“สมุนไพรกับกรดไหลย้อน”
“สมุนไพรกับกรดไหลย้อน”
โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคยอดฮิตในปัจจุบัน อาจเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ที่ต้องเร่งรีบ อาหารเช้าที่ควรเป็นอาหารมื้อสำคัญ ก็ไม่ได้รับความสนใจ เพราะต้องเร่งรีบฝ่ากระแสการจราจร ก็เลยมีเพียงกาแฟหนึ่งแก้วกับขนมปังอีกหนึ่งแผ่น แล้วมาบำเรอเอาหนักๆ กันในตอนมื้อเย็น ซึ่งที่ถูกควรเป็นมื้อที่ไม่หนัก แถมบางวันกว่าจะได้กินมื้อเย็นก็เลยเวลาออกไปไกล “กรดไหลย้อน”ก็เลยถามหา
“โรคกรดไหลย้อน” หมายถึง การที่น้ำย่อย ซึ่งประกอบด้วยกรดเกลือในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไประคายต่อหลอดอาหาร และบริเวณลำคอ ทำให้มีอาการแสบลิ้นปี่ คล้ายเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง โรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดที่อยู่ ตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร ซึ่งกล้ามเนื้อหูรูดนี้จะคลายตัวเมื่อมีอาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะอาหารจนหมดแล้ว หูรูดนี้จะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้กรดที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไป ที่หลอดอาหาร
ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนนั้น กล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอดอาหารนี้จะหย่อนสมรรถภาพ ทำให้มีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ
ริมคลองฉบับนี้จึงขอแนะนำสมุนไพรที่แก้อาการกรดไหลย้อนมาฝาก สมุนไพรตัวแรกที่ขอแนะนำก็คือ “ยอ” มีรสร้อน นิยมนำมาเป็นทั้งอาหารและยา ในการบำรุงเลือดลม แก้ปวด แก้ปวดเมื่อย แก้หวัด ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รักษาอาการลมพัดขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน ไอ เรอ ซึ่งฤทธิ์รักษาอาการลมพัดขึ้นนั้นใกล้เคียงกับอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันได้มีงานวิจัยสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว อาทิ การศึกษาวิจัยในหนู พบว่า “ยอ” ซึ่งมีสารสำคัญ คือ สโคโปเลติน (scopoletin) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยนั้น สามารถลดการอักเสบของหลอดอาหารจากการไหลย้อนของกรดได้ผลดี พอๆ กับยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษากรดไหลย้อน คือ รานิติดีน (ranitidine) และแลนโสพราโซล (lansoprazole) เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการหลั่งของกรด ต้านการเกิดแผล และทำให้การบีบตัวของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น โดยมีผลต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องโดยตรง และยังมีรายงานว่าสามารถเพิ่มการดูดซึมของรานิติดีน “ยอ” จึงเหมาะในการเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งจากการศึกษาวิจัยข้างต้น และการที่ “ยอ” มีรสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ทำให้อาหารไม่ตกค้าง ไม่เกิดลมในกระเพาะอาหาร ลดการเกิดแรงดันที่ทำให้กรดไหลย้อน “ยอ” ยังช่วยให้กระเพาะบีบเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ทำให้อาหารเคลื่อนจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เล็กได้ดีขึ้น
สมุนไพรที่อาจใช้ร่วมกัน คือ ขมิ้นชัน เนื่องจากขมิ้นชันมีสรรพคุณในการรักษาอาการท้องอืด และช่วยขับน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน ทำให้อาหารไม่ตกค้างในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กนานเกินไป ทั้งช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
มีผู้แนะนำให้กินขมิ้นชันก่อนอาหาร 1-2 ชั่วโมง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ขนาดรับประทานคือ ครั้งละ 1 ช้อนชาสำหรับแบบผง หรือ 3 เม็ดๆ ละ 500 มก.
