ไม่ต้องรอใคร “ใบต้นสด” ฟ้าทะลายโจร พึ่งพาตัวเองได้

ไม่ต้องรอใคร “ใบต้นสด” ฟ้าทะลายโจร พึ่งพาตัวเองได้

ไม่ต้องรอใคร “ใบต้นสด” ฟ้าทะลายโจร พึ่งพาตัวเองได้

ไม่ต้องรอใคร “ใบต้นสด” ฟ้าทะลายโจร พึ่งพาตัวเองได้
หลักคิดในธรรมชาติมีอยู่ว่า สมุนไพรใดก็ตามที่เคยใช้แบบ “เต็มส่วน” แล้วได้สรรพคุณยาในทางใดแล้ว แสดงว่าสมุนไพรเต็มส่วนนั้นมีสารสำคัญหลายอย่างทำงานร่วมกัน ไม่ใช่สารเดี่ยวตัวใดตัวหนึ่ง
แต่หากจะมีการสกัดสารสำคัญออกมาตัวใดตัวหนึ่ง หรือมีการสกัดสารชนิดใดชนิดหนึ่งออกไป หลายครั้งจะพบว่ามีประสิทธิภาพด้อยลง หรือไม่ก็มีความเป็นพิษมากขึ้น คือยิ่งสกัดเข้มข้นเท่าใดก็ยิ่งไม่เหมือนสรรพคุณเดิมเท่านั้น
ตัวอย่างที่สมุนไพรที่มีสรรพคุณดีอยู่แล้ว ต่อมามีความพยายามสกัดสารสำคัญออกมาแล้วปรากฏว่าสู้สรรพคุณสมุนไพรเต็มส่วนไม่ได้ เช่น กัญชา สะเดา และขี้เหล็ก สมุนไพรเหล่านี้กลับพบว่าการสกัดสารสำคัญตัวใดตัวหนึ่งออกมา ไม่สามารถจะมีประสิทธิภาพเท่ากับสารสำคัญหลายชนิดในสมุนไพรเต็มส่วนชนิดนั้น ในทางตรงกันข้ามยิ่งสกัดสารสำคัญออกมากลับยิ่งเป็นพิษมากยิ่งขึ้น
ฟ้าทะลายโจรก็เช่นเดียวกัน เราเคยใช้กันมาหลายสิบปีในรูปแบบผงหยาบ ในโรคเจ็บคอ โรคหวัด เป็นไข้ มีขนาดยาอย่างชัดเจน ปรับลดได้ตามเด็กผู้ใหญ่ ขนาดน้ำหนัก อาการมากหรือน้อย
โดยองค์การอาหารและยา (อ.ย.) ได้กำหนด “คุณภาพ”ฟ้าทะลายโจรว่าต้องมี “เนื้อยา” หรือสารแลคโตนรวมมากว่า 6% ในขณะที่สาร “แอนโดรกราโฟไลด์” ซึ่งเป็น 1 ในหลายตัวยาในสารเนื้อยาแลคโตนต้องไม่น้อยกว่า 1% จึงจะเรียกว่า “ฟ้าทะลายโจร”ได้ [1]
และยังระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติในโรคหวัดธรรมดาว่าปริมาณที่ใช้ต่ำสุดต่อครั้งคือ 1.5 กรัม และสูงสุดต่อครั้งคือ 3 ครั้ง และ 4 ครั้งต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ใช้มาเช่นนี้เป็นเวลาหลายสิบปี และสามารถปรับปริมาณได้ตั้งแต่ขอบเขตต่ำสุด 6 กรัมต่อวัน ถึง 12 กรัมต่อวัน [1]
ดังที่ดร.สุพาภรณ์ ภูมิอมร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เคยวิจัยในหลอดทดลองในหลอดทดลองกับเชื้อโรคนี้ พบว่า สารสกัดรวม ซึ่งเป็นตัวแทนผงหยาบฟ้าทะลายโจร สามารถยับยั้งเชื้อนี้ดีกว่าสารสกัดเดี่ยวแอนโดรกราโฟไลด์ ถึง 15.6 เท่าตัว และไม่เป็นพิษต่ออวัยวะใด ตรงกันข้ามกับสารสกัดเดี่ยวของแอนโดรกราโฟไลด์หากใช้มากจะเป็นพิษต่อเซลล์หลายอวัยวะได้
สอดคล้องกับการรวบรวมข้อมูลพบว่า หลายคลัสเตอร์ที่ใช้ “ผงหยาบ” ฟ้าทะลายโจรแล้ว เมื่อใช้ในปริมาณที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่น้อยกว่า 180 มิลลิกรัมต่อวัน ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเสนอออกมา ในอัตราการหายป่วยดีกว่า อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า เช่น เรือนจำกรุงเทพ เรือนจำเชียงใหม่ วัดสะพานเขตคลองเตย ฯลฯ[2] ข้อสำคัญคือปริมาณที่ใช้ “ผงหยาบ”ฟ้าทะลายโจรที่หายป่วยได้ในโรคร้ายนี้ยังน้อยกว่า “มาตรฐานขั้นต่ำสุด”ของฟ้าทะลายโจร 6 กรัมต่อวันในโรคหวัดธรรมดาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วยซ้ำไป
