มะขามป้อม เป็นผลไม้ป่าของคนไทยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
มะขามป้อม เป็นผลไม้ป่าของคนไทยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ปลอดภัยออแกนิกธรรมชาติ เป็นต้นไม้ยืนต้น เวลาเป็นลูกดกเต็มต้น คนสมัยก่อน นิยมบริโภคมะขามป้อม เป็นของว่างๆ กินลูกสดๆ เวลาเดินป่า ทำให้ช่วยแก้กระหายน้ำชุ่มคอ แก้ไอ หรือเด็กๆและผู้หญิงมักนำลูกมะขามป้อมจิ้มพริกเกลือ อร่อยดีนัก (น้ำลายไหล) ปัจจุบันก็ถือว่ายังมีอยู่ในป่าเหมือนเดิม แต่ส่วนหนึ่งชาวบ้านก็ตัดทิ้งไปเพราะเกิดปัจจัยจำเป็นที่ต้องใช้ เหลือไว้สักต้นสองต้นก็พอ พอเป็นกษัยยา
ปัจจุบันนี้ มะขามป้อมก็สามารถหาได้ตามท้องตลาดสดทั่วไป ถุงละ 20-25 บาท หรือแพงกว่านั้น หรือปัจจุบันนี้ก็มีพ่อค้ารับซื้อมะขามป้อมเพื่อส่งตามตลาดทั่วไป หรือตามสถานประกอบยาสมุนไพรและเครื่องดื่มสมุนไพรมะขามป้อมก็มีเยอะ
ในด้านสุขภาพ มะขามป้อมเป็นที่รู้จักกันดี คือ แก้ไข แก้กระหายน้ำ ต้านมะเร็ง ทำให้กระชุ่มกระชวย โดยการรับประทานลูกสดๆ วันนี้ก็มีเรื่องเล่าด้านสุขภาพที่มากกว่าที่เรารู้มาจากปู่ย่าตายาย ร่วมกันเรียนรู้สุขภาพอันจะพึงได้จากมะขามป้อมไปพร้อมๆกันกับชมรมผักพื้นบ้านได้เลยครับ………….
ชื่ออื่นๆ มะขามป้อม (ทั่วไป) กันโตด (เขมร-จันทบุรี) กำทวด (ราชบุรี) มั่งลู่ สันยาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus emblica Linn.
ชื่อวงศ์ มะไฟ Euphorbiaceae
ชื่อสกุลไม้ มะขามป้อม Phyllanthus L.
ชื่อสามัญ Emuc myrabolan, Malacca tree
คุณค่าทางอาหาร
กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รายงานสารอาหารของลูกมะขามป้อมสด เปรียบเทียบกับลูกมะขามป้อมแช่อิ่ม ในส่วนที่กินได้ ๑๐๐ กรัม และสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
สารอาหาร ผลสด แช่อิ่ม หน่วย
พลังงาน ๕๘.๐๐ ๒๒๒ แคลอรี
น้ำ ๘๔.๑๐ ๓๗.๖๐ กรัม
ไขมัน ๐.๕๐ ๐.๖๐ กรัม
คาร์โบไฮเดรต ๑๔.๓๐ ๕๙.๘๐ กรัม
เส้นใยอาหาร ๒.๔๐ ๑.๐๐ กรัม
โปรตีน ๐.๗๐ ๐.๕๐ กรัม
แคลเซียม ๒๙ ๓๙ มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส ๒๑ ๑๘ มิลลิกรัม
เหล็ก ๐.๕ ๑.๒ มิลลิกรัม
วิตามินเอ ๑๐๐ – หน่วยสากล
วิตามินบี ๑ ๐.๐๓ ๐.๐๒ มิลลิกรัม
วิตามินบี ๒ ๐.๐๔ ๐.๐๙ มิลลิกรัม
ไนอะซิน ๐.๒ ๐.๑ มิลลิกรัม
วิตามินซี ๒๗๖ ๓
สารที่พบ
ผลสด มีวิตามินซี ร้อยละ ๑-๑.๘ นับว่ามีปริมาณมากและปริมาณค่อนข้างแน่นอน (วิตามินซีในน้ำคั้นจากผลมะขามป้อม มีมากประมาณ ๒๐ เท่าของน้ำส้มคั้น มะขามป้อม ๑ ผล มีปริมาณวิตามินซีเทียบเท่าที่มีในผลส้ม ๑-๒ ผล) นอกจากนั้นยังมี สารแทนนิน (tannin) ร้อยละ ๒๘
ผลแห้ง มีกรดมิวซิก (mucic acid) ร้อยละ ๔-๙
เปลือกผล มีกรดเอลลาจิก (ellagic acid), กรดฟิลเลมลิก (phyllemblic acid) และสารฟีนอลส์ (phenols)
เนื้อผลสด มีน้ำร้อยละ ๘๑.๒ โปรตีนร้อยละ ๐.๕ ไขมันร้อยละ ๐.๑ คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ต่างๆ กรดนิโคตินิก วิตามินซี เพ็กทิน และแทนนินจำนวนมาก
