หมามุ่ย ตัวช่วย ท่านชาย และภาวะมีบุตรยาก
หมามุ่ย ตัวช่วย ท่านชาย และภาวะมีบุตรยาก
หมามุ่ย เป็นสมุนไพรที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในการแพทย์อายุรเวทอินเดีย จัดเป็นพืชตระกูลถั่ว ดอกสีม่วงออกเป็นช่อ เป็นพืชมีพิษเพราะมีฝักที่มีขนอ่อนปกคลุม ขนนี้มีสารซีโรโทนิน เมื่อโดนจะมีอาการคัน หมอพื้นบ้านไทยใช้เป็นยาบำรุงวาตะและปิตตะ โดยจะใช้เมล็ดหมามุ่ยที่แก่จัด (สังเกตจากมีขีดสีดำบนฝัก) กับรากหมามุ่ย เป็นยาบำรุงสมรรถภาพ ช่วยให้สดชื่น ช่วยนอนหลับดี ส่วนในทางยาไทย เมล็ดปรุงเป็นยาแก้ไข้ ขับปัสสาวะ บำรุงประสาท รักษาโรคบุรุษ กระตุ้นกำหนัด เป็นยาฝาดสมาน โดยพื้นบ้านมีการใช้เมล็ดของหมามุ่ยในการบำรุงสุขภาพ เป็นยาบำรุงกำหนด โดยมีวิธีการผ่านความร้อนเพื่อลดความเป็นพิษ ก่อนนำมาใช้
ข้อมูล หมามุ่ย ต่อสุขภาพเพศชาย
• สารสกัดทั้งต้นมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างและการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ ช่วยให้ผู้ที่มีตัวอสุจิน้อยมีโอกาสมีลูกได้มากขึ้น
• น้ำต้มจากเมล็ดหมามุ่ย มีฤทธิ์ลดการอักเสบของต่อมลูกหมากในคน
• สาร L-dopa ที่พบในรากและเมล็ด ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสัน มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลอง เอนไซม์ phenol oxidase ทีพบ สามารถนำมาใช้เตรียมอนุพันธ์ของสาร phenolic steroid ได้
• การศึกษาในสัตว์ทดลอง ด้วยสารสกัดเอทานอลเมล็ดหมามุ่ยที่ความเข้มข้น 200 มก./กก. ของน้ำหนักตัว วันละครั้ง เป็นเวลา 21-45 วัน สามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของหนูได้ คือ หนูเพศผู้ มีพฤติกรรมการจับคู่และการขึ้นคร่อมตัวเมียถี่ขึ้น และมีระยะเวลาในการเริ่มสอดใส่อวัยวะเพศครั้งแรกจนหลั่งน้ำเชื้อ (ejaculation latency, EL) เพิ่มมากขึ้น
• การศึกษาทางคลินิก ในประเทศอินเดีย โดยให้อาสาสมัครเพศชายที่มีภาวะจำนวนสเปิร์มน้อย และสเปิร์มมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ดื่มนมที่ผสมกับผงบดเมล็ดหมามุ่ยขนาด 5 กรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า ค่าความเข้มข้นของสเปิร์ม และการเคลื่อนไหวของสเปิร์มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าเมล็ดหมามุ่ยมีประสิทธิภาพในการช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำ เชื้อให้ดีขึ้นได้
• มีรายงานการศึกษา เรื่อง “หมามุ่ย : สมุนไพรต่อความมั่นคงของชีวิตสมรส” ในอาสาสมัคร ชาย 40 คน หญิง 20 คน โดยใช้เมล็ดหมามุ่ยคั่วสุกบดละเอียดชงให้ดื่ม และสอบถามความรู้สึกหลังดื่มอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง พบว่าความรู้สึกต่อชีวิตสมรสเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับมาก โดยมีการให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มขึ้นในเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ไม่อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่าย จำนวนครั้งที่สามารถมีกิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้เสนอแนะว่า การใช้หมามุ่ยควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และผู้ใช้ต้องมีความรู้ทางด้านสมุนไพรเพื่อความปลอดภัย (ชนัดดา บัลลังก์. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,2555)