รวมถึงยังมีคนอีกจำนวนมากที่ “ส่วนใหญ่” หายป่วยด้วยการใช้ “ผงหยาบ”ฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีในตลาดมากกว่า “สารสกัด” โดยไม่ต้องใช้ปริมาณสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ให้ถึง 180 มิลลิกรัมต่อวันด้วย
ด้วย“หลักการ”ที่มนุษย์และโรคมีความหลากหลาย ซึ่งย่อมมีการใช้ฟ้าทะลายโจรที่หลากหลายอย่างน้อย 6 ประการ
หลักการแรก จำนวนเชื้อของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
หลักการที่สอง ชนิดของเชื้อที่กลายพันธุ์ตลอดเวลามีความรุนแรงไม่เหมือนกัน
หลักการที่สาม ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน
หลักการที่สี่ อายุและน้ำหนักตัวของผู้ป่วยไม่เท่ากัน
หลักการที่ห้า อาการข้างเคียงในการใช้สมุนไพรได้ไม่เท่ากัน
หลักการที่หก สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีคุณภาพไม่เท่ากัน
ดังนั้นคนโบราณในอดีตที่ได้ใช้สมุนไพรมาหลายร้อยปีโดยไม่เคยต้องตรวจสารสำคัญ ก็เพราะเหตุว่า 6 ปัจจัยสามารถนำมารักษาให้หายป่วยได้ ก็เพราะสามารถปรับไปตามสภาพข้อเท็จจริงของความหลากหลายในธาตุของมนุษย์ ด้วยการเพิ่มหรือลดจำนวน หรือปรับแต่งปรุงด้วยสมุนไพรอื่นๆกลายเป็นตำรับยาเพื่อลดผลเสียของแต่ละคนที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเด็กตัวเล็กๆที่มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 5 กิโลกรัม 10 กิโลกรัม หากป่วยเป็นโรคร้ายชนิดนี้ขึ้นมา ถามว่านักวิจัยจะส่งเสริมให้เด็กๆเหล่านี้ต้องกินฟ้าทะลายโจรมากถึงในปริมาณที่มีสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน เพียงตัวเลขเดียว สมเหตุสมผลหรือไม่?
เมื่อบัญชียาหลักแห่งชาติกำหนดในโรคหวัดธรรมดาว่าสามารถใช้ผงหยาบฟ้าทะลายโจรต่ำสุดได้ที่ 6 กรัมต่อวัน (15 แคปซูลต่อวันในขนาดแคปซูล 400 มิลลิกรัม) และสูงสุด 12 กรัมต่อวัน (30 แคปซูลต่อวันในขนาดแคปซูล 400 มิลลิกรัม)
แปลว่าเราสามารถปรับได้ตามสภาพแต่ละบุคคลได้ และด้วยการยืนยันที่ เรือนจำกรุงเทพ เรือนจำเชียงใหม่ และวัดสะพานเขตคลองเตย ซึ่งพบว่าใช้น้อยกว่านี้ก็ยังหายป่วยมาแล้วจำนวนมาก และอัตราการตายต่ำมากด้วย ดังนั้นจึงมีคำถามว่าเหตุใดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกไม่หันมาวิจัยปรากฏการณ์ใช้ “ผงหยาบ”น้อยกว่าหรือเท่ากับไข้หวัดธรรมดาแล้วหายป่วยจากโรคร้ายนี้ได้ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเดือดร้อน และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ จริงหรือไม่
ทั้งนี้บัญชียาหลักแห่งชาติ ได้มีพื้นฐาน 6 กรัมต่อวัน ก็มาจากการทดลองฐานการวิจัยจากสัตว์ทดลอง สู่การเทียบย้อนคำนวณกลับมา ใช้ในมนุษย์น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ซึ่งหมายความว่าสามารถปรับใช้ได้ตั้งแต่เด็กจนไปถึงผู้ใหญ่ได้
ดังนั้นการยึดเอาแต่เรื่องสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แต่เพียงอย่างเดียวสำหรับโรคร้ายนี้ อาจจะทำให้หลงทางที่ต้องพึ่งการสกัดจากโรงงานบริษัทยาเพียงไม่กี่แห่ง โดยไม่สามารถแก้วิกฤติชาติได้
