โสมไทย ชื่อสามัญ Fame Flower, Ceylon Spinach, Sweetheart, Surinam Purslane

โสมไทย ชื่อสามัญ Fame Flower, Ceylon Spinach, Sweetheart, Surinam Purslane

โสมไทย ชื่อสามัญ Fame Flower, Ceylon Spinach, Sweetheart, Surinam Purslane

1 โสมไทย
2 ลักษณะของโสมไทย
3 สรรพคุณของโสมไทย
4 ประโยชน์ของโสมไทย
5 เอกสารอ้างอิง
โสมไทย
โสมไทย ชื่อสามัญ Fame Flower, Ceylon Spinach, Sweetheart, Surinam Purslane

โสมไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Talinum paniculatum (Jacq.) Gaertn.[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Claytonia patens (L.) Kuntze, Portulaca paniculata Jacq., Portulaca patens L., Talinum patens (L.) Willd.)[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ TALINACEAE
สมุนไพรโสมไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โสม โสมคน (ภาคกลาง), ว่านผักปัง (เชียงใหม่), โทวหนิ่งเซียม (จีน), ถู่เหยินเซิน (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของโสมไทย
ต้นโสมไทย หรือ ต้นโสมคน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีอายุเพียงหนึ่งปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของลำต้นประมาณ 60-100 เซนติเมตร มักแตกกิ่งก้านบริเวณโคนต้น จำนวนของกิ่งที่แตกออกจากต้นมีประมาณ 5 กิ่งขึ้นไป โดยการแตกกิ่งจะทิ้งช่วงห่างประมาณ 1 นิ้ว ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยมและฉ่ำน้ำ ลำต้นอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อมีอายุมากจะเป็นสีน้ำตาลบริเวณโคนต้น ต้นอ่อนลำต้นจะเปราะและหักได้ง่าย เมื่อแก่แล้วจะแข็งและเหนียว มีเนื้อแข็งคล้ายไม้ นิยมขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เพราะจะได้รากแบบโสมเกาหลีหรือโสมจีน แต่ถ้านำมาปักชำจะไม่มีรากแก้ว (รากโสม) แต่จะมีเพียงรากแขนงเท่านั้น โสมไทยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทรายหรือดินร่วนซุยที่มีความชุ่มชื้นสูง ชอบที่มีแสง พบขึ้นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ มักพบในที่ชุ่มชื้น บริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ ตามป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ตามไร่สวน หรือบ้านเรือนทั่วไป
โสมคน
ต้นโสมไทย
รากโสมไทย รากเป็นรากแก้วหรือเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน คล้ายรากโสมเกาหลี รากแก้วมีความเหนียว ลักษณะของรากเป็นรูปกลมยาวปลายแหลมคดงอเล็กน้อย และมีรากฝอยมาก ส่วนเปลือกของรากเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาล เนื้อในรากนิ่มเป็นสีขาวนวล เมื่อขูดที่ผิวของรากสักครู่ จะพบว่าบริเวณที่ขูดเป็นสีแดง รากแก้วจะมีความเหนียว มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย เมื่อรากโตเต็มที่จะมีรูปร่างคล้ายโสมเกาหลีหรือโสมจีน
รากโสมไทย
ใบโสมไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือแหลมสั้น โคนใบสอบหรือเรียวแคบเล็กลงจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน ไม่มีขน หลังใบมีสีเข้มกว่าท้องใบ เนื้อใบหนาและนิ่ม เส้นใบสานกันเป็นร่างแห น้ำยางที่ใบมีสีและเหนียว เมื่อสัมผัสจะรู้สึกคันเล็กน้อย
ใบโสมไทย
