจของการปฏบัติตามหลักพุทธศาสนา เมื่อรู้แจ้งว่าทุกสิ่ง
ทุกอย่างว่างจากตัวตนแล้ว ก็เรียกว่ารู้พุทธศาสนาถึงที่สุด
คำว่า “ว่างจากตัวตน” คำเดียว เป็นการเพียงพอ ที่รวบเอาคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาไว้ด้วย
เสร็จ เมื่อมันไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีส่วนไหนยั่งยืนถาวร ก็เรียกได้ว่าว่างเหมือนกัน
เมื่อเต็มไปด้วยลักษณะที่ดูแล้วน่าสังเวชใจก็แปลว่า ว่างจากส่วนที่เราควรจะเข้าไปยึดถือเอา
เมื่อเราพิจารณาดูว่าไม่มีลักษณะไหนที่จะคงทนเป็นตัวตนของมันเองได้ เป็นเพียงธรรมชาติ
ที่ผันแปรไปตามกฎของธรรมชาติ อันไม่ควรเรียกว่าเป็นตัวตนของมันเอง ดังนี้ก็เรียกว่า “ว่างจากตัวตนได้”
ถ้าบุคคลใดเห็นความว่างของสิ่งทั้งปวงแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึก “ไม่น่าเอาไม่น่าเป็น” ในสิ่งต่างๆ
ขึ้นมาทันที ความรู้สึกไม่อยากเอา ไม่อยากเป็นนี่แหละ มีอำนาจเพียงพอที่จะคุ้มครองคนเรา
ไม่ให้ตกไปเป็นทาสของกิเลสหรือของอารมณ์ทุกชนิด บุคคลชนิดนี้ไม่สามารถทำความชั่วต่อไป
ไม่หลงใหลพัวพันติดอยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเอนเอียงไปตามสิ่งยั่วยวนใจใดๆ เขาย่อมมีจิตใจ
เป็นอิสระอยู่เสมอ และไม่มีความทุกข์เลย
ที่ว่า “ไม่มีอะไรน่าเอาน่าเป็น” นี้ เป็นสำนวนโวหารอยู่สักหน่อย คำว่า “เอา” และ “เป็น” ในที่นี้
หมายถึงการเอาหรือเป็นด้วยจิตใจที่หลงใหล ด้วยจิตใจที่ยึดถือ ด้วยจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้นจริงๆ
มิได้หมายความว่า คนเราจะเป็นอยู่ได้โดยไม่มีอะไรไม่เป็นอะไรเสียเลย ตามปกติคนเราจะต้อง
เอาอะไร เป็นอะไรอยู่เป็นประจำ เช่นจะต้องมีทรัพย์สมบัติ มีบุตร ภรรยา เรือกสวนไร่นาจะต้อง
เป็นคนดี เป็นผู้แพ้ เป็นผู้ชนะ หรือเป็นผู้ถูกเอาเปรียบเป็นต้น จะต้องมีความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
อยู่เสมอ แต่แล้วทำไมพุทธศาสนาจึงสอนให้เราพิจารณาในทางที่จะไม่เอาไม่เป็น
ข้อนี้หมายความว่า พุทธศาสนาได้ชี้ให้เห็นความ การเอาการเป็นนั้น เป็นเรื่องสมมติอย่างโลกๆ
อย่างหนึ่ง และเป็นไปด้วยอำนาจของความไม่รู้ (อวิชชา) นั่นเอง เพราะเมื่อพูดกันตามความจริง
ขั้นที่เด็ดขาดถึงที่สุด ซึ่งเรียกว่า ขั้นปรมัตถ์แล้ว คนเราจะเอาอะไร เป็นอะไรไม่ได้เลย เพราะเหตุใด?
เพราะเหตุว่าทั้งคนที่จะเอาและสิ่งที่จะถูกเอานั้นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวตนด้วยกันทั้งนั้น
แต่คนที่ไม่รู้เช่นนั้น ย่อมจะต้องมีความรู้สึกว่า “เราเอา” “เรามี” “เราเป็น” เป็นธรรมดา นี่เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้
ความรู้สึกว่าเอา ว่าเป็น นั่นเอง ได้ทำให้เกิดมีความหนักใจ หรือความทุกข์ขึ้นมา การเอา การเป็น
ก็เป็นความอยากอย่างหนึ่ง คืออยากไม่ให้สิ่งที่ตนกำลังเอา กำลังเป็นอยู่นั้นสูญหายหลุดลอยไป
ความทุกข์เกิดมาจากความอยากมี อยากเป็น อันรวมเรียกสั้นๆ ว่า ความอยาก ซึ่งเรียกโดยภาษา
บาลีว่า “ตัณหา”
การที่อยากก็เพราะไม่รู้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรอยาก มันเป็นความเข้าใจผิดติดตาม
มาตามสัญชาตญาณเกิดมาตั้งแต่เด็กๆ ก็รู้จักอยาก แล้วก็บังเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา
ซึ่งตรงตามที่อยากก็มี ไม่ตรงก็มี ถ้าได้ผลตรงตามที่อยาก ก็เกิดอยากให้มากขึ้นไปอีก ถ้าไม่ได้ผล
ตรงตามที่อยาก ก็ต้องดิ้นรนทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปจนกว่าจะได้ผลตรงตามที่อยาก เมื่อทำลงไป
มันก็ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง วนเวียนเป็นวงกลมของกิเลส-การกระทำ-ผล วิบากอยู่อย่างนี้ เรียกว่า “วัฏฏสงสาร”
คำว่าวัฏฏสงสาร นั้นอย่าเพ่อไปเข้าใจว่า เป็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ชาติโน้น ชาตินี้ ชาตินั้น
แต่อย่างเดียว ที่แท้จริงกว่านั้นเป็นเรื่องการวนเวียนของสิ่ง ๓ สิ่ง คือ ความอยาก-การกระทำตาม
ความอยาก-ผลอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้มาจากการกระทำนั้น-แล้วไม่สามารถหยุดความอยากได้