เพราะแม้วันนี้แม้แต่ผงหยาบฟ้าทะลายโจร ก็ยังขาดตลาดเลย เหตุใดจึงจะยึดมั่นถือมั่นในอัตตาที่ตัวเลขสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมแต่เพียงอย่างเดียว ให้ปั่นป่วนสังคมไปยิ่งกว่านี้ และพาลจะทำให้แอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นไปอีกเพราะมามัวเสียทรัพยากรและเสียต้นทุนเอาไปสกัดฟ้าทะลายโจรให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ
ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรไม่ได้มีแต่แอนโดรกราโฟไลด์อย่างเดียวในการจัดการกับโรคร้ายนี้ หากแต่งานวิจัยยังพบว่ามีสารสำคัญอีก “หลายชนิด” ที่ทำงานร่วมกันใน “ผงหยาบ”ฟ้าทะลายโจร
โดยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 นี้ปรากฏว่าวารสารทางด้านชีวโมเลกุลและพลวัตรที่ชื่อว่า Journal of Biomolecular Structure and Dynamics ได้เผยแพร่ผลงานการศึกษาของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนและอินเดียที่ทำงานร่วมกัน พบว่าฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานเอนไซม์และโปรตีนหนามของเชื้อโรคร้ายนี้ด้วยการทำงานของ “สารสำคัญ”อย่างน้อย 4 ชนิดรวมกัน ไม่ใช่แค่สารแอนโดรกราโฟไลด์อย่างเดียว อันได้แก่
สารแอนโดรกราโฟไลด์ หรือ AGP 1, สาร 14-deoxy 11,12-didehydro andrographolide หรือ AGP2 รวมทั้งสารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neoandrographolide) หรือสาร AGP3 และสาร 14-deoxy andrographolide หรือสาร AGP4 ซึ่งได้ทำหน้าที่ร่วมกันในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 [3]
โดยเฉพาะสารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neoandrographolide) หรือสาร AGP3 หรือสาร AP3 ที่มีบางบริษัทสกัดทิ้งออกไปนั้น กลับมีส่วนสำคัญเข้าไปสู่เป้าหมาย 4 ตำแหน่งของเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่เอนไซม์ 3 L main protease หรือ 3CLpro, Papain-like proteinase หรือ PLpro, RNA-directed RNA polymerase หรือ RdRp และโปรตีนของหนามโควิด (spike protein) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 [3]
โดยในงานวิจัยดังกล่าวยังยกย่องสารสำคัญชื่อสาร AP-3 ซึ่งมีชื่อว่า สาร “นีโอ”แอนโดรกราโฟไลด์ด้วย ว่ามี “ประสิทธิภาพมาก”ในการยับยั้งเชื้อโรคร้ายนี้ด้วย ซึ่งมีบางบริษัทสกัดสารนี้ทิ้งไป เพราะหวังทำการตลาดว่าเพื่อลดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั้งๆที่สารสำคัญชนิดนี้ทำงานร่วมกับสารสำคัญอีกหลายชนิดจึงจะมีประสิทธิภาพ และทำให้ลดความดัน พักผ่อนนอนหลับและทำให้ไม่เป็นพิษต่อตับ เมื่อทำงาน “ร่วมกัน” แล้วจะมีกลไกการทำงานถึง 5 ประการคือ
กลไกแรก ออกฤทธิ์จับกับตัวรับไวรัสที่เซลล์ปอด
กลไกที่สอง ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมได้
กลไกที่สาม ยับยั้งเอนไซม์ที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนและแบ่งตัว
กลไกที่สี่ ยับยั้งเอนไซม์ที่ตัดโปรตีนของเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถสร้างสำเนาตัวใหม่ได้
กลไกลที่ห้า จับกับตัวโปรตีนของหนามส่วนของของเชื้อโรค ที่จับกับเซลล์
นี่แค่ตัวอย่างของการทำงาน “ร่วมกัน”ของสารสำคัญที่มีอยู่ใน “ผงหยาบ”ฟ้าทะลายโจร
