คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรค

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรค

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรค

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรค

1. สิ่งที่ควรรู้ก่อนใช้กัญชา/ ข้อห้ามใช้กัญชา
1.1 รู้ว่าตนเองมีข้อห้ามใช้กัญชาหรือไม่ ถ้ามีข้อห้ามใช้จะใช้กัญชาไม่ได้ (แม้ว่าจะมีข้อบ่งใช้) [อ่านต่อข้อ 2]
1.2 รู้ว่าโรคที่เป็น…ใช้กัญชารักษาได้หรือไม่ (ข้อบ่งใช้) [อ่านต่อข้อ 3]
1.3 รู้จักสารสำคัญในกัญชา ที่ควรทราบมี 2 ชนิด คือ THC [สารเสพติด มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท]
และ CBD [ไม่ใช่สารเสพติด ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท]
2. ข้อห้ามใช้กัญชา
2.1 มีประวัติแพ้กัญชา หรือส่วนประกอบอื่นๆ ในตำรับนั้น เช่น ตัวทำละลายที่ใช้ในการสกัด
อาการแพ้ยา สังเกตได้เหมือนอาการแพ้ยาทั่วไป เช่น ปากบวมหน้าบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ผื่นขึ้น
2.2 ห้ามใช้กัญชา ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรง หรือไม่สามารถคุมอาการได้ เช่น ยังมีอาการกำเริบบ่อยๆ ของการปวดเค้นหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันตก เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงหัวใจขาดเลือด รวมถึงห้ามใช้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ
2.3 ห้ามใช้กัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัญชาที่มีสาร THC ความเข้มข้นสูง ในผู้ป่วยที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช (เช่น โรคจิต โรคจิตเภท ภาวะวิตกกังวลและความผิดปกติทางอารมณ์) หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคจิตเภท เพราะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการทางจิต
2.4 ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิด หรือสตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีรายงานการศึกษาพบว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย รวมถึงพบสารจากกัญชาผ่านในน้ำนมแม่ได้
3. รักษาโรคอะไรได้บ้าง
ประโยคสำคัญ : กัญชา ไม่ใช่ยาที่รักษาได้ทุกโรค และโรคที่รักษาได้นั้น กัญชาอาจไม่ได้ทำให้โรคนั้นหายขาด จะรู้ว่าโรคไหนใช้กัญชารักษาได้ ต้องใช้หลักฐานงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วในคนที่เป็นโรคนั้น ว่าใช้แล้วให้ผลการรักษาที่ดี
ณ ปัจจุบัน กัญชาไม่ใช้ยาตัวแรกที่หมอจะสั่งจ่ายให้กับคนไข้ จะใช้เสริมเข้าไปกับยาแผนปัจจุบันเดิมที่ใช้อยู่ เน้นย้ำว่า “คนไข้ยังต้องใช้การรักษามาตรฐานเป็นหลัก” คือยังต้องกินยาหลักแผนปัจจุบันอยู่ ห้ามหยุดยา
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แบ่งโรคที่จะใช้กัญชาได้เป็น 3 กลุ่ม
***** โรคที่นอกเหนือจากนี้ หมายถึง กัญชายังรักษาไม่ได้ ต้องรอการศึกษาวิจัยในอนาคต อย่าหลงเชื่อข่าวที่ส่งต่อกันมา หรือบอกเล่ากันมา โดยไม่มีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือยืนยัน
A. ผลิตภัณฑ์กัญชา ได้ประโยชน์ มีผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนชัดเจน
ในต่างประเทศมียาขึ้นทะเบียนแล้ว โดยมีการใช้สูตรยากัญชาแตกต่างกันในแต่ละข้อบ่งใช้
1. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา (CBD เด่น)
2. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด (THC เด่น หรือ THC:CBD = 1:1)
3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (THC:CBD = 1:1)