เลยต้องอยากอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป-แล้วก็กระทำอีก-ได้ผลมาอีก-เลยส่งเสริมความอยากอย่าง
ใดอย่างหนึ่งต่อไปอีก เป็นวงกลมอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ท่านเรียกว่า วัฏฏะ หรือ วัฏฏสงสาร
เพราะเป็นวงกลมที่เวียนวน ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้
คนเราต้องทนทุกข์ทรมาน ก็เพราะติดอยู่ในวงกลมนี้เอง ถ้าใครหลุดออกไปจากวงกลมนี้ได้
ก็เป็นอันว่าพ้นไปจากความทุกข์ทุกอย่างแน่นอน (นิพพาน)
ไม่ว่ากระยาจกเข็ญใจ เศรษฐี มหากษัตริย์ จักรพรรดิ เทวดา พรหม หรือจะเป็นอะไรก็ตามที ล้วน
แต่ตกอยู่ในวงกลมนี้ทั้งนั้น จะต้องมีความทุกข์ทรมานชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเหมาะสมกับความ
อยากของเขา ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในวัฏฏสงสารนี้ เต็มไปด้วยความทรมานอันใหญ่หลวง
ศีลธรรมหรือจริยธรรมนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาข้อนี้ได้เลย เราจึงต้องพึ่งตัวแท้ของพุทธศาสนา
ที่เป็นหลักธรรมชั้นสูง ให้แก้ไขในเรื่องนี้โดยเฉพาะทีเดียว ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่า ความทุกข์นั้น
มาจากความอยาก สมดังที่พระพุทธเจ้าท่านจัดความอยากไว้ในเรื่องอริยสัจจ์ข้อที่สอง ในฐานะ
เป็นมูลเหตุให้เกิดความทุกข์ต่างๆ โดยตรง
ความอยากมีอยู่ ๓ อย่าง อย่างแรกเรียกว่า กามตัณหา อยากในสิ่งน่ารักใคร่พอใจ จะเป็นรูป
เสียงกลิ่น รส สัมผัส อะไรก็ได้ อย่างที่สองเรียกว่า ภวตัณหา คือความอยากเป็นอย่างนี้อย่างนั้น
ตามที่ตนอยากจะเป็น อย่างที่สามเรียกว่า วิภวตัณหา คือความอยากไม่ให้มีอย่างนั้น ไม่ให้เป็น
อย่างนี้ หลักเกณฑ์ข้อนี้กล้าท้าให้ใครๆ พิสูจน์หรือแย้งอย่างไรก็ได้ว่า ยังมีความอยากอะไรอีกบ้าง
นอกเหนือไปกว่า ๓ อย่าง ที่กล่าวมานี้
ท่านทั้งหลายจะมองเห็นว่า เมื่อมีความอยากที่ไหน ก็มีความร้อนใจที่นั่น และเมื่อต้องกระทำตาม
ความอยาก ก็ย่อมมีความทุกข์ตามส่วนของการกระทำ ได้ผลมาแล้วก็หยุดอยากไม่ได้ คงอยากต่อไป
ต้องมีความร้อนใจต่อไปอีก เพราะยังไม่เป็นอิสระจากความอยาก ยังต้องเป็นทาสของความอยาก
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า คนชั่วทำชั่วเพราะอยากทำชั่ว มันก็มีความทุกข์ไปตามประสาคนชั่ว คนดี
อยากทำดีตามประสาของคนดี
แต่ข้อนี้ อย่าเพ่อเข้าใจว่าเป็นการสั่งสอนให้เลิกละจากการทำความดี เฉพาะในที่นี้ประสงค์จะชี้
ให้เห็นว่า ความทุกข์นั้นมีอยู่หลายระดับ ละเอียดจนคนธรรมเข้าใจไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยสติ
ปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้าซึ่งชึ้ให้เห็นว่า เราจะพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงด้วย
ลำพังเพียงการกระทำความดีอย่างเดียวเท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้องทำบางสิ่งที่ยิ่งหรือเหนือไปจาก
การทำความดีซึ่งได้แก่ การทำจิตให้หลุดพ้นไจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของความอยากทุกชนิดนั่นเอง
นี่เป็นใจความสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่มีทางแพ้ศาสนาใดๆในโลก อันไม่อาจเข้ามาเทียบ
สู้หรือเคียงคู่ได้ในส่วนนี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องจำไว้ให้แม่นยำ
เราเอาชนะความอยากทั้ง ๓ อย่งที่กล่าวแล้วได้นั่นแหละ จึงจะเป็นความพ้นจากความทุกข์ หรือหมดความทุกข์โดยประการทั้งปวง
เราจะกำจัดหรือดับระงับหรือตัดรากเง่าของความอยากให้หมดจดสิ้นเชิงได้อย่างไร?
คำตอบก็คือว่าพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตน จนมองเห็นว่าไม่มี
อะไรที่น่าอยากนั่นเอง มันมีอะไรบ้างที่น่าเอา น่าเป็น ซึ่งเมื่อเอาหรือเป็นเข้าแล้ว จะไม่โยนความทุกข์
ชนิดใดชนิดหนึ่งมาใส่ให้บุคคลนั้น? ขอให้ตั้งปัญหาถามขึ้นอย่างนี้ ได้อะไรหรือเป็นอะไรบ้าง ที่จะไม่
นำมาซึ่งความหนักอกหนักใจ
ขอให้ลองคิดดู การได้บุตรได้ภรรยานำเอาความเบากายเบาใจมาให้ หรือเอาภาระหลายอย่างมาให้?