เมื่อดูกลไกทั้ง 5 ดังที่กล่าวมมาข้างต้นแล้ว แม้ฟ้าทะลายโจรจะไม่ถึงการป้องกันได้ แต่สามารถลดความสามารถของเชื้อโรคร้ายนี้ได้อย่างแน่นอน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยเฉพาะที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยเท่านั้น เนื่องด้วยกลไกลฟ้าทะลายโจรมีมากขนาดนี้ยังมีมากกว่าฟาวิพิราเวียร์เสียด้วยซ้ำ เหตุใดจึงไม่บูรณาการใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับการรักษาผู้ป่วยอาการหนักไปด้วย
อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการยึดเอาสารสำคัญเพียงสารเดียวคือ “แอนโดรกราโฟไลด์”นั้น คือการหลงทาง เพราะนั่นคือการละเลยสารสำคัญอีก 3 ชนิดใน “ผงหยาบ”ฟ้าทะลายโจร
ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า สารสำคัญ 4 ชนิดตามงานวิจัยนี้ ไม่ได้ทำหน้า “ฆ่าเชื้อโรคนี้” แต่ทำหน้านี้เพียง “มัดตรึง”การทำงานของเชื้อโรคนี้ ทุกงานวิจัยในหลอดทดลองจึงใช้คำว่า “ยับยั้ง” ไม่ได้ฆ่าเชื้อ
เพราะในความเป็นจริงแล้วตัวที่ฆ่าเชื้อโรคที่แท้จริงคือ “เม็ดเลือดขาว” ในระบบภูมิคุ้มกันตัวมนุษย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มี “อย่างน้อย” อีก 2 ตัวอย่างที่ อยู่ในผงหยาบฟ้าทะลายโจร “เต็มส่วน”
ตัวอย่างแรก คือ ไฟเบอร์ โดยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 วารสารทางด้านจุลชีววิทยา ชื่อ Microorganisms ได้รายงานพบว่าคณะวิจัยชาวออสเตรียได้พบว่ากลุ่มอาหารที่เรียกว่า “ไฟเบอร์” มีผลต่อ จุลชีพในลำไส้ และเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน แม้กระทั่งเมื่อถูกจุลชีพย่อยไปแล้วก็จะกลายเป็น “กรดไขมันนสายสั้น” ซึ่งจะช่วยการทำงานภูมิคุ้มกันให้สมดุลต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ [4]
และนี่เป็นตัวอย่างที่แสดงเหตุผลว่า ทำไมคนกินผงหยาบจึงหายป่วยได้ในโรคหวัดมานานแสนนาน โดยไม่ต้องทำเป็นรูปสารสกัดอะไรเลย
ตัวอย่างที่สอง คือสารสีเขียวที่ชื่อว่า “คลอโรฟิลล์” ซึ่งอย่างน้อยมีงานตีพิมพ์ 2 ฉบับแล้ว ที่ระบุว่าคลอโรฟิลล์มีผลต่อการต้านเชื้อ และเสริมภูมิคุ้มกัน
โดยวันที่ 12 มีนาคม 2564 วารสาร Frontiers in Medicine ได้รายงานเผยแพร่บทความทางวิชาการของนักวิจัยชาวออสเตเรียพบว่า ในคลอโรฟิลล์มีแร่ธาตุชนิดหนึ่งคือ “คอปเปอร์” หรือทองแดง ช่วยจัดการการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในการจัดการกับโรคร้ายนี้ได้ [5]
ในขณะที่วารสารอีกฉบับหนึ่งชืทอ Frontiers in Plant Science ได้รายงานเมื่อวันทร่ 14 สิงหาคม 2563 ว่าแร่ธาตุในคลอโรฟิลล์ ชื่อ ซิงค์ ฟีโอฟอร์ไบด์ Zinc pheophorbide a (ZnPh) มีศักยภาพที่อาจจะมาช่วยในการบำบัดเชื้อโรคนี้ได้ โดยไม่มีอันตรายที่จะต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป [6]
นี่คือเหตุผลว่าเหตุใดจึงควรสนับสนุน “ผงหยาบ” มากกว่า “สารสกัด” เพราะไม่เพียงจะคุณภาพดีตามธรรมชาติโดยไม่ต้องสกัดแล้ว แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน แม้แต่วิสาหกิจชุมชน จะได้มีส่วนร่วมต่อการแปลงวิกฤติให้เป็นโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำของคนไทยไปด้วย