4. ภาวะปวดประสาท (neuropathic pain) ที่ดื้อต่อการรักษา (THC:CBD = 1:1)
5. ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย (THC เด่น)
6. การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต
(end of life) ซึ่งเป็นการตัดสินใจของผู้รักษา
B. ผลิตภัณฑ์กัญชา น่าจะได้ประโยชน์ (ในการควบคุมอาการ)
หลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนมีจำนวนจำกัด ต้องการข้อมูลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
เนื่องจากยังไม่ทราบว่าจะใช้ยากัญชาสูตรใด สัดส่วนเท่าใดดี ยาแผนปัจจุบันที่มีใช้อยู่เดิมยังให้ผลการรักษาที่ดีกว่ากัญชา อนึ่งกัญชาไม่ได้ทำให้โรคที่เป็นความเสื่อมไปแล้วตามธรรมชาติหายขาด
1. โรคพาร์กินสัน
2. โรคอัลไซเมอร์
3. โรควิตกกังวลไปทั่ว (generalized anxiety disorders)
4. โรคปลอกประสาทอักเสบ (demyelinating diseases) อื่นๆ
อาทิ neuromyelitis optica และ autoimmune encephalitis
C. ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ อาจได้ประโยชน์ (ในอนาคต)
– การใช้กัญชารักษาโรคมะเร็ง
ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ สำหรับการใช้กัญชาเพื่อรักษามะเร็งให้หายขาด
หากเลือกใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาโรคมะเร็งแล้ว อาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผลด้วยวิธีมาตรฐานได้
*** ห้ามใช้ทดแทน ยาแผนปัจจุบันที่เป็นมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ปกติแล้วการนำกัญชามาใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง อาจได้ประโยชน์ในการบรรเทาอาหารคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือใช้เพื่อหวังผลเพิ่มคุณภาพชีวิตในแง่ลดความปวด ช่วยเจริญอาหาร และช่วยนอนหลับ ซึ่งผลการรักษาขึ้นอยู่กับการตอบสนองในแต่ละคน
4. วิธีใช้ยา / วิธีปรับยา ทำอย่างไร
ประโยคสำคัญ : ใช้ขนาดยาต่ำสุดที่ให้ผลการรักษา โดยมีไม่เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
เริ่มต้น 1 หยด แนะนำเริ่มมื้อก่อนนอน เนื่องจากยามักมีผลข้างเคียงทำให้ง่วง และใช้ระยะเวลาในการปรับขนาดยาเพิ่ม จาก 1 หยด เป็น 2 หยด จาก 2 หยดเป็น 3 หยด …… ทิ้งระยะห่างประมาณ 3-7 วัน เพื่อดูการตอบสนองต่อยา ขนาดยาสูงสุด ดูจากผลการตอบสนองการรักษา คือ อาการโดยรวมของคนไข้เป็นหลัก โดยปกติแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้ THC เกิน 20 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะเพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียงและเกิดการดื้อยา ส่วน CBD มีการใช้ในขนาดสูง เช่น ยา CBD ที่ใช้รักษาลมชักที่รักษายาก แนะนำให้เริ่มที่ขนาด 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง (5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน) หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ให้ปรับขนาดยา จนได้ถึงขนาด 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน หากยังไม่ตอบสนองต่อการรักษาให้ปรับขนาดยาทุกๆ สัปดาห์ จนได้ถึง 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน
กรณีรูปแบบยาน้ำมันหยด ยาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังหยดประมาณ 1 ชั่วโมง และฤทธิ์จะคงอยู่ 6-8 ชั่วโมง ตัวเลขเหล่านี้กำลังจะบอกว่า ในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงหลังจากหยดยา ไม่ควรหยดยาซ้ำๆ เพราะคิดว่ายังไม่เห็นผลการรักษา การทำแบบนั้นมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาได้มาก เมื่อยาออกฤทธิ์ เช่น สลบ ช็อค หมดสติ ใจสั่น และหากยาไม่สามารถควบคุมอาการได้ เช่น ยังมีอาการปวดกำเริบตอนกลางวัน สามารถใช้ยาถี่ขึ้น เป็นวันละ 3-4 เวลา ห่างกัน 6-8 ชั่วโมง ในข้อบ่งใช้ที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นยาแล้วในต่างประเทศสามารถอ้างอิงขนาดยาจากเอกสารกำกับยานั้นๆ ได้