การได้ตำแหน่งหน้าที่ เป็นการได้มาซึ่งความสงบเย็น หรือได้มาซึ่งภาระหนักโดยนัยนี้จะเห็นได้โดย
ง่ายว่า ล้วนแต่นำมาซึ่งภาระและหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เพราะเหตุใด? เพราะเหตุว่า สิ่งทั้ง
หลายทั้งปวงล้วนแต่เป็นภาระ เพราะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวตนของมันนั่นเอง เมื่อเราได้อะไรมา เราก็จะต้องจัดการกับสิ่งนั้นๆ ให้มันคงอยู่กับเรา ให้เป็นไปตามใจเราหรือมี
ประโยชน์แก่เรา แต่แล้วสิ่งนั้นๆ ตามปกติ มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตัวตนของใคร คือ
ไม่รู้ไม่ชี้ต่อความประสงค์มุ่งหมายของบุคคลใด มีแต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุ ตามวิสัยของมัน
เอง การพยายามของคนเราจึงเป็นการต่อสู้ หรือเป็นการต่อต้านกฎแห่งความเปลี่ยนแปลงของสิ่ง
เหล่านั้น ฉะนั้น จึงเกิดเป็นความยากลำบาก หรือเป็นความทนทรมานในการที่จะเป็นอยู่ หรือไปทำ
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ให้เป็นไปตามความประสงค์ของเรา
อุบายซึ่งจะจัดการกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่ไม่น่าเอาไม่น่าเป็นนั้นมีอยู่ ข้อนี้ได้แก่การพิจารณาให้
ลึกซึ้งจนพบความจริงว่าเมื่อยังมีกิเลสตัณหา ความรู้สึกในการเอา การเป็นนั้น ย่อมมีลักษณะ
ไปอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีกิเลสตัณหา มีแต่ปัญญาที่รู้จักสิ่งต่างๆ ถูกต้องดีว่า อะไรเป็นอะไรแล้วความรู้สึก
ในการเอา การเป็น หรือการได้ของบุคคลนั้นย่อมอยู่ในลักษณะอีกแบบหนึ่ง
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การกินอาหาร ถ้ากินด้วยตัณหา หรือด้วยความอยากในความเอร็ดอร่อย
การกินอาหารของผู้นั้น ต้องมีอาการต่างจากบุคคลที่ไม่กินอาหารด้วยตัณหา แต่กินด้วยสติ
สัมปชัญญะหรือมีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไร นี้ก็เป็นคนด้วยกัน แต่คนหนึ่งกินด้วยตัณหา อีกคน
หนึ่งกินด้วยความรู้สึกตัวด้วยสติปัญญา การกินจะต้องผิดกัน กิริยาอาการที่กินและความรู้สึก
ในขณะกิน ก็จะต้องผิดกัน และในที่สุดผลอันเกิดจากการกินก็จะต้องผิดกัน
เราต้องทำความเข้าใจกันในข้อที่ว่า แม้จะไม่ต้องมีตัณหาหรือความอยากในรสอร่อย คนเราก็กิน
อาหารได้ พระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีกิเลสตัณหาเลย ก็ยังทำอะไรๆ ได้
เป็นอะไรๆ ได้ ยังทำงานมากกว่าพวกเรา ที่ทำด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ท่านทำด้วยอำนาจ
ของอะไร? ท่านทำเหมือนกับพวกเรา ที่ทำด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา อยากเป็นนั่นเป็นนี่หรือ

คำตอบก็คือ ท่านทำด้วยอำนาจของปัญญา คือความรู้ที่แจ่มแจ้งถึงที่สุดว่า อะไรเป็นอะไร
ผิดแปลกแตกต่างจากพวกเราซึ่งทำอะไรๆ ด้วยตัณหา ผลที่เกิดขึ้นนั้นคือ พวกเราต้องเป็นทุกข์
กันแทบตลอดเวลา แต่ส่วนท่านไม่มีความทุกข์เลย ท่านไม่อยากได้อะไร ไม่อยากเอาอะไร ผลจึง
ไปได้แก่คนทั้งหลายเหล่าอื่น ด้วยความเมตตาของท่านเอง ท่านมีปัญญาเป็นเครื่องบอกว่า สิ่งที่
ควรจะทำแทนที่จะอยู่เฉยๆ ฉะนั้นท่านจึงทำการสืบอายุพระศาสนามาจนถึงพวกเราได้ และทั้งได้
ทำประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย
ร่างกายและจิตใจที่ปราศจากกิเลสตัณหา ก็แสวงหาและบริโภคอาหารได้ด้วยปัญญา ไม่แสวงและ
บริโภคด้วยกิเลสตัณหาเหมือนแต่ก่อน เมื่อเราหวังจะเป็นผู้พ้นทุกข์ตามรอยบาทของพระพุทธเจ้า
หรือของพระอรหันต์ทั้งหลายเราก็ควรฝึกฝนตัว ในการที่จะทำอะไรลงไปด้วยปัญญา อย่าทำไปด้วย
อำนาจกิเลสตัณหา ถ้าเป็นคนศึกษาเล่าเรียนก็ศึกษา ไปด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีว่ามันเป็นการ
สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา ถ้าประกอบการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำไปด้วยความรู้สึก
ผิดชอบชั่วดี ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำและทำให้ดีที่สุด ด้วยความเยือกเย็นเท่าที่สติปัญญา
จะอำนวยให้
ถ้าทำไปด้วยตัณหา มันจะร้อนใจเมื่อกำลังทำ และร้อนใจเมื่อทำเสร็จแล้ว แต่ถ้าทำด้วยอำนาจ
ของปัญญาควบคุมอยู่ จะไม่ร้อนใจเลย ผลแตกต่างกันอย่างนี้ ฉะนั้นเราจำเป็ฯต้องรู้อยู่เสมอว่า
สิ่งทั้งหลายโดยแท้จริงแล้วเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็ฯ จะเข้าไปเกี่ยวข้อง
ก็เข้าไปด้วยปัญญา การกระทำของเราก็จักไม่ตกหล่มของกิเลสตัณหา
