การดูเเลผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้ายเเบบประคับประคองในทางการเเพทย์แผนไทย
การดูเเลผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้ายเเบบประคับประคองในทางการเเพทย์แผนไทย
การดูแลและรักษาผู้ป่วยตามหลักการแพทย์แผนไทยจะเป็นการดูแลแบบองค์รวมคือ การดูแลร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กันค่ะ เพราะแพทย์แผนไทยจะยึดหลัก “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หากผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่(ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ)ก็จะทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่ทรุดลงไปด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เพิ่งตรวจพบหรือเพิ่งรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งในระยะแรกๆ บางรายอาจเกิดความรู้สึกสับสน กังวล กลัว เครียด และซึมเศร้าเป็นต้นค่ะ
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะสุดท้ายตามหลักการแพทย์แผนไทยในบทความนี้ จะเป็นการดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเจ็บปวด และแก้ปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากโรคมะเร็งตับ โดยยึดหลัก “ธรรมานามัย” อันได้แก่ กายานามัย จิตตานามัย และชีวิตานามัยค่ะ
“กายานามัย” คือ การดูแลด้วยยา(ยาสมุนไพร) จัดหาอาหารที่เหมาะสมให้ผู้ป่วย การออกกำลังกาย และการเคลื่อนไหวต่างๆ
“จิตตานามัย” คือการดูแลจิตใจและความรู้สึกของผู้ป่วย
“ชีวิตานามัย” คือ การให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด สงบ ร่มรื่น ตามความเหมาะสม
โรคมะเร็งในทางการแพทย์แผนไทยนั้น ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยกล่าวถึงคำว่าโรคมะเร็งไว้หลายแง่มุม อาจไม่ได้มีการให้คำจำกัดความที่แน่ชัด แต่โดยสรุปแล้ว “มะเร็ง” ในทางการแพทย์แผนไทยคือ กลุ่มร้ายแรงที่เรื้อรังและรักษายาก เช่น โรคฝี ฝีมะเร็ง ฝีกาฬ ฝีที่มีลักษณะเนื้อร้าย เป็นก้อน มีการติดเชื้อ เน่าเปื่อย ลุกลาม ยากแก่การรักษาค่ะ ส่วนมะเร็งตับหมายถึง ลักษณะของตับพิการ เช่น ฝีในตับ ฝีรวงผึ้ง กษัยลิ้นกระบือ สันนิบาตกะตัดศีรษะด้วนเป็นต้น โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากอุบัติเหตุ ถูกทำร้ายจนอวัยวะชอกช้ำ ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้ติดเชื้อจากภายนอก (ไวรัสตับ อาหารดิบ ของบูดเน่า พฤติกรรมก่อโรค หรืออุปปาติกะโรคเกิดจากตัวมันเอง เป็นโบราณโรคโบราณกรรม ที่ปล่อยเรื้อรังไว้ไม่ได้รับการรักษาทำให้ระบบธาตุผิดปกติกำเริบ หย่อน และพิการ จนร่างกายเสียสมดุลและกลายเป็นฝีมะเร็ง กษัย ริดสีดวง สันนิบาต มหาสันนิบาต และกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุดค่ะ โดยสรุปคือมะเร็งตับ เกิดจากธาตุไฟ(ปิตตะ) มีมากหรือสะสมเป็นเวลานานจนไปกระทบกับธาตุอื่นๆ จนเสียสมดุล เกิดความผิดปกติ จนทำให้ธาตุดิน(ปฏวีธาตุ=อวัยวะ) โตและกลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งค่ะ
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับในทางการแพทย์แผนไทยจะใช้ยาสมุนไพรช่วย ซึ่งสมุนไพรที่ใช้จะเป็นสมุนไพรกลุ่มที่ช่วยลด ระบาย หรือกระจายปิตตะ(ธาตุไฟ) และบำรุงร่างกาย เช่น ยาระบายพิษร้อนหรือยาพอก ยาฟอกน้ำเหลือง ยาบำรุง ยาปรับธาตุ เป็นต้น ยกตัวอย่างได้แก่ ยาเบญจอำมฤตย์ ยาตำรับกล่อมนางนอน ยาบัวบก ยาห้าราก(จันทน์ลีลา) ยาเขียวหอม ยาหอมนวโกฐ ยาหอมเทพจิต ยาอายุวัฒนะ ยาหอมจิตรารมย์ ตรีผลา ยาผสมเถาวัลย์เปรียง ยาหญ้าปักกิ่ง เป็นต้น ซึ่งการใช้ควรปรึกษาแพทย์แผนไทยก่อนค่ะ
นอกจากสมุนไพรแล้วเรายังสามารถใช้การนวดในการช่วยบำบัดได้ด้วยค่ะ แต่มีข้อห้ามคือ “ห้ามนวดบริเวณที่เป็นมะเร็ง” และใช้การนวดที่นุ่มนวล รวมถึงยังสามารถประคบร้อน พอกยาสมุนไพร และแช่สมุนไพรได้ด้วยค่ะ ซึ่งจะเป็นการบรรเทาอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย บรรเทาอาการปวด ปวดท้อง จุกเสียดแน่น ทำให้ผ่อนคลาย แต่ต้องทำด้วยแพทย์แผนไทยหรือผู้ที่มีความรู้ความเชียวชาญเท่านั้นนะคะ เพราะแพทย์จะต้องทำการวิเคราะห์ผู้ป่วยแต่ละรายก่อนการทำหัตถการค่ะ