นอกจากนี้ยังมีผู้แนะนำให้ดื่มน้ำกะเพรา 1-2 แก้วๆ ละ 250 มล.หลังอาหาร 15-30 นาทีประโยชน์ของขมิ้นชันและน้ำกะเพรา จะช่วยเร่งการย่อยอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล ช่วยขับลม ลดกรด ลดอาการแน่นท้อง และช่วยบรรเทาอาการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้ได้อีกด้วย
น้ำขิง ให้สังเกตว่าจะดื่มแบบเย็นหรือร้อนดี เช่น ถ้าดื่มแบบร้อนแล้วรู้สึกท้องอืดไม่สบาย ก็ให้แก้เป็นดื่มแบบเย็น(วิธีการนี้ใช้สำหรับน้ำกะเพราด้วย)
ว่านหางจระเข้เฉพาะส่วนที่เป็นวุ้น แช่ค้างคืนให้เมือกใสๆ ออกให้หมดแล้วนำมากิน เพื่อช่วยเคลือบกระเพาะ
ใบเตยสดประมาณ 9 ใบ กับใบสดของว่านกาบหอยแครง 9 ใบ ต้มกับน้ำรวมกัน 2 ลิตร จนเดือดเคี่ยวไฟอ่อน 1 ชม. ตักครึ่งแก้วใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา น้ำมะนาว 1 ช้อนชา และเกลือป่นเล็กน้อย กินต่างน้ำ วันละ 2-3 ครั้ง 4-5 วัน ดื่มต่อเนื่อง 3-6 เดือน
กล้วยดิบนำมาฝานหั่นตากแห้ง แล้วนำมาบดผงละเอียด นำมาชงดื่มครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้งหลังอาหารเช้าและเย็น
นอกจากนี้ยังมีกระเจี๊ยบเขียว รักษาโรคกระเพาะ เยื่อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ บรรเทาอาการท้องผูก ช่วยกำจัดสารพิษออกจากลำไส้ มะละกอ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยในเรื่องขับถ่าย มะขามป้อม ช่วยขับพยาธิ ธาตุพิการ
อาการกรดไหลย้อน ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว จุกเสียด แน่นท้อง เป็นอาการที่มีสาเหตุจากแหล่งเดียวกัน แต่ที่ทรมาณที่สุดคือกรดไหลย้อน เพราะมันมักจะรวมเอาทุกอาการที่กล่าวมาไว้ด้วยกัน แถมด้วยอาการแสบร้อนทรวงอกเข้าไปด้วย โรคนี้ยากที่จะรักษาด้วยการใช้ยา แต่สามารถรักษาได้โดยวิธีธรรมชาติบำบัด
สาเหตุโรคกรดไหลย้อน
อาการแสบร้อนทรวงอก (Heart burn) หรือ กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux) คือสภาวะที่ลมหรือแก๊สในลำใส้มาก จนอัดให้น้ำย่อย หรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร เกิดจากระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีลมในระบบย่อย และเกิดกรดเกินในกระเพาะ และในรายที่หูรูดปลายหลอดอาหารหย่อนยาน จึงไม่สามารถปิดกั้นกรดส่วนเกินนี้ได้ กรดจึงไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร ภาวะที่มักทำให้อาการกำเริบ เช่น กินอาหารมากเกิน อาหารย่อยยาก สูบบุหรี่จัด ดื่มกาแฟ-แอลกอฮอล์มาก กินยาที่กัดกระเพาะ เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวด มีภาวะอ้วนลงพุง ท้องผูก ยังนั่งตัวงอหรือนอนราบหลังอาหาร หรือเครียด
อาการโรคกรดไหลย้อน
มีอาการอับเสบ ปวดแสบปวดร้อนกลางอก จุกในลำคอ แน่นท้อง แน่นหน้าอก ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว ขมในปาก กลืนอาหารลำบาก บางครั้งขึ้นมาถึงคอเปรี้ยวในคอ (เรอเปรี้ยว) คลื่นใส้ อาเจียรได้ มักเกิดเวลาอิ่ม อาจทำให้ เจ็บคอ กล่องเสียงอักเสบ ไอ เสียงแหบได้
การรักษาโรคกรดไหลย้อน ท้องอืดเฟ้อ จุกเสียด ด้วยวารีบำบัด
โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ยากที่จะรักษาโดยการใช้ยา แต่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต และการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ นอกจากนี้การใช้วารีบำบัด สามารถช่วยลดอาการทรมาณ และช่วยให้ร่างกายปรับสมดุลได้ดียิ่งขึ้น
