ทศชาติ
ทศชาติ
ทศชาติที่ ๑ พระเตมีย์ใบ้…
รายละเอียด : ครั้งเมื่อพระศาสดาเสด็จประทับ ณ เชตวันมหาวิหารนั้น
บรรดาพระภิกษุทั้งหลายที่มาประชุมสนทนาธรรมได้พากันกราบทูลอาราธนา
ให้พระพุทธองค์ทรงนำอดีตนิทานมาโปรดเป็นพระธรรมเทศนา
พระองค์จึงทรงตรัสเล่าถึงเมื่อปางก่อนที่ทรงเสวยพระชาติเป็น
พระเตมีย์กุมาร อันมีเรื่องราวเป็นมาดังนี้
เทพบุตรจุติจากดาวดึงส์
เมื่อสมัยอดีตกาลที่ลวงมาแล้ว องค์กษัตริย์แห่งเมืองพาราณสี
ผู้มีพระนามว่า “กาสิกราช” ทรงครองราชย์ด้วยทศพิธราชธรรมนานมา
หากทว่าพระองค์มิได้สุขสบายพระทัยเลย ด้วยว่าเกรงจะสูญสิ้นราชวงศ์
เพราะไร้ราชโอรส สืบราชสมบัติ ทั้ง ๆ ที่ทรงมีพระสนมถึงร่วม ๒ หมื่นคน
กระทั่งเหล่าไพรฟ้าประชาราษฎร์ก็ต่างพากันประหวั่นพรั่นใจว่า
ภายหน้าหากพระราชาไร้พระโอรสขึ้นเสวยราชสมบัติครองเมืองสืบต่อไปแล้ว
แผ่นดินคงจะวุ่นวายไร้หลักไร้มิ่งขวัญเป็นแน่แท้
พระนางจันทเทวี ผู้เป็นอัครมเหสีจึงทรงทำพิธีขอพระโอรสจากสรวงสวรรค์
โดยในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงสมาทานอุโบสถศีลตามปรกติแล้ว
ก็ตั้งสัตย์อธิษฐานของพระราชโอรส
จากแรงศีลแรงบุญที่พระนางได้เพียรปฏิบัติมา
แลด้วยอำนาจอัศจรรย์แห่งแรงอธิษฐานกอปรกับผลบุญแห่งศีลภาวนานั้นเอง
ที่เป็นเหตุให้อาสน์ของพระอินทร์บนสรวงสวรรค์เกิดร้อนรุ่มจนองค์อินทร์
มิอาจเสวยสุขตามปกติได้ พระอินทร์จึงทรงเพ่งดูจนทราบได้ด้วยทิพยเนตร
พระองค์จึงทรงขอให้เทพบุตรผู้มากบุญญาธิการองค์หนึ่งซึ่งกำลังจะจุติใน
สวรรค์ชั้นสูงต่อไป ให้ทรงเสด็จลงมาจุติในพระครรภ์ของพระนางจันทเทวี
เทพบุตรพระองค์นั้นก็ปรารถนาจะบำเพ็ญบารมีอยู่แล้วจึงทรงตกลง
เสด็จจากดาวดึงส์มาจุติในมนุษย์โลก
เมื่อครบกำหนด ๑๐ เดือนล่วงไป พระนางจันทเทวีก็ประสูติพระกุมารผู้มี
ผิวพรรณผุดผ่องงดงามดั่งทองคำ และในวันนั้นก็มีนิมิตอัศจรรย์คือ
มีการกำเนิดบุตรอีก ๕๐๐ คน พร้อมกันซึ่งพระราชาได้
ทรงพระราชทานของกำนัลพร้อมแม่นมให้บุตรของอำมาตย์ในพระราชวังด้วย
และในวันนั้นทั่วทั้งพระนครเกิดฝนโปรยปรายชุ่มฉ่ำเป็นที่น่าอัศจรรย์นัก
พระกุมารจึงได้พระนามว่า
“เตมีย์” อันหมายถึง เหตุแห่งความปรีดาแก่ผู้คนทั้งปวง
และพระกุมารก็เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของพระราชานัก
ถึงกับคัดเลือก ๖๔ แม่นมผู้ถวายน้ำนม
โดยมีคุณสมบัติพิเศษ ๑๐ ประการตามตำรา ดังนี้คือ
๑ ไม่ให้นางนั้นมีผิวขาวจัดเกินไปนัก ด้วยเกรงว่าน้ำนมจะมีรสเปรี้ยวเกินไป
๒ ไม่ให้นางนั้นมีผิวดำคล้ำนักด้วยว่าจะมีน้ำนมที่เย็นจัดเกินไป
๓ ให้มีรูปร่างสมสัดส่วนดีไม่ผอมแห้งบอบบางจนกระดูกจะทิ่มตำพระกุมารได้
๔ ให้มีรูปร่างไม่อ้วนเจ้าเนื้อเกินไป เพราะจะพลอยทำให้พระกุมารอ้วนตามไปด้วย
๕ ไม่ให้มีรูปร่างสู่งเกินไปนัก เพราะพระกุมารจะสูงจนคอยาวไปด้วย
๖ ไม่ให้มีรูปร่างเตี้ยต่ำนัก เพราะจะทำให้พระกุมารคอหดและเตี้ยต่ำไปด้วย
๗ ให้คัดสรรแต่นางที่มีน้ำนมรสหวานกลมกล่อมสมบูรณ์ที่สุดเท่านั้น
๘ ให้คัดสรรแม่นมที่มีเต้านมเปล่งปลั่งไม่หย่อนยาน เพื่อจะได้มีน้ำนมบริบูรณ์
๙ ไม่ให้นางนั้นมีโรคหืดหอบ อันจะส่งผลให้น้ำนมไม่พิสุทธิ์สมบูรณ์
๑๐ ไม่ให้นางนั้นป่วยเป็นโรคไอเรื้อรัง เพราะราชกุมารจะพลอยขี้โรคไปด้วย
และน้ำนมจะออกรสเผ็ดเกินไป
มิปรารถนาสืบสันติวงศ์
ด้วยความโปรดปรานเมตตาพระกุมารนัก พระเจ้ากาสิกราชทรงอุ้ม
พระเตมีย์กุมารไว้บนตักขณะทรงออกว่าราชการด้วยเสมอ
วันหนึ่งอำมารย์ได้จับตัวโจร ๔ คน ซึ่งทำผิดในการลักขโมยเข้ามาถวาย
และพระราชาได้ตรัสสั่งลงอาญาโจรทั้ง ๔
โดยให้เสียบด้วยหลาวทั้งเป็นแล้วนำไปเสียบประจานจนตาย
คนที่ ๒ ให้นำไปโบยด้วยหนามหวาย ๑ พันครั้งจนตาย
คนที่ ๓ ให้จองจำไว้กับขื่อคาโซ่ตรวนจนตาย
คนที่ ๔ ให้ฆ่าด้วยคมดาบคมหอก
พระเตมีย์กุมารได้ทรงฟังรับสั่งของพระราชบิดาก็ทรงให้สลดพระทัยนัก
ทรงรำลึกได้ถึงกาลก่อนที่เคยเสวยทุกขเวทนาในนรก
จึงทรงดำริว่าถ้าวันหน้าพระองค์ต้องเสวยราชสมบัติสืบต่อพระราชบิดา
ก็คงไม่พ้นต้องทำกรรมทำบาปปลิดชีวิตฝูงคนจนต้องไปเกิดใน
นรกภูมิอีกเป็นแน่แท้
ต่อมาเทพธิดาซึ่งสถิตอยู่ ณ เศวตฉัตร เห็นพระเตมีย์กุมาร
บรรทมไม่หลับด้วยพระทัยสลดหดหู่เช่นนั้น จึงได้แนะนำให้พระเตมีย์
แกล้งประพฤติองค์เป็นบนใบ้ คนหูหนวก และคนง่อย
มิให้ประพฤติแสดงออกไปว่าเป็นปราชญ์อัจฉริยะ เพื่อให้เลี่ยงพ้นได้
จากการครองบัลลังก์ ซึ่งเป็นเหตุแห่งการทำบาปสร้างกรรม
นับแต่นั้นพระเตมีย์กุมารก็มิทรงตรัสและมิทรงขยับพระวรกายอีก
แม้แต่กุมาร ๕๐๐ คน ที่มาคอยเล่นด้วยก็ไม่ทรงสนใจเล่นด้วย
ยามกุมารเล่านั้นหิวนมร่ำไห้พระเตมีย์กุมารก็มิกันแสงด้วย
ทรงดำริว่า
“หิวนม ยังเป็นความทุกข์ที่ประเสริฐกว่าอยู่ในนรกภูมิ”
จึงทรงนิ่งเฉยอดทนผิดกับกุมารน้อยทั่วไป ไม่แย้มสรวล
ปฏิบัติดังว่ามิได้ยินเสียงพูดของผู้ใด พระราชาทรงร้อนพระทัย
ให้หมอหลวงวินิจฉัยว่า มีโรคภัยอันใดก็ปรากฏว่ามิอาจหาสาเหตุได้
เป็นที่งุนงงสงสัยกันยิ่งนัก
พระเตมีย์กุมารทรงเฉยนิ่งดังนี้เมื่อพระชนมายุครบ ๕ ปี
เหล่าอำมาตย์ก็หาวิธีทดลองนานาประการ ปีหนึ่งก็ลองเอาช้างตกมัน
มาปล่อยให้วิ่งเข้าหา พระเตมีย์กุมารก็ทรงนิ่งเฉย ไม่ร้องและไม่ขยับ
เขยื้อนหวาดกลัวแต่อย่างใด ในขณะที่กุมารอื่นวิ่งหนีร้องระงมกันด้วย
ความควาดกลัว
ปีต่อมาก็ทดลองด้วยการนำงูมาปล่อยให้เลื้อยเข้าใกล้
พระเตมีย์กุมารก็ทรงนิ่งเฉยมิหวาดกลัวถอยหนีหรือขยับโอษฐ์ร่ำร้อง
ปีต่อมาก็ทดลองด้วยไฟบ้าง ด้วยเสียงบ้าง คือก่อกองไฟไว้ใกล้ ๆให้กลัว
และให้คนแกล้งตีกลองเป่าแตรดัง ๆ ให้ตกใจ แต่ก็มิอาจกระตุ้นให้พระโอรส
ร้องหรือขยับพระวรกายสักนิดไม่ อีกปีหนึ่งทดลองโดยนำน้ำอ้อยปน
ข้าวยาคูผสมน้ำผึ้งมาทาทั่วองค์พระกุมาร
เพื่อล่อแมลงวันมาตอมมาดูดกินน้ำหวานนั้น
พระเตมีย์กุมารปีนั้นเจริญชันษาได้ ๑๓ ปีแล้ว
แต่ก็ยังทรงนิ่งเฉยแม้จะเจ็บปวดทรมานนัก
ปีต่อมาอำมาตย์ก็ทดลองด้วยมูตรสิ่งเหม็นเน่าต่าง ๆ
แต่พระเตมีย์ก็ทรงเฉยนิ่งเช่นเดิม
มิได้ทรงหวั่นไหวแม้ทรมานน่าเวทนานัก
เมื่อทดลองวิธีละ ๑ ปีเต็ม
มาจนถึงปีที่พระเตมีย์อายุครบ ๑๖ ปีเต็มแล้วก็มิบังเกิดผลใด
พระนางจันทเทวีทรงตรอมพระทัยร่ำกันแสงวิงวอนพระโอรสว่า
“ดูกร พ่อเตมีย์เอย เจ้าจงลุกขึ้นเถิด อย่าได้นิ่งเฉยเช่นนี้ให้แม่
แทบกลั้นใจตายด้วยอับอายราษฎรยิ่งนักแล้ว”
เมื่อเห็นพระมารดาร่ำให้ปิ่มใจจะขาด
พระเตมีย์ก็เกือบจะทรงตรัสวาจาออกไปด้วยความรักและเวทนานัก
แต่แล้วก็ทรงอดทนเฉยอยู่ตามเดิม
เหล่าอำมาตย์จึงทดลองด้วยสตรีเลอโฉม
ด้วยเพราะคิดว่าวัยแรกหนุ่มนี้ยังจะพึงพระทัยในเพศรส
ครั้นเมื่อบรรดาสาวงามพากันมาถวายปรนนิบัติ
เฝ้านวดเฟ้นและยั่วยวน พระเตมีย์ก็ทรงอธิษฐานขอบารมีช่วย
ให้พระองค์เอาชนะได้ ถ้าจะได้ออกบวชสมพระทัย
แล้วพระบารมีของพระองค์เองก็ได้บันดาลให้
สาวงามทั้งหลายต้องหวาดกลัวตกใจ
เมื่อพระวรกายพระองค์แข็งดั่งตอไม้
จึงพากันหนีไปทั้งสิ้น
พระเจ้ากาสิกราชทรงอับจนพระทัยนัก
ให้โหรหลวงมาถวายคำทำนาย โหรซึ่งเป็นพราหมณ์ก็ได้กราบทูลว่า
พระเตมีย์เป็นกาลกิณีเป็นเสนียดจัญไรแก่ราชวงศ์
หากเลี้ยงไว้ในร่มเศวตฉัตรต่อไปก็จะเกิดอาเพศและพิบัติภัยต่อแผ่นดินคือ