เมล็ด มีน้ำมัน (fixed oil) ประมาณร้อยละ ๒๖ (ประกอบด้วย linolenic acid ร้อยละ ๘.๘, linoleic acid ร้อยละ ๔๔, oleic acid ร้อยละ ๒๘.๔, stearic acid ร้อยละ ๒.๒, palmitic acid ร้อยละ ๓, myristic acid ร้อยละ ๑) นอกจากนั้น ยังมี phosphatides และน้ำมันระเหยอีกเล็กน้อย
ใบ มี amlaic acid, lupeol, มีแทนนิน ร้อยละ ๒๒ ของน้ำหนักแห้ง
เปลือกต้น มี lupeol, leucodelphinidin มี แทนนิน ร้อยละ ๘-๙ ของน้ำหนักแห้ง
กิ่งก้านเล็ก มีแทนนิน ร้อยละ ๒๑ ของน้ำหนัก แห้ง
ราก มี lupeol, ellagic acid
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับมะขามป้อม
ผลมะขามป้อม มีวิตามินซีสูงมากที่สุดในบรรดาพืชทุกชนิดที่มีในโลก ในผลมีสารป้องกันการเกิดออกซิไดซ์วิตามินซี ทำให้วิตามินซีคงตัวอยู่ได้นาน ผลแห้ง เก็บไว้ในที่เย็น เช่น ในตู้เย็น นาน ๓๖๕ วัน จะเสียวิตามินซีไปร้อยละ ๒๐
ผลมะขามป้อมดองในน้ำเกลือร้อยละ ๘ นาน ๒๐ วัน ความเข้มข้นของกรดเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ ๐.๗๗ เป็นร้อยละ ๑.๔๔ วิตามินซีเสียไปประมาณร้อยละ ๖๘
ดองในน้ำเกลือร้อยละ ๑๐ ความเข้มข้นของกรดเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ ๐.๖๓ เป็นร้อยละ ๑.๓๙ วิตามินซีเสียไปประมาณร้อยละ ๗๒
นอกจากนี้ ในการดองจะมีพวกกรดทั้งชนิดระเหยและไม่ระเหยเพิ่มขึ้น ดองในน้ำเกลือร้อยละ ๘ จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ดองในน้ำเกลือร้อยละ ๑๐ ผลมะขามป้อมที่ดองด้วยน้ำเกลือร้อยละ ๘ มีกลิ่นของมันเองลดลง และมีกลิ่นหมักดีขึ้น ส่วนที่ดองด้วยน้ำเกลือร้อยละ ๑๐ มีกลิ่นของมันเองลดลง ผลที่ดองมีสีน้ำตาลแดง เนื้อนุ่มขึ้น ผลพองตัวมีขนาดใหญ่ขึ้น และบางผลก็แตกออก มีรสเปรี้ยวๆ เค็มๆ
ผลสดถ้าเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง (๒๙-๓๗ องศา-เซลเซียส) นาน ๓๖๕ วัน จะเสียวิตามินซีไปร้อยละ ๖๗
เนื้อผลตากแดดให้แห้ง จะเสียวิตามินซีไปประมาณร้อยละ ๖๐ ถ้าทำให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง จะเสียวิตามินซีไปไม่มากนัก เนื้อผลแห้งเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องจะเสียวิตามินซีไปร้อยละ ๒๕ ในเวลา ๒ สัปดาห์ เสียวิตามินซีไปร้อยละ ๕๐ ในเวลา ๔ สัปดาห์ และเสียไปร้อยละ ๖๐ ในเวลา ๔๘ สัปดาห์
น้ำคั้นจากผล ใส่ขวดเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องนาน ๒ สัปดาห์ จะเสียวิตามินซีไปมากกว่าร้อยละ ๕๐ แต่ถ้าเก็บในตู้เย็นนาน ๙ สัปดาห์ จะเสียวิตามินซีไปน้อย กว่าร้อยละ ๕๐ ในน้ำคั้นจากผลที่ใส่ขวดเก็บไว้ จะมี ความเป็นกรดเพิ่มขึ้นและมีความเป็นกรดคงที่ ที่ pH2
แต่อย่างไรก็ตาม ผลมะขามป้อมยังมีสารในกลุ่ม แทนนินชื่อว่า emblicanins A และ B ที่มีฤทธิ์เป็นเช่นเดียวกับวิตามินซี แต่มีฤทธิ์แรงกว่าและไม่สลายตัวง่ายเช่นเดียวกับวิตามินซี สารดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง เพิ่มภูมิคุ้มกัน กำจัดพิษโลหะหนัก รักษาโรคลักปิดลักเปิด ทั้งยังช่วยเสริมฤทธิ์วิตามินซี ดังนั้น ท่านจึงไม่ต้องกังวลว่า การกินมะขามป้อมแปรรูปหรือมะขามป้อมแห้งจะไม่ได้ประโยชน์
