ข่าวเด่นวันนี้

ไวรัสอีโบล่าระบาด อ่านไว้เป็นความรู้เพื่อเฝ้าระวังแต่อย่าตื่นตระหนก

By admin

August 06, 2014

บทสรุป (ขอสรุปไว้ข้างบนละกัน เผื่อจะมีใครอ่านบทความไม่จบ เพราะบทความยาวครับ กลัวใจเหลือเกิน) แม้ว่าเชื้อไวรัสอีโบล่าจะน่ากลัว มีอัตราการเสียชีวิตสูงหากติดเชื้อ แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาการระบาดทุกครั้งจำกัดอยู่ในประเทศแถบแอฟริกาเท่านั้น ยังไม่พบการระบาดนอกเหนือจากแถบนั้น และการติดเชื้อก็ไม่ได้ง่ายซะทีเดียว เพราะต้องสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง ต้องมีเลือด มีหนองเข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวผู้รับเชื้อต้องมีแผลมีทางให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายหรือเข้าทางเยื่อบุต่างๆเช่น เยื่อบุตา ปาก หรืออวัยวะเพศ ไม่ใช่ว่าจะหายใจไอจามติดกันได้ ดังนั้นจึงอยากให้อ่านบทความนี้ ติดตามสถานการณ์ แต่อยากแตกตื่นเกินไป สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ระบาด ถ้าเลื่อนได้ก็เลื่อนการเดินทางไปก่อนครับ ส่วนถ้าเลื่อนไม่ได้ก็ระวังตัวเองให้ดี มามาอ่านกัน @ข้อมูลพื้นฐาน เชื้อไวรัสอีโบล่า (Ebolavirus) ที่กำลังเกิดการระบาดอยู่ตอนนี้ทางแถบแอฟริกาตะวันตก 3 ประเทศ คือ Guinea, Liberia, Sierra Leone ถือเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดของเชื้อนี้ ตั้งแต่มีการค้นพบในปี 1976 ที่ประเทศคองโก ชื่อที่ได้มาเพราะพบเชื้อในหมู่บ้านที่ริมแม่น้ำ Ebola ครับ โดยการระบาดครั้งปี2014 นี้จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มีอาการสงสัย 1201 คน ตรวจพิสูจน์ยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้ออีโบล่า 814 คน เสียชีวิตไป 672 คน เชื้อไวรัสอีโบล่าถือเป็นหนึ่งในไวรัสที่มีความรุนแรงที่สุดในโลก มีอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยสูงได้ถึง 90% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตครั้งนี้อยู่ที่ 57% **** สรุปตรงนี้แปลว่าเป็นแล้วหายได้ ไม่ใช่ติดเชื้อแล้วตาย 100% นะครับ ชื่อโรคเต็มๆของการติดเชื้อ Ebolavirus คือ Ebola virus disease(EVD) หรือ Ebola hemorrhagic fever หรือไข้เลือดออกอีโบล่า ****ทำความเข้าใจชัดๆตรงนี้กันก่อนนะครับ ว่าถึงจะมีคำว่าไข้เลือดออกเหมือนกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับไข้เลือดออกที่พบและเป็นกันในปัจจุบัน เพราะเป็นเชื้อคนละตัวกันเลย**** เชื้อไวรัสอีโบล่ามีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ 4 สายพันธุ์แรกก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ สายพันธุ์สุดท้ายเกิดในสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น ได้แก่ Ebola virus (Zaire ebolavirus); Sudan virus (Sudan ebolavirus); Taï Forest virus (Taï Forest ebolavirus, formerly Côte d’Ivoire ebolavirus); and Bundibugyo virus (Bundibugyo ebolavirus). สายพันธุ์ที่ไม่ก่อโรคในคนคือ Reston virus (Reston ebolavirus) *****สายพันธุ์ที่เกิดการระบาดครั้งนี้คือ Zaire ebolavirus ที่จัดว่ารุนแรงที่สุดมีอัตราตายสูงสุด