พระราชาจะต้องสวรรคตหนึ่ง
พระมเหสีจะต้องสวรรคตหนึ่ง
พระราชบัลลังก์จะถูกปองร้ายจนโค่นล้มหนึ่ง
จึงเห็นควรให้นำพระเตมีย์ไปฝังทั้งเป็นที่ป่าช้าผีดิบทางตะวันตกนอก
พระนครเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง
พระเจ้ากาสิกราชทรงยอมให้กระตามคำของโหรด้วยความทุกข์ตรมพระทัยนัก
พระมเหสีก็ทรงตกพระทัยถึงสิ้นสติ มิว่าจะทูลยับยั้งอย่างไร
พระราชาก็มิทรงเปลี่ยนพระราชดำรัส
แต่พระนางจันทเทวี อัครมเหสีได้กราบทูลขอร้อง
ขอให้พระราชโอรสได้มีโอกาสครองราชบัลลังก์สัก ๗ ปีก่อนค่อยคิดนำไปฝัง
หากทว่าพระราชาทรงปฏิเสธ
“เห็นจะไม่ได้หรอกพระมเหสี พระโอรสเตมีย์เป็นใบ้ หูหนวก
และยังไม่ขยับองค์เหมือนเป็นง่อยเปลี้ยเสียขาอย่างนั้น
จะให้ครองบ้านเมืองได้อย่างตั้ง ๗ ปี”
“ถ้าเช่นนั้น พระราชทานบัลลังก์ให้พระเตมีย์สัก ๑ ปี ก็ได้นะเพคะ”
พระนางจันทเวีทรงกราบทูาลวิงวอน
แต่พระราชาก็มิอาจพระราชทานให้ได้
จนกระทั่งในที่สุดพระนางจันทเทวีทูลขอร้อง
จนเหลือเพียง ๗ วันเท่านั้นจึงได้รับพระราชานุญาต
พระเตมีย์จึงได้ถูกแต่งองค์ทรงเครื่องกษัตริย์
แล้วนำขึ้นประทับคอช้างเสด็จเลียบพระนคร
และประกาศแก่ไพร่ฟ้าว่าพระราชโอรสได้ครองบัลลังก์แล้ว
หากทว่าพระเตมีย์ก็ทรงไม่ตรัส ไม่ขยับองค์
ไม่ได้ยินเสียงผู้ใดเช่นเดิม จนครบกำหนด ๗ วัน
พระมารดาก็ได้แต่ทรงกันแสงน้ำตาหลั่งไหล
รำพันตัดพ้อพระเตมีย์และตรัสว่า
พระนางคงจะขาดใจตายตามไปด้วยเป็นแน่แท้
แล้วพระนางก็ทรงเกลือกกลิ้งร่ำไห้
จนสิ้นสติไปบนพื้นปราสาทนั้นเอง
พระราชบิดาให้ฝังพระเตมีย์
ครั้นพระราชามีรับสั่งให้นำพระราชโอรสออกไปฝัง
พระเตมีย์ก็ถูกนำใส่รถเทียม้า
โดยมีสารถีสุนันทะขับออกพระนครไปทางทิศตะวันออก
เมื่อถึงป่าแห่งหนึ่งสุนันทะก็เข้าใจผิดว่าเป็นป่าช้างผีดิบแล้ว
จึงลงจากรถปลดเครื่องประดับพระยศของพระราชโอรสออกวางไว้
แล้วก็หยิบจอบเสียมไปขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมลึก
ตามรับสั่งที่ให้ฆ่าพระโอรสก่อนเพื่อมิต้องฝังทั้งเป็น
ยามนั้นพระเตมีย์ได้ทรงเหยียดมือเท้า
และทรงกายลุกขึ้น เพื่อตั้งพระทัยจะลองเคลื่อนไหว
หลังจากที่ทรงไม่ขยับเขยื้อนมา ๑๖ ปีเต็มแล้วทีเดียว
แล้วก็ปรากฏปาฏิหาริย์บังเกิดขึ้น
พระเตมีย์ทรงเดินได้คล่องแคล่ว
แล้วยังยกรถขึ้นได้ด้วยพละกำลังอันเป็นพระบารมี
ครั้นแล้วทรงเสด็จไปดูสารถีก้มหน้าขุดหลุม แล้วทรงตรัสถามว่า
“ดูกร นายสารถีท่านกำลังขุดหลุมเพื่อการใดรึ”
“ก็ขุดหลุมเพื่อฝังพระราชโอรสของพระราชานะสิ
พระเตมีย์เป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง
เพราะทรงเป็นใบ้บ้าอ่อนเปลี้ยเสียขา
จะนำภัยพิบัติมาสู่ราชบัลลังก์”
สารถีสุนันทะตอบพลางก้มหน้าก้มตาขุดอย่างเช่นนั้น
พระเตมีย์จึงตรัสว่า
“เรามิได้เป็นง่อยเปลี้ยบ้าใบ้หรอกสารถีเอ๋ย เราคือเตมีย์กุมาร”
สารถีได้ฟังดังนั้นก็เงยหน้าขึ้นมองดู
เห็นเตมีย์รูปร่างสง่างามราวเทพยดา
จึงคลางแคลงใจ พระเตมีย์จึงตรัสเล่าว่า
พระองค์แกล้งประพฤติกิริยาดั่งบ้าใบ้
ไม่เดินไม่ขยับเคลื่อนไหวเหมือนเป็นคนง่อย
ที่แท้นั้นเพราะมิอยากเสวยราชสมบัติ พระราชบิดาจึงให้ฝังเสีย
สุนันทะสารถีเพ่งพิจารณาดูพระเตมีย์ชัด ๆ จึงจดจำได้ว่าเป็นพระราชโอรส
และพระเตมีย์ราชโอรสจึงได้ตรัสสืบไปว่า
ตัวสารถีนั้นเลี้ยงชีพด้วยการเป็นราชบริพารของพระราชา
ซึ่งเป็นพระบิดาของพระองค์ ก็เปรียบดั่งว่าอาศัยอยู่ในร่มเงาต้นไม้ใหญ่
แล้วจะมาฆ่าพระองค์ผู้เป็นผลไม้ของต้นไม้เสียดังนี้
ก็จักเปรียบได้ว่าทำร้ายต่อมิตร การทำร้ายมิตรก็เท่ากับเป็นคนน่ารังเกียจ
ไปที่ใดก็มิเป็นที่น่าคบหา และการฆ่าคนก็บาปยิ่งกว่าฆ่าสัตว์ ๑๐๐ ชีวิต
เมื่อตายไปก็จะต้องรับผลกรรมที่ทำไว้
การไม่ทำร้ายมิตรไม่ฆ่าคนย่อมเป็นที่สรรเสริญไปทั่ว
สุนันทะสารถีได้ฟังดังนั้นก็รูสึกซาบซึ้งใจนัก
ก้มลงกราบถวายบังคมแล้วทูลเชิญเสด็จกลับพระราชวัง
แต่พระเตมีย์ตรัสว่าพระองค์อุตส่าห์พากเพียรนาน ๑๐ กว่าปี
ก็เพื่อจะหลุดพ้นจากพระราชสมบัติมาได้ออกบรรพชาตามพระประสงค์
สุนันทะทูลขอลาออกบวชตามไปด้วย
แต่พระเตมีย์ตรัสให้สารถีกลับไปทูลพระราชาก่อน
มิควรบวชโดยเป็นหนี้ผู้ใด
ยามนั้นองค์อินทร์ได้ทรงส่งพระวิสสุกรรมเทวบุตรให้ลงมาเนรมิตอาศรม
และเครื่องบริขารไว้พร้อมพรัก เมื่อพระเตมีย์เสด็จมาพบก็ทรงทราบว่า
เป็นเครื่องนิรมิตของเทพบนสรวงสวรรค์ จึงทรงอธิษฐานขอถือบวช
เปลี้องเครื่องกษัตริย์และครองผ้าเปลือกไม้สีแดง พาดบ่าด้วยหนังสือ
เกล้ามวยผม เสด็จประทับบนอาสนะใบไม้ในอาศรม
ตั้งพระทัยเจริญพรหมวิหารจนบรรลุฌานสมบัติในบัดนั้นเอง
ตระหนักในบุญญาธิการ
ทางฝ่ายพระนางจันทเทวีเมื่อเห็นสารถีกลับเข้าวังก็รีบไต่ถามด้วยน้ำพระเนตรหลั่งไหล
สารถีสุนันทะจึงกราบทูลว่า พระราชโอรสนั้นมิได้ง่อยเปลี้ยเสียขาเป็นบ้าใบ้
พระองค์ทรงแกล้งประพฤติดังนั้นเพราะมิปรารถนาครองราชย์
ด้วยทรงระลึกชาติได้ว่าเคยเป็นพระราชาแล้วต้องกอกรรมกับชีวิตผู้คนไม่น้อย
เมื่อสวรรคตไปก็ต้องไปรับใช้กรรมในนรกอย่างทุกข์ทรมาน
แต่บัดนี้พระราชโอรสนั้นมีพระโฉมงดงาม มีสุรเสียงไพเราะนัก
พระองค์ทรงออกบรรพชาอยู่ในป่าทิศตะวันออกนอกพระนคร
และฝากถวายบังคมลาและถวายพระพรพระราชาและพระมารดาด้วย
พระเจ้ากาสิกราชและพระนางจันทเทวีได้ฟังดังนั้นก็รับสั่งให้เตรียมขบวนราชรถ
และเสด็จออกไปหาพระราชโอรสด้วยความปลื้มปีติยิ่งนักแล้ว
ครั้นไปถึงพระนางจันทเทวีก็ทรงกันแสงสวมกอดแทบบาทพระโอรส
แล้วพระราชาก็ทรงตรัสถามทุกข์สุขพระเตมีย์
และทรงประหลาดพระทัยที่พระเตมีย์เสวยเพียงผลไม้ป่า
แต่กลับมีพระวรกายผุดผ่องแจ่มใส
พระเตมีย์ทรงทูลตอบว่าร่างกายสดใสเนื่องเพราะพระองค์รักษาจิตใจให้สดใส
ไม่ยึดติดคิดกังวลในเรื่องอันเป็นทุกข์นั่นเอง
แล้วพระราชาก็ทรงมีดำรัสให้พระราชโอรสลาผนวชไปครองราชสมบัติ
อภิเษกกับพระธิดาเมืองใดก็ได้ และเมื่อมีราชบุตรราชกุมาร
เพื่อสืบราชวงศ์แล้วจึงค่อยออกบวชก็ได้
พระเตมีย์ทูลตอบว่า
“ข้าแต่พระบิดา การบวชแต่เมื่อยังหนุ่มนั้นจึงจะสมควรกว่า
และพระราชสมบัติกับฐานะกษัตริย์นั้นก็เป็นเหตุให้ก่ออกุศลกกรมมากมายนัก
อาตมานี้ก็เคยเป็นพระราชาในอดีตชาติ ครองราชย์เพียง ๒๐ ปี
แต่ต้องเสวยทุกขเวทนาในนรกภูมินาน ๘ หมื่นปี”
ได้ฟังดังนั้นพระราชาก็ทรงเห็นธรรม ตัดสินพระทัยจะออกบรรพชาบ้าง
จึงรับสั่งให้ตีฆ้องร้องป่าวแก่อำมาตย์ราชมนตรี
และไพร่ฟ้าว่าผู้ใดใครบวชในสำนักพระเตมีย์ก็จงมาบวชเถิด
บรรดาอำมาตย์และข้าราชบริพารจึงพากันสละสมบัติมาบวชในสำนักพระเตมีย์กันมากมาย
แม้พระราชากาสิกราชและพระนางจันทเทวีก็ทรงผนวชเป็นดาบส
ดาบสินีอยู่ ณ คนละบรรณศาลา
ยามนั้นท้าวสามลราชที่ครองเมืองใกล้เคียง ได้ทราบเรื่อง
พระเจ้ากาสิกราชทรงออกผนวช บรรดาอำมาตย์ราชมนตรี
และพนกนิกรต่างก็ออกบวชทั้งสิ้น
จึงดำริว่าเมืองพาราณสียามนี้ไร้กษัตริย์ครองราชย์
จึงได้ยกกอกงทัพเข้ามาประชิดพระนครหมายจะเข้ายึดครองพาราณสี
เมื่อยกพหลพลโยธามาถึงเมือง
เห็นประกาศติดไว้เรื่องให้ออกบวชนั้น
ก็ให้ประหลาดพระทัยถึงเหตุที่ผู้คน
แม้ชั้นกษัตริย์ยังตัดละลาภสักการะไปออกบวชในป่าได้