มะขามป้อมเป็นสมุนไพรที่คนอินเดียใช้มาเป็นพันๆ ปี ในฐานะเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงสายตา บำรุงสมอง ซึ่งคนอินเดียเรียกมะขามป้อมว่า Amla หรือ Amalaka แปลว่า พยาบาลหรือแม่ ซึ่งสะท้อน สรรพคุณทางยาอันมากมายของมะขามป้อมได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันอินเดียมีการเก็บเกี่ยวมะขามป้อมเป็นสมุนไพรส่งออกในรูปแบบต่างๆ ทั้งมะขามป้อมแห้ง มะขามป้อมสด น้ำมะขามป้อมเข้มข้นหรือมะขามป้อมที่ผสมกับสมุนไพรตัวอื่น ทั้งยังมีการ จดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์มะขามป้อมทั้งในและต่างประเทศ
ส่วน ของ “มะขามป้อม” ที่นำไปใช้ประโยชน์
ราก น้ำต้มรากของต้นมะขามป้อม กินเป็นยาลดไข้ เป็นยาเย็น ฟอกเลือด และทำให้อาเจียน ถ้ากลั่นรากจะได้สารที่มีคุณสมบัติเป็นยาฝาดสมานที่ดีกว่าสีเสียด
ลำต้น มีเนื้อไม้แข็ง แช่อยู่ในน้ำมีความคงทนมาก ใช้งานได้ดี ใช้ทำเครื่องประดับ เสาเข็ม หรือใช้เป็นเชื้อเพลิง
ต้น เปลือก เป็นยาฝาดสมาน
ใบ น้ำต้มใบใช้อาบลดไข้
ใบแห้ง มีแทนนินมากใช้ย้อมเส้นใย เช่น ไหม ขนสัตว์ ให้สีน้ำตาลเหลือง แต่ถ้าใช้เกลือของเหล็ก เช่น เฟอร์รัสซัลเฟตเป็นตัวช่วยทำให้สีติดทนจะได้ สีดำ
ดอก มีกลิ่นหอมคล้ายผิวมะนาว ใช้เข้าเครื่องยา เป็นยาเย็นและยาระบาย
ยางจากผล รสเปรี้ยวฝาดขม หยอดตาแก้อักเสบ กินช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ
เมล็ด ชงน้ำร้อนกินแก้ไข้ โรคเกี่ยวกับน้ำดี คลื่นไส้ อาเจียน หืด หลอดลมอักเสบ และใช้ล้างตา แก้โรคตาต่างๆ เมล็ดเผาเป็นเถ้าผสมน้ำมันพืช ใช้ทาแก้หิดและแผลตุ่มคันต่างๆ น้ำมันบีบจากเมล็ดใช้ทาศีรษะ ทำให้ผมดกดำขึ้น ทาครั้งแรกๆ ผมเก่าจะหลุดร่วงไป แล้วผมใหม่จะงอกขึ้นมาดกขึ้น
การศึกษาวิจัยเพื่อนำมะขามป้อมไปใช้ประโยชน์
ต้านอนุมูลอิสระ : พบว่าสารจากมะขาม-ป้อมต้านอนุมูลอิสระได้ดีมาก แม้ว่ามะขามป้อมจะมีวิตามินซีสูงมากแต่ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมิได้เกิดจากวิตามินซีเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันพบว่าในมะขามป้อมมีสารพวกแทนนินซึ่งประกอบด้วย emblicanin A 37% emblicanin B 33% punigluconin 12% และ peduculagin 14%
ต้านแบคทีเรีย
ผลมะขามป้อม ทำให้เป็นกรดด้วยกรดเกลือ แล้วสกัดด้วยอีเทอร์ และแอลกอฮอล์ สารสกัดทั้งสองนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย แต่ไม่มีผลต่อเชื้อรา สารสกัดด้วยอีเทอร์มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียได้แรงกว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ในความเข้มข้นขนาด ๐.๑๒ มก. ต่อ มล. จะยับยั้งการเจริญของเชื้อ Staphylococcus aureus, Salmonella typhosa และ Salmonella paratyphi และในความเข้มข้นขนาด ๐.๔๒ มก. ต่อมล. สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Staphylococcus albus,Salmonellaschottmulleri และ Shigella dysenteriae
น้ำสกัดจากเปลือกต้น มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อ Staphylococcus aureus, Streptococcus strain B, Pseudomonas aeruginosa และ Escherichia coli
ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
สารสกัดจากผลมะขามป้อมยังมีฤทธิ์ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน โดยทดลองให้หนูใหญ่ที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย (โดยการฉีด isoproterenol เข้าใต้ผิวหนัง ขนาด ๘๕ มก.ต่อน้ำหนักตัว ๑ กก. ติดต่อกัน ๒ วัน) และกินสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากผล ในขนาด ๑ กรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กก. ติดต่อกัน ๒ วัน ตรวจดูผลหลังจากฉีด isoproterenol เข็มแรกแล้ว ๔๘ ชั่วโมง หนูใหญ่กลุ่มที่ฉีด isoproterenol อย่างเดียว มี cardiac glycogen ลดลง และระดับของ SUOT, SGPT และ LDH เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ส่วนกลุ่มที่ฉีด isoproterenol และให้กินสารสกัดจากผลจะมีระดับของ cardiac glycogen เพิ่มขึ้น ระดับของเอนไซม์ SGOT, SGPT และ LDH ลดลงอย่างเด่นชัด
นอกจากนี้ ยังมีการทดลองพบว่าสารสกัดของมะขามป้อมมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือดทั้งในสัตว์ทดลองและคน มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีฤทธิ์ต้านไวรัส มีฤทธิ์ลดการอักเสบ มีฤทธิ์ เพิ่มภูมิคุ้มกัน
มะขามป้อมแช่อิ่ม
อุปกรณ์
มะขามป้อมสดและลูกสวยๆ ๑ กิโลกรัม
เกลือป่น ๑ ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย ๔ ช้อนโต๊ะ
น้ำปูนใส
วิธีทำ
ล้างมะขามป้อมให้สะอาด ใช้มีดคมฝานตามยาวของลูกให้ทั่ว ไม่ต้องให้ถึงเมล็ด
นำเกลือป่นใส่หม้อ ใส่น้ำพอประมาณ ยกขึ้นตั้งไฟให้น้ำเดือด พอน้ำเดือดยกลงทิ้งไว้ให้เย็น นำมะขามป้อมแช่น้ำเกลือไว้ ๑ คืน
รุ่งเช้านำมะขามป้อมล้างน้ำเปล่าให้สะอาด แล้วแช่ในน้ำปูนใส ประมาณ ๓ ชั่วโมง
น้ำปูนใส ได้จากการแช่ปูนแดง แล้วทิ้งไว้ให้ปูนนอนก้น ตักเอาแต่น้ำใสๆ มาแช่มะขามป้อม
เมื่อแช่มะขามป้อมครบกำหนดแล้ว นำมาล้างน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง แล้วใส่กระชอนให้สะเด็ดน้ำ ต้มน้ำตาลทรายและใส่น้ำ ต้มให้น้ำเดือด กรองให้สะอาด ทิ้งไว้ให้เย็น
จากนั้นนำมะขามป้อมที่ล้างน้ำและสะเด็ดน้ำแล้ว แช่ในน้ำเชื่อม ปิดฝาทิ้งไว้ ๑ คืน
วันที่สอง นำมะขามป้อมขึ้นจากน้ำเชื่อม เติมน้ำตาลลงในน้ำเชื่อมอีก ต้มให้น้ำตาลละลายดี พอน้ำเชื่อมเย็น นำมะขามป้อมแช่อีก ทำเช่นนี้ ๒ ครั้ง จนครบ
วันที่ห้า นำมะขามป้อมออก เอาแต่น้ำเชื่อมต้มให้เดือด ทิ้งไว้ให้เย็น แช่มะขามป้อมใส่น้ำเชื่อมอีก จนกระทั่งน้ำเชื่อมซึมเข้าเนื้อมะขามป้อมจนเห็นเนื้อใส นั่นแหละกินได้แล้ว
มะขามป้อม
สรรพคุณตามตำรับยาไทย
แก้หวัด
ผลมะขามป้อมมีสรรพ-คุณแก้หวัด แก้ไอได้ดี เป็นที่รู้กันในทุกประเทศที่มีมะขามป้อม จนปัจจุบันมีสิทธิบัตรจดในประเทศสหรัฐอเมริกาของตำรับยาที่มีส่วนผสมของ มะขามป้อมอยู่ระบุสรรพคุณในการแก้หวัด แก้ไข้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากวิตามินซีหรือสาร ในกลุ่มแทนนิน
อาการเป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ปากคอแห้ง ให้ใช้ผลสด ๑๕-๓๐ ผล คั้นเอาน้ำ มาจากผล หรือต้มทั้งผลแล้วดื่ม แทนน้ำเป็นครั้งคราว