การทำด้วยสติปัญญา จะไม่มีความทุกข์ตั้งแต่เบื้องต้นจนปลาย จิตใจจะไม่มีความหลงยึดถือ
อย่างหลับหูหลับตาว่าเป็นของน่าเอา น่าเป็น ทำไปด้วยจิตว่าง ปล่อยให้เป็นไปตามขนบ
ธรรมเนียมประเพณีหรือตามกฏหมาย ยกตัวอย่างเช่น เรามีที่ดินเป็นทรัพย์สมบัติอยู่ เราไม่จำเป็น
ต้องมีความรู้สึกที่เป็นตัณหาไปยึดถือในสิ่งนั้น จนถึงกับหนักอกหนักใจแผดเผาหัวใจ กฎหมายยังคง
คุ้มครองที่ดินผืนนั้นให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเราอยู่นั่นเอง เราไม่ต้องทุกข์ร้อนวิตกกังวลมันก็ไม่หลุด
มือหายไปไหน
แม้ว่าจะมีใครมาแย่งชิงก็ยังคงทำการต้านทานป้องกันได้ด้วยสติปัญญา ไม่ต้องต้านทานด้วย
กิเลสตัณหาให้เร่าร้อนด้วยไฟคือโทสะ เราอาศัยอำนาจกฎหมายทำการต้านทานได้โดยไม่ต้อง
มีความทุกข์ เราก็ยังคงรักษาคุ้มครองเอาไว้ได้ แต่ถ้าหากว่ามันจะหลุดมือไปจริงๆ เราจะมีกิเลส
ตัณหาหรือไม่มีก็ตาม มันก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ คิดเสีย
ดังนี้เราก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไร
แม้”การเป็น” ก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปยึดถือในการได้เป็นนั่นเป็นนี่ เพราะโดยที่แท้แล้ว ไม่มีอะไรที่น่า
สนุกเลยล้วนแต่นำมาซึ่งความทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งนั้น
อุบายง่ายๆ ที่เราจะต้องพิจารณา ซึ่งเรียกว่า วิปัสสนา หรือเป็นการปฏิบัติธรรมโดยตรงก็คือ
พิจารณาให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่น่าเป็น หรือไม่มีการเป็นอะไรที่น่าสนุกเลย ท่านทั้งหลายลองตั้ง
ปัญหาสำหรับพิจารณาในข้อนี้ว่าการเป็นอะไรบ้างที่น่าสนุก? เช่น เป็นบุตร เป็นบิดา มารดา
เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นนายเขา เป็นบ่าวเขา สนุกไหม? เป็นมนุษย์สนุกไหม? กระทั่งว่าเป็นพรหม
สนุกไหม?
ถ้าท่านมีความรู้ว่า อะไรเป็นอะไรอย่างแท้จริงแล้วทุกอย่างล้วนแต่ไม่มีอะไรที่น่าสนุกเลย
เราต้องทนทำ ทนเป็น ทนเอา ทนอยู่ โดยไม่รู้สึกตัว แล้วทำไมเราจะต้องไปมอบกายถวายชีวิต
หลงใหลเอา หลงใหลเป็น หรือทำไปด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา? เราควรจะมีความรู้ที่ถูกต้อง
ในสิ่งเหล่านี้ แล้วมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ในอาการที่จะให้เป็นทุกข์
น้อยที่สุด หรือไม่ให้เป็นทุกข์เสียเลยยิ่งดี
อีกประการหนึ่ง เราจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่อยู่ร่วมกันในโลก จะเป็นมิตรสหาย แม้ที่สุดบุตร
ภรรยาผู้ใกล้ชิดสนิทสนม ว่าสิ่งทั้งปวงมันเป็นอย่างนี้ ให้เขามีความเข้าใจที่ถูกต้องเหมือนกับเรา
แล้วก็จะไม่มีอะไรขัดขวางกันในครอบครัว ในบ้านเมืองตลอดถึงในโลก ต่างคนต่างมีจิตใจที่ไม่
ยึดมั่นหลงใหลในสิ่งใดๆ หรือในกันและกัน ด้วยอำนาจกิเลสตัณหา แต่ว่าคงมีชีวิตเป็นอยู่ด้วย
อำนาจของปัญญา โดยมองเห็นชัดอยู่เสมอว่า ไม่มีอะไรที่จะยึดถืออย่างจริงจังได้
ขอให้ทุกคนมีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นตัวตนอย่างแท้จริง ไม่น่าหลง
ด้วยกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้น ควรยับยั้งด้วยปัญญาเรียกว่าเป็นผู้รู้ด้วยปัญญา มีความเห็นถูกต้อง
ตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา จึงสมควรเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทอย่างแท้จริง
แม้จะไม่เคยบวช ไม่เคยรับศีล แต่ก็เป็นบุคคลที่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแท้จริง
เขามีจิตใจอย่างเดียวกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือมีความสะอาด สว่าง สงบในจิตใจ
เพราะเหตุที่ไม่ยึดถือในสิ่งใด ว่าน่าเอา หรือน่าเป็นนั่นเอง เขาจึงเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้โดย
สมบูรณ์ อย่างง่ายดายและอย่างแท้จริง ด้วยอาศัยอุบายที่ถูกต้อง ที่พิจารณามองเห็นความไม่
เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตน ของตัวของตน จนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ น่าเอา
น่าเป็นสักอย่างเดียว
ความชั่วเป็นชั้นที่ทรมานที่สุด ก็มาจากความอยากเอา อยากเป็น ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา
ความชั่วที่เบาขึ้นมาก็ทำกันด้วยอำนาจของความรู้สึกที่เบา ด้วยกิเลสตัณหา ความดีทั้งปวงก็ทำกัน
ด้วยตัณหา ชนิดที่ดี ที่ประณีตละเอียดสูงขึ้นไป เป็นความอยากเอา อย่างเป็นในชั้นดี แม้ความดี
