สรรพคุณของมะรุม

สรรพคุณของมะรุม

สรรพคุณของมะรุม

สรรพคุณของมะรุม

รศ. ดร. สุธาทิพ ภมรประวัติ จากกลุ่มวิชาเภสัชโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนผลการวิจัยเกี่ยวกับมะรุมในเชิงการแพทย์ไว้ในบทความเรื่อง “มะรุม ลดไขมันป้องกันมะเร็ง” ตีพิมพ์ในนิตยสาร หมอชาวบ้าน ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นงานเขียนที่ถูกหยิบยกไปอ้างอิงเรื่องสรรพคุณเกี่ยวกับมะรุมตามเว็บไซต์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก สรุปความว่า
สำหรับสรรพคุณของมะรุมในการชะลอความชรานั้นยังไม่พบรายงานการวิจัย แต่เนื่องจากมะรุมมีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ที่สำคัญคือ รูทิน (rutin) และเควอเซทิน (quercetin) ทั้งยังมีสารลูทีน (lutein) และกรดแคฟฟีโอลิลควินิก (caffeoylquinic acids) ซึ่งทั้งหมดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย
ในปี ๒๕๐๗ มีการค้นพบสารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์ (Benzyl thiocyanate glycoside) และเบนซิลกลูโคซิโนเลต (Benzyl glucosinolate) ในมะรุมซึ่งมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ นำมาสู่การใช้น้ำคั้นจากมะรุมหยอดหูแก้ปวดหู ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาสารจากมะรุมในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร
การทดลองฤทธิ์ต้านมะเร็งในหนูพบว่า หนูที่ได้รับฝักมะรุมเป็นอาหารเกิดโรคมะเร็งผิวหนังจากการกระตุ้นน้อยกว่ากลุ่มควบคุมโดยกลุ่มที่กินมะรุมมีเนื้องอกบนผิวหนังน้อยกว่ากลุ่มควบคุม สรุปได้ว่าสารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์ชนิดหนึ่งและสารไนอาซิไมซิน (niazimicin) จากมะรุม สามารถต้านการเกิดมะเร็งที่ถูกกระตุ้นโดยสารฟอร์บอลเอสเทอร์ (Phorbol ester) ในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
ในส่วนของการลดไขมันและคอเลสเตอรอล จากการทดลอง ๑๒๐ วันให้กระต่ายกินฝักมะรุมวันละ ๒๐๐ กรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักตัวต่อวัน เทียบกับยาโลวาสแททิน (Lovastatin) ๖ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน และให้อาหารไขมันสูง พบว่าทั้งกลุ่มที่กินมะรุมและยามีคอเลสเตอรอล ฟอสโฟลิพิด ไตรกลีเซอไรด์ VLDL LDL ปริมาณคอเลสเตอรอลต่อฟอสโฟลิพิด และ atherogenic index ต่ำลง ทั้ง ๒ กลุ่มมีการสะสมไขมันในตับ หัวใจ และหลอดเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ตา) ส่วนกลุ่มควบคุมปัจจัยด้านการสะสมไขมันในอวัยวะเหล่านี้ไม่มีค่าลดลงแต่อย่างใด กลุ่มที่กินมะรุมพบการขับคอเลสเตอรอลในอุจจาระเพิ่มขึ้น ผู้วิจัยจึงสรุปว่าการกินมะรุมมีผลลดไขมันในร่างกาย
ที่ประเทศอินเดียมีการใช้ใบมะรุมลดไขมันในคนที่เป็นโรคอ้วนมาแต่เดิม การศึกษาการกินสารสกัดใบมะรุมในหนูที่กินอาหารไขมันสูง มีปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ในหนูที่กินสารสกัดใบมะรุมยังมีปริมาณไขมันในตับและไตลดลง สรุปว่าการให้ใบมะรุมเพื่อลดปริมาณไขมันนั้น ทางการแพทย์อินเดียสามารถวัดผลได้ในเชิงวิทยาศาสตร์จริง
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ทำในหนูทดลองพบว่า สารสกัดใบมะรุมมีฤทธิ์ป้องกันโรคตับอีกด้วย
ผู้เขียนสรุปในตอนท้ายว่า ผลิตภัณฑ์มะรุมของต่างประเทศจะอ้างฤทธิ์รักษาโรคมากมายทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แค่ฤทธิ์ที่พิสูจน์ได้นี้ก็คงเพียงพอแล้วที่จะเพิ่มใบหรือฝักมะรุมในรายการอาหารมื้อกลางวันของคุณวันนี้
ขอบคุณ นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 291 พฤษภาคม 2552
ภาพจาก HonestDocs
SHARE NOW
Exit mobile version