ใบหม่อน…ลดน้ำตาลในเลือด

ใบหม่อน...ลดน้ำตาลในเลือด

ใบหม่อน…ลดน้ำตาลในเลือด

🍃ใบหม่อน…ลดน้ำตาลในเลือด

“หม่อน” หรือ “mulberry” ปัจจุบันนิยมนำหม่อนทั้งในส่วนของผลและใบมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งรับประทานเป็นอาหารและเครื่องดื่มสำหรับสุขภาพกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะชาใบหม่อน ซึ่งกล่าวว่ามีสรรพคุณเด่นในการลดน้ำตาลในเลือด

🍃ในใบหม่อนมีสาร DNJ ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ α-glucosidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลโมเลกุลคู่ให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว จึงมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงได้

🔰การศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาถึงผลในการลดน้ำตาลของใบหม่อน เพื่อสนับสนุนในการที่จะนำมาใช้รักษาเบาหวาน พบว่า…มีการศึกษาทั้งในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และการศึกษาทางคลินิก

✳️ โดยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่า..>> สารสกัดและชาใบหม่อน มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ยับยั้งการดูดซึมกลูโคส และลดน้ำตาลในเลือดได้ สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สาร 1-deoxynojirimysin (DNJ) ซึ่งเป็นสารกลุ่มแอลคาลอยด์ ที่มีโครงสร้างคล้ายน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharides)

✳️ สำหรับการศึกษาทางคลินิก พบว่า..>> การรับประทานผงใบหม่อนขนาด 5.4 ก./วัน ร่วมกับน้ำ (แบ่งรับประทานครั้งละ 1.8 ก. วันละ 3 ครั้ง) เป็นเวลา 3 เดือน มีผลทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาล และระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดลดลง และไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ

✳️ และในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รับประทานแคปซูลผงใบหม่อน ขนาด 6 แคปซูล/วัน (ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร (1 แคปซูล มีผงใบหม่อน 500 มก. เท่ากับ 3 ก./วัน) เป็นเวลา 30 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide ขนาด 5 มก./วัน พบว่า..>> กลุ่มที่ได้รับผงใบหม่อนมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม และยังมีผลลดคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ กรดไขมันอิสระ LDL และ VLDL และเพิ่มระดับของ HDL อีกด้วย ..ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ไม่มีผลต่อระดับไขมันในร่างกาย ยกเว้นระดับไตรกลีซอไรด์ที่มีค่าลดลง

✳️ การศึกษาในอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน (ระดับน้ำตาลในเลือด 100-140 มก./ดล.) รับประทานแคปซูลสารสกัดจากใบหม่อน ขนาด 1, 2 และ 3 แคปซูล (ซึ่งมี DNJ เท่ากับ 3, 6 และ 9 มก./แคปซูล) ก่อนอาหาร เป็นเวลา 15 นาที พบว่า..>> มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร และลดการหลั่งอินซูลินได้

✳️การศึกษาผลความปลอดภัยของการรับประทานผงสารสกัดจากใบหม่อนในระยะยาว โดยให้อาสาสมัครสุขภาพดีรับประทานผงสารสกัดใบหม่อน ขนาด 3.6 ก./วัน (ครั้งละ 1.2 ก. ก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง ; DNJ เท่ากับ 54 มก./วัน ) เป็นเวลา 38 วัน พบว่า..>> สารสกัดใบหม่อนไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดความผิดปกติของไขมันในร่างกาย ไม่มีผลต่อค่าชีวเคมีในเลือดและไม่เกิดอาการข้างเคียงที่อันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร

🔹🔸จากการทดลองทั้งหมด ช่วยให้เราสรุปผลได้ว่า..ใบหม่อนมีผลลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน และคนปกติได้..โดยไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดลดต่ำ ไม่เกิดอาการข้างเคียงที่อันตรายเมื่อรับประทานต่อเนื่องนาน 1 เดือน และมีการศึกษาที่รับประทานในระยะยาว 12 สัปดาห์ ก็ไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายเช่นกัน

 วิธีใช้
ปัจจุบันในท้องตลาดจะมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชาใบหม่อนให้เลือกอยู่หลากหลายยี่ห้อ แต่เราสามารถทำชาใบหม่อนภายในครัวเรือนได้เอง โดยใช้ใบหม่อนสดหรือใบแห้ง 2-6 กรัม แช่น้ำร้อน 100-200 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้นานอย่างน้อย 6 นาที รินดื่มเป็นชา ก่อนอาหาร วันละ 2-3 ครั้ง

⛔️ข้อควรระวัง
ควรระมัดระวังในการใช้หม่อนร่วมกับยารักษาเบาหวาน โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase เช่น Acarbose เพราะหม่อนมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ได้เช่นกัน ดังนั้นอาจจะไปเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากได้

🔻จากข้อมูลงานวิจัยข้างต้น นับได้ว่า “ใบหม่อน” มีศักยภาพในการนำมาใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานได้ แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องขนาดการใช้ที่เหมาะสม และความปลอดภัยเมื่อรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน

▶️ เอกสารอ้างอิง
◾️อรัญญา ศรีบุศราคัม. ใบหม่อนกับโรคเบาหวาน. จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2557:32(1);3-9.
◾️กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (นายวิโรจน์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์หม่อนไหม). “หม่อน & ไหม… พืชและเส้นใยแห่งอนาคต”.
◾️Vichasilp C, Nakagawa K, Sookwong P, Higuchi O, Luemunkong S, Miyazawa T. Development of high 1-deoxynojirimycin (DNJ) content mulberry tea and use of response surface methodology to optimize tea-making conditions for highest DNJ extraction. LWT – Food Sci Technol 2012;45:226-32.
◾️Kwon HJ, Chung JY, Kim JY, Kwon O. Comparison of 1-deoxynojirimycin and aqueous mulberry leaf extract with emphasis on postprandial hypoglycemic Effects: In vivo and in vitro studies. J Agric Food Chem 2011;59:3014-9.
◾️Watanabe K, Nakano R, Inoue M, et al. Basic and clinical study. Effects and toxicity studies of the mulberry leaf powder (Morus alba leaves) in volunteers with hyperglycemia and normoglycemia. Niigata Igakkai Zasshi 2007;121(4):191- 200.
◾️Andallu B, Suryakantham V, Srikanthi BL, Reddy GK. Effect of mulberry (Morus indica L.) therapy on plasma and erythrocyte membrane lipids in patients with type 2 diabetes. Clinica Chimica Acta 2001;314:47-53.
◾️Asai A, Nakagawa K, Higuchi O, et al. Effect of mulberry leaf extract with enriched 1-deoxynojirimycin content on postprandial glycemic control in subjects with impaired glucose metabolism. J Diabetes Invest 2011;2(4):318-23.
◾️Kimura T, Nakagawa K, Kubota H, et al. Food-grade mulberry powder enriched with 1-deoxynojirimycin suppresses the elevation of postprandial blood glucose in humans. J Agric Food Chem 2007;55:5869-74

Cr. ขอบคุณภาพจาก health.kapook.com

#สมุนไพรน่ารู้ #ใบหม่อน #mulberry #ชาใบหม่อน #ลดน้ำตาลในเลือด #สมุนไพรอภัยภูเบศร

SHARE NOW

Facebook Comments