ถึงที่สุดก็ทำด้วยตัณหา ที่ประณีตละเอียดที่สุด จนคนไม่ถือว่าเป็นความชั่วเลย แต่แล้วก็ยังไม่พ้น
จากความทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่พ้นทุกข์ถึงที่สุด กล่าวคือพระอรหันต์จึงเป็นผู้ที่หมด
จากการกระทำด้วยอำนาจของตัณหา กลายเป็นบุคคลที่ทำชั่วทำดีไม่ได้ ทำได้แต่สิ่งที่เหนือไป
กว่าความชั่วและความดี คือมีใจเป็นอิสระอยู่เหนือการครอบงำในค่าของความชั่วและความดี
ท่านจึงไม่มีความทุกข์เลย
หลักของพระพุทธศาสนามีอยู่อย่างนี้ เราจะทำได้หรือไม่ได้ก็ตาม ปรารถนาหรือไม่ปรารถนาก็ตาม
แนวของความพ้นทุกข์ย่อมมีอยู่อย่างนี้ วันนี้ยังไม่ปรารถนา วันหน้าก็จะต้องปรารถนา เพราะว่าเมื่อ
ได้ละความชั่วเสร็จแล้วความดีก็ทำได้เต็มเปี่ยม แต่จิตยังหม่นหมอง ด้วยตัณหาชั้นประณีต
บางประการอยู่ และก็ไม่รู้จักจะดับด้วยวิธีใด นอกจากพยายามอยู่เหนืออำนาจตัณหา คืออยู่เหนือ
การที่จะไปอยากได้ อยากเป็นทั้งในสิ่งที่ชั่ว หรือสิ่งที่ดีก็ตาม ต้องไม่มีความอยากโดยสิ้นเชิง จึงจะ
พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ (นิพพาน)
สรุปความว่า การรู้ว่า อะไรเป็นอะไรถึงที่สุดนั้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
ของตน เมื่อรู้โดยแท้จริงแล้ว ก็จะเกิดความรู้ชนิดที่จิตใจจะไม่อยากเป็นอะไรด้วยความยึดถือ
แต่ถ้าต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ ที่เรียกกันว่า “ความมี- ความเป็น” บ้าง ก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
สติสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจของปัญญา ไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจของตัณหา เพราะฉะนั้น จึงไม่มี
ความทุกข์เลย
อำนาจของความยึดติด (อุปาทาน)
เราจะปลีกตัวถอนตัวออกมาเสียจากสิ่งทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา ได้อย่างไร? คำตอบก็คือจะต้องศึกษาว่า อะไรเป็นเหตุให้เราอยาก จนเข้าไปยึดติดในสิ่งนั้น? เมื่อรู้ต้นเหตุ เราอาจจะตัดความยึดติดเสียได้ กิเลสซึ่งเป็นความยึดถือในสิ่งทั้งปวงนั้น ในพุทธศาสนาเรียก “อุปาทาน” แปลว่าความยึดติด จำแนกเป็น ๔ ประการด้วยกัน
๑. กามุปาทาน (ยึดมั่นโดยความเป็นกามหรือของรักใคร่ทั่วไป) เห็นได้จากการที่คนเราตามธรรมดา มีความติดพันในสิ่งที่น่ารักที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส สัญชาตญาณ ของคนเราย่อมรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเอร็ดอร่อยในกามคุณ ๕ อย่างนี้ ตามหลักธรรมใน พุทธศาสนาขยายออกไปเป็น ๖ คือมี “ธรรมารมณ์” เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งหมายถึงสิ่งผุดขึ้นในใจ จะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ได้ เกี่ยวกับวัตถุภายนอกหรือภายในก็ได้ เป็นเพียงคิดฝันไปก็ได้ แต่ทำให้เกิดความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินทางจิตใจในขณะที่รู้สึก พอคนเราเกิดมา ได้รู้รสของกามารมณ์ทั้ง ๖ นี้ ก็ยึดติดในอารมณ์นั้น และยึดยิ่งขึ้นเป็นลำดับๆ อย่างแน่นแฟ้น เหลือวิสัยที่คนธรรมดาจะสอนได้ ฉะนั้น จึงเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจให้ถูกต้องและประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น มิฉะนั้นความยึดติดนี่แหละ จะนำไปสู่ความวินาศฉิบหาย ขอให้เราพิจารณาดูความวินาศฉิบหายของคนทั่วๆ ไป ตามปกติ จะเห็นได้ว่า มีมูลมาจากความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่น่ารักอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว ทุกอย่าง ที่มนุษย์ปุถุชนทำกันอยู่ไม่ว่าอะไร ล้วนแต่มีมูลค่าจากกามารมณ์ทั้งนั้น คนเราจะรักกัน โกรธกัน เกลียดกัน อิจฉาริษยาฆ่าฟันกัน หรือฆ่าตัวเองตายก็ตาม ก็ต้องมีมูลมาจากกามารมณ์ การที่มนุษย์ต้องทำงาน ขวนขวายหรือทำอะไรก็ตามเราอาจจะสืบสาวราวเรื่องไป แล้วจะพบว่า เขามีความอยากใคร่จะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เขาอุตส่าห์เล่าเรียนประกอบอาชีพก็เพื่อให้ได้ผลมา จากอาชีพ แล้วก็ไปแสวงหาความสบายใจใจทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสมาบำรุงบำเรอตน แม้แต่เรื่องทำบุญ อธิษฐานได้ให้ไปสวรรค์ ก็มีมูลมาจากความหวังในทางกามารมณ์ทั้งนั้น รวมความแล้วความยุ่งยากปั่นป่าวยของโลกทั้งสิ้น มีมูลมาจากกามารมณ์นั่นเอง กามารมณ์มีอำนาจร้ายกาจถึงเพียงนี้ ก็เพราะอำนาจของกามุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นอย่าง เหนียวแน่น ในกามตัวนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้เป็นอุปาทานขั้นต้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับ โลกโดยตรง โลกจะวินาศฉิบหายหรือจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมมีมูลมาจากกามุปาทานนี้โดยเฉพาะ เราควรจะพิจารณาตัวเราเองว่า เรามีความติดในกามอย่างไร เหนี่ยวแน่นเพียงไร จะเหลือวิสัย ที่เราจะละได้จริงๆ หรือไม่ ถ้าว่ากันทางคดีโลกแล้ว การติดกามกลับจะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง เพราะจะทำให้เรา รักครอบครัว ทั้งยังทำให้ขยันขันแข็งในการแสวงหาทรัพย์และชื่อเสียง ฯลฯ แต่ถ้ามองกันในแง่ ของธรรมะ จะรู้สึกว่า เป็นทางมาแห่งความทุกข์ทรมานอันเร้นลับ เพราะฉะนั้นในทางธรรมะ ความติดกามจึงเป็นสิ่งที่ต้องละกันให้หมดสิ้นในที่สุด จึงจะดับความทุกข์ทั้งปวงได้
๒.ทิฏฐปาทาน (ยึดติดในทิฏฐิหรือความคิดเห็นที่ตนมีอยู่เดิมๆ ) เป็นสิ่งที่พอมองเห็นและเข้าใจ ได้ไม่ยาก พอเราเกิดมาในโลก เราก็ได้รับการศึกษาอบรมให้เกิดมีความคิดเห็น ชนิดที่มีไว้สำหรับ ยึดมั่น ไม่ยอมใครง่ายๆ นี้ เรียกว่า ทิฏฐิ ลักษณะที่ยึดติดในความคิดความเห็นของตนนี้เป็นไป ตามธรรมชาติเขาไม่ติเตียนกันนัก และเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่เป็นโทษภัยที่ร้ายกาจไม่น้อยไปกว่า ความยึดติดในของรักของใคร่ ถ้ายึดติดในความเห็นเดิมๆ ของตัวอย่างดื้อดึงแล้ว ก็อาจถึงกับ จะต้องปรับปรุงทิฏฐิของเราให้ถูก ให้ดีให้สูงยิ่งขึ้น คือจากความเห็นผิด ให้กลายมาเป็นความเห็น ที่ถูกต้องและถูกต้องยิ่งขึ้นๆ ไปจนถึงที่สุด ชนิดที่รู้อริยสัจจ์ดังที่ได้บรรยายมาแล้ว ทิฏฐิที่เป็นความดื้อถือรั้นนั้น มีมูลมาจากหลายทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว มักจะเกี่ยวกับขนบ ธรรมเนียมประเพณี หรือลัทธิศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ทิฏฐิดื้อรั้นเป็นของส่วนตัวเองล้วนๆ นั้นยัง ไม่เท่าไร เพราะไม่มากมายเหมือนที่มาจากขนบธรรมเนียมประเพณี ที่คนเคยถือมาที่ค่อยๆ อบรม สะสมกันมากขึ้นๆ ทิฏฐิต่างๆ นี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ (อวิชชา) เมื่อไม่รู้ก็มีความเข้าใจเอาเองตามความโง่เดิมๆ ของตน เช่นเห็นว่าสิ่งนี้น่ารักน่ายึดถือ สิ่งนี้เที่ยงแท้ถาวร เป็นความสุขเป็นตัวตน แทนที่จะเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงภาพมายาที่ลวงตา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้เป็นต้น อะไรๆ ที่ตน เข้าใจมาแล้วละก็ต้องไม่ยอมรับว่าผิด ทั้งที่บางทีตัวเองก็เหมือนอยู่ว่าผิด แต่ก็ไม่ยอม ความเป็นผู้ดื้อดึงซึ่งหน้าอย่างนี้ นับว่าเป็นอุปสรรคหรือศัตรูของคนเราอย่างยิ่ง มันทำให้เราไม่ สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือไม่สามารถเปลี่ยนความเห็นผิดในลัทธิศาสนา หรือ ความเชื่ออื่นๆ ที่เคยหลงเชื่อมาแล้วแต่เดิมได้ ปัญหานี้ย่อมจะเกิดแก่บุคคลผู้ถือลัทธิศาสนาที่ยังต่ำๆ อยู่ทั้งๆ ที่ตนเห็นความต่ำหรือผิด ก็เปลี่ยน ไม่ได้ เพราะเขามักถือเสียว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยถือกันมา หรือถ้าไม่มีเหตุผลอะไร สำหรับ จะแก้ตัวขึ้นมาจริงๆ ก็ว่าเป็นสิ่งที่เคยถือปฏิบัติกันมานมนานแล้ว เป็นต้น เพราะเหตุนี้เอง พุทธ ศาสนาจึงถือว่าเป็นทิฏฐินั้น เป็นกิเลสตัวร้ายกาจ เป็นสิ่งที่ทำอันตรายที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้อง พยายามทำให้หมดไปอย่างยิ่งมิฉะนั้น ตนก็จะไม่ได้อะไรที่ดีขึ้นเลย
๓. สีลัพพตุปาทาน (ยึดติดในวัตรปฏิบัติที่มุ่งหมายผิดทาง) หมายถึงความยึดมั่นถือมั่นในการ ประพฤติกระทำที่ทำปรัมปราสืบกันมาอย่างงมงายไร้เหตุผล หรือที่คนนิยมเรียกกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ คิดกันว่าเป็นสิ่งที่เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คนไทยเราทั่วไป ก็มีสิ่งนี้กันไม่น้อยกว่าชนชาติอื่นมีการถือเครื่องรางของขลัง หรือเคล็ดลับต่างๆ เช่นตื่นนอนขึ้นมา จะต้องเสกน้ำล้างหน้า จะถ่ายอุจจาระก็ต้องผินหน้าไปทิศนั้นทิศนี้ จะบริโภค อาหารหรือจะนอนก็ต้องมีเคล็ดมีพิธี เชื่อผีสางเทวดา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นต้น เป็นการ ปฏิบัติที่ไร้เหตุผลอย่างยิ่ง ไม่เคยคำนึงถึงเหตุผล คงมีแต่ความยึดมั่นถือมั่นตามตำราบ้าง เคยทำมา แล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลงบ้าง แม้ที่อ้างตนว่า่เป็นพุทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกา ก็ยังยึดมั่นถือมั่นกันไว้คนละอย่างสองอย่าง หรือ แม้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ก็ยังมีการยึดถือในทำนองนี้ด้วยอุปาทาน ยิ่งเป็นลัทธิศาสนาที่ถือพระเป็นเจ้าถือเทวดา ถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยแล้ว จะมีการถือชนิดนั้นมาก เลยทีเดียว ซึ่งสำหรับชาวพุทธเราไม่น่าจะมีอย่างนั้นเลย ข้อนี้เป็นเพราะเมื่อประพฤติธรรมข้อใดข้อหนึ่งแล้วไม่ทราบความมุ่งหมายเดิม ไม่คำนึงถึงเหตุผล ได้แต่เหมาสันนิษฐานเอาเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้น คนเหล่านี้จึงสมาทานศีล หรือ ประพฤติ ธรรมแต่เพียงตามแบบฉบับตามประเพณี ตามตัวอย่างที่ทำปรัมปราสืบกันมาเท่านั้นไม่ทราบ เหตุผลของสิ่งนั้นๆ เพราะประพฤติมาจนชิน เกิดการยึดถือเหนียวแน่น ชนิดที่แก้ไขยาก อันนี้ เรียกว่าความยึดติดในการปฏิบัติ ที่เคยกระทำสืบกันมาอย่างผิดๆ หรืออย่างงมงายไร้เหตุผล แม้วิปัสสนากรรมฐาน หรือสมถกรรมฐาน อย่างที่กำลังประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในเวลานี้ก็ตาม ถ้าทำไปด้วยความไม่รู้เหตุผลต้นปลาย ไม่รู้ความมุ่งหมายอันแท้จริง ก็จะต้องเป็นไปด้วยอำนาจ ของความยึดถือโดยมุ่งหมายผิดเป็นความโง่เขลาชนิดหนึ่ง โดยไม่ต้องสงสัย แม้ที่สุดจะรักษาศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ หรือศีลเท่าใดก็ตาม ถ้ารักษาโดยคิดว่าจะเป็นผู้ขลัง เป็นผู้วิเศษศักดิ์สิทธิ์ จะมีอำนาจฤทธิ์เดชอะไรขึ้นมาแล้ว ก็กลายเป็นกิจวัตรที่มุ่งไปผิดทาง ทำไปโดยอำนาจสีลัพพตุปาทานนี้ทั้งนั้นไม่ต้องกล่าวถึงการประพฤติแปลกๆ ของพวกภายนอก พุทธศาสนาก็ได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากๆ การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น จะต้องให้ถูกไปตั้งแต่เริ่มมีความคิด ความเห็นความพอใจ ในผลของการทำลายกิเลสไปตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว การประพฤติปฏิบัตินั้น จึงจะไม่เป็นความงมงายที่นอกลู่นอกทาง ไร้เหตุผล และเสียเวลาปฏิบัติ
๔.อัตตวาทุปาทาน (ยึดมั่นโดยความเป็นตัวเป็นตน) ความยึดมั่น ว่าตัว ว่าตนนี้ เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งเร้นลับอย่างยิ่ง สิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดย่อมจะรู้สึกว่ามันเป็นตัวตนของมันอยู่ดังนี้เสมอไป อย่างช่วยไม่ได้ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณขั้นต้นที่สุดของสิ่งที่มีชีวิต และเป็นมูลฐานของ สัญชาตญาณอื่นๆ เช่น สัญชาตญาณหาอาหารกิน สัญชาตญาณต่อสู้อันตราย หลบหนีอันตราย สัญชาตญาณสืบพันธุ์และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งล้วนแต่อาศัยสัญชาตญาณเห่งความรู้สึกยึดถือว่า เป็นตัวตนทั้งนั้น มันต้องยึดมั่นว่า มีตัวเราเสียก่อนมันจึงไม่อยากตาย มันจึงอยากหาอาหารมา เลี้ยงร่างกาย อยากต่อสู้เอาตัวรอด หรืออยากจะสืบพันธุ์ของมันไว้ ความยึดถือว่ามีตัวตนนี้ มีประจำอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว มันจะมีชีวิตรอด มาไม่ได้ แต่อันนั้น อันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ ในการแสวงหาอาหารในการต่อสู้ ในการ สืบพันธุ์ หรือในการทำอะไรทุกๆ อย่างฉะนั้น จึงกล่าวว่า มันเป็นรากฐานแห่งความทุกข์ทั้งปวงด้วย ข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นใจความ โดยสรุปสั้นที่สุดว่า “สิ่งต่างๆ ที่คนมีอุปทานเข้าไปยึดถือ อยู่นั่นแหละเป็นตัวความทุกข์ หรือเป็นมูลเหตุแห่งความทุกข์” หรือ “ร่างกายและจิตใจที่คนเข้าไป ยึดถือด้วยอุปาทานอยู่นั่นแหละ เป็นความทุกข์” อุปาทานข้อนี้เป็นต้นกำเนิดของชีวิต และเป็นต้นกำเนิดของความทุกข์ต่างๆ คำที่ว่า “ชีวิตคือ ความทุกข์-ความทุกข์คือชีวิต” ท่านก็หมายถึงข้อนี้เอง การที่เรารู้จักมูลกำเนิดของชีวิต และของ ความทุกข์ น่าจะถือว่าเป็นการรู้ในสิ่งที่ลึกซึ้งที่สุดและควรรู้ถึงที่สุด เพราะว่าเป็นทางที่ทำให้ เราสามารถกำจัดความทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด ข้อนี้อยากจะอวดด้วยว่า เป็นความรู้เฉพาะของ พุทธศาสนาเท่านั้น ไม่อาจพบได้ในศานาอื่นที่มีอยู่ในโลกนี้เลย เกี่ยวกับอุปาทาน วิธีปฏิบัติให้ได้ประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั้น จะต้องอาศัยการรู้จักตัว ความยึดติดโดยเฉพาะอัตตวาทุปาทานให้มากเป็นพิเศษ เพราะว่ามันเป็นมูลฐานของชีวิต เป็นสิ่ง ที่มีขึ้นเอง