กระเจี๊ยบเขียว ผักเป็นยา
“กระเจี๊ยบเขียว” ไม่ค่อยมีประวัติการใช้เป็นยามากนัก แต่เป็นผักที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก ปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกและส่งออกกระเจี๊ยบเขียวเป็นจำนวนมากปีละหลายล้านบาท
คนไทยทุกภาคมักติดใจกระเจี๊ยบเขียวเพราะรสชาติจืด หอม มัน กินได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่ละภาคมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป
…กระเจี๊ยบเขียว มีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ คือ มีคาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน โฟเลท แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 ไนอาซิน วิตามินซี อยู่ปริมาณพอสมควร
…และที่สำคัญกระเจี๊ยบเขียว มี กลูตาไทโอน (Glutathione) ซึ่งถือว่าเป็นราชาของสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านมะเร็งได้เป็นอย่างดี และมีสารอาหารที่ไม่ละลายน้ำและเส้นใยละลายน้ำได้ เพคติน และเมือก จึงช่วยระบบขับถ่าย ระบบดูดซึม ลดความเสี่ยงโรคแผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกรเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่
…สารเมือกหรือเส้นใยของกระเจี๊ยบเขียว เมื่อเข้าสู่ลำไส้ใหญ่จะช่วยให้การเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์(พรีไบโอติก)ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยลดปริมาณสารพิษที่แบคทีเรียตัวร้ายในลำไส้สร้างขึ้นมาได้ ช่วยให้ถ่ายคล่อง สบายท้อง สมองผ่องใส
…นอกจากนี้ สารกลูตาไทโอน ยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสารอนุมูลอิสระในร่างกาย การสร้างซ่อมแซมเซลล์ และทำปฏิกิริยากำจัดพิษในร่างกาย ปัจจุบัน นิยมใช้สารนี้เพื่อให้ผิวขาวขึ้น(เนื่องจากไปกดการทำงานของเอนไซม์ที่ผลิตเม็ดสีชั่วคราว)
…หมอพื้นบ้านไทยทุกภาค รู้เหมือนกันอยู่ว่า กระเจี๊ยบเขียว สามารถต้มกินรักษา พยาธิตัวจี๊ดได้ และได้รับความนิยมสืบต่อความรู้กันมาจนปัจจุบัน มีรายงานการทดลองพบว่า สาสกัดกระเจี๊ยบเขียวด้วยแอลกออฮอล์สามารถลดจำนวนพยาธิตัวจี๊ดในหนูถีบจักรได้
…เล่ากันว่าชุมชนมุสลิมในสามจังหวัดใต้สมัยก่อน นิยมกินผักที่เป็นเมือกเพื่อเพิ่มไขมัน หรือเมือกในข้อกระดูก เชื่อว่าจะทำให้ข้อเข่า ข้อต่อกระดูกมีน้ำเมือก ไม่เจ็บ ดังนั้น คนแก่จะชอบกินผักกูด และกระเจี๊ยบเขียวที่มีเมือกนั่นเอง
…ยางจากผลสดกระเจี๊ยบเขียว ช่วยรักษาแผลสด เช่น เมื่อถูกของมีคมบาดให้นำยางจากผักกระเจี๊ยบทาแผล แผลจะหายไวไม่เป็นแผลเป็น และผลอ่อนกระเจี๊ยบมีเมือกลื่นทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น มีชาวบ้านบางพื้นที่นำผลอ่อนกระเจี๊ยบเขียวพอกผิวหนังที่รู้สึกแสบร้อนพบว่าช่วยบรรเทาได้
ตำรับ 1. นำผลกระเจี๊ยบเขียวที่ยังอ่อนมาปรุงอาหารกิน กินวันละ 3 เวลา อย่างน้อย 4-5 ผล กินติดต่อกัน 15 วัน บางคนอาจกินเป็นเดือนจนกว่าจะหาย
ตำรับ 2. ใช้รากกระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบขาว รากบักถั่วต้น(กระเจี๊ยบเขียว) ต้มกิน
ใช้ฝักอ่อนกระเจี๊ยบเขียวหั่นตากแดด บดละเอียด กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ โดยละลายน้ำกิน เวลาละลายจะได้น้ำยาเหนียวๆ ถ้ามีนมหรือน้ำผลไม้ หรืออาหารอ่อนๆ ละลายแทนน้ำจะทำให้รสชาติดีขึ้น รับประทานวันละ 3-4 เวลาหลังอาหาร
นำผลกระเจี๊ยบเขียวจำนวน 3 ผล กินสดหรือต้มกินกับหอมแดง ขนาดใหญ่ 1 หัว เพื่อบำรุงร่างกายและเพิ่มความยืดหยุ่นในกระดูก โดยเชื่อว่าเมือกในกระเจียบช่วยได้ (ตำรับของนายเซ็ง นาสูนา : หมอยาพื้นบ้าน จ.นราธิวาส)
ใช้รากกระเจี๊ยบเขียวฝนน้ำธรรมดากิน (ตำรับหมอยาเมืองเลย)