“บัวหลวง” ดีต่อสมองอย่างไร❓

“บัวหลวง” ดีต่อสมองอย่างไร❓

🌸“บัวหลวง” ดีต่อสมองอย่างไร

จากงานวิจัยด้านสุขภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา พบเรื่องน่าเป็นห่วงบางประการ คือ ค่าใช้จ่ายตลอดการดูแลและรักษาจนกระทั่งเสียชีวิตของผู้ที่มีภาวะความจำเสื่อมนั้น สูงกว่าค่ารักษาของผู้ที่มีโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนักวิจัยได้ประมาณการตัวเลขค่าใช้จ่ายของภาวะความจำเสื่อม คิดเป็น 8,898,178 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายของโรคหัวใจ 5,429,216 บาท และค่าใช้จ่ายของโรคมะเร็ง 5,374,873 บาท เป็นอย่างมาก

…วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้ ต้องการให้ภาคประชาชนและภาครัฐเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือกับภาวะความจำเสื่อมที่กำลังจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนประชากรผู้สูงอายุ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ขึ้น ดูจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

การป้องกันหรือรักษาภาวะความจำเสื่อมนั้น เชื่อว่าทำได้ตามกลไกการเกิดโรค คือ ลดการเกาะตัวของโปรตีนที่ทำให้สมองเสื่อม หรือการใช้ยาเพื่อลดการอักเสบหรือสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตาม โรคทางสมองเป็นโรคที่ซับซ้อน แม้ว่าปัจจุบันจะมียาที่ได้รับการรับรองถึงประสิทธิภาพแล้ว แต่ยังพบผลข้างเคียงจากยาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไข้ได้ ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ด้วยเหตุนี้เอง สารประกอบทางเคมีที่มาจากธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ สำหรับการต่อยอดเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันดูแลภาวะสมองเสื่อม

🌸“บัวหลวง” (Nelumbo nucifera Gaertn.) ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ดอกบัวถือเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวไทยพุทธจะนิยมนำดอกมาสักการะพระรัตนตรัย ใช้ในพิธีทางศาสนา และยังสามารถใช้เป็นยาได้ โดยเฉพาะเกสรที่มีการใช้มานานและปรากฏในตำรายาสมุนไพรหลายฉบับ ในสรรพคุณบำรุงหัวใจ ในผู้ที่มีอาการใจสั่น โผเผ เหนื่อยง่าย ใจหวิว หงุดหงิดง่าย ใจคอไม่ดี หวั่นไหวง่าย หรือแม้แต่คนที่รู้สึกสะเทือนใจ ไม่สดชื่น ก็จะใช้เกสรในการรักษา

…นอกจากเกสรบัวจะช่วยบำรุงหัวใจแล้ว ผลของบัวหลวง (ที่เราเรียกกันว่า เม็ดบัว) พบสารเคมีที่ชื่อว่า Neferine โดยสามารถออกฤทธิ์ได้หลายกลไกที่ดีต่อการป้องกันภาวะความจำเสื่อม คือ ลดการเกาะตัวของโปรตีนอะไมลอยด์ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ลดการทำงานของสมอง เพิ่มสารสื่อประสาทที่ช่วยลดอาการซึมเศร้า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ลดการอักเสบ

สรรพคุณทางยาของบัวหลวงนั้น เหมาะสมมากสำหรับการนำมาดูแลและบำรุงสมอง ผู้ที่มีปัญหาหลงๆ ลืมๆ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย แม้แต่มีอาการซึมเศร้า ก็น่าจะหามาลองรับประทานก็เป็นทางเลือกที่ดีทีเดียวค่ะ

🔖ข้อมูลจาก อภัยภูเบศรสาร ฉบับเดือนมีนาคม 2562 คอลัมน์ พืชใกล้ตัว โดย ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์

SHARE NOW
Exit mobile version