เป็นเอง ประจำอยู่เสร็จแล้วในตัว ไม่ต้องมีใครมาสอนอะไรกันอีก เด็กๆ หรือลูกสัตว์เล็กๆ พอเกิดมาจากท้องแม่ ก็มีสัญชาตญาณอันนี้มาด้วยเสร็จ เราจะเห็นได้ว่า ลูกสัตว์ตัวเล็กๆ เช่นลูกแมวรู้จักขู่ฟู่ๆ ในเมื่อเราเข้าไปใกล้มันนั่นก็เพราะ มันมีอะไรที่เป็นตัว เป็นตนประจำอยู่ในใจ ฉะนั้นจึงช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้มีอุปาทานในข้อนี้ ที่มันแสดงอิทธิพลออกมา ทางที่ทำได้อย่างเดียวก็คือ ควบคุมมันไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกว่าจะเจริญด้วยวิชาความรู้ ในทางธรรมะ อย่างที่เรียกได้ว่า ตัดให้ขาดลงไปด้วยวิธีที่พุทธศาสนาสอนไว้ จนเอาชนะสัญชาต- ญาณข้อนี้ได้ ถ้ายังเป็นคนธรรมดา คือเป็นปุถุชนอยู่แล้ว ย่อมไม่มีทางที่เอาชนะสัญชาตญาณข้อนี้ได้เลย มีแต่พระอริยเจ้าอันดับสุดท้ายคือ พระอรหันต์เท่านั้นที่จะเอาชนะสัญชาตญาณข้อนี้ได้ เราต้อง เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย เพราะเป็นปัญหาสำคัญของสิ่งมีชีวิตทั่วๆ ไปทั้งสิ้น ถ้าเราต้องการ จะเป็นพุทธบริษัทเต็มตัว กล่าวคือเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาโดยครบถ้วน ก็จำต้อง ศึกษาเรื่องนี้ และเอาชนะความเข้าใจผิดในข้อนี้ให้ได้มากที่สุด เราจึงจะมีความทุกข์ลดน้อยลง ตามลำดับๆ การที่รู้ความจริง ของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราเป็นประจำวัน นับว่าเป็นมหากุศลหรือความฉลาดที่สุด อย่างหนึ่งจึงใคร่ขอรบเร้าท่านทั้งหลาย ให้สนใจเรื่องอุปาทานทั้งสี่อันเป็นเรื่องแสดงให้เห็นว่า ทั้งๆ ที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่น่ายึดถือ ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เราทั้งหลายก็ยังตกเป็นบ่าว เป็นทาสของมันอย่างเหนียวแน่น เพราะอำนาจของอุปาทานทั้งสี่นี้เอง ฉะนั้น เราจะต้องศึกษา ให้รู้จักสิ่งที่เป็นอันตรายเป็นพิษร้ายนี้ให้มากที่สุด สิ่งนี้มิได้แสดงตัวเป็นพิษเป็นอันตรายอย่าง การลุกโพลงๆ ของไฟ หรือรู้จักได้ง่ายๆ อย่างอาวุธหรือยาพิษ แต่มันเร้นลับแนบเนียนอยู่ลักษณะ เป็นของหวานเอร็ดอร่อยหอมหวานยวนใจเป็นของสวยงาม เป็นของไพเราะทั้งนั้น เมื่อมันมาในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นการยากที่เราจะรู้สึกตัวหรือควบคุมมันได้ จึงต้องอาศัยสติ ปัญญา ความรู้ของพระพุทธเจ้า และจะต้องศึกษาปฏิบัติ ควบคุมความยึดมั่นที่ผิดๆ เหล่านี้ให้อยู่ ในอำนาจของปัญญา เราก็สามารถดำรงชีวิตนี้ไม่ให้มีความทุกข์ทรมาน หรือทุกข์แต่น้อยที่สุด จนสามารถปฏิบัติหน้าที่การงาน หรือมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ในลักษณะที่เยือกเย็น มีความสะอาด สว่าง สงบเย็นอยู่ได้ ขอสรุปความว่า อุปาทานทั้งสี่นี้ เป็นปัญหาอันเดียวที่พุทธบริษัท หรือผู้ประสงค์จะรู้จักตัวพุทธ ศาสนา จะต้องเข้าใจให้ได้ เพราะว่าวัตถุประสงค์ของการรักษาพรหมจรรย์ในพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อทำจิตให้หลุดพ้นจากความยึดมั่นที่ผิดๆ นี้ ท่านทั้งหลายจะได้พบคำกล่าวเช่นนี้ ในท้าย บาลีทุกๆ สูตร ที่กล่าวถึงการบรรลุธรรมของพระอรหันต์ ซึ่งในที่นั้นจะมีคำว่า “จิตหลุดพ้น อุปาทาน” แล้วก็จบกัน เพราะว่า เมื่อจิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะผูกพันคล้อง จิตนั้น ให้ตกเป็นทาสของโลกหรือเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เรื่องจึงจบสิ้นกันหรือกลายเป็น โลกุตตระ คือพ้นโลก เพราะเหตุฉะนั้น การหลุดพ้นจากความยึดมั่นที่ผิดๆ จึงเป็นใจความ สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา
สิ่งที่รู้จักยากที่สุด

สิ่งรู้จัก ยากที่สุด กว่าสิ่งใด
ไม่มีสิ่ง ไหนไหน ได้ยากเท่า
สิ่งนั้นคือ ตัวเอง หรือตัวเรา
คนที่เขลา หลงว่ากู- รู้จักดี
ที่พระดื้อ เณรดื้อ และเด็กดื้อ
ไม่มีรื้อ มีสร่าง อย่างหมุนจี๋
เพราะความรู้ เรื่องตัวกู มันไม่มี
หรือมีอย่าง ไม่มี ที่ถูกตรง
อันตัวกู ของกู ที่รู้สึก
เป็นตัวลวง เหลือลึก ให้คนหลง
ส่วนตัวธรรม เป็นตัวจริง ที่ยิ่งยง
หมดความหลง รู้ตัวธรรม ล้ำเลิศตนฯ
——————————————————————————–

ตัวกู-ตัวสู

อันความจริง “ตัวกู” มิได้มี
แต่พอเผลอ มันเป็นผี โผล่มาได้
พอหายเผลอ “ตัวกู” ก็หายไป
หมด”ตัวกู” เสียได้ เป็นเรื่องดี
สหายเอ๋ย จงถอน ซึ่ง”ตัวกู”
และถอนทั้ง “ตัวสู” อย่างเต็มที่
มีกันแต่ ปัญญา และปรานี
หน้าที่ใคร ทำให้ดี เท่านี้เอยฯ

 

SHARE NOW

Facebook Comments