เรียนรู้ เรื่องกระสายยา

เรียนรู้ เรื่องกระสายยา

เรียนรู้ เรื่องกระสายยา


เรียนรู้ เรื่องกระสายยา
ตำรับยาไทยต่างๆ ที่เราใช้รักษาโรคนั้น โดยส่วนมากนิยมทำเป็นยาผงหรือยาลูกกลอน ส่วนในปัจจุบันก็พัฒนามาเป็นยาเม็ดแคปซูลเพื่อใช้รับประทานได้ง่ายขึ้น การใช้ยาไทยแต่เดิมนั้นจะมีการระบุวิธีใช้ควบคู่กับน้ำกระสายยา ยาบางตำรับเมื่อเข้าน้ำกระสายยารับประทานจะเกิดประสิทธิภาพในการรักษาโรคแตกต่างกัน และถือได้ว่าน้ำกระสายยาคือพาหะที่นำยาไปรักษาโรคและอาการนั้นโดยตรง

กระสายยามีทั้งแบบแข็งคือ แป้งและน้ำตาลทราย แต่โดยส่วนมากมักเป็นของเหลวจึงเรียกว่าน้ำกระสายยา ได้จากการเตรียมแบบต้ม แช่ บีบ ฝน คั้น ละลาย เพื่อประโยชน์ คือ
กระสายหรือกระสายยา เป็นส่วนประกอบในตำรับยาไทยทุกขนาน เป็นได้ทั้งของแข็ง เช่น แป้ง น้ำตาลทราย หรือของเหลว เรียกว่า น้ำกระสายยา ทำได้โดยการต้ม แช่ บีบ ฝน คั้น ละลาย
น้ำกระสายยาที่หมอโบราณเคยใช้สืบเนื้อต่อกนมาและได้ผล หมอโบราณยังใช้กันมาทุกวันนี้ ท่านผู้อ่านที่สนใจจะใช้นำกระสายยาดังกล่าวนี้บ้างก็ได้ เพราะบางอย่างเป็นของหาง่ายทำใช้ได้ง่าย
– วัตถุประสงค์สำหรับกระสายยา
เพื่อช่วยเตรียมยาให้เป็นรูปแบบยาที่ต้องการ
เพื่อช่วยละลายยาเตรียมบางรูปแบบ
เพื่อช่วยให้ยานั้นแสดงฤทธิ์ได้เร็วและดีขึ้น
เพื่อช่วยละลายตัวยาสำคัญ เช่น
น้ำกระสายยามีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว น้ำมะงั่ว น้ำส้มซ่า เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารสำคัญละลายในกรด หรือมีอัลคาลอยด์ที่ทำปฏิกิริยากับกรดในน้ำกระสายยาได้เป็นเกลือ
น้ำกระสายยาที่มีฤทธิ์เป็นกลาง เช่น น้ำดอกไม้ ช่วยในการละลายของสารที่เป็นขั้วสูง เช่น แทนนิน สารพวกฟีนอลลิก หรือไกลโคไซด์
น้ำกระสายยาที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เช่น น้ำปูนใสหรือแคลเซียมไฮดรอกไซด์ เหมาะสำหรับช่วยละลายสารที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง เช่น คูมาริน หรือใช้ละลายสารที่เป็นกรด เช่น แทนนินหรือกรดแทนนิก ซึ่งเป็นสารที่มีรสฝาด เมื่อนำแทนนินมาฝนกับน้ำปูนใสใช้เป็นน้ำกระสายยา แทนนินจะทำปฏิกิริยากับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ได้เป็นเกลือแคลเซียมแทนเนทลดความฝาด และเมื่อแคลเซียมแทนเนทสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหารจะทำปฏิกิริยาได้แทนนินกลับมาใหม่
– การเตรียมน้ำกระสายยา
การต้มหรือแช่เภสัชวัตถุในน้ำหรือในเหล้า เช่น น้ำต้มรังนก น้ำต้มขิง
การบีบหรือคั้นน้ำจากแหล่งกำเนิดที่มีน้ำสะสมอยู่มาก เช่น การบีบน้ำนมจากสัตว์ เช่น น้ำนมโค น้ำนมแพะ หรือการบีบคั้นน้ำจากส่วนชองพืช เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มซ่า