1.เมื่อเริ่มรู้สึกว่าเกิดอาการกรดไหลย้อน ให้ดื่มน้ำเปล่า เพื่อลดกรด มีการวิจัยแล้วว่า น้ำสามารถลดกรดได้เร็วกว่ายาลดกรด โดยน้ำใช้เวลาเพียง 1 นาที แต่ยาลดกรดต้องใช้เวลาถึง 2 นาทีหรือมากกว่าเพื่อลดกรดได้ในปริมาณเท่ากัน อย่างไรก็ตามน้ำจะมีฤทธิ์ต่อเนื่องเพียง 3 นาที แต่ยาลดกรดทำได้มากกว่า ซึ่งการที่น้ำมีฤทธิ์ลดกรดสั้นก็มีข้อดี เพราะกรดในกระเพาะนั้นก็มีความจำเป็นในกระบวนการย่อยอาหาร ไม่มีหรือมีน้อยเกินไปก็ย่อมไม่ดี ดังนั้นการทานยาลดกรดที่มีฤทธิ์นานย่อมต้องใช้เท่าที่จำเป็นและควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
2. ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ แนะนำ 1 แก้วหลังจากอาหาร 1 ชั่วโมง และอีก 1 แก้วหลังจากนั้นอีก 1 ชั่วโมง การดื่มน้ำดังกล่าว จะช่วยลดกรด น้ำย่อย น้ำเมือก และทำให้ของที่เรารับประทานรวมทั้งน้ำย่อยและลมไหลลงสู้ลำไส้เร็วขีัน ทำให้ท้องว่างเร็ว ขับลมในกระเพาะ จึงช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการไหลย้อน ข้อสำคัญอย่าดื่มน้ำแบบข้าวคำน้ำคำ หรือดื่มหลังทานข้าวทันที เพราะจะไปลดประสิทธิภาพการทำงานของน้ำย่อย
ที่สำคัญควรดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงน้ำเย็นให้เด็ดขาด
3. นั่งแช่น้ำร้อนสลับน้ำเย็น เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำใส้ โดยต้องมีอ่าง 2 ใบ ขนาดใหญ่พอที่จะนั่งได้และจุน้ำได้ถึงระดับสะดือ ใบหนึ่งใส่น้ำอุ่นจัดร้อนเท่าที่สามารถทนได้ และอีกใบหนึ่งใส่น้ำเย็นจัด (น้ำใส่น้ำแข็ง อุณหภูมิประมาณ 4 C) วิธีการคือ ให้นั่งในอ่างน้ำร้อนก่อนแล้วจุ่มเท้าลงในอ่างน้ำเย็น ทำอย่างนี้ 3 นาที แล้วสลับไปนั่งในอ่างน้ำเย็นแต่จุ่มเท้าในอ่างน้ำร้อน 2 นาที ทำทั้งหมด 3 รอบ (จบด้วยการนั่งอ่างน้ำเย็น) เสร็จแล้วให้เช็ดตัว ถูผิวหนังด้วยผ้าขนหนูแรงๆ
4.บรรเทาอาการบริเวณท้องด้วยการประคบหน้าท้องด้วยผ้าชุบน้ำมันละหุ่ง โดยหาผ้าขนหนูขนาดเล็กพับให้ได้ขนาดพอดีท้อง (ปรมาณ 16 cm x 30 cm) ชุบน้ำมันละหุ่งพอหมาดๆ แล้ววางบนท้อง แล้วใช้พลาสติกคลุม แล้ววางทับด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือแผ่นผ้าร้อนทบหนาๆ ให้ระดับความร้อนรู้สึกอบอุ่นสบาย ปล่อยทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง จะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ และน้ำมันละหุ่งช่วยลดอาการไม่สบายท้อง กระตุ้นการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี
5. กรณีลำใส้ไม่เคลื่อนตัว ปวดท้องจนเกร็ง อาหารไม่ย่อย บรรเทาอาการได้ด้วยการประคบร้อนเปียกที่หน้าท้อง โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนวางที่หน้าท้อง หรือนั่งแช่น้ำร้อน (น้ำระดับสะดือ) เพื่อช่วยเสริมกำลังและการทำงานของลำใส้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต
การรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยวารีบำบัด ยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต
1. ผู้ที่มีน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนัก เพราะคนอ้วนจะมีพื้นที่ในช่องท้องน้อย ความดันในช่องท้องสูงทำให้ กรดไหลย้อนได้มาก
2. ไม่รับประทานอาหารจนแน่นท้อง ให้แค่พออิ่ม หรืออาจแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ ทานน้อย แต่บ่อยครั้ง และควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา เคี้ยวให้ละเอียด จะช่วยให้กระบวนการย่อยอาหารมีประสิทธิภาพ