เพราะยิ่งสกัดน้อยที่สุดเท่าไหร่ ประชาชนจะยิ่งพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้นและง่ายขึ้น ในทางตรงกันข้ามยิ่งต้องสกัดอย่างซับซ้อนเท่าไหร่ ก็มีแต่จะต้องพึ่งพาการสกัดจากบริษัทยาเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
ยิ่งไม่ต้องสกัดใดๆเลย หรือไม่ต้องบรรจุแคปซูลเลย ยิ่งทำให้ชาวบ้านกลายเป็นหมอที่สามารถดูแลตัวเองในบ้านได้ และยิ่งทำให้แผ่นดินที่ปลูกสมุนไพรได้กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมยาด้วย
ในขณะเดียวกันถ้าเราย้อนกลับไปที่ภูมิปัญญาชาวบ้าน เราจะเห็นว่าชาวบ้านเข้าใช้ใบสด หรือต้มจากต้นสดในการกินบำบัดรักษาเลย โดยไม่ต้องตากแห้ง ไม่ต้องบรรจุแคปซูล (ที่กำลังขาดตลาดด้วย)
ซึ่งส่ิงที่สำคัญคือ ต้นสด หรือ ใบสด มีเอนไซม์จากพืชธรรมชาติ ที่ผงหยาบ หรือ สารสกัดไม่มี และยังไม่มีใครวิจัย หรือไม่ต้องการวิจัย ว่าถ้าใช้ต้นสดแล้วจะใช้น้อยเหลือเท่าไหร่ เพราะทำการค้าไม่ได้
แต่น่าสังเกตได้ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน เขาใช้ใบสด 2-3 ใบเท่านั้น เคี้ยวสด ก็หายเจ็บคออย่างรวดเร็ว
ภูมิปัญญาชาวบ้านเขาใช้ใบสด 5-10 ใบต้มใบสด กินเป็นชา ได้เพื่อใช้รสขมนำเจริญน้ำดี เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะสารสำคัญในกลุ่มแลคโตนรวมละลายในน้ำได้
ดังนั้นเมื่อป่วยหนักก็สามารถใช้ใบ หรือ ลำต้นเหนือดินเต็มหรือเกิน 1 กำมือ ลงในหม้อ ใช้น้ำ 3 ลิตร ต้มเหลือ 1 ลิตร ดื่มเสริมภูมิครั้งละ 30 ซีซีเช้าเย็น แต่ถ้าป่วยมากกว่านั้นก็กินจนไข้ลด และปรับตามสภาพการป่วยของแต่ละคน
แต่ความสำคัญคือต้นฟ้าทะลายโจรเร่ิมมีตัวยามากเมื่อเวลาผ่านไป 90 วัน และมีตัวยาเยอะที่สุดอยู่ที่ 4 เดือน หากแก่กว่านั้นจนออกออกไปเยอะมากแล้ว ตัวยาจึงจะไม่เหลือ ดังนั้น ใครมีฟ้าทะลายโจรอายุถึง 4 เดือนแล้ว ก็ควรจะเก็บเกี่ยวมาเพื่อสะสมเป็นยา หรือไม่ก็ต้องกินเป็นยาไว้ก่อน
กล่าวโดยสรุปถึงวิธีการใช้ใบสดคือ
ประการแรก เมื่อฟ้าทะลายโจรอายุ 4 เดือนแล้ว ให้เก็บเกี่ยวลำต้นเหนือดิน หรือเฉพาะใบซึ่งมีตัวยามากที่สุด ตากให้แห้งสนิท บดเป็นผง หรือนำไปปั่นจนละเอียด เก็บใส่ถุงสุญญากาศ แลใส่สารกันชื้นเอาไว้ เพราะนั่นคือการสะสมตัวยาฟ้าทะลายโจรที่มีตัวยามากที่สุด เก็บไว้ใช้เมื่อป่วย 1-2 ช้อนชา ชงน้ำร้อนดื่ม เช้า-กลางวัน-เย็น ก่อนนอน
ประการที่สอง อายุฟ้าทะลายโจรอายุ 45-120 วันมีตัวยาอยู่ที่สามารถใช้ได้ ถ้ากินเมื่อเจ็บคอให้สามารถใช้ใบสด 2-3ใบเคี้ยว แต่ถ้าทนความขมไม่ได้ ก็ให้ผสมน้ำผึ้งมะนาวไปเล็กน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน จนกว่าจะหาย
หรือถ้าเคี้ยวไม่ได้ให้ใช้ใบสด 4-5 ใบ ต้มเป็นชาดื่มตลอดทั้งวัน จนอาการดีขึ้น
ประการที่สาม เมื่อป่วย เป็นไข้มาก เลือกฟ้าทะลายโจรอายุ 90-120 ให้ใช้ส่วนใบ 1 กำมือเต็มเท่าที่จะหยิบได้ ใช้น้ำ 3 ลิตร ต้มจนเหลือน้ำ 1 ลิตร ดื่มครั้งละอย่างน้อย 30 ซีซี หรือ 2 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง จนกว่าไข้ลดลง ภายใน 1 วันถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้เพิ่มเป็น 60 ซีซี หรือ 4 ช้อนโต๊ะ หรือเพิ่มจนไข้ลดลงให้ได้ใน 4 วันแรก