การฝนเภสัชวัตถุบางชนิดกับน้ำซาวข้าวหรือน้ำสะอาด โดยทั่วไปมักใช้กับเภสัชวัตถุที่แข็งมาก โดยเฉพาะส่วนของสัตว์วัตถุ เช่น นอ งา เขี้ยว เขา
การละลายน้ำมันหอม หรือน้ำมันระเหยง่าย โดยอาจใช้ละลายในน้ำสุกหรือน้ำร้อนโดยตรง เช่น น้ำมันดอกมะลิ น้ำมันดอกยี่สุ่น น้ำมันตะไคร้หอม เป็นต้น หรืออาจได้จากการอบกลีบดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมในน้ำสุก เช่น น้ำดอกไม้ไทย
การละลายเครื่องยาบางชนิดที่บดเป็นผงละเอียดแล้วในน้ำร้อนหรือน้ำสุก มักใช้กับเครื่องยาที่ใช้ในปริมาณเล็กน้อย เครื่องยาที่เข้มข้นมาก หรือมีราคาแพงมาก เช่น หญ้าฝรั่น อำพันทอง การบูร พิมเสน ดีจระเข้ ดีหมี
********************************************************************************
– น้ำกระสายยาที่ใช้ในตำราพระโอสถพระนารายณ์
ขัณฑสกร ในตำราฯ ระบุให้ใช้ขัณฑสกรเป็นน้ำกระสายยาในยาที่แก้เตโชธาตุพิการ
ขัณฑสกรที่ได้จากหยดน้ำค้าง ที่หยดลงบนพืชที่เรียกว่า ต้นขัณฑสกร มีสรรพคุณบำรุงกำลัง ทำให้ปัสสาวะคล่อง แก้เสมหะจุกคอ แก้กระหายน้ำ
ขัณฑสกรที่ได้จากน้ำอ้อย มีสรรพคุณบำรุงธาตุ และแก้ฝี ผอมเหลือง
ขัณฑสกรที่ได้จากรวงน้ำผึ้งที่เกิดริมทะเล มีสรรพคุณแก้นิ่ว แก้ท้องมาน แก้สะอึก แก้จุกเสียด แก้ไข้เซื่องซึม แก้ลมพิษ แก้คอแห้ง
ขัณฑสกรที่ได้จากเกสรบัวหลวง มีสรรพคุณเหมือนกันขัณฑสกรที่ได้จากหยดน้ำค้าง
น้ำกระเทียม ใช้เป็นน้ำกระสายยาสำหรับช่วยละลายยาให้ยานั้นกินง่าย ทั้งยังช่วยเสริมสรรพคุณตัวยาในตำรับด้วย
น้ำขิง มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้จุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน อาเจียน
น้ำจันทน์ขาว สรรพคุณบำรุงประสาท แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ตับ ปอดและดีพิการ เป็นต้น ใช้เป็นน้ำกระสายยาช่วยเสริมฤทธิ์ของยาในตำรับ
น้ำชะเอม ทั้งชะเอมไทย ชะเอมเทศ และชะเอมจีน แต่นิยมใช้คือชะเอมจีน ช่วยละลายยาให้กินง่าย และมีสรรพคุณแก้ไอ แก้คอแห้ง และขับเสมหะได้ด้วย
น้ำซาวข้าว สรรพคุณถอนพิษผิดสำแดง แก้พิษร้อนภายใน มักใช้เป็นน้ำกระสายยาแก้ไข้ เพราะช่วยเสริมฤทธิ์ลดไข้
น้ำดอกไม้ ที่นิยมคือ ดอกมะลิ และดอกกระดังงา สรรพคุณแก้ลม บำรุงหัวใจ ใช้เป็นน้ำกระสายยาเพื่อทำยาลูกกลอนและยาแท่ง ช่วยละลายยาให้กินง่าย
น้ำดอกไม้เทศ มาจากอิหร่านหรือซีเรีย เป็นน้ำมันดอกยี่สุ่น มักใช้เป็นกระสายยา สำหรับยาแก้อ่อนเพลีย ยาบำรุงกำลัง
น้ำนม มีรสหวาน มัน เย็น ช่วยละลายยาให้กินง่าย และเสริมฤทธิ์เจริญไฟธาตุของตัวยาอื่น ๆ
น้ำใบกล้วยตีบ เป็นลูกผสมระหว่างกล้วยป่าและกล้วยตานี ช่วยเสริมฤทธิ์ฝาดสมานของตัวยาอื่น ๆ