การดูแลผู้ป่วยด้วยการประคบสมุนไพร เพื่อบรรเทาอาการข้างเคียง เช่น ปวดเมื่อย ไม่สบายตัว มือเย็น-เท้าเย็น ขาบวม ตัวร้อนหรือเย็นตามร่างกาย โดยการใช้สมุนไพรสดได้แก่ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ตะไคร้ ผิวมะกรูด ซึ่งจะมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยในการออกฤทธิ์ค่ะ (ห้ามประคบบริเวณที่เป็นมะเร็ง)
การดูแลผู้ป่วยด้วยการพอกยา เพื่อลดหรือระบายปิตตะ(ธาตุไฟ) ดูดพิษร้อน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.การพอกตับ คือ การพอกยาบริเวณใต้ชายโครงด้านขวาตำแหน่งของตับจะช่วยลดความร้อนของผิวหนังบริเวณตับลงได้ โดยการใช้สำลีชุบน้ำยาแล้วนำไปพอกบริเวณที่มีความร้อนสะสมได้แก่ ตำแหน่งของตับ และกระเพาะอาหารเป็นต้น เช่น
-สูตรที่ 1 น้ำใบย่านางคั้นสด 100 มิลลิลิตร เหมาะกับผู้ป่วยที่ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา แต่ไม่มีความร้อนร่วมด้วย
-สูตรที่ 2 ใช้ผงยาห้าราก 15-30 กรัม ละลายในน้ำใบย่านางคั้นสด 100 มิลลิลิตร เหมาะกับผู้ป่วยที่ปวดท้องบริเวณชายโครงขวาและมีความร้อนร่วมด้วย
-สูตรที่ 3 ใช้ยาเย็น 3 อย่าง คือ รางจืด ใบเตย และใบย่านาง จากนั้นคั้นและนำน้ำสมุนไพรแต่ละชนิด อย่างละ 150 มิลลิลิตร ผสมกับแป้งข้าวเหนียว 100 กรัม ร่วมกับน้ำมันงา 15 มิลลิลิตร แล้วนำไปพอกบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา(ใช้ผ้ากอซรองก่อน) แล้วทิ้งไว้ 15-20 นาทีค่ะ สูตรนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา และมีความร้อนร่วมด้วยตลอดเวลา(มีอาการปวดรุนแรง)
***การพอกให้พอกวันละ1-2 ครั้ง รวมทั้งอาจมีการปรับเปลี่ยนตามดุลพินิจของแพทย์แผนไทย***
2.การพอกท้อง คือ การพอกยาสมุนไพรบริเวณหน้าท้อง เพื่อช่วยลดอาการท้องมาน อาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง จุกเสียด เรอ เป็นต้น สูตรยาพอก ได้แก่ ผักเสี้ยนผี เสลดพังพอนตัวเมีย ตำลึง ใบหมี่ อย่างละ 1 ส่วน ตำพอแหลกแล้วนำมาพอกที่ท้องทิ้งไว้ 45 นาที (ตามเวลาของปิตตะสมุฏฐาน)
***ข้อควรระวังในการพอกคือ ห้ามพอกบริเวณที่มีแผล***
การดูแลผู้ป่วยด้วยการแช่สมุนไพร เพื่อลดพิษที่ตับ ลดอาการข้างเคียงต่างๆ ช่วยให้ผ่อนคลาย แก้อาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย มือ-เท้าเย็นและคลายความกังวลค่ะ การแช่สมุนไพร มีทั้งแช่แบบเย็นและแบบร้อนค่ะ
การแช่เย็นจะใช้สมุนไพรรสเย็น เช่น ใบย่านางและใบรางจืด(10-15 ใบ =15 กรัม) ใบบัวบก(2-3 กำมือ=15 กรัม) ต้มกับน้ำสะอาด 1 ลิตร พอเดือดแล้วให้กรองด้วยผ้าขาวบาง แล้วนำมาผสมกับน้ำอุณหภูมิห้องในสัดส่วน 1:1 จากนั้นให้ผู้ป่วยแช่มือและเท้าลงไป ใช้เวลาประมาฯ 15-20 นาทีค่ะ
การแช่ร้อนจะเป็นการใช้สมุนไพรกลุ่มที่มีน้ำมันหอมระเหยได้แก่ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ตะไคร้ ผิวมะกรูด อย่างละ 1 ส่วนเท่าๆกัน หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมน้ำร้อน 2 ลิตร และน้ำอุณหภูมิห้อง 3 ลิตร (ให้อุ่นหรือไม่เกิด 40 องศา) แล้วให้ผู้ป่วยแช่มือและเท้าลงไป และแช่ทิ้งไว้ 15-20 นาที วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) สัปดาห์ละ 1-3 ครั้งค่ะ
การดูแลผู้ป่วยด้านอาหารและด้านจิตใจหมอขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้ค่ะ หากผู้อ่านท่านใดเกิดความสงสัยหรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถส่งข้อความเข้ามาพูดคุยกับหมอได้ค่ะ วิธีไหนที่พอจะทำเองได้ก็ลองนำไปปรับใช้ดูนะคะ แต่วิธีการที่มีข้อจำกัดบางอย่างควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทยเพื่อความปลอดภัยค่ะ
.
.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คู่มือการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้ายแบบประคับประคองด้วยการแพทย์แผนไทย ของกระทรวงสาธารณสุข