“ฐีติภูตํ จิตเดิมเป็นผู้หลุดพ้น”

 

เรื่อง “ฐีติภูตํ จิตเดิมเป็นผู้หลุดพ้น”

“ฐีติภูตํ จิตเดิมเป็นผู้หลุดพ้น”
(คติธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

ร่างกายของเรานี้ เป็นเรือนมูตรเรือนคูถเป็นอสุภะ พิจารณาร่างกายอันนี้ให้ชำนิชำนาญ เจริญให้มาก ทำให้มาก ให้มีสติหรือ พิจารณาในที่ทุกสถานในกาล ทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้ มีสติ รอบคอบในกายอยู่เสมอ จึงจะชื่อว่า ทำให้มาก แบ่งส่วนแยกส่วนออกเป็น
ธาตุดิน
ธาตุน้ำ
ธาตุไฟ
ธาตุลม
พิจารณาให้เห็นไปตามนั้น แต่อย่าละทิ้ง หลักเดิม ที่ตน ได้รู้ครั้งแรก ให้พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็น อนุโลม ปฏิโลม เข้าไปสงบในจิต แล้ว ถอยออกมาพิจารณากาย อย่าพิจารณากายอย่างเดียว หรือสงบที่จิตแต่อย่างเดียว พิจารณาอย่างนี้ชำนาญแล้ว ทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียว ญาณสัมปยุตต์ คือรู้เกิด จึงชื่อว่า ยถาภูตญาณทัสสนวิปัสสนาคือ ทั้งเห็นทั้งรู้ตามความเป็นจริง
ขั้นนี้เป็นเบื้องต้น ในอันที่จะดำเนินต่อไป ไม่ใช่ที่สุด สังขารความปรุงแต่ง อันเป็นความสมมุติว่า โน่นเป็นของของเรา โน่นเป็นเรา เป็นความไม่เที่ยง อาศัยอุปาทาน ความยึดถือ จึงเป็นทุกข์ อาการของจิต ของขันธ์ ๕ ได้แก่
รูป
เวทนา
สัญญา
สังขาร
วิญญาณ
ไปปรุงแต่งสำคัญมั่นหมาย ทุกภพทุกชาติ นับเป็นอเนกชาติเหลือประมาณ มาจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงอยู่ตาม สมมุติ ธรรมชาติทั้งหลาย มีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม เขาหากมีหากเป็นเกิดขึ้นเสื่อมไป มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว
ความข้อนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่า เราไม่ได้ฟังมาแต่ใคร มิได้เรียนมาแต่ใครเพราะ ของเหล่านี้มีอยู่มีมาแต่ก่อนพระองค์ดังนี้ สังขาร เป็นอาการของจิต เปรียบเหมือนพยับแดด ส่วนสัตว์เขาก็อยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา
ฐีติภูตํ จิตตั้งอยู่เดิม
ไม่มีอาการ เป็นผู้หลุดพ้น
#สพฺเพ_ธมฺมา_อนตฺตา
#ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน
พิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์ตามนี้ จนทำให้จิตรวมพึ่บลงไป เห็นจริงแจ้งชัดตามนั้น จิตรวมทวนกระแส แก้อนุสัยสมมุติเป็นวิมุตติ หรือรวมลงฐีติจิต อันเป็นอยู่มีอยู่อย่างนั้น จนแจ้งประจักษ์ในที่นั้นด้วย ญาณสัมปยุตต์ ว่า ขีณา ชาติ ญาณํ โหติ ดังนี้ ในที่นี้ไม่ใช่สมมุติ ไม่ใช่ของแต่งเอาเดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาได้ เป็นของที่เกิดเองเป็นเองรู้เอง โดยส่วนเดียวเท่านั้น
วิมุตติธรรม มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้ คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรม แต่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติ มัวเกียจคร้าน จนวันตายจะประสบวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

SHARE NOW
Exit mobile version