@ช่องทางการติดต่อแพร่เชื้อ สัตว์ที่มีหลักฐานพบว่าน่าจะเป็น host ของเชื้อ Ebolavirus คือค้างคาวกินผลไม้ (fruit bats) บางสายพันธุ์ จากนั้นจึงแพร่เชื้อไปให้สัตว์ชนิดอื่น เช่น ลิงชิมแปนซี กอริลล่า ลิง ค่าง บ่าง ชะนี เป็นต้น จากนั้นเชื่อว่าเกิดการกลายพันธุ์จนสามารถติดต่อมาถึงคนได้ จนสามารถติดต่อจากคนสู่คนจนกลายเป็นการระบาดในประชากร เป็นธรรมชาติของไวรัสครับที่เค้าจะมีความสามารถในการแปลงร่างกลายพันธุ์เปลี่ยนคุณสมบัติของตัวเองได้รวดเร็ว นี่เป็นเหตุผลว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับ Ebolavirus และยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ การติดต่อจากคนสู่คนสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อโดยตรง เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำอสุจิ โดยมีการตรวจสอบพบว่าสามารถพบเชื้อไวรัสในอสุจิของผู้ชายที่หายป่วยไปแล้วยาวนานถึง 7 สัปดาห์ ด้วยวัฒนธรรมของคนแถบแอฟริการทำให้การติดเชื้อกระจายไปได้เร็ว เช่น เวลามีงานศพญาติพี่น้องเข้าไปสัมผัสกับศพโดยตรงในการทำพิธีกรรม การระบาดในครอบครัวจึงเกิดง่ายและกระจายไปทั่ว นอกจากนี้ยังพบบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อจากผู้ป่วย เช่น เข็มแทง ไม่ได้ใส่เครื่องป้องกันเช่นหน้ากากอนามัย ถุงมือ หรือชุดป้องกันตามมาตรฐาน อย่างเคสล่าสุดคือคุณหมอ Sheik Humarr Khan ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสอีโบล่า ที่รักษาคนไข้หายมาหลายร้อยคนในประเทศ Sierra Leone ซึ่งการเสียชีวิตของหมอครั้งนี้เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงมากที่จะติดเชื้ออีโบล่า

@ระยะฟักตัวและอาการ อยู่ในช่วง 2-21 วันหลังรับเชื้อ ซึ่งโดยมากจะแสดงอาการภายใน 8-10 วัน อาการของไข้เลือดออกอีโบล่าเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง คือไข้ทั่วๆไปก็มีอาการแบบนี้ได้ เรียกว่าอาการในกลุ่มติดเชื้อไวรัสเฉียบพลัน (acute viral illness) ได้แก่ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดข้อ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จากนั้นจะพบผื่นตามตัว ท้องเสียอาเจียน ในรายที่รุนแรงมากพบตับและไตวาย และมีเลือดออกในอวัยวะภายในและภายนอกได้ เช่น เลือดอกทางเดินอาหาร อาเจียนเป็นเลือดด อุจจาระเป็นเลือด สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของโรคนี้เกิดจากอวัยวะล้มเหลวหลายอย่าง (multiple organ failure)เนื่องจากโรคนี้มีอาการไม่เฉพาะเจาะจงจึงยากที่จะวินิจฉัยได้ในช่วงแรกของการติดเชื้อ ดังนั้นผู้ที่มีอาการต่างๆเหล่านี้ร่วมกับประวัติเดินทางไปในแถบประเทศแอฟริกาช่วงมีการระบาด โดยมีอาการอยู่ตรงกับช่วงระยะเวลาฟักตัวของเชื้อ หรือประวัติการสัมผัสเชื้อไม่ชัดเจน จึงต้องสงสัยติดเชื้ออีโบล่าต้องได้รับการกักตัว และตรวจหาเชื้อยืนยันครับ

@การรักษา อย่างที่บอกไปว่ายังไม่มีการรักษาจำเพาะ ไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัส ดังนั้นจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการและแก้ไขสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น การให้สารน้ำอย่างพอเพียง การประเมินความเสี่ยงในการเกิดเลือดออก การตรวจดูการทำงานของตับและไต ที่สำคัญที่สุดคือผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลในห้องผู้ป่วยแยกเชื้อเพื่อการกักกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อออกไป รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ต้องสวมเครื่องป้องกันที่ได้มาตรฐานและระมัดระวังในการรักษาอย่างยิ่ง เช่น เข็มฉีดยา ต้องทิ้งให้ถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อในหมู่บุคลากรสาธารณสุข

Crข้อมูล: WHO, CDC

Admin Dr. Jame