อย่างไรก็ตามการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาใต้ดินที่ไม่ทราบความแรงต่อหยด หรือสารสำคัญในแต่ละหยด ทำให้ยากต่อการปรับยา และไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะปรับยาอย่างไร
5. ผลข้างเคียงจากกัญชา / มีผลต่อตับ-ไตไหม
ส่วนใหญ่ขึ้นกับการตอบสนองของแต่ละคน วิธีการใช้ ขนาดยาที่ใช้ สูตรยาที่ใช้ การได้รับสาร THC ขนาดสูง อาจเพิ่มการเกิดผลข้างเคียงได้ ตัวอย่างผลข้างเคียง
– ปากแห้ง คอแห้ง
– ง่วงซึม
– ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น (ซึ่งอาจเป็นอาการข้างเคียงที่พึงประสงค์)
– ภาวะเคลิ้มสุขอย่างอ่อน ๆ
– ความตื่นตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงทันทีหลังได้รับยา
– อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หรือช้าลง
– ความดันโลหิตลดต่ำลง
– เวียนศีรษะ
– การใช้ยาที่มีสาร THC เกินขนาดในปริมาณที่สูงมาก อาจก่อให้เกิดสภาวะวิกลจริต หรือภาวะทางจิตเวชอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรมอยู่ก่อนแล้ว
– การทำงานของตับและไตแย่ลง พบได้ในผู้ใช้กัญชาบางราย กัญชาถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับเป็นหลัก อย่างไรก็ตามอาจมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น ตัวโรค หรือยาที่ใช้ร่วม ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาและเภสัชกรจะช่วยประเมินว่าเกิดจากกัญชาจริงหรือไม่
หากผลข้างเคียงไม่รุนแรง แพทย์จะทำการปรับลดขนาดยา หรือหากผลข้างเคียงรุนแรง หรือพบอาการทางจิต จำเป็นต้องหยุดยากัญชา
6. กัญชา ใช้แล้วจะติดยาไหม
มีโอกาสติดยาได้ โดยเฉพาะการใช้กัญชาที่มีสาร THC ในขนาดสูง ใช้บ่อย ใช้มานานๆ การหยุดยากะทันหันอาจทำให้เกิดอาการถอนยาได้ เช่น กระสับกระส่าย กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หงุดหงิด นอนไม่หลับ คลื่นไส้ ปวดท้อง เวียนศีรษะ ฝันบ่อย ลดความอยากอาหาร น้ำหนักลด เหงื่อแตก คลื่นไส้อาเจียน น้ำลายมาก สั่น มีไข้
อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตผู้ใช้กัญชาที่อยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ไม่พบอาการถอนยา แม้จะมีการหยุดใช้ยาไป
7. กัญชา รักษามะเร็งได้จริงไหม
ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ สำหรับการใช้กัญชาเพื่อรักษามะเร็งให้หายขาด เนื่องจากยังไม่ทราบว่าจะใช้ยากัญชาสูตรใด สัดส่วนเท่าใดดี กับมะเร็งแต่ละชนิด ยาแผนปัจจุบันที่มีใช้อยู่เดิมยังให้ผลการรักษาที่ดีกว่ากัญชา หากเลือกใช้เฉพาะกัญชาในการรักษาโรคมะเร็งแล้ว อาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผลด้วยวิธีมาตรฐานได้ ทำให้โรคลุกลาม
*** ห้ามใช้ทดแทน ยาแผนปัจจุบันที่เป็นมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ปกติแล้วการนำกัญชามาใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง อาจได้ประโยชน์ในการบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือใช้เพื่อหวังผลเพิ่มคุณภาพชีวิตในแง่ลดความปวด ช่วยเจริญอาหาร และช่วยนอนหลับ ซึ่งผลการรักษาขึ้นอยู่กับการตอบสนองในแต่ละคน
SHARE NOW
Exit mobile version