3. หลังรับประทานอาหารเสร็จ ไม่นอนทันที ควรทิ้งระยะอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารย่อยให้หมดก่อน
4. หลังทานอาหารเสร็จ ถ้าเป็นไปได้ ให้เดินเล่น หรือเดินแกว่งแขนสัก 20-30 นาที อย่าเพิ่งนั่งหรือนอน การออกกำลังกาย จะช่วยทำให้มีการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลำไส้ ช่วยให้การลำเลียงอาหารไปยังลำใส้ได้เร็วขึ้น
5. งดบุหรี่ เพราะจะกระตุ้นหลั่งกรดในกระเพาะมากขึ้น มีน้ำลายน้อยลง และยังลดแรงบีบตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง กรดจึงมีโอกาสไหลย้อนกลับมากขึ้น
6. หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ น้ำอัดลม เบียร์ สุรา โซดา เนื่องจากมีแก๊สที่ทำให้แรงดันในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารเปิดออก ทำให้เยื่อบุหลอดอาหารส่วนล่างขยายได้ง่ายขึ้น ทำให้กรดจากกระเพาะอาหารขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ง่าย
7.หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่แน่นเกินไป โดยเฉพาะรอบเอวและช่วงท้อง เพื่อลดแรงกดที่กระเพาะ ไม่ให้ความดันในกระเพาะเพิ่มขึ้น
8. งดอาหารมัน ๆ อาหารทอด อาหารที่ปรุงด้วยหอมหัวใหญ่ดิบ กระเทียม มะเขือเทศ ช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม เนย ไข่ สะระแหน่ รวมทั้งอาหารที่มีรสเผ็ด เปรี้ยว และเค็มจัด เพราะมีแก๊สมาก รวมทั้งไม่ควรเติมน้ำส้มสายชูลงในอาหาร เพราะยิ่งจะเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร ควรเปลี่ยนมาทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ อย่างปลา ไก่ และ อาหารที่มีเส้นใยมาก ๆ เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้
9. เลี่ยงการนอนตะแคงขวา เพราะท่านี้จะทำให้กระเพาะอยู่เหนือหลอดอาหารอาจทำให้อาการกำเริบได้ และควรนอนยกหัวให้สูงประมาณ 6-10 นิ้ว โดยอาจนอนบนหมอน 2 ใบ เพื่อไม่ให้กรดไหลเอ่อขึ้นมาที่คอ หากหาเตียงนอนแบบที่ปรับความลาดเอียงได้มาใช้ ก็จะดีมาก
10. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีกรดมากเช่นกัน
โรคกรดไหลย้อนถ้าอยากหาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต การกิน การออกกำลังกาย สำคัญที่สุด
สมุนไพรรักษาโรคกรดไหลย้อน ท้องอืดเฟ้อ
ขิง , ขมิ้นชัน , กระเพรา มีสรรพคุณช่วยในการ ขับลม ปรับสมดุลกรดในกระเพราะ และช่วยเร่งการย่อยอาหาร เราสามารถหาเป็นแคปซูลมากินเพื่อความสะดวก หรือทำเป็นชาสมุนไพรไว้ดื่มก็ได้ จำไว้อย่างหนึ่งว่ายาสมุนไพรไทย จะต้องใช้เวลารักษานานถึงจะหาย ต้องกินเป็นประจำสม่ำเสมอ ปกติประมาณ 1 เดือน
1. นำใบกะเพรา (ถ้าเป็นกระเพราแดงจะดีมาก) หรือ ขิงแก่ หรือ ขมิ้นชัน (ฝานบางๆ) ประมาณ 1 ขีด มาล้างให้สะอาด สมุนไพรเหล่านี้มีฤทธิ์ร้อน หากกินแล้วรู้สึกร้อนเกินไปจนทนไม่ได้ ให้ลดปริมาณสมุนไพรลงได้ แล้วจึงค่อยๆเพิ่มความเข้มข้นเมื่อเราคุ้นเคยแล้ว
2. ใส่ลงไปในน้ำ 2 ลิตร (ปริมาณนี้จะพอเพียงสำหรับดื่มใน 1 วันพอดี)
3. ปิดฝาหม้อ ใช้ไฟปานกลางค่อนข้างอ่อน ต้มประมาณ 15 – 20 นาที พอน้ำเดือดปุ๊บให้ปิดแก๊สทันที
4. ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 cc) หลังอาหาร 1 ชั่วโมงขึ้นไป ดื่มแทนน้ำตลอดวัน
5. สามารถดื่มได้ตอนที่เย็นแล้วก็ได้ โดยไม่ต้องอุ่นหรือต้มซ้ำ
สมุนไพรไทยหลายชนิด รวมถึง ” ยาหอม ” จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้ผลดี เช่น ขิง น้ำขิง ขมิ้นชัน กานพลู ชะพลู พริกไทย กะเพรา ดีปลี กระเทียม