น้ำใบชา เป็นน้ำกระสายยาในตำรับยาขัดปัสสาวะ (ขัดเบา)
น้ำใบผักไห่ ต้นผักไห่รู้จักกันในชื่อ มะระขี้นก เป็นยาเจริญอาหาร ยาระบายอย่างอ่อน ใช้ในคนไข้โรคตับและท่อน้ำดีอักเสบ กินมากเป็นยาทำให้อาเจียน
น้ำผึ้งและน้ำผึ้งรวง น้ำผึ้งเป็นทั้งอาหารและยา ใช้เป็นน้ำกระสายยาที่ใช้มากที่สุดในตำราฯ ทั้งยาผงปั้นเป็นลูกกลอน ทาแผล และกินเป็นยาบำบัดโรค มีสรรพคุณบำรุงกำลัง แก้สะอึก แก้ไข้ตรีโทษ และเป็นยาอายุวัฒนะ
น้ำมวกเขา เป็นน้ำที่หยดจากหินย้อยลงมาแข็งตัวเป็นหินงอก เป็นสารละลายอิ่มตัวของหินปูน เมื่อตั้งทิ้งไว้ตะกอนของหินปูนจะนอนก้น เอาน้ำใส ๆ มาใช้เป็นน้ำ
กระสายยา สรรพคุณแก้พิษอักเสบ ปวดแสบปวดร้อน ห้ามเหงื่อ ดับพิษต่าง ๆ
น้ำมะงั่ว ได้จากการบีบหรือคั้นน้ำจากมะงั่วหรือส้มมะงั่วที่แก่จัด รสเปรี้ยว สรรพคุณฟอกโลหิต แก้ไอ มีมะงั่วพันธุ์หนึ่งคล้ายนิ้วมือ เรียกว่า ส้มโอมือ ในยาไทยใช้ผิวส้มแห้งทำยาดม
น้ำมะนาว ได้จากการบีบหรือคั้นน้ำจากมะนาวที่แก่จัด มีรสเปรี้ยว สรรพคุณกัดเสมหะ ฟอกโลหิตสตรี ใช้เป็นน้ำกระสายยาสำหรับยาแท่ง และเป็นน้ำกระสายยาละลายยากิน
น้ำมูตรโคดำ หรือน้ำปัสสาวะวัวบ้านเพศผู้ตัวมีสีดำทั้งตัว มีรสเผ็ดร้อน เค็ม ฉุน เป็นน้ำกระสายยาที่มีสรรพคุณแก้ปวดร้าวระบม แก้ช้ำใน แก้ผอมเหลือง แก้หืดไอ แก้วาโยธาตุพิการ
น้ำร้อน เป็นน้ำฝนหรือน้ำสะอาดที่ต้มเดือด น้ำร้อนเป็นน้ำกระสายยาที่ใช้มากในยาไทย โดยช่วยละลายยา ทำให้กินง่ายขึ้น และใช้เป็นกระสายยาสำหรับปั้นยาเป็นแท่ง
น้ำส้มซ่า ได้จากการบีบหรือคั้นน้ำจากผลแก่จัดของส้มซ่า มีรสเปรี้ยวอมหวาน สรรพคุณกัดฟอกเสมหะ เป็นยาฟอกโลหิต
น้ำส้มสายชู เป็นสารละลายใส ไม่มีสี หรือสีชาอ่อน ๆ มีกลิ่นฉุน รสเปรี้ยว มีสรรพคุณระงับความร้อนในร่างกาย ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ
น้ำอัษฎางคุลี หมายถึงน้ำผลไม้ 8 อย่างผสมกัน ได้แก่ น้ำมะม่วง น้ำชมพู่หรือน้ำลูกหว้า น้ำกล้วยมีเมล็ด น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด น้ำมะซาง น้ำลูกจันทน์หรือน้ำองุ่น น้ำเหง้าบัว น้ำมะปรางหรือน้ำลิ้นจี่ นำมาปอกหรือคว้านผลสุก เอาผ้าห่อ บิดผ้าให้แน่น อัดผลไม้ให้คายน้ำออกมา หรือทุบ บุบ แช่น้ำตากแดดให้สุก
สุรา ในตำรายาโบราณ เหล้ามีรสเมา สรรพคุณกระทุ้งพิษ ขับเลือดลม เมื่อใช้เป็นกระสายยา ทำให้ยาแล่นเร็ว มักใช้เหล้าขาว แต่วิสกี้หรือบรั่นดีก็ใช้ได้
จาก : ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม หนังสืออายุรเวช ขุนนิเทสสุขกิจ ที่มา หนังสือเภสัชกรรมไทย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ขอบคุณ ภาพปกหนังสือ คู่มือน้ำกระสายยา
TEAY

SHARE NOW

Facebook Comments