ดอกโสมไทย ออกดอกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดหรือที่ปลายกิ่ง ก้านช่อตั้งขึ้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีม่วงแดงอ่อน เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6 มิลลิเมตร (ดอกจะบานในช่วงที่มีแสง เวลาไม่มีแสงดอกจะหุบ ก้านดอกย่อยยาว) กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปกลมรี ปลายกลีบแหลม กลีบดอกเป็นสีม่วงแดงไม่มีกลิ่น ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 2 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย สีขาวใส ห่อหุ้มดอกในขณะตูม โคนกลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม แกนกลางของกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม เป็นเส้นบางขึ้นไป ส่วนปลายกลีบเลี้ยงจะมีลักษณะแหลม ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ บริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ล้อมรอบเกสรเพศเมีย มีสีเหลือง มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วประกบกัน ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะเป็นเส้นบาง ๆ คล้ายกับด้ายและมีลักษณะโค้งเล็กน้อย ส่วนปลายแฉกจะแยกออกเป็น 3 แฉก และมีสีชมพูเหมือนสีของกลีบดอก รังไข่มีลักษณะกลม ภายในรังไข่มีออวุลเป็นเม็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก ส่วนละอองเรณูจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีเหลือง หากมีความชุ่มชื้นเพียงพอ จะออกดอกได้ตลอดทั้งปี และมักมีแมลงและมดดำมาอาศัยอยู่
ดอกโสมไทย
ผลโสมไทย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี ผลมีขนาดเล็ก โดยจะมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร เมื่ออ่อนผลจะเป็นสีเขียว ผิวผลเรียบ เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีเหลืองอ่อน สีแดง และจะเป็นสีเทาเข้ม เมื่อแก่จัดจะแตกทำให้เมล็ดฟุ้งกระจายตกลงบนพื้นดิน ภายในผลมีเมล็ดสีดำขนาดเล็ก มีจำนวนเมล็ดประมาณ 50-60 เมล็ด
ผลโสมไทย
เมล็ดโสมไทย ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมแบน เมล็ดมีสีขาวตอนผลอ่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ผิวเมล็ดเรียบ มีลักษณะเปราะบาง
เมล็ดโสมไทย
สรรพคุณของโสมไทย
รากโสมไทยมีรสชุ่ม ขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย (ราก) ส่วนเหง้าโสมไทยมีรสหวานร้อน ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย โดยใช้เหง้านำมาดองกับเหล้ากิน (เหง้า)หากร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย อันเนื่องมาจากการตรากตรำทำงานหนัก ให้ใช้รากสดหรือรากแห้ง นำมาผสมกับรากทงฮวย และน้ำตาลกรวด แล้วนำมาตุ๋นกินกับไก่ (ราก)
ส่วนอีกตำรับยาแก้อาการอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง ให้ใช้รากแห้ง 35 กรัม นำมาตุ๋นกินกับปลาหมึกแห้ง 1 ตัว (ราก)
หากมีเหงื่อออกมากผิดปกติ เหงื่อออกไม่รู้ตัว ให้ใช้รากแห้งประมาณ 60 กรัม นำมาตุ๋นกับกระเพาะหมูหนึ่งใบแล้วนำมากิน (ราก)
ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ราก)
ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายหลังการฟื้นไข้ใหม่ ๆ ด้วยการใช้รากแห้ง 30 กรัม รากโชยกึงป๊วก 30 กรัม และโหงวจี้ม่อท้อ 15 กรัม นำมาผสมกันต้มกับน้ำกิน (ราก)
รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ศีรษะมีไข้ (ราก)
รากใช้เป็นยาแก้อาการไอ ไอเป็นเลือด ไอแห้ง แก้ปวดร้อนแห้ง ตำรับยาแก้ไอ ให้ใช้รากสดหรือรากแห้ง นำมาผสมกับรากทงฮวย และน้ำตาลกรวด ใช้ตุ๋นกินกับไก่ (ราก)