ไข้จากเปลี่ยนอากาศ
ใช้มะขามป้อมสดตำคั้นน้ำดื่ม จะช่วยลดไข้ได้ ดื่มวันละ ๓-๔ ครั้ง ครั้งละ ๑-๒ ช้อนชา น้ำคั้นมะขามป้อมเป็นยาเย็นช่วยลดความ ร้อน และระบายความร้อนออกจากร่างกาย โดยช่วยขับปัสสาวะและระบายท้อง
ไอ เจ็บคอ เสมหะติดคอ
ตามตำรายาไทยเชื่อว่าของที่มีรสเปรี้ยวทุกชนิดช่วยละลายเสมหะ และหมอยา พื้นบ้านเชื่อว่ารสเปรี้ยวที่ละลายเสมหะและบำรุงเสียงได้ดีที่สุดคือมะขามป้อม ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าในมะขามป้อมมีสารที่ละลายน้ำได้มีฤทธิ์ละลายเสมหะ และที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีการพัฒนายาแก้ไอมะขามป้อมขึ้นทะเบียนยาเป็นยาแผนโบราณ เป็นที่นิยมของทั้งผู้ใช้ยาและแพทย์ โดยตำรับยาทำได้ง่ายๆ เพียงแต่ นำมะขามป้อมแห้งมาต้มแล้วแต่งรส
มะขามป้อมที่จะนำมากินแก้ไอ เจ็บคอ ควรเลือกลูกที่แก่จัดจนผิวออกเหลือง
เมื่อมีอาการเป็นหวัด ไอ ให้นำมะขามป้อมสดมาเคี้ยวอมกับเกลือทุกครั้งที่มีการไอ
ถ้าไม่ไอแต่ยังมีไข้อยู่ก็ควรอมมะขามป้อมเพื่อให้ชุ่มคอและขับเสมหะ เป็นการป้องกันการไอได้ด้วย
ละลายเสมหะ แก้การกระหายน้ำ ใช้ผลแก่จัด มีรสขม อมเปรี้ยว อมฝาด เมื่อกินแล้วจะรู้สึกชุ่มคอ ใช้สำหรับช่วยละลายเสมหะ กระตุ้นให้เกิดน้ำลาย จึงช่วยแก้การกระหายน้ำได้ดี หรือใช้ผลแห้งประมาณ ๖-๑๐ กรัม ถ้าใช้ผลสดประมาณ ๑๐ กรัม ต้มกับน้ำดื่ม หรือคั้นเอาน้ำสำหรับดื่ม
ขับเสมหะ หรือช่วยระบายของเสีย ให้ใช้ผลสด ๕-๑๕ ผล ต้มหรือคั้นน้ำมาดื่ม
บำรุงเสียง
มะขามป้อมสดสามารถช่วยบำรุงเสียงได้ เพราะเวลาอม มะขามป้อมจะทำให้ชุ่มคอ คอไม่แห้ง เสียงจะสดใส นักร้องสมัยก่อนมักจะเฉือนลูกมะขามป้อมชิ้นหนึ่งมาอมไว้จนร้องเสร็จเพื่อป้องกันไม่ให้เสียงแห้ง
บำรุงผม
ผลแห้งของมะขามป้อมมีสรรพคุณ เป็นสารชะล้างอ่อนๆ คนอินเดียนิยมนำมา ใช้ทำเป็นแชมพูสระผม คนอินเดียเชื่อว่ามะขามป้อมบำรุงผม ช่วยทำให้ผมดกดำและป้องกันผมหงอกก่อนวัย ป้องกันผมร่วง
ในอินเดียมีการนำมะขามป้อมมาทำเป็นน้ำมันบำรุงให้ผมดกดำ ป้องกันการหงอกก่อนวัย
นำลูกมะขามป้อมมาฝานเป็นแว่นเล็กๆ ตากให้แห้งในที่ร่ม นำมาทอดในน้ำมันมะพร้าว ทอดจนเนื้อมะขามป้อมไหม้เกรียม แล้วกรองเก็บไว้ทาผมเป็นประจำ ยาน้ำมันนี้ ถ้าได้ เนื้อลูกสมอไทยและดอกชบาแดง ใส่ลงไปทอดด้วย จะทำให้น้ำมันมีสรรพคุณดียิ่งขึ้น ซึ่งตำรับนี้โรงพยาบาลเจ้าพระยา- อภัยภูเบศรได้พัฒนามาเป็นน้ำมันหมักผมมะขามป้อม สมอไทย และได้ใส่ดอกอัญชันลงไปแทนดอกชบา ซึ่งได้รับความนิยมสูงมาก วิธีทำก็ง่ายๆ ตามที่เขียนไว้ในสูตร
น้ำแช่ลูกมะขามป้อมแห้งสามารถบำรุงผมได้ ขั้นตอนก็คือ นำลูกมะขามป้อมแห้ง ๑ กำมือ แช่ในน้ำ ๑ ขัน แช่ไว้ตลอดคืน เมื่อเวลาสระผมเสร็จแล้ว ให้เอาน้ำแช่มะขามป้อมนี้ล้างเป็นน้ำสุดท้าย
มีการศึกษาพบว่าสารในมะขามป้อมช่วยกระตุ้นการงอกของผม และมีการจดสิทธิบัตรส่วนผสมที่มีมะขามป้อมที่ใช้กับเส้นผม
บำรุงร่างกายให้แข็งแรง
มะขามป้อมมีรสเปรี้ยว ฝาด ขม เช่นเดียวกับสมอไทย จึงสามารถ แก้โรคต่างๆ ได้มากเช่นเดียวกับสมอไทย