• มูลนิธิ รพ. เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ คณะเภสัชศาสตร์ มหิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำการศึกษาวิจัยเบื้องต้น [นริศา และคณะ] พบว่าสารสกัดเมล็ดหมามุ่ยสายพันธุ์ไทย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีมาก โดยสูงกว่าวิตามินซี 0.58 เท่า สูงกว่าผงตรีผลา 9.5 เท่า สอดคล้องกับงานวิจัยที่มีมาก่อนหน้า
วิธีการใช้หมามุ่ยตามภูมิปัญญา
• ต้องนำเมล็ดมาผ่านความร้อนให้สุก โดยการต้ม คั่ว หรือนึ่งพร้อมข้าว ก่อนนำมารับประทาน หากกินดิบจะเป็นพิษ
• การคั่วเมล็ดใช้ไฟแรงอ่อน เมล็ดหมามุ่ยที่สุก สังเกตได้ว่าสีของเมล็ดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง และขั้วของเมล็ดที่เป็นสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล รสชาติขมๆ เมล็ดที่คั่วสุกแล้ว สามารถเคี้ยวกินได้เลยหรือแช่น้ำก่อนเพื่อให้เมล็ดนุ่มขึ้น กินกับข้าวเหนียว หรือนำมาบดให้เป็นผงผสมกินกับชา กาแฟ หรือชงกินกับน้ำร้อน รสจะออกเปรี้ยวมันนิด ๆ
• ขนาดการใช้ : ผงเมล็ดหมามุ่ยวันละ 3-5 กรัม /เมล็ดหมามุ่ยวันละ 6-15 เม็ด โดยอาจเริ่มต้นรับประทานที่ครั้งละ ¼-1/2 ช้อนชา วันละ 1-2 ครั้ง
ข้อควรระวัง
• ควรระวังในการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด(Anticoagulant)และยาต้านการจับตัวของเกร็ดเลือด (Antiplatelet)
• ควรระวังการรับประทานร่วมกับยากลุ่ม Mono-amine oxidase inhibitor (MAOIs) ซึ่งเป็นยาต้านการซึมเศร้า เนื่องจากอาจเสริมฤทธิ์กัน
• ควรระวังการใช้ยากับผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากหมามุ่ยมีผลต่อการทำงานของไต พบค่า urea และ creatinine เพิ่มขึ้น จากการใช้ต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ โดยจะพบในหมามุ่ยดิบมากว่าหมามุ่ยปรุงสุก
ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้พืชตระกูลถั่ว ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากสารโดปามีนมีผลให้ความดันโลหิตลดลงและส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนัง สารแอลโดปาจะไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเมลานินมากขึ้นอาจทำให้อาการของโรคมะเร็งผิวหนังแย่ลง
**********************
ปรึกษาการใช้ยาเพิ่มเติม
ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ฯ 037-211289
ร้านยาไทยโพธิ์เงินอภัยภูเบศร 087-5820597
คลินิกแพทย์แผนไทยออนไลน์ ID: @abhthaimed , (ลิงค์) https://lin.ee/HGT0wkz
*********************
ข้อมูลอ้างอิง
– Kumar P. and Saha S. An updated review on Taxonomy, Phytochemistry, Pharmacology and Toxicology of Macuna pruriens. Journal of Pharmacognosy and Phytochemistry. Vol. 2 No. 1 2013.
– Katzenschlager R, Evans A, Manson A. Mucuna pruriens in Parkinson’s disease: a double blind clinical and pharmacological study. Journal of Neurology, Neurosurgery and Psychiatry 2004; 75: 1672–1677.
– ฐานข้อมูลเครื่องยาเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : https://apps.phar.ubu.ac.th/thaicrudedrug/main.php…