ประการที่สี่ หากกินฟ้าทะลายโจรแล้วมีอาการท้องอืด ลมตีขึ้น เมื่อไม่มีไข้แล้ว ให้ดื่มน้ำต้มขิงตลอดทั้งวันประกบไปด้วย
ประการที่ห้า ฟ้าทะลายโจรที่อายุเกิน 4 เดือนและออกดอกเต็มแล้ว ตัวยาจะลดลงอย่างมาก ให้พิจารณาปักชำเพื่อรอเมล็ดในการเร่งปลูกโดยเร็ว หรือรอเมล็ดเพื่อปลูกต้นใหม่เป็นยาในรอบต่อไป
มาร่วมกันทำให้ประชาชนกลายเป็นหมอเพื่อดูแลตัวเอง มาเปลี่ยนผืนดินให้เป็นโรงงานผลิตยาพร้อมใช้ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ผู้ป่วยล้นกำลังบุคคลกรทางการแพทย์แล้ว หมอที่ดูแลเราดีที่สุดก็คือตัวเราเอง
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
29 กรกฎาคม 2564
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/4332546586805277/
อ้างอิง
[1] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2562, เล่ม 136 ตอนพิเศษ 95 ง, วันที่ 17 เมษายน 2562, หน้า 8, เอกสารแนบท้ายรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ , ภาคผนวก 4 บัญชียาจากสมุนไพร, ยากลุ่มที่ 2 ยาพัฒนาจากสมุนไพร 24 รายการ 2.2 ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ, (1) ยาฟ้าทะลายโจร หน้า 275
[2] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ถอดบทเรียน “ผงหยาบ” ฟ้าทะลายโจร ผู้ป่วยในเรือนจำมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าคนอยู่นอกเรือนจำทั่วประเทศไทย, แฟนเพจปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, วันที่ 23 กรกฎาคม 2564
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/4314380941955175/
[3] Murugan NA, Pandian CJ, Jeyakanthan J. Computational investigation on Andrographis paniculata phytochemicals to evaluate their potency against SARS-CoV-2 in compari- son to known antiviral compounds in drug trials. J Biomol Struct Dyn. 2020.
https://www.tandfonline.com/…/10…/07391102.2020.1777901
[4] Tanvi Shinde, et al., Microbiota Modulating Nutritional Approaches to Countering the Effects of Viral Respiratory Infections Including SARS-CoV-2 through Promoting Metabolic and Immune Fitness with Probiotics and Plant Bioactives, Microorganisms, Received: 28 May 2020 / Revised: 16 June 2020 / Accepted: 16 June 2020 / Published: 18 June 2020
https://www.mdpi.com/2076-2607/8/6/921
[5] Nicole F. Clark, et al., COVID-19 Therapy: Could a Copper Derivative of Chlorophyll a Be Used to Treat Lymphopenia Associated With Severe Symptoms of SARS-CoV-2 Infection?, Front. Med., 12 March 2021 |
https://doi.org/10.3389/fmed.2021.620175
[6] Nicole F. Clark, et al, COVID-19 Therapy: Could a Chlorophyll Derivative Promote Cellular Accumulation of Zn2+ Ions to Inhibit SARS-CoV-2 RNA Synthesis? Front. Plant Sci., 14 August 2020 | https://doi.org/10.3389/fpls.2020.01270

SHARE NOW
Exit mobile version