ตำรายาอินเดียยกย่องมะ ขามป้อมไว้มากว่า เป็นผลไม้บำรุงร่างกายที่ดีมาก ตำราบางเล่มถึงกับกล่าวว่า ถ้าคนอินเดียไม่มองข้ามมะขามป้อม คือเอามะขามป้อมมากินเป็นประจำวันละ ๑ ลูก ทุกวัน เขาเชื่อว่าคนอินเดียจะมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงกว่านี้มากนัก ทั้งนี้เพราะมะขามป้อมบำรุงอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย คือ บำรุงผม สมอง ดวงตา คอ หลอดลม ปอด หัวใจ กระเพาะ ลำไส้ ตับ ไต ตับอ่อน ผิวหนัง แก้น้ำเหลืองเสีย ปรับประจำเดือนให้มาปกติ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง ช่วยลดความดันเลือดสูง ปัจจุบันมีการศึกษาพบประโยชน์มากมายของมะขามป้อมในการลดความดัน ลดน้ำตาลและลดไขมันในเลือด
การกินมะขามป้อมช่วยควบคุม โรคเบาหวานทางอายุรเวท พบว่าการ ดื่มน้ำมะขามป้อมคั้นสด ๑ ช้อนโต๊ะ (๑๕ ซีซี) กับน้ำมะระขี้นกคั้นสด ๑ ถ้วย ทุกวันเป็นเวลาสองเดือนสามารถกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินและลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้ การกินยาตำรับนี้ต้องมีการควบคุม อาหารอย่างเข้มงวด และยาตำรับนี้ยังลดอาการแทรกซ้อนทางตาจากโรคเบาหวาน
ลักปิดลักเปิด
มะขามป้อมมีวิตามินซีสูงมาก และเป็นวิตามินซีธรรมชาติ ที่มีสรรพคุณดีกว่าวิตามินซีสังเคราะห์
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ทด-ลองให้คนกินยาเม็ดวิตามินซีกับกินมะขามป้อมเปรียบเทียบกัน
พบว่า วิตามินซีจากมะขามป้อมถูกดูดซึมเร็วกว่าวิตามินซีเม็ด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในมะขามป้อมมีสารอื่นๆ ที่ช่วยพาวิตามินซีเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว
มะขามป้อมที่ผ่านการต้ม หรือตากแห้ง ทำให้วิตา-มินซีลดลง แต่ก็ยังเพียงพอที่จะใช้รักษาโรคลักปิดลักเปิดได้ ถ้าเก็บไว้ไม่เกิน ๑ ปี
กระหายน้ำ
มะขามป้อมสดๆ เมื่อรู้สึกคอแห้ง กระหายน้ำจัด ถ้าดื่มน้ำมากกะทันหันจะทำ ให้จุกเสียดไม่สบายได้ ถ้าได้อมมะขามป้อมก่อน อาการกระหายน้ำและคอแห้งอย่างแรงจะรู้สึกดีขึ้นทันที ไม่ทำให้ ดื่มน้ำมากไป เหมาะแก่การเดินทางไกล วิ่งมาราธอน
เวลาอมก็ใช้ฟันกัดลูกมะขามป้อมให้พอมีน้ำซึมออก มา แล้วดูดลงคอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด
ท้องผูก
คนที่ท้องผูกประจำ ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ถ้าได้กินมะขามป้อมแล้วอาการท้องผูกจะหายไป
เนื่องจากมะขามป้อมมีรสฝาด จะทำให้กินยากไปสักหน่อย ควรปรุงรสให้อร่อย ด้วยการนำมะขามป้อมมาผ่าแคะเม็ดออก (กินแต่เนื้อ) ประมาณ ๑๐ ลูก ใส่พริก เกลือ น้ำตาล ตำพอแหลก กินต่างผลไม้ แต่ควรกินก่อนนอนหรือตอนตื่นนอนใหม่ๆ ในขณะที่ท้องว่าง
วิธีลดความฝาดของมะขามป้อม ก็คือแช่น้ำเกลือ มีขั้นตอนดังนี้
ล้างมะขามป้อมให้สะอาด ลวกด้วยน้ำร้อน และนำไปแช่ในน้ำเกลือที่เค็มจัด แช่ไว้สัก ๒ วัน รสฝาดก็จะลดลง ยิ่งแช่นานรสฝาดก็ยิ่งหมดไป
ไข้ทับระดู
นำมะขามป้อมแห้งจำนวนเท่ากับอายุของผู้ป่วย ลูกสมอไทยแห้งจำนวนเท่า กับอายุของผู้ป่วย ใบมะกาแห้ง ๑ กำมือ เกลือนิดหน่อย ใส่น้ำท่วมยา ต้มให้เดือดนาน ๑๕ นาที ในวันแรกที่กินให้กินเว้นระยะห่างทุก ๔-๖ ชั่วโมง ครั้งละ ๑ แก้ว วัน ต่อมาให้กินวันละ ๒ ครั้งครั้งละ ๑ แก้ว เช้า-เย็น กิน ๓ วันหาย หลังจากกินยาไปแล้ว ๑๒ ชั่วโมงอาการจะดีขึ้น คืออาการปวดหัวเมื่อยตัว ปวดท้อง ทุเลาลง
คันจากเชื้อรา
ใช้รากมะขามป้อมสับเป็นชิ้นเล็กๆ พอประมาณ ต้มให้เดือดนาน ๑๕ นาที นำมาทาบริเวณที่มีเชื้อรา วันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น
หลังจากทาแล้วประ-มาณ ๒-๓ ชั่วโมงอาการคันจะค่อยๆ ลดลง และจะค่อยๆ หายไปภายใน ๑ สัปดาห์
น้ำกัดเท้า-ฮังกล้า
น้ำกัดเท้า หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า “ฮังกล้า” เกิดจากการถอน ต้นกล้าแล้วเอารากกล้าฟาดตีกับข้อเท้าให้ดินโคลนหลุดออกจากรากกล้า ต่อมาเท้าเกิดโรคตุ่มคันขึ้น จะมีอาการคันมาก ยิ่งเกาก็ยิ่งแตกทั่วรอบข้อเท้า ภาคอีสานเป็นกันมาก บางคนก็เรียกว่า “เกลียดน้ำ” ให้ใช้เปลือก ต้นมะขามป้อมตำให้ละเอียด ผสมน้ำพอเปียกชะโลมให้ทั่ว รักษาได้
ถ้าเกามากจนหนังถลอก น้ำเหลืองไหล ปวดแสบปวดร้อน คือโรคเป็นหนักแล้ว ให้เอาลูกมะขามป้อมแก่ๆ สดๆ มาใส่ในโพรงเหล็กผาลไถนา ใส่น้ำให้เต็มโพรงเหล็กผาลนั้น ตั้งไฟจนมะข้ามป้อมเละ และมีสีดำเหนียว เมื่อเอามาทาแล้วยาจะแห้งเข้าจนดำหมดทั้งหลังเท้าที่แตกเป็นน้ำเหลืองไหล แผลนั้นจะค่อยๆ หายไปจนเป็นปกติ
นอกจากนี้แล้วก่อนลงนาหรือหลังจากขึ้นมาจากนา ชาวนาสมัยก่อนนิยมนำเปลือกต้นมะขามป้อมมาแช่เท้าเพื่อฆ่าเชื้อโรคและความฝาดของเปลือกมะขามป้อมยังช่วยตะกอนโปรตีนทำให้ผิวหนังของเท้าและข้อเท้าหนาขึ้น ทนทานต่อการเกิดน้ำกัดเท้ามากยิ่งขึ้น
บิด
ถ่ายเป็นบิด ใช้เปลือกต้นมะขามป้อม ต้มใส่ข้าวเปลือกเจ้าดื่มต่างน้ำ
ตำราอินเดียบอกว่า ลูกมะขามป้อมใช้แก้ท้องเสียและบิดได้ดี ด้วย การนำมะขามป้อมสด ๑ กำมือ ต้มกับน้ำ ๓-๔ แก้ว ต้มให้เดือดนาน ๑๐-๒๐ นาที ดื่มครั้งละ ๑ แก้ว ทุกครั้งที่ถ่าย หรือดื่มทุก ๒-๔ ชั่วโมง
ใบมะขามป้อมมีสรรพคุณแก้บิดและท้องเสียได้เช่นกัน นำใบตำให้ละเอียด ดื่มครั้งละ ๑ ช้อนชา ทุก ๒-๔ ชั่วโมง
ถ้าจะให้ดื่มง่ายควรผสมน้ำผึ้งเพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม
ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย
นำลูกมะขามป้อมแห้ง ๓-๕ ลูก แช่ในน้ำ ๑ แก้ว ตลอดคืน ตื่นเช้าดื่มทั้งน้ำและกินเนื้อทุกวันจนกว่าอาการจะหาย
มะขามป้อมยังแก้กระเพาะอาหารอักเสบและโรคกระเพาะอาหาร มีกรดมากเกินไปได้ด้วย
ถ้าจะใช้แก้กระเพาะอาหารอักเสบ ให้กินผงลูกมะขามป้อมวันละ ๔ ครั้ง ครั้งละ ๑-๒ ช้อนชา ก่อนอาหารและก่อนนอน
หลอดลมอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ใช้รากแห้ง ๑๕-๓๐ กรัมต้มกับน้ำ ดื่มแทนน้ำอย่างน้อยวันละ ๓-๔ ครั้ง
แก้น้ำเหลืองเสีย
คนที่มีน้ำเหลืองเสีย คือคน ที่เป็นแผลแล้วหายช้า แผลมีน้ำเหลืองไหลมาก หรือผิวหนังถูกอะไร นิดหน่อยก็คันแล้ว หรืออยู่ดีๆ คันทั่วตัว
ในคนที่มีน้ำเหลืองเสียควรกิน มะข้ามป้อม ๑ ลูก หลังอาหารเป็นประจำทุกวัน
แก้ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นคัน
ใช้ใบสด ปริมาณพอเหมาะ ต้มกับน้ำปริมาณหนึ่งเท่าตัว ใช้อาบหรือ ชะล้างส่วนที่เป็น ให้ทำบ่อยๆ อย่างต่อเนื่องก็จะช่วยให้ผิวหนังดีขึ้น
ขับพยาธิ
ใช้น้ำคั้นลูกมะขามป้อม ๑ ช้อนชา ผสมกับน้ำกะทิมะพร้าว ๑ ถ้วย ดื่มวันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกัน ๑ สัปดาห์ ขับพยาธิตัวตืด และพยาธิปากขอ
หิด ผื่นคัน
นำเมล็ดในลูกมะขามป้อม มาเผาจนเป็นถ่าน บดให้ละเอียด ผสมด้วยน้ำมันพืช พอให้ยาเหลว ข้น ทาวันละ ๒-๓ ครั้ง น้ำมันนี้ใช้ทาดับพิษน้ำร้อนลวก และใช้รักษาแผลได้ด้วย
แก้ปวดฟัน
แก้ปวดฟัน ใช้ปมกิ่งก้านต้มกับน้ำ ใช้อมและบ้วนปาก บ่อยๆ จะบรรเทาอาการปวดฟัน
มะขามป้อมแปรรูป
ปัจจุบันในต่างประเทศมีผลิตภัณฑ์มะขามป้อมมากมายจำหน่ายในรูปของชา อาหารสุขภาพ เครื่องสำอาง ซึ่งเป็นตำรับบำรุงสุขภาพ ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ เพิ่มภูมิคุ้มกัน และต่อสู้กับการหลุดร่วงของเส้นผม ลบรอยจุดด่างดำ ซึ่งในประเทศไทยโรง-พยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะขามป้อม โดยพัฒนาเป็นยาแก้ไอ น้ำมันหมักผมมะขามป้อมสมอไทยเพื่อบำรุงผม น้ำมะขามป้อมเพื่อบำรุงสุขภาพและอยู่ระหว่างการทำเป็นครีมลบรอยด่างดำบนใบหน้า ซึ่งตำรับต่างๆ สามารถทำได้ง่ายๆ
๑. ยาแก้ไอมะขามป้อม
(มะขามป้อมมีสารที่มีฤทธิ์แก้ไอ ละลายเสมหะ ควรรักษาต้นเหตุของการไอควบคู่ไปด้วย)
มะขามป้อมแห้ง(มีขายตาม ท้องตลาดทั่วไปเลือกที่สะอาดๆ) ๑๐ ลูก
น้ำเปล่า ๑ ลิตร
วิธีทำ
ต้มให้เดือด กรองเอาแต่น้ำ (ท่านจะแช่มะขามป้อมทิ้งค้างคืนไว้เพื่อทำให้ต้มได้ง่ายขึ้น)
เติมน้ำผึ้ง เกลือ ตามใจชอบ ใช้จิบกินแก้ไอ นอกจากนี้ท่านอาจ เพิ่มชะเอม สัก ๑ ก้านเพื่อช่วยแต่ง รสหวาน หรืออาจเติมเมนทอลสัก ๒-๓ เกล็ด เพื่อความเย็นชุ่มคอ
๒. น้ำมะขามป้อม
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพร มีวิตามินซีสูง ช่วยให้ชุ่มคอ ใช้ดื่มแทนน้ำตามต้องการ
๑. มะขามป้อมแห้ง ๕ กิโลกรัม
๒. น้ำตาลทราย ๑๐ กิโลกรัม
๓. น้ำสะอาด ๕๐ กิโลกรัม
๔. เกลือ
วิธีทำ
ตั้งน้ำ ๕๐ ลิตร ให้เดือด ใส่ผลมะขามป้อมแห้งเคี่ยว ๒๐ นาที ใส่เกลือและน้ำตาล กรองด้วยผ้าขาวบาง
๓. น้ำมันหมักผมมะขามป้อม-สมอไทย
มะขามป้อมแห้ง ๑ กำมือ
สมอไทยแห้ง ๑ กำมือ
ดอกอัญชันแห้ง ๑ หยิบมือ
วิธีทำ
นำมะขามป้อมแห้งและสมอไทยแห้งเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ด้วยไฟอ่อนๆ จนเกรียม เติมดอกอัญชันลงไปเมื่อใกล้ได้ที่ กรองเก็บเอาน้ำมันไว้ชโลมผมก่อนสระล้างด้วยวิธีปกติ ผมจะดกดำนุ่มสลวย
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
๑. A Bulletin from TIFAC, Intellectual Property Rights (IPR); Vol 7 No.5 May, 2001.
๒. สุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล,. มะขามป้อม ผลไม้ที่ดีที่สุด. ข่าวสารสมุนไพร ฉบับที่ 39 ประจำเดือน กันยายน-พฤศจิกายน ๒๕๓๒
๓. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน (3). กรุงเทพมหานคร :
เข้าถึงข้อมูลออนไลน์เพิ่มเติมได้ที่ หมอชาวบ้านhttps://www.doctor.or.th/article/detail/1901
ชมรมผักพื้นบ้าน