จึงได้เสด็จตามไปในป่า
พระเตมีย์จึงทรงแสดงธรรมเทศนาเรื่องของบุญและบาป
จนท้าวสามลราชและไพร่พลเกิดซาบซึ้ง พากันละกองทัพและอาวุธ
พร้อมใจกันขอบวชอยู่ในสำนักพระเตมีย์กันทั้งสิ้น
ในบริเวณป่านั้นจึงเต็มไปด้วยเหล่าฤาษีบำเพ็ญฌาณสมาบัติ
และสัตว์ป่าช้างม้าที่ล้วนเชื่องโดยทั่วถ้วน ดาบส ดาบสินี
เหล่านี้เมื่อดับจิตไปก็ได้ไปจุติในเทวภูมิ
สถิตย์เป็นเทพยดาเป็นเทพธิดาเสวยสุขกันทั้งมวล
พระเตมีย์ชาดกนี้มีคติธรรมว่า
เมื่อมีประสงค์ในสิ่งใดก็สมควรมุ่งมั่น
ตั้งใจกระทำตามความมุ่งหมายนั้นอย่างหนักแน่น
อดทนอย่างเพียรพยายามเป็นที่สุด
และความพากเพียรอันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่นั้น
ย่อมจะนำบุคคลนั้นไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง
ทศชาติที่ ๒ พระมหาชนก…
รายละเอียด : ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าอดีตชาติให้เหล่าพระภิกษุทั้งปวง
ซึ่งสนทนาถึงเรื่องการออกบวชของพระตถาคตเจ้า
ณ โรงธรรมสภา เชตวันวรวิหาร ในกรุงสาวัตถี มีความเป็นมาดังนี้
เมื่อครั้งอดีตกาลที่ผ่านมา ณ กรุงมิถิลาวิเทหรัฐ มีพระราชพระนามว่า
“มหาชนก” ครองราชสมบัติโดยมีพระราชโอรส ๒ พระองค์
ทรงพระนามว่าอริฏฐชนกและโปลชนก
พระมหาชนกทรงตั้งให้พระโอรสองค์โตเป็นพระอุปราช
และทรงตั้งพระโอรสองค์เล็กเป็นเสนาบดี
ครั้นเมื่อท้าวเธอทรงเสด็จสวรรคต
พระอุปราชอริฏฐชนกก็ได้ทรงเสวยราชสมบัติสืบต่อพระบิดา
และพระราชทานตำแหน่งอุปราชให้พระอนุชาโปลชนก
ชะตากรรมพระบิดา
เมื่อแรกนั้นพระเจ้าอริฏฐชนกก็ทรงปกครองบ้านเมืองโดยชอบธรรม
แต่มีพระอำมาตย์มนตรีผู้สอพลอคอยเพ็ดทูลให้ร้ายป้ายสีว่า
พระอุปราชโปลชนกคิดจะปลงพระชนม์เพื่อชิงบัลลังก์
พระเจ้าอริฎฐชนกได้รับฟังบ่อยครั้งเข้าก็ทรงหูเบาหลงเชื่อ
ทรงคลายความรักใคร่พระอนุชา
จนกระทั่งหวาดหวั่นพระทัยถึงกับ
มีรับสั่งให้จับพระอุปราชโปลชนกคุมขังไว้ในคฤหาสถ์หลังหนึ่ง
มหาอุปราชผู้เป็นน้องชายร่วมพระสายโลหิต
จึงตั้งสัตย์อธิษฐานต่อพระเสื้อเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ว่า
พระองค์มิได้เคยมีความคิดมุ่งร้ายต่อพระเชษฐาเลย
ขอให้ความสัตย์ซื่อนี้มีอานุภาพทำลายขื่อคา
และเครื่องจองจำพันธนาการให้มลายไปสิ้นด้วยเถิด
ด้วยพลานุภาพแห่งความสัตย์ซื่อนั้นก็ได้ทำให้เกิดปาฏิหาริย์
บรรดาโซ่ตรวนต่าง ๆ ก็หลุดหักออกทั้งสิ้น
พระมหาอุปราชจึงเสด็จหลบหนีไปยังปัจจันตคาม
บรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ยินเรื่องนี้
ต่างก็พากันมาเป็นพรรคพวกของพระองค์กันมากมาย
ด้วยเพราะมิเชื่อถือศรัทธาในพระราชาที่หูเบาอีกต่อไป
ครั้นต่อมาพระอุปราชโปลชนกจึงรวมไพร่พลยกทัพมาประชิดเมือง
และทรงส่งพระราชสารถึงพระเชษฐาความว่า
“หม่อมฉันมิเคยคิดปองร้ายเสด็จพี่ แต่กลับถูกเสด็จพี่ทำร้าย
เพียงเพราะหลงเชื่อคำคนสอพลอ บัดนี้หม่อมฉันจะคิดร้ายบ้าง
ขอให้เสด็จพี่พระราชทานบัลลังก์ให้หม่อมฉัน
หรือไม่ก็เตรียมทำศึกกับหม่อมฉัน”
พระเจ้าอริฏฐชนกทรงตกลงพระทัยทำสงครามกับอนุชา
จึงทรงรับสั่งพระอัครมเหสีให้รักษาพระครรภ์ให้จงดี
ด้วยทรงดำริสังหรณ์ว่าอาจจะแพ้ภัยในศึกนี้
เมื่อออกศึกชนช้างกับพระอนุชา พระเจ้าอริฏฐชนกก็ทรงสิ้นพระชนม์กับคอช้าง
ด้วยพระหัตถ์ของพระอุปราชโปลชนกผู้เป็นอนุชา
ตกยากกับพระมารดา
พระอัครมเหสีได้ทราบข่าวนั้นจึงทรงรวบรวมสิ่งของใส่กระเช้าแล้วปิดทับด้วยผ้าเก่า ๆ
นำเอาข้าวสารไว้ด้านบนแล้วยกขึ้นเทินศีรษะแต่งกายมอมแมมเสด็จปะปนกับชาวบ้าน
หนีออกจากมิถิลาด้วยน้ำพระเนตรนองพระพักตร์โดยมิมีผู้ใดสังเกตเห็น
ในระหว่างทางที่พระนางคิดมุ่งสู่เมืองกาลจัมปากะ พระนางทรงอิดโรยด้วยพระครรภ์แก่นักแล้ว
จึงทรงหยุดพักที่ศาลาแห่งหนึ่ง
ยามนั้นท้าวสักกเทวราชบนสรวงสวรรค์ได้ทรงทราบว่าทารกในพระครรภ์ของพระนางก็คือ
“พระโพธิสัตว์” ผู้เปี่ยมบุญญาธิการ ท้าวเธอจึงทรงเนรมิตองค์เป็นชายชราขับเกวียนผ่านไป
อาสารับพระนางให้เดินทางต่อไปได้ ซึ่งบนเกวียนนั้นก็มีแท่นบรรทมและพระกระยาหารพร้อมสรรพ
ในเวลาเพียงพริบตาก็มาถึงเมืองกาลจัมปากะพระนางให้สงสัยแคลงพระทัยว่าทำระยะทาง
๖๐ โยชน์จึงถึงได้รวดเร็วนัก ครั้นจะทรงรับสั่งไถ่ถาม ท้าวเธอในร่างชายชราก็หายวับไปทันที
ขณะนั้นพราหม์ผู้เป็นทิศาปาโมกข์ ผู้มีลูกศิษย์เป็นชาวเมืองกาลจัมปากะ ๕๐๐ คน
ได้พบพระนางผู้มีพระสิริโฉมงามสง่า จึงเข้าไต่ถามได้ความว่านางไร้ญาติขาดมิตร
หนีข้าศึกที่รุกเมืองแตกมาตามลำพังทั้ง ๆ ที่ครรภ์แก่ดังนี้
พราหม์ผู้นั้นจึงชักชวนให้ไปอยู่ด้วยและรับเป็นน้องสาวให้อยู่เรือนอุทิจจพราหมณ์
จนกระทั่งคลอดทารกออกมาเป็นพระกุมารผิดผุดผ่องดั่งทองคำ
พระนางทรงต้องพระนามว่า “มหาชนก” ตามพระนามของเสด็จปู่ผู้มีทศพิธราชธรรม
พระมหาชนกกุมารมีพระสหายเป็นเด็กชาวบ้านละแวกนั้น
ครั้นเล่นหัวกันตามประสาเด็ก ๆ ก็มีต่อสู้ขัดเคืองกันบ้าง
เด็กชาวบ้านที่สู้พระกุมารไม่ได้ก็มักไปฟ้องพ่อแม่ว่า เด็กไม่มีพ่อรังแกตน
พระมหาชนกจึงตรัสถามพระมารดาว่า
“พ่อของฉันคือใครกันนะ ท่านแม่”
“ท่านอาจารย์ไงเล่าที่เป็นบิดาของลูก”
พระนางโป้ปดออกไปให้พระกุมารเชื่อดังนั้น
แต่ต่อมาเมื่อเด็กชาวบ้านพูดกันบ่อย ๆ พระองค์ก็สงสัยนัก
วันหนึ่งเมื่อพระกุมารดื่มน้ำนมจากพระถันของพระมารดา
พระกุมารได้กัดพระถันของพระมารดาแล้วทูลถามว่า
“ท่านแม่ บอกลูกมาเถิดว่าใครเป็นพ่อของลูก ไม่เช่นนั้นลูกจะกัดนมท่านแม่ให้ขาดเลยด้วย”
พระมารดาถูกกัดพระถันจนเจ็บปวดจึงทรงตกลงตรัสความจริงว่า
“พ่อของลูกคือพระเจ้าอริฏฐชนก กษัตริย์แห่งเมืองมิถิลานแต่พระราชบิดาของลูก
ถูกพระอุปราชโบลชนกผู้มีศักดิ์เป็นอาของลูกปลงประชนม์และชิงราชสมบัติไป”
เมื่อได้ทราบความจริงดังนั้น
พระกุมารก็ทรงตั้งพระทัยร่ำเรียนศิลปวิชาทุกแขนงจนแตกฉาน
โดยไม่โกรธเครืองใครเมื่อยามถูกล้อเลียนว่าไม่มีพ่ออีก
จนกระทั่งมีพระชนม์ครบ ๑๖ พรรษา จึงได้ทูลขอทรัพย์มารดา
อันมีแก้ววิเชียรดวงหนึ่ง แก้วมณีดวงหนึ่ง แก้วมุกดาอีกดวงหนึ่ง
พระมหาชนกกุมารทรงขอเพียงครึ่งเดียวเพื่อนำไปขายเป็นทุนทำการค้า
แล้วจะมุ่งสู่นครมิถิลาเพื่อชิงบัลลังก์คืน
ข้ามทะเลเด็ดเดี่ยว
ระหว่างที่พระมหาชนกแล่นสำเภาไปกลางทะเลนั้นเอง
เรือสำเภาก็อับปางลงเพราะลมมรสุมซัดกระหน่ำจนพ่อค้าและผู้คนเกือบพันคน
กลายเป็นเหยื่อของสัตว์ทะเลและจมน้ำตายกันไปสิ้น
ตลอด ๗ วัน พระมหาชนกก็พยายามว่ายน้ำอยู่กลางทะเลมุ่งสู่เมืองมิถิลา
โดยอธิษฐานอุโบสถไปด้วย นางมณีเมขลาเทพธิดารักษามหาสมุทรจึงมา
ปรากฎกายกลางอากาศ แล้วถามพระมหาชนกว่า
“ท่านอาจจะตายเสียแน่แท้ที่มัวว่ายน้ำในทะเลลึกทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่งอย่างนี้”
พระมหาชนิกตรัสว่า
“เราพากเพียรเช่นนี้ แม้ตายก็มิถูกติเตียนได้
การไม่รักษาชีวิตไว้อย่างพากเพียรก็เท่ากับว่าเป็นคนเกียจคร้าน”
นางมณีเมขลาจึงพาพระมหาชนกเหาะลอยไปยังอุทยานของพระเจ้าโปลชนก
เจ้าหญิงลองพระปัญญา
ในขณะนั้นพระเจ้าโปลชนกทรงพระประชวรและสวรรคตไปแล้ว ๗ วัน
พระราชธิดาทรงหาคู่ครองมาอภิเษก
เพื่อครองราชสมบัติตามคำรับสั่งของพระราชบิดา
โดยทรงปรึกษากับราชปุโรหิตแล้วให้เซ่นสรวงเทพยดา
เพื่อเสี่ยงราชรถตามพระประเพณีโบราณ หากราชรถไปเกยที่ผู้ใด
ผู้นั้นก็มีบุญพอจะขึ้นครองเมืองได้
ครั้นเมื่อเทียมรถม้ามงคลแล้ว
ม้าก็วิ่งออกจากพระราชวังไปยังอุทยานของนคร
รถม้าเข้าไปแล่นวนรอบพระมหาชนก ๓ รอบ
แล้วก็หยุดอยู่ที่ปลายเท้าของพระองค์ซึ่งบรรทมอยู่ ณ ที่นั้น
พระราชปุโรหิตจึงสั่งให้ประโคมดนตรีอึกทึก
พระมหาชนกตื่นบรรทมขึ้นมาดูจึงรู้ว่าคงถึงเวลาแห่งการครองบัลลังก์แล้ว
และมิได้ทรงแตกตื่นตกพระทัยแต่อย่างใด
พระราชปุโรหิตจึงทูลเชิญไปครองเมือง
พระมหาชนกจึงตรัสถามว่า
เหตุใดจึงมาให้พระองค์ไปครองเมืองแล้วพระราชาของนครไปไหนเสียแล้ว
“พระราชาได้เสด็จสวรรคตแล้วพระเจ้าข้า”
“แล้วพระราชาไม่มีราชโอรสเลยรึ”
“ขอเดชะ มีเพียงพระราชธิดาองค์เดียวพระเจ้าข้า”
เมื่อได้ฟังดังนั้น
พระมหาชนกจึงทรงรับสั่งว่าจะยินยอมรับราชสมบัติ
ราชปุโรหิตจึงถวายเครื่องทรงและทำพิธีเถลิงราชสมบัติ
ณ อุทยานนั้นเอง
ครั้นเข้าสู่พระราชมณเฑียรแล้ว พระราชธิดาคิดลองพระทัย
จึงทรงวางอุบายให้ราชบุรุษผู้หนึ่งทูลพระมหาชนกว่า
มีรับสั่งจากพระราชธิดาให้เข้าเฝ้า
พระมหาชนกก็ยังคงดำเนินชมปราสาทหาได้ใส่พระทัยไม่
จนเมื่อชมปราสาทพอพระทัยแล้วจึงเสด็จขึ้นตำหนักหลวง
พระราชธิดาถึงกับเสด็จออกมารับและยื่นพระหัตถ์ให้พระมหาชนก
ทรงสัมผัสอีกด้วยความเกรงพระบรมเดชานุภาพ
และพระบารมีอันสง่างามยิ่งนัก
เมื่อเข้าประทับแล้ว พระมหาชนกทรงตรัสถามราชปุโรหิตว่า
“ก่อนเสด็จสวรรคต พระราชาของท่านมีรับสั่งอย่างไรบ้าง”
“ขอเดชะ พระราชาทรงรับสั่งไว้ว่า
ถ้าผู้ใดสามารถทำให้เจ้าหญิงสวิลีปีติได้ก็ให้มอบนครให้คนผู้นั้น
ข้อต่อมาคือผู้ใดรู้จักด้านศีรษะและด้านเท้าของบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม
จึงจะครองบัลลังก์ได้
ข้อต่อมาคือผู้นั้นต้องโก่งคันธนูของเมืองได้
และข้อสุดท้ายคือผู้นั้นต้องค้นหาขุมทรัพย์ ๑๖ แห่งให้จงได้”
ซึ่งรับสั่งเหล่านี้นั้น
เจ้าหญิงสิวลีพระราชธิดาได้ทรงคัดเลือกอำมาตย์
และเสนาบดีหนุ่มมาหลายคนแล้ว
เมื่อทรงตรัสให้ผู้ใดเข้าเฝ้า คนผู้นั้นก็ทำตาม
รับสั่งให้มานวดเท้า คนผู้นั้นก็มานวด
เจ้าหญิงจึงทรงขับไล่ออกไปจนสิ้นด้วยเคืองพิโรธว่า
คนเหล่านั้นไร้ปัญญาบารมีอันมิควรจะครองราชย์ได้
ราชปุโรหิตทูลต่อพระมหาชนกว่า
ข้อแรกนั้นพระราชธิดาทรงยื่นพระหัตถ์ให้พระมหาชนกแล้ว
ก็หมายความว่าทรงปิติยินดีแล้ว
แต่ยังมีข้อให้หาด้านศีรษะและเท้าของบัลลังก์อีกด้วย
พระมหาชนกจึงทรงถอดปิ่นทองคำจากพระเศียรส่งให้พระราชธิดา
ซึ่งพระนางก็ทรงเปี่ยมด้วยพระปัญญาจึงได้นำปิ่นทองคำไว้
ด้านหนึ่งของบัลลังก์
“ด้านนั้นแหละคือด้านศีรษะของบัลลังก์”
พระมหาชนกจึงทรงตรัสได้ถูกต้อง จากนั้นทรงยกธนูเมืองอันมีน้ำหนักถึง
๑ พันคนจึงจะยกได้ ทว่าพระองค์ทรงยกอย่างเบาราวกงดีดฝ้ายของสตรี
และก็ทรงโก่งคันธนูน้าวสายธนูได้ด้วยพละกำลังดั่งพญาคชสาร
ครั้งถึงข้อที่ให้ค้นหาขุมทรัพย์ ๑๖ แห่ง
พระมหาชนกจึงทรงตรัสถามถึงปริศนาของขุมทรัพย์แรก
ราชปุโรหิตทูลว่า
“ขอเดชะ ขุมทรัพย์ที่ ๑
อยู่ทางทิศตะวันขึ้นพระเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์เคยลองขุดหาทางทิศตะวันออกที่ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
แต่ไม่พบทรัพย์ใดเลย”
“พวกท่านจงไปขุดยังที่ที่ซึ่งพระราชาของท่านยืนประทับรอพระปัจเจกโพธิ
ที่พระราชานิมนต์มารับอาหารบิณฑบาตในทุก ๆ รุ่งเช้านั้นเถิด”
พวกอำมาตย์ราชวัลลภพากันไปขุด ณ จุดนั้น
ก็ปรากฎว่า พบขุมทรัพย์ที่หนึ่งสมจริงดั่งรับสั่งของพระมหาชนก
ยังความอัศจรรย์ใจแก่เหล่าอำมาตย์
จนพากันมาทูลถามพระมหาชนกถึงความนัยของปริศนานั้น
พระมหาชนกตรัสว่า พระปัจเจกโพธิเปรียบดั่งตะวัน
พระราชายืนคอย ณ ที่ใด ที่นั้นก็คือขุมทรัพย์ตะวันขึ้น
ดังนั้นปริศนาข้อต่อไปที่ว่าขุมทรัพย์ที่ตะวันอัศดง
ก็คือจุดที่พระปัจเจกโพธิรับทานแล้วจะเสด็จกลับทางนั้น
บรรดาอำมาตย์จึงพากันไปขุดหาทางท้ายพระราชมณเฑียร
ก็ปรากฎว่าพบขุมทรัพย์ที่ ๒ อีก
สำหรับปริศนาข้อต่อไปที่ว่า “ขุมทรัพย์ภายใน” นั้น
พระมหาชนกทรงรับสั่งให้ไปขุดที่ใต้ธรณีประตูพระราชฐาน
“ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก” ก็ให้ขุดที่ใต้ธรณีนอกประตูพระราชฐาน
“ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก” ก็ให้ขุดที่เกยทองสำหรับขึ้น-ลงประทับมงคลหัตถี
“ขุมทรัพย์ในที่ขึ้น” ก็ให้ขุดหน้าประตูพระนิเวศ
“ขุมทรัพย์ขาลง” ให้ขุดที่หน้าเกยยามพระราชาขึ้น-ลงคอช้างหน้าชาลา
“ขุมทรัพย์ระหว่างไม้รังทั้ง ๔” ก็ให้ขุดที่ทวารทั้ง ๔ ซึ่งพระแท่นทำด้วยไม้รัง
“ขุมทรัพย์รอบ ๑ โยชน์” ให้ขุดที่ห่างจากแท่นบรรทมช้างละ ๔ ศอกทั้ง ๔ ทิศ
“ขุมทรัพย์ที่ปลายงา” ให้ขุดที่โรงคชสารตรงที่งาของพญาเศวตกุญชรจรดปลายงาลงดิน
เสวยราชย์-พบสัจธรรมชีวิต
เมื่อทรงไขปริศนาได้ทั้งสิ้น บรรดาเสนาอำมาตย์และไพร่ฟ้า
ข้าแผ่นดินต่างก็พากันโห่ร้องกันกึกก้องทั่วพระนคร
คำสรรเสริญเอกเกริกต่างเทอดทูนพระปัญญาบารมีของพระมหาชนก
ที่ไขปริศนาจนพบขุมทรัพย์ทั้งปวงของพระราชา
ต่างก็ยินดีปรีดาแซ่ซ้องถึงพระราชาองค์ใหม่ผู้เป็นปราชญ์อัจฉริยะกันเลื่องลือไป
หลังจากนั้นพราหมณ์มหาชนกจึงทรงมีรับสั่งให้ตั้งโรงทาน ๖ แห่ง ที่กลางนคร
ประตูนคร และประตูรอบนคร ๔ ทิศเพื่อบริจาคทรัพย์ทรงโปรดให้เชิญพระมารดา
และพราหมณ์ทิศาปาโมกข์สู่นคร ทรงทำสักการะสมโภชน์และประกาศความจริงว่า
พระองค์คือพระราชโอรสของพระเจ้าอริฏฐชนกในพิธีเถลิงถวัลย์ราชย์นั้นเอง
ครั้งนี้พระมหาชนกทรงรำลึกถึงความพากเพียรของพระองค์
ที่ทรงพยายามว่ายน้ำกลางมหาสมุทรจึงได้พบความสำเร็จดังนี้
ทรงโสมนัสและตระหนักว่าคนเราพึงหมั่นเพียรพยายามโดยสุดกำลัง
เพื่อให้ลุล่วงสำเร็จดั่งมุ่งหวังไว้
จากนั้นพระมหาชนกทรงครองราชย์โดยทศพิธราชธรรม
เสนาและไพร่พลเมืองต่างก็เป็นสุขกันถ้วนหน้า
จนกระทั่งเจ้าหญิงสิวลีประสูติพระราชโอรสทรงพระนามว่า ทีฆาวุราชกุมาร
และพระมหาชนกทรงพระราชทานตำแหน่งอุปราชให้เมื่อพระโอรสเจริญวัยแล้ว
คราวหนึ่ง พระมหาชนกทรงช้างเสด็จประพาสอุทยาน ทรงเห็นต้นมะม่วง ๒ ต้น
ที่ประตูอุทยาน ต้นหนึ่งมีผลดกเต็มต้น อีกต้นหนึ่งไม่มีผล
พระมหาชนกทรงเก็บมะม่วงจากต้นผลดกมาเสวยแล้วเข้าไปในอุทยาน
ครั้นกลับออกมาก็พบว่ามะม่วงต้นดกนั้นกิ่งก้านหักโค่นใบร่วงหมดสิ้น
มะม่วงแม้แต่ผลเดียวก็มิเหลือ บรรดาอำมาตย์จึงกราบทูลว่า
พสกนิกรต่างก็มาเก็บมะม่วงจากต้นนี้ด้วยเพราะเป็นต้นที่พระราชาเก็บเสวย
จึงได้เข้ายื้อแย่งเก็บไปเป็นมงคลจนสภาพของต้นมะม่วงแหลกราญดังนี้เอง
พระมหาชนกทอดพระเนตรดูมะม่วงต้นที่ไม่มีผล
ซึ่งยังคงยืนตั้งอยู่อย่างมั่นคงดุจผาแก้วโดยมิบอบช้ำยับเยิน
บัดนั้นเองจึงทรงดำริว่า
ต้นมะม่วงที่มีผลก็เปรียบดั่งราชสมบัติซึ่งจะทำลายตัวเอง
หากไม่มีผลก็ไม่มีภัย การละสมบัติออกบวชก็เปรียบดั่งต้นไม้ที่ไร้ผลซึ่งย่อมไร้ภัย
ครั้นเสด็จกลับพระราชวัง พระมหาชนกจึงทรงมีดำรัสว่า
“เราจะเจริญสมณธรรมในตำหนักนับแต่นี้ไป
ขอให้พวกท่านรักษาราชกิจตามแต่เห็นควร
ผู้ใดจะเข้ามาในตำหนักเราก็เพื่อนำอาหารมาเท่านั้น”
ทรงละกิเลสกลางราชวัง
เวลาต่อมาพระมหาชนกก็ทรงบำเพ็ญสมณธรรมสงบอยู่ในปราสาท
มิได้ออกเสด็จมางานมหรสพใดอีกเลยจำนเป็นที่ร่ำลือกันทั่วไปทั้งนคร
พระมหาชนกมีพระทัยน้อมนำไปทางออกบรรพชา
ทรงครุ่นคิดอยู่ในพระทัยว่า
“เมื่อใดหนอ เราจึงจะได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงผู้ซึ่งตัดโลกละกิเลสได้แล้ว
เมื่อใดหนอเราจักได้ออกบวช อุ้มบาตร ถือเพศสมณแสวงธรรมอยู่ลำพังในป่า”
ด้วยพระทัยที่มุ่งในทางธรรมยิ่งนัก วันหนึ่งพระองค์ทรงรับสั่งให้กัลบกมาชำระ
พระเกศาและปลงพระมัสสุ ให้อำมาตย์จัดบาตรดินและผ้ากาสาวพัสตร์มาถวาย
จากนั้นพระองค์ก็ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ นุ่งห่มเกล้าผมดั่งนักบวช
เสด็จจงกรมในปราสาทด้วยพุทธลีลาแลเปล่งพระวาจาว่า
“การบวชนี้เป็นสุขจริงหนอ”
ยามนั้นอัครมเหสีเจ้าหญิงสิวลีได้รับสั่งให้สนม ๖๐๐ กว่านาง
จัดแต่งเครื่องประดับงดงามเพื่อพากันไปเข้าเฝ้า
พระราชาซึ่งจำศีลนานเกือบ ๖ เดือนแล้ว
ครั้นพบว่าพระราชามหาชนกเสด็จออกบวชก็ทรงกันแสงปิ่มจะวายชนม์
พระนางทรงวางอุบายจุดไฟเผาศาลาเก่า
แล้วให้อำมาตย์ไปทูลเชิญเสด็จกลับด้วยว่าพระราชวังไฟไหม้แล้ว
หากทว่าพระมหาชนกก็มิทรงเสด็จกลับ พระนางสิวลีและไพร่ฟ้า
เสนาอำมาตย์จึงพากันออกตามเสด็จ
พระมหาชนกจึงทรงเอาไม้ขีดเป็นเส้นบนพื้นแล้วตรัสว่า
“หากผู้ใดลบรอยเส้นนี้ได้ ก็จึงจะตามเราไปได้”
แต่เส้นนั้นมิอาจมีผู้ใดกล้าลบได้ ด้วยเกรงจะเป็นการละเมิดพระอาญาสิทธิ์
พระมเหสีก็ได้แต่กันแสงกลิ้งเกลือกด้วยอาดูรยิ่งนัก
เมื่อพระนางกลิ้งเกลือกร่ำไห้นั้น เส้นที่ขีดขวางอยู่ก็ลบหายไป
คนทั้งปวงจึงพากันติดตามไปอีก
ยามนั้นพระดาบสนาม นารทะ เห็นด้วยตาทิพย์ว่า
พระมหาชนกต้านแรงมหาชนไม่ได้
จึงมาปรากฏและปลอบให้พระองค์รักษาศีลและพรหมวิหารธรรม ๔ อย่างมุ่งมั่น
เพื่อให้การออกบวชลุล่วงดังประสงค์
พระฤาษีนาม มิคาชินะ ก็มาถวายโอวาทให้พระองค์ไม่ประมาทเพื่อความสำเร็จ
พระมหาชนกจึงทรงตั้งพระทัยมั่นไม่อ่อนไหวไปกับการยับยั้งของพระมเหสี
ข่มพระทัยตัดเยื่อใย มุ่งมั่นบรรพชา
เมื่อพระมหาชนกเสด็จถึงถุนันนคร
พบสุนัขที่คาบเนื้อมาจากแผงเร่ที่พ่อค้าขายเนื้อเผลอ
แต่สุนัขวิ่งหนีมาทางพระมหาชนกจึงตกใจทิ้งก้อนเนื้อไว้
พระมหาชนกจึงเก็บก้อนเนื้อชิ้นนั้นมาปัดทำความสะอาดแล้วใส่ลงในบาตร
ครั้นพระมเหสีทูลตำหนิด้วยความสังเวช พระองค์ก็ทรงตรัสว่า
เนื้อชิ้นนี้สุนัขละทิ้งแล้วถือว่าชอบธรรมแล้วที่จะทรงบริโภคสิ่งของที่ไร้เจ้าของ
ต่อมาพระมหาชนกทอดพระเนตรดูเด็กหญิงที่วิ่งเล่นกันอยู่ใกล้ประตูนคร
เด็กผู้หญิงตัวน้อยสวมกำไลมือ ๑ วง อีกมือหนึ่งสวมกำไล ๒ วงกระทบกันดังไพเราะ
ทรงตรัสถามว่าทำไมกำไลหนึ่งไม่มีเสียงแต่อีกข้างหนึ่งมีเสียง
กุมารีน้อยทูลตอบว่า
“ก็ข้างหนึ่งมีวงเดียวจึงไม่มีเสียง อีกข้าหนึ่งมี ๒ วงจึงกระทบกันเกิดเสียงไงเล่า”
พระมหาชนกสดับดังนั้นก็ทรงตรัสกับพระมเหสีว่า
“ดูกร น้องหญิง เราเป็นเพศบรรพาชิตแล้ว
หากมีท่านติดตามไปด้วยย่อมเป็นเหตุแห่งคำนินทาให้พรหมจรรย์มัวหมอง
ขอให้ท่านแยกเดินคนละทางเถิด และอย่าเรียกอาตมาเป็นพระสวามีอีกเลย”
พระอัครมเหสีทรงเสียพระทัยยอมแยกทางไป
แต่ไม่นานพระนางก็เสด็จตามอีกด้วยว่าตัดพระทัยไม่ได้
พระมหาชนกจึงทรงให้พระนางดูช่างทำลูกศรที่ข้างทาง
ช่างนั้นเล็งได้คัดลูกศรด้วยตาข้างเดียว
ด้วยเพราะถ้าเล็ง ๒ ตา ก็จะพร่ามัวมองไม่ชัดแจ้ง
หากเล็งตาเดียวจึงจะเห็นชัดแจ้ง ซึ่งเปรียบดั่งพระองค์กับพระนาง
ซึ่งประพฤติน่าครหายิ่งนัก ขอให้แยกทางกันบัดนี้เถิด
พระนางสิวลีโทมนัสจนร่ำไห้สิ้นสติไป
ครั้นบรรดาอำมาตย์และสนมดูแลพยาบาลให้พระนางฟื้นขึ้นมา
พระนางก็ทรงอาดูรเมื่อพระมหาชนกเสด็จจากไปแล้ว
จึงทรงโปรดให้สถาปนาพระเจดีย์
ณ ที่พระมหาชนกประทับยืนก่อนเสด็จจากไปนั้น
ให้บูชาด้วยเครื่องหอมนานาก่อนเสด็จกลับนครมิถิลา
จากนั้นพระนางทรงอภิเษกพระทีฆาวุให้ขึ้นครองราชย์
แล้วพระนางก็ทรงออกบวชบำเพ็ญตนเป็นดาบสินี
ประทับ ณ อุทยานจนทรงบรรลุฌาณ ด้วยดำริว่า
พระสวามียังมิอาลัยใยดีต่อราชสมบัติทั้งมวลแล้ว
พระนางยังจะอาลัยอยู่ใย
พระมเหสีทรงบำเพ็ญพรตตลอดพระชนมายุของพระนาง
มหาชนกชาดกนี้มีคติธรรมว่า
เกิดเป็นคนควรมีความพากเพียร
ให้ถึงที่สุด เพื่อให้ถึงแก่สิ่งที่มุ่งหวัง
เพียรสุดกำลังจนชีวิตหาไม่ก็จงเพียรแล้วความสำเร็จจะมาเยือน
ทศชาติที่ ๓ พระสุวรรณสาม…
รายละเอียด : พ่อแม่ในครอบครัวพราน
เมื่อครั้นอดีตกาลนานมาแล้ว
มีนายพรานผู้หนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทางตอนใต้ของเมืองพาราณสี
ซึ่งเป็นละแวกหมู่บ้านนายพราน
ฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำก็มีนายพรานอีกหลัง ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท
รักใคร่ชอบพอกันดีกับนายพรานฝั่งนี้
ทั้งสองสัญญากันว่าหากมีลูกสาวกับลูกชายก็จะให้แต่งงานกัน
ซึ่งในไม่ช้าภรรยาของทั้งสองนายพรานก็ตั้งครรภ์ในเวลาไล่เรี่ยกัน
นายพรานทั้งสองบ้านยิ่งปีตินักเมื่อนายพรานฝั่งนี้ได้บุตรชาย
และให้ชื่อว่า ทุกูลกุมาร ส่วนบ้านฝั่งโน้นได้บุตรีมีชื่อว่า ปาริกากุมารี
ทั้งสองลูกนายพรานนี้นับว่ามีนิสัยใจคอแตกต่างผิดจากบุพการียิ่งนัก
แม้เกิดในหมู่บ้านนายพราน หากทว่าเด็กทั้งคู่กลับมินำพาในการล่าสัตว์ล่าเนื้อ
ทุกูลและปาริกาต่างก็มีน้ำใจเมตตาปรานี มิยอมให้ผู้คนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
เมื่อเห็นสภาพสัตว์ที่ถูกทำร้ายก็จะพากันสลดหดหู่ใจเป็นยิ่งนัก
ครั้นเมื่อเด็กทั้งสองเติบโตจนมีอายุได้ ๑๖ ปี บิดามารดาของทั้งสองก็จัดงาน
แต่งงานให้ทุกูลและปาริกา และก็อบรมสั่งสอนวิชาพรานให้แก่คนทั้งสอง
เพื่อจะได้ล่าสัตว์ยังชีพสืบต่อไปได้
“ท่านพ่อ ลูกไม่อยากเรียนวิชาฆ่าสัตว์ ยิงธนู ล่าเนื้อ
ลูกไม่อยากทำลายชีวิตอื่นแล้วเอามาเลี้ยงชีวิตเราขอรับ”
ทุกูลกุมารบอกกับพ่ออย่างมุ่งมั่นด้วยจิตใจอันอ่อนโยน
พรานผู้พ่อไม่เข้าใจจึงว่า
“แล้วเจ้าจะทำมาหากินอย่างไร ในเมื่อเจ้าก็เกิดมาอยู่ในบ้านพรานเช่นนี้
ถ้าคิดรังเกียจการล่าสัตว์ล่าเนื้อ ก็คงต้องไปเดินทางสายอื่นของเจ้า”
“ถ้าเช่นนั้น ลูกก็ขอไปออกบวชขอรับท่านพ่อ”
นับแต่นั้น ทุกูลและปาริกาก็ชวนกันออกจากบ้านนายพรานไปอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำมิคสัมมตา
บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าอย่างสงบสุข
กำเนิดในป่า เลี้ยงบิดามารดาฤาษี
ยามนั้นพระอินทร์บนสรวงสวรรค์คิดช่วยเหลือคนทั้งสอง
จึงให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตรบรรณศาลาให้
และพระอินทร์ยังทรงห่วงภายหน้าว่า
คนทั้งสองจะต้องเสียดวงตาด้วยผลกรรมเก่าแล้ว
ถ้าไม่มีผู้ปรนนิบัติดูแลคนทั้งสองจะอยู่ได้สะดวกสบายอย่างไร
ดังนั้นพระอินทร์จึงจำแลงกายไปหาทุกูลและปาริกา
แนะวิธีที่จะให้ทั้งสองมีบุตรได้โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกันทางกามารมณ์
“เมื่อถึงวาระที่ภรรยาของท่านมีระดู
ท่านจงเอามือของท่านลูบท้องของนาง ๓ ครั้ง
แล้วนางก็จะตั้งครรภ์ได้”
เมื่อทุกูลกระทำตามเช่นนั้น ในไม่ช้าปาริกาก็ตั้งครรภ์
และคลอดบุตรชายผิพรรณงามดั่งทอง
จึงขนานนามว่า “สุวรรณสาม”
ซึ่งเป็นเด็กที่มีจิตใจอ่อนโยนอาทรและ
มีความประพฤติดีงามเหมือนบิดามารดา
ด้วยความที่มีบุญญาและความเมตตาปรานี
ยามบิดามารดาออกไปหาผลไม้ในป่า
เด็กชายสุวรรณสามก็จะมีเพื่อนเล่นเป็นพวกกินรี
และสัตว์ป่าทั้งหลายที่มาแวดล้อมชิดใกล้มิได้ทำอันตรายใด ๆ
เมื่อสุวรรณสามเจริญวัยได้ ๑๖ ปีแล้ว
ก็ไม่อยากให้บิดามารดาต้องลำบากออกไปเก็บผลหมากรากไม้ตามลำพัง
จึงแอบสะกดรอยตามไปจนล่วงรู้เส้นทางดีว่าจะต้องไปหายังหนแห่งใดบ้าง
จนกระทั่งวันหนึ่งขณะที่ทุกูลและปาริกาเข้าป่าไปหาผลหมากรากไม้
ก็ประสบพายุลมฝนพัดกระหน่ำจนต้องเข้าไปหลบพายุใต้ร่มไม้เหนือจอมปลวก
ซึ่งเป็นที่อยู่ของงูเห่ามีพิษร้าย
งูเห่านั้นเมื่อถูกบุกรุกก็โกรธ จึงพ่นพิษงูออกมาใส่ดวงตาของทุกูล
และปาริกาจนดวงตามืดบอดมองอะไรไม่เห็น
อันผลกรรมเก่านี้เนื่องเพราะในชาติปางก่อน
ทุกูลเป็นแพทย์ที่รักษาตาให้เศรษฐีแล้วมิได้ค่ารักษา
ปาริกาผู้ภรรยาจึงโกรธและให้เอายาป้ายตาให้บอดเสีย
บาปนี้จึงติดตามมาสนองในชาตินี้
ฝ่ายสุวรรณสามเห็นบิดามารดาหายไปนานจนเย็นย่ำแล้ว
จึงออกจากบรรณศาลาไปตามหา เมื่อพบว่าบิดามารดาถูกพิษงูตามืดบอด
สุวรรณสามก็ร้องไห้แล้วก็หัวเราะออกมา
“ลูกหัวเราะเรื่องนี้ทำไมรึ” บิดามารดาถามอย่างไม่เข้าใจ
“ก็ลูกจะได้ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สักทีไงเล่า
ที่ร้องไห้นั้นด้วยเพราะเสียใจกับเคราะห์กรรมของพ่อแม่
แต่ดีใจยิ่งนักที่จะได้รับใช้พ่อแม่สืบไป”
ปรนนิบัติอย่างงดงาม
จากนั้นสุวรรณสามก็ให้บิดามารดาเกาะไม้เท้าเดินกลับบรรณศาลาอาศรม
แล้วสุวรรณสามก็ปฏิบัติบำรุงบิดามารดาอย่างดีเลิศ
นำเชือกมาผูกไว้เป็นราวยังที่เดินจงกรม และที่ต่าง ๆ
รอบอาศรมเพื่อให้บิดามารดาเกาะแล้วเดินไปได้สะดวก
ยามเช้าปัดกวาดจัดที่นั่งที่นอนให้เรียบร้อยออกไปตักน้ำที่แม่น้ำมิคสัมมตา
จากนั้นจึงออกไปขุดเผือกมันหาผลหมากรากไม้
ยามเย็นก่อไฟต้มน้ำล้างมือและเท้าให้บิดามารดา
ตัวเองก็กินผลไม้ที่เหลือจากบิดามารดาแล้ว
มีความสุขสงบด้วยกัน ๓ คน เป็นที่ตื้นตันแก่บิดามารดานัก
เคราะห์กรรม
ต่อมาได้มีพระเจ้ากบิลยักราช กษัตริย์กรุงพาราณสีได้เสด็จตามลำพัง
เพื่อมาล่าสัตว์ในป่าด้วยความโปรดปราน
ครั้นเมื่อพระราชาเสด็จประพาสผ่านมาทางแม่น้ำมิคสัมมตา
ทรงพบ เห็นรอยเท้ากวางมากมาย จึงหลบซุ่มในพุ่มไม้หวังยิงกวาง
ซึ่งในไม่ช้าหมู่เนื้อและกวางต่างก็ตามสุวรรณสาม
มาที่ริมแม่น้ำราวกับเป็นบริวารที่จงรัก
พระราชามิเคยเห็นว่าจะมีผู้คนอยู่ในป่าลึกแห่งนี้
อีกทั้งความสง่างามของสุวรรณสาม พระราชาจึงทรงดำริว่า
“เออหนอ คนผู้นี้เป็นคนหรือเทพยาแห่งป่าหิมวันต์กันหนอนี่
หรือว่าเป็นนาคป่า หากเราเข้าไปใกล้คงจะเหาะเหินหายไป
สู้เรายิงให้บาดเจ็บดีกว่าจะได้เข้าไปดูให้รู้แน่”
ดำริดังนั้นพระราชาจึงทรงธนูอาบพิษ
แล้วน้าวคันศรยิงลูกธนูเล็งไปทางสุวรรณสาม
ที่กำลังตักน้ำขึ้นแบกบ่าพอดี
ลูกธนูปักเข้าที่ร่างของสุวรรณสามหมู่ฝูงสัตว์ตกใจหนีกันไปสิ้น
สุวรรณสามยกหม้อน้ำจากบ่าลงวางบนทรายแล้วร้องออกไปว่า
“ผู้ใดยิงเราขอให้ออกมาเถิด เราไม่ใช่เนื้อใช่สัตว์
ท่านจะยิงเพื่อประโยชน์ใดกัน ท่านจงออกมาเถิด
เราไม่ทราบว่าท่านต้องการอะไรจากเรา”
พระราชาสดังฟังดังนั้นก็ประหลาดพระทัย
ที่เห็นบุรุษหนุ่มรูปงามถูกยิงแล้วยังไม่ก่นด่าเคืองแค้น
กลับร้องเรียกด้วยถ้อยคำอ่อนโยน
พระราชาจึงเสด็จออกมาและตรัสว่า
“เราคือพระราชาแห่งเมืองพาราณสีมีความชอบธรรมและช่ำชองในเชิงธนู
เจ้าละเป็นใครกันอยู่ในป่านี้กับใครบ้าง”
“ขอพระราชาทรงมีพระชนมายุยืนนานเถิด
ข้าพระองค์ชื่อสุวรรณสามเป็นบุตรของฤาษี
มิทราบว่าทำไมพระองค์จึงยิงข้าพระองค์เช่นนี้
ช้างถูกยิงเพื่อเอางา เสือถูกฆ่าเพื่อเอาหนัง
และพระองค์ทรงต้องการอะไรในตัวข้าพระองค์เล่า”
“ก็เพราะเจ้าเดินมา ฝูงเนื้อกวางจึงแตกตื่นอลหม่าน
เราตั้งใจจะยิงสัตว์” พระราชาทรงตรัสมุสา
“พระองค์มิอาจกล่าวนั้น ตั้งแต่ข้าพระองค์เกิดมา
ฝูงสัตว์ในป่าไม่เคยกลัวข้าพระองค์เลยแม้แต่น้อย
ไปไหนก็ยังตามไปด้วยกันดั่งเพื่อน
ข้าพระองค์ถูกยิงดังนี้สงสารก็แต่บิดามารดา
ซึ่งตาบอดอยู่ลำพังมิอาจตักน้ำเองได้”
พระราชาสดับฟังดังนั้นก็รีบถามความเป็นไป
สุวรรณสามจึงกราบทูลว่าตนมีบิดามารดาที่ดวงตามืดบอด
และตนเองต้องปรนนิบัติบำรุง แม้จะมีอาหารอยู่อีก ๗ วัน
แต่น้ำก็ไม่มีและคงจะเฝ้าห่วงเรียกหาตนผู้เป็นบุตรที่หายไปอย่างนี้
พระราชาทอดพระเนตรดูบุรุษกตัญญูที่นอนจมกองเลือดรำพันถึงแต่บิดามารดา
ก็ทรงสลดหดหู่ใจและสำนึกในผิดที่ทำร้ายบุตรผู้ประพฤติเลิศล้ำเพียงนี้
จึงทรงตรัสด้วยดำริจะเปลื้องบาปของพระองค์ว่า
“ดูกร พ่อหน่มที่น่าสงสาร เราผิดนักที่ยิงเจ้าเช่นนี้ เจ้าอย่าห่วงกังวลใดเลย
เราจะเลี้ยงดูบิดามารดาของเจ้าให้เหมือนกับที่เจ้าบำรุงเลี้ยง
เจ้าจงบอกทางไปอาศรมของบิดามารดาให้เราด้วยเถิด”
“เป็นพระคุณยิ่งนักแล้ว”
เมื่อสุวรรณสามชี้ทางบรรณศาลาแล้วก็แน่นิ่งไป
พระราชาทรงสลดใจยิ่งนักกับบาปที่พระองค์ก่อขึ้น
ทรงโปรยมวลดอกไม้ปะพรมน้ำและทำทักษิณา ๓ รอบ
ก่อนแบกหม้อน้ำกลับไปยังอาศรมฤาษี
แต่ฝีเท้าที่แตกต่างกันนั้น
ทำให้ดาบสและดาบสินีรู้ว่ามิใช่สุวรรณสามจึงเอ่ยว่า
“ท่านเป็นใครกันหนอ ท่านมิใช่บุตรเราเป็นแน่”
พระราชาคิดจะดูแลดาบสทั้งสองแทนสุวรรณสาม
แต่เมื่อถูกล่วงรู้เช่นนั้นจึงทรงยอมรัยว่า
“เราคือพระราชาแห่งพาราณสี มีวิชาธนูเป็นที่เลิศล้ำ”
“โอ พระราชาเสด็จป่า ขอพระองค์ทรงเสวยผลไม้เล็กน้อยนี้เถิด
และมีน้ำเย็นที่ลูกสามของข้าพระองค์ไปตักมาจากแม่น้ำด้วย
เดี๋ยวบุตรข้าพระองค์ก็คงจะกลับมาถึงแล้วพระเจ้าข้า”
พระราชาจึงตรัสความจริงว่า
พระองค์ยิงสุวรรณสามตายแล้ว
และพระองค์จะเป็นผู้บำรุงปฏิบัติแทนเองเพื่อไถ่บาปกรรมนี้
นางปาริกาได้ฟังดังนั้นก็ร่ำไห้คร่ำครวญ
แต่ทุกูลดาบสก็กล่าวต่อนางว่ามิให้ถือบาปต่อพระองค์อีกเลย
แล้วทั้งสองก็ขอให้พระราชาพาตนไปยังศพของสุวรรณสาม
ครั้นไปถึงริมฝั่งแม่น้ำ
นางปาริกาดาบสินีก็ยกเท้าของสุวรรณสามขึ้น
วางบนตักนางพรางทุกขเวทนา
“ลูกสามเอ๋ย ใครเลยจะดูแลปัดกวาดอาศรม ตักน้ำตักท่า
หาผลไม้มาให้พ่อแม่อีก ถ้าเจ้ามาจากไปอย่างนี้”
ขณะพร่ำอาดูรลูบคลำบุตรรัก
นางก็พบว่าอกของพระสุวรรณสามยังอุ่นอยู่
จึงตั้งจิตทำสัจกิริยาแก่บุตร
ขณะที่ตั้งสัตย์อธิฐานเทพธิดาซึ่งเป็นมารดาของสุวรรณสามปางก่อน
ก็มาร่วมผสานจิตใจด้วย ทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินีก็อธิษฐานว่า
“เราผู้เป็นบิดามารดาของสุวรรณสาม มีความเศร้าโศกเป็นที่ยิ่งนัก
เราขอประกาศสัจจะว่า บุตรเราเลี้ยงดูบิดามารดาและประพฤติชอบธรรม
ขอให้อานุภาพบุญกุศลของบุตรเรา
ดลบันดาลให้พิษในตัวบุตรเราจงหายสิ้นไปด้วยเถิด”
ด้วยอำนาจอธิษฐานและแรงภาวนาแห่งสัจจวาจา
ในที่สุดสุวรรณสามก็ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
พร้อมกันนั้นดวงตาทั้งสองของบิดามารดาสุวรรณสาม
ก็พลอยสว่างไสวมองเห็นได้ดังเดิมอีกด้วย
พระราชาเห็นดังนั้นจึงทรงตรัสอย่างปิติว่า
“แม้เทวดาก็ยังมาคุ้มภัย
ให้แก่คนปฏิบัติต่อบิดามารดาอย่างชอบธรรมเช่นนี้
นับเป็นที่น่าสรรเสริญยิ่งนัก”
ฝ่ายสุวรรณสามก็กราบทูลกษัตริย์กบิลยักขราชว่า
การที่ตนฟื้นคืนสติมาได้นั้นด้วยเพราะอานิสงส์ผลบุญ
ในการที่ปรนนิบัติเลี้ยงดูมารดาบิดาให้เป็นอยู่สุขสบาย
แลตัวพระองค์ผู้เป็นราชานั้นก็เสมือนดั่งร่มไม้ใหญ่
ที่ต้องแผ่ร่มเงาแก่ผู้คนทั้งปวง
ดังนั้นพระองค์สมควรจะปฏิบัติอย่างดีต่อพระราชบิดาพระราชมารดา
รวมไปถึงเหล่าโอรสธิดาและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง
ให้พวกเขาเกิดความสงบสุขสบายทั่วหน้า
สุวรรณสามยังทูลขอให้พระองค์บำรุงเหล่าสมณพราหมณ์
มีเมตตาต่อสรรพสัตว์ ตั้งอยู่ในกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต คือ
การทำดี พูดดี และคิดดีนั่นเอง
หากประพฤติให้งดงามดั้งนี้พระองค์ก็ย่อมมีเทวดารักษาคุ้มครอง
และได้ไปเสวยสุขในภพสวรรค์ต่อไป
พระราชาสดับฟังแล้วเกิดศรัทธาและสำนึกในสัจธรรมนั้น
พระราชาทรงขออภัยสุวรรณสาม แล้วเสด็จกลับนคร
ทรงเลิกการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและบำเพ็ญกุศลอย่างมุ่งมั่นมิเคยขาดหาย
สุวรรณสามก็ได้บำรุงปรนนิบัติบิดามารดา
และบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ตราบจนสู่ห้วงภพสุคติ
คติธรรมในชาดกนี้ว่าด้วยเรื่องของความมีเมตตาจิต
ซึ่งจะทำให้ชีวิตสุขสงบได้โดยไร้ภยันอันตรายใด ๆ
ธรรมนั้นคือเกราะแก้วมิให้ถูกผู้ใดทำร้ายได้เป็นแน่แท้
ทศชาติที่ ๔ พระเนมิราช…
รายละเอียด : ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงบิณฑบาตแล้วเสด็จประทับ
ณ อัมพวัน สวนมะม่วง กรุงมิถิลา และพระอานนท์กับ
พระภิกษุทั้งมวลได้กราบทูลอาราธนาให้พระองค์
ทรงโปรดปรานเล่าเรื่องอดีตชาติดังต่อไปนี้
เมื่อครั้งอดีตกาล พระพุทธเจ้าทรงเสวยพระชาติเป็นพระราชาครองมิถิลานคร
มีพระนามว่า “มะฆะเทวราช”
ซึ่งการครองบัลลังก์ของราชวงศ์นี้จะเป็นไปตามสัตย์อธิษฐานว่า
เมื่อเกศาหงอกเมื่อใดก็จะทรงออกผนวชและยกราชสมบัติให้พระราชโอรสต่อไป
ดังนั้นเวลาที่ช่างภูษามาลามาตบแต่งพระเกศาพระราชาก็จะทรงรับสั่งเสมอว่า
ถ้ามีพระเกศาหงอกก็จงทูลให้ทรงทราบด้วย
เทพบุตรจุติ
ยามนั้นเทพบุตรบนสวรรค์นาม “เนมิราช”
เล็งเห็นว่าราชวงศ์กษัตริย์นี้อาจจะมิมีผู้ใดสืบสันติวงศ์ต่อไป
จึงจุติลงมากำเนิดในครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้ามะฆะเทวราช
เมื่อประสูติออกมาก็ได้รับพระนามว่า “เนมิราช”
ด้วยว่าเหล่าพราหมณ์คิดว่าพระราชโอรสประสูติมาแล้ว
ก็ต้องกระทำตามกฎสัตย์อธิษฐานของราชวงศ์ที่ต้องขึ้นครองราชย์
และก็ต้องออกบรรพชาเมื่อพระเกศาหงอกแล้ว
พระเนมิราชเมื่อทรงเยาว์ก็มีพระทัยเปี่ยมด้วยเมตตาธรรมทรงตั้งโรงให้ทาน
และพระราชทานทรัพย์วันละหลายแสน พระองค์เองก็ทรงถือศีล ๕
ประพฤติปฏิบัติธรรมเคร่งครัด
ต่อมาพระเนมิราชทรงได้ขึ้นครองราชย์แทนพระบิดาซึ่งออกบรรพชาไปแล้ว
พระองค์ทรงสงสัยเรื่องการให้ทานกับการถือศีลว่าอานิสงส์สิ่งใดจะมากกว่ากัน
พระอินทร์จึงเสด็จจากทิพย์อาสน์ลงมายังห้องบรรทมของพระเนมิราช
แล้วตอบความคลางแคลงพระทัยนั้นว่า
“ดูกรสมมติเทพ ผลบุญของการถือศีลนั้นมากกว่าการให้ทานหลายร้อยเท่า
หากถือศีลเจริญสมาธิแล้วก็จะได้นิพพาน ไปเกิดในพรหมโลก
ดังนั้นขอให้ท่านจงอุตสาหะหมั่นถือศีลมิรู้เสื่อมสิ้น”
เมื่อพระเนมิราชสดับฟังดังนั้นก็นิมนต์สงฆ์มาเทศนาสั่งสอน
ไฟร่ฟ้าข้าแผ่นดินเนือง ๆ พระองค์เองก็รักษาศีล
และพร่ำอบรมให้เสนาอำมาตย์และพสกนิกรถือศีลให้เคร่งครัด
เสด็จชมสวรรค์-นรก
บรรดาไฟร่ฟ้าเมื่อตายไปก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดาในพรหมโลก
ต่างก็สำนักว่าเป็นเพราะพระเนมิราชสั่งสอนให้ตน
รักษาศีลรักษาธรรมนั่นเอง จึงอยากชมพระบารมีพระเนมิราช
พระอินทร์จึงให้พระมาตุลีเทพบุตรเทียมเวชยันต์ราชรถลงไปยังมิถิลาพระนคร
เพื่อเชิญเสด็จพระเนมิราชขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงษ์
พระเนมิราชทรงลาเสนาอำมาตย์ขึ้นราชรถไป
ครั้นถึงระหว่างทางพระมาตุลีเทพบุตรจึงกราบทูลว่า
“พระองค์จะเสด็จสู่นรกภูมิก่อนหรือไม่ บรรดาสัตว์ที่กระทำบาป
หยาบช้าเมื่อพบพระองค์บำเพ็ญกุศลศีลทาน อาจได้ไปเกิดในสวรรค์บ้าง”
“ถ้าเช่นนั้น ท่านจงพาเราไปชมนรกก่อนเถิด จากนั้นค่อยไปทางสวรรค์”
เมื่อพระเนมิราชตกลงดังนั้น พระมาตุลีเทพก็นำเสด็จไปยังชั้นนรก
ในภูมินรกนั้นมีธารน้ำอันเดือดเป็นนิจ
มีเปลวรุ่งโรจน์แผดเผาให้เร่าร้อนมิมีวันดับ
นายนิรยบาลก็ยืนถือดาบใหญ่และหอกยาวคอยทิ่มแทง
สัตว์นรกทั้งปวงเมื่อเจ็บปวดก็กระโดดลงแม่น้ำเวคะตะระณีนัทที
ซึ่งมีแต่หนามหวายคมดั่งกรด
เมื่อถูกเนื้อตัวส่วนใดเนื้อก็ขาดแหว่งทันที
หากหนีจากหนามหวายก็เจอฉมวกหลาวเสียบเข้าร่างกาย
ตกลงไปสู่บัวเหล็กก็ถูกบาดให้ขาดเป็นท่อน
ตกลงไปในน้ำร้อนเดือดเป็นพวยพุ่ง หนีขึ้นฝั่งก็ถูกทิ่มแทงสกัดไว้
มีคีมคีบถ่านแดงใส่ปากให้แสบร้อนทุรนทุราย
เป็นนรกขุมที่คนผู้เคยรักแกคนที่อ่อนแอกว่าต้องมารับกรรม
อีกด้านหนึ่งมีสุนัขตัวดั่งช้างคอยไล่กัดกิน
มีนกแร้งคอยรุมแทะไส้พุงและกระดูก
เหล่าสัตว์นรกร่างกายฉีกขาด
ต่างก็ร่ำร้องคร่ำครวญโหยหวนไปทั่วทุกแห่ง
คนที่ฆ่าสัตว์หรือทำร้ายสัตว์ก็จะถูกหิ้วคอด้วยพรนเหล็ก
ถูกกวัดแกว่งแล้วโยนใส่น้ำร้อนจนตายไป
ไม่นานก็ฟื้นใหม่มาถูกรัดคอจนตายแล้วตายอีก
คนที่เคยคดโกงเงินทาน
ก็จะถูกโยนลงไปในถ่านเพลิงให้ไฟไหม้ท่วมตัว
คนที่ใจบาปหยาบช้า ก็จะถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กจนตัวแหลกราญ
ร่างลุกเป็นเปลวไฟดิ้นพล่านอย่างปวดแสบเจ็บแสน
คนที่ฆ่าบุพการี ก็จะกลายเป็นสัตว์นรกเหม็นเน่า
ต้องดื่มกินเลือดหนองของตัวเองต่างน้ำยามหิวกระหาย
คนที่มีชู้ ก็ถูกไล่ทิ่มแทงให้ปีนต้นงิ้วที่เต็มไปด้วยหนามแหลมคม
ตกลงมาก็ถูกฝังทับด้วยภูเขาเหล็กจนร่างปี้ป่น
เกิดเสียงดังกำปนาทน่าระทึกหวาดผวา
นรกขุมต่าง ๆ ๑๕ ขุมนั้นมีดังนี้คือ
เวตรณีนรก นรกสุนัข นรกทองแดง นรกหม้อทองแดง
นรกถ่านเพลิง นรกโซ่ทองแดง นรกแหลมหลาว นรกทุบตี
นรกแม่น้ำแกลบ นรกน้ำหนอง นรกคูถ นรกเป็ด
นรกสัตว์อุบาทว์ นรกบ่อไฟ นรกภูเขา-เหล็กไฟ
ภาพขุมต่าง ๆ ในนรกทั้ง ๑๕ ขุมทำให้พระเนมิราชสลดหดหู่พระทัย
และประหวั่นพรั่นพรึงยิ่งนัก ขณะนั้นองค์อินทร์ได้ส่งเทวบุตรมาเตือน
ให้พระมาตุลีเทพรีบเชิญเสด็จพระเนมิราชสู่ภพของสวรรค์
ด้วยเกรงว่าเวลาของพระชนมายุจะหมดลงเสียก่อน
หากใช้เวลาในนรกภูมินานเกินไป
พระมาตุลีเทพบุตรจึงขับรถเวชยันต์สู่สวรรค์
บนชั้นวิมานแมนนี้ มีเทพธิดาเทพบุตรมากมาย
คนบางคนเคยเป็นทาสรับใช้พราหมณ์
ได้รับทรัพย์จากพราหมณ์นำไปซื้อเครื่องไทยทานถวายภิกษุ
เมื่อตายก็ได้จุติเป็นนางฟ้านางสวรรค์
พระมาตุลีเทพบุตรได้นำราชรถเสด็จผ่านสวรรค์ทั้ง ๗ ขั้น
แต่ละชั้นวิมานนั้นมีแต่แสงรุ่งเรืองพราวพราย
ดั่งรัศมีทรงกลดของดวงอาทิตย์
ในวิมานแก้ววิมานทองนั้นมีเทวบุตร ๑ องค์
แวดล้อมพร้อมพรักด้วยเหล่านางอัปสร
เทวบุตรในวิมานหนึ่งเคยเป็นคหบดีนาม “โสณทินนะ”
อยู่ที่เมืองกาสักราช ได้หมั่นทำบุญสร้างอุโบสถ ๗ อุโบสถ
ถวายจตุปัจจัยทั้ง ๔ แก่ภิกษุสงฆ์
จิตใจยึดมั่นรักษาศีลประพฤติชอบด้วยธรรม
เมื่อดับจิตแล้วจึงมากำเนิดเป็นเทวบุตรอยู่ในวิมานแก้วดังนี้เอง
เมื่อเล่าความแต่ละหนทางที่เคลื่อนรถผ่านแล้ว
พระมาตุลีเทพก็นำเสด็จพระเนมิราชไปชมวิมานแก้วสูง ๒๕ โยชน์
ประดับ ๗ แก้วแวววาว ฉัตรเงินฉัตรทองส่องแสงรุ่งรัศมี
มีสระโบกขรณีที่ผนังล้วนเป็นผลึกแก้ว
มีเทพบุตรเทพธิดาเสพย์ทิพย์อยู่ทั่วสถาน
พระเนมิราชทรงตรัสถามว่า
เทพเหล่านั้นประพฤติชอบใดเมื่อยังเป็นมนุษย์
พระมาตุลีเทพบุตรกราบทูลว่า
เทพเหล่านี้เมื่อเป็นมนุษย์ได้รักษาศีลบำเพ็ญทานอยู่ตลอดชีวิต
เมื่อตายจึงได้มาเกิดเป็นเทพอยู่บนวิมานชั้นนี้
วิมานแก้วไพฑูรย์และวิมานแก้วผลึกก็เป็นของเทพที่เคยบริจาค
ถวายจีวรให้สงฆ์ในฤดูหนาว วิมานทองนั้นเป็นของเทพที่เคยรักษาศีล
ถวายทานบิณฑบาตให้ทานคนยากไร้อนาถา สร้างพระอารามถวายสงฆ์
ในแต่ละชั้นวิมานมีแต่เสียงมโหรีไพเราะ
และกลิ่นหอมฟุ้งขจรของมวลพฤกษาบุปผชาติสวรรค์
แต่มิทันจะครบถ้วนทุกวิมานพระอินทร์จึงให้มหาชวนะเทพบุตร
มาตามด้วยเกรงว่าจะหมดพระชนมายุพระเนมิราชเสียก่อน
พระมาตุลีเทพบุตรจึงขับราชรถผ่านภูเขาและแม่น้ำสีทันดร
ซึ่งมีสายน้ำลึกนักมิอาจมีสิ่งใดข้ามได้แม้แต่เรือ แพ
หรือเกล็ดแววนางนกยูง ริมน้ำมีเขา ๗ ชั้น
เรียงดั่งอัฒจันทร์ เป็นที่อยู่ของกินนร
วิทยาธร คนธรรพ์ และยักษ์
หน้าประตูชั้นดาวดึงส์มีรูปพระอินทร์ประดิษฐ์ไว้
ในเมืองกว้างกว่า ๑ หมื่นโยชน์ เหนือยอดเขาพระสุเมรุ
ล้อมรอบด้วยซุ้มทวารแก้วและกำแพงทองประดับแก้ว ๗ ประการ
พื้นทั่วไปนั้นมิมีฝุ่นผง มีแต่มวลบุปผานานาพันธุ์ออกดอกโต
และส่งกลิ่นหอมรวยรินทั่วทุกหน
พระเนมิราชถูกเชิญเสด็จสู่โรงสุธัมมาเทวสถาน
เหล่าทวยเทพยดาและเทพธิดาพากันนำดอกไม้
และเครื่องหอมทิพย์มาสักการะบูชาพระเนมิราช
และอันเชิญเสด็จให้เสวยสิริสุขอยู่บนสรวงสวรรค์
อันเป็นทิพย์นิรันดร์
หากทว่าพระเนมิราชทรงตรัสว่า
“เรามิมีประสงค์เช่นนั้น
เราได้เห็นผลกรรมของมนุษย์ที่น่าทุกขเวทนายิ่งนัก
ให้รู้สึกสลดหดหู่ใจเหลือเกิน และเราก็ปีตินัก
ที่ได้เห็นคนได้ผลบุญจนมาเสวยสุขในชั้นวิมาน
เราจึงปราถนาจะได้สั่งสอนคนให้รู้จักประกอบคุณงามความดีไว้
เพื่อมิต้องมาตกนรกหมกไหม้ดังนี้”
จากนั้นพระเนมิราชก็ทรงแสดงธรรมและสรรเสริญพระมาตุลีเทพบุตร
แล้วจึงร่ำลากลับมายังเมืองมนุษย์
พระเนมิราชทรงตรัสเล่าเรื่องราวที่ทรงทอดพระเนตรมาในเมืองนรก
และเมืองสวรรค์อย่างละเอียดให้แก่ข้าราชบริพารและชาวเมือง
เมื่อได้ฟังความน่ากลัวของนรกและความงดงามของสวรรค์แล้ว
เหล่าชาวเมืองก็ตื้นเต้นและตระหนักในเรืองบุญและกรรมกันยิ่งขึ้น
พระเนมิราชได้ทรงปฏิบัติมโนปณิธานของพระองค์
รักษาศีลส่งสอนไพร่ฟ้าเสนาอำมาตย์ให้หมั่นทำความดีทำการกุศลมิได้ขาด
แล้วจึงเสด็จออกบรรพชาอยู่ในอัมพวันอุทยานของมิถิลาพระนคร
และได้เสด็จจุติในสวรรค์ชั้นฟ้าเมื่อทรงสวรรคตแล้ว
เนมิราชชาดกเรื่องนี้มีคติธรรมสอนถึงการหมั่นรักษาความดี
ประพฤติชอบโดยตั้งใจ โดยมุ่งมั่น หากทำความดีแล้วย่อมได้ดี
ประพฤติชั่วย่อมได้ผลชั่วตอบแทน นี้เป็นเรื่องที่สมควรยึดมั่นโดยแท้
ทศชาติที่ ๕ พระมโหสถ…
รายละเอียด : บรรดาพระภิกษุที่มาประชุมสรรเสริญพระปัญญาบารมี
ของพระบรมศาสดา ณ เชตวันวนารามได้กราบทูล
ขอให้พระองค์ทรงประทานเล่าเรื่องอดีตชาติ
เมื่อครั้งพระองค์ทรงเสวยพระชาติ
เป็นผู้ประพฤติเพื่อประโยชน์โพธิญาณ
พระพุทธเจ้าทรงโปรดเป็นพระธรรมเทศนาดังนี้
เมื่อครั้งสมัยอดีตกาล
กรุงมิถิลามีพระราชาองค์หนึ่งพระนาม “วิเทหะ”
พระองค์ทรงมีราชบัณฑิต ๔ คน มีนามว่า
เสนกะ ปุตกุสะ กามินท์ และเทวินทะ
เป็นราชบัณฑิตประจำสำนักคอยถวายทางธรรมแก่พระราชานานมา
คืนหนึ่ง พระเจ้าวิเทหะทรงสุบินว่า
มีกองไฟกองใหญ่สุมโชนโชติช่วงอยู่ที่มุมพระลานมุมละ ๑ กอง
และตรงกลางพระลานมีกองไฟน้อย ๑ กอง ที่ลุกรุ่งโรจน์กว่าไฟกองใหญ่
บรรดาเทวะและผุ้คนต่างก็มาสักการบูชากองไฟนั้นด้วยบุปผชาติ
และเครื่องหอมนานา เมื่อสะดุ้งตื่นบรรทมขึ้นมาพระราชาจึงให้ ๔ บัณฑิต
แห่งสำนักทำนายพระสุบินนั้น
ราชบัณฑิตทั้ง ๔ ถวายคำทำนายว่า
ในมิถิลาจะมีคนมีบุญญาธิการมากำเนิด
คือกองไฟกองน้อยกลางลานนั้นเอง
และที่ลุกโชนรุ่งโรจน์ยิ่งกว่า ๔ กองไฟมุมพระลานนั้น
ก็หมายความว่าบัณฑิตผู้เปี่ยมบุญนั้นจะมีปัญญาเหนือกว่าพวกตน
คือบัณฑิตทั้ง ๔ แห่งพระนครนี้อีกด้วย
ในเวลานั้น ทางทิศตะวันออกของนคร
มีบ้านของเศรษฐีนาม “สิริวัฒกะ” และนางสุมนาเทวีผู้ภรรยา
ได้คลอดทารกชายที่มีผิวเปล่งปลั่งดั่งทองทา
อีกทั้งในมือทารกน้อยยังถือแท่งโอสถติดมา ๑ แท่ง
เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
อันตัวเศรษฐีสิริวัฒกะผู้มีโรคปวดศีรษะเรื้อรังมา ๗ ปีแล้ว
เมื่อได้แท่งยานั้นทาศีรษะก็ปรากฎว่าโรคหายขาดทันตาเห็น
อานุภาพของยานี้ทำให้ผู้คนต่างพากันมาขอยาวิเศษนี้กันทั่วถ้วน
กุมารน้อยสร้างศาลาธรรม
กุมารน้อยนี้จึงได้นามว่า “มโหสถ”
และในวันที่กำเนิดก็มีเด็กกำเนิดพร้อมกันอีก ๑ พันคนด้วย
เด็กทั้งพันคนต่างก็ได้ของกำนัลจากเศรษฐีสิริวัฒกะ
เพื่อเป็นมงคลโดยทั่วกัน
เมื่อพระมโหสถอายุ ๗ ปีเต็ม
พระมโหสถเล่นหัวกับเพื่อน ๆ ทุกวันก็เห็นว่าถูกแดดถูกฝน
จึงให้ทุกคนนำเงินมาคนละ ๑ ตำลึง รวบรวมได้ ๑๐๐๐ ตำลึง
จึงนำไปให้ช่างสร้างศาลาเป็นส่วน ๆ
ในศาลานั้นมีห้องสำหรับหญิงอนาถามาคลอดทารก
ห้องสำหรับสมณพราหมณ์มาพักพิง
ห้องสำหรับคนเดินทางแวะพักและห้องสำหรับเล่นกัน
รวมเป็น ๔ ห้องใหญ่
ภายในศาลาก็ให้มีภาพจิตรกรรมผนัง รอบศาลาให้ขุดสระบัว
ปลูกสวนไม้ดอกให้ชื่อว่า “สวนนันทวัน”
ฝ่ายพระราชานั้นก็ให้ราชบัณฑิตทั้ง ๔
ออกตามหาเด็กผู้มีบุญที่ทรงสุบินเมื่อ ๗ ปีก่อน
เสนกะบัณฑิตไปทางตะวันออก ก็พบบุตรเศรษฐีสร้างศาลา
และเปิดวินิจฉัยคดีความแก่ชาวบ้านอยู่เนือง ๆ
จึงไปกราบทูลพระราชาทราบ
พระราชาเชื่อมั่นว่าเด็กคนนี้แหละคือผู้มีบุญญาธิการแน่
แต่เสนกะบัณฑิตกลับทูลคัดค้าน
ด้วยเกรงจะมีบัณฑิตอื่นที่มาเป็นปราชญ์แทนที่หรือเหนือกว่าตน
จึงทูลว่ายังไม่อาจกล่าวได้ว่ามีปัญญาบารมีจริง
พระราชาจึงทรงยับยั้งไม่รับตัวพระมโหสถเข้าวัง
แต่ทรงให้เสนาอำมาตย์ไปเฝ้าดูปัญญาบารมีของพระมโหสถ
แล้วให้นำเรื่องราวมากราบทูลเพื่อความมั่นพระทัย
เรื่องราวต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้
แสดงปัญญาเป็นที่เลื่องลือ
“เรื่องชิ้นเนื้อ”
มีความเป็นมาว่าเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบเอาชิ้นเนื้อบนเขียงสัตว์
แล้วบินผ่านมายังกลุ่มเด็ก ๆ ที่เล่นสนุกกันอยู่
เด็ก ๆ อยากจะได้ชิ้นเนื้อนั้นก็วิ่งกันจะแย่งคว้าเอา
แต่ต้องล้มคะมำคว่ำไปกันทั่ว
พระมโหสถจึงออกวิ่งราวกับลมแล้วตวาดเสียงกึกก้อง
จนเหยี่ยวตกใจทิ้งชิ้นเนื้อบินหนีไป
เด็ก ๆ และชาวบ้านต่างก็โห่ร้องสรรเสริญอย่างอัศจรรย์นัก
เมื่อราชบุรุษกราบทูลเรื่องที่ ๑ นี้
พระราชาทรงพอพระทัยนักแต่เสนกะบัณฑิตก็ทรงทูลยับยั้งอีก
และให้เฝ้าดูต่อไปก่อนดีกว่าเด็กมโหสถมีปัญญาเป็นบัณฑิตได้หรือไม่
“เรื่องโค”
มีความเป็นมาว่า โคตัวหนึ่งถูกลักขโมยไป
คน ๒ คนต่างก็อ้างเป็นเจ้าของโคตัวนั้น
เมื่อให้พระมโหสถตัดสินที่ศาลา พระมโหสถถามโจรว่า
ให้ของสิ่งใดเลี้ยงวัวของตน
โจรตอบว่าเลี้ยงด้วยข้าวยาคู แป้ง และงา
ส่