ใช้รักษาอาการไอเรื้อรังซึ่งเกิดจากปอด ด้วยการใช้รากแห้ง หงู่ตั่วลักแห้ง อย่างละประมาณ 30 กรัม เจียะเชียงท้อแห้ง 15 กรัม และแบะตง 10 กรัม นำมาผสมกันแล้วต้มกับน้ำกินเป็นยา (ราก)
รากโสมไทย มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงปอด ทำให้ปอดชุ่มชื่น (ราก)
รากใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ถ้าใช้แก้อาการท้องเสียอันเนื่องมาจากความเครียดหรือความกังวลที่มากเกินไป ให้ใช้รากแห้งประมาณ 15-30 กรัม และผลพุทราจีน 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)
ใช้เป็นยาแก้ธาตุอ่อน กระเพาะลำไส้ไม่มีเรี่ยวแรง ถ่ายกะปริบกะปรอย ด้วยการใช้รากแห้ง 30 กรัม และพุทราจีน 30 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน (ราก)
ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะขัด (ราก)
ช่วยแก้อาการปัสสาวะมากผิดปกติ ด้วยการใช้รากโสมไทยสดกับรากกิมเอ็งสด อย่างละประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง (ราก)
ช่วยแก้ประจำเดือนมาผิดปกติของสตรี หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ (ราก)
รากมีสรรพคุณช่วยบำรุงม้าม (ราก)
ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้บวมอักเสบมีหนอง วิธีใช้รักษาฝีอักเสบมีหนอง ให้นำใบสดกับน้ำตาลทรายแดง นำมาตำผสมกันให้ละเอียดจนเข้ากัน ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)
เหง้าใช้เป็นยาทาภายนอกแก้อาการอักเสบ ลดอาการบวม (เหง้า)
สำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร มีน้ำนมน้อย ให้ใช้ใบอ่อนของต้นโสมไทยมาผัดกินเป็นอาหาร จะช่วยขับน้ำนมได้ (ใบ)ส่วนรากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก)
วิธีใช้ : การใช้ตาม ถ้าเป็นรากแห้งให้ใช้ครั้งละ 20-35 กรัม ส่วนรากสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน
ประโยชน์ของโสมไทย
ใบโสมคน
ยอดอ่อน ใบอ่อนโสมไทยสามารถนำมาผัดเป็นผักที่มีรสชาติดี เช่น ผัดน้ำมันหอย ผัดแบบผักบุ้งไฟแดง หรือนำมาใช้ทำแกงเลียง แกงป่า แกงจืด แกงแค ส่วนยอดใบอ่อนก็นำมาลวก ต้ม หรือนึ่งจิ้มกินกับน้ำพริก ใช้ผสมในแป้งทำขนมบัวลอย ขนมทองพับ ข้าวเกรียบปากหม้อ และใบอ่อนยังสามารถนำมาใช้แทนผักโขมสวน ในการทำอาหารได้อีกด้วย
โสมไทยเป็นพืชที่อุดมไปด้วยวิตามิน และเป็นอาหารที่มีคุณค่าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่เพิ่งฟื้นไข้ใบอ่อนและยอดอ่อน จะนำมาใช้รับประทานเป็นผักใบเขียว มีประโยชน์ช่วยบำรุงร่างกาย โดยคุณค่าทางโภชนาการของโสมไทย จะประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต, เส้นใยอาหาร, โปรตีน, แคลเซียม, ธาตุเหล็ก, ฟอสฟอรัส, วิตามินเอ, วิตามินบี 1, วิตามินบี 2 นอกจากนี้ยังมี essential oils, สาร flavonoids, chromene, มีน้ำมันหอมระเหยอีกเล็กน้อย และยังมีสารสำคัญอื่น ๆ อีก เช่น borneol, camphene, camphor, cineol, limonene, myrcene, pinene, pinostrobin, rubramine, thujene เป็นต้น (บางข้อมูลระบุว่า โสมไทยมีกรดออกซาลิกสูง ผู้ที่เป็นโรคไต โรคเกาต์ โรคไขข้ออักเสบ ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก)
บางข้อมูลระบุว่า โสมไทยเป็นผักที่มีฤทธิ์เย็น สามารถนำมาใช้ทำเป็นน้ำคลอโรฟิลล์ได้
ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เนื่องจากมีลักษณะของลำต้นและใบที่เขียวชอุ่ม และมีดอกสีม่วงที่ดูสวยงาม
SHARE NOW
Exit mobile version