สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์มีมากกว่าหนึ่ง
สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์มีมากกว่าหนึ่ง
ภาพนี้ผมนำมาให้เห็นว่า ในระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ การที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงดีนั้น พวกมันไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง ไม่ใช่แค่สาร AEA หรือ 2-AG ยังมี PEA และ OEA
นอกจากนี้ตัวรับก็ไม่มีแค่ CB1 และ CB2 ยังมี GPR 55 , GPR 119 , TPRV 1 และ PPAR ด้วย
การจับของสารเหล่านี้ กับ ตัวรับแต่ละชนิด มีผลทำให้ทั้งโรคที่เจ็บป่วยดีขึ้น และ อาการของโรคแย่ลง เพราะพวกมันสามารถจับได้หมดแทบทุกตัวรับ
สารสกัดจากกัญชา หรือ กัญชง เวลาเข้าสู่ร่างกายก็เช่นกัน สารเหล่านี้ก็จะกระจายไปจับกับแทบจะทุกตัวรับเช่นกัน แต่จะมากน้อยแตกต่างกันไป ตามความชอบจับในตัวรับแต่ละตัว
ถ้าเราไม่รู้ว่า อาการหรือโรคนั้น เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติแบบไหนของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ อาจเกิดได้จากสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายผลิตขึ้น หรือ อาจเกิดจากตัวรับ และแม้แต่เอนไซม์ที่คอยจ้องจะทำลายสารเหล่านี้ด้วย
โรคบางอย่างเกิดจากระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ทำงานมากเกินไป และโรคบางอย่างเกิดจากระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ทำงานน้อยเกินไป
เช่น ถ้าคุณมีโรคหัวใจ ซึ่งในภาวะแบบนี้ การทำงานของตัวรับ CB1 จะมากขึ้น เพราะตัวรับ CB1 มีมากที่หัวใจและเส้นเลือดด้วย ถ้าคุณเติมสาร THC เพียวๆเข้าไป สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ อาการของโรคหัวใจคุณจะแย่ลง
ฉะนั้น ถ้าต้องใช้คุณต้องเลี่ยงไปที่สารอื่นๆในกัญชาหรือกัญชง หรืออย่างน้อย ให้สัดส่วนของสารเท่าๆกัน เป็นต้น
นี่คือ สิ่งที่เรามีความจำเป็นต้องรู้เบื้องต้น เพราะเราจะได้ดูแลตัวเองได้ เวลาใช้ หรือ ในอนาคตถ้าสกัดเองได้แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เราก็จะได้รู้ว่า ถ้าเป็นโรคหัวใจ ก็จะไม่ไปเลือกแบบ THC เด่นๆมาใช้ นั่นเอง
ตราบใดที่เราอยากใช้สารสกัดจากกัญชา กัญชง เราก็ไม่มีทางปฏิเสธการเรียนรู้เรื่องการทำงานของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ได้เลย
More Science Less Marketing
ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี
อ้างอิงบางส่วนจาก
Endocannabinoid biosynthesis and inactivation, from simple to complex Drug Discov Today 2010 ; 15 : 474-483.
Biochemistry and pharmacology of the endocannabinoids arachidonylethanolamide and 2-arachidonylglycerol Prostaglandins Other Lipid Mediat 2000 ; 61 : 3-18.
The orphan receptor GPR55 is a novel cannabinoid receptor Br J Pharmacol 2007 ; 152 : 1092-1101.
The endogenous cannabinoid system affects energy balance via central orexigenic drive and peripheral lipogenesis J Clin Invest 2003 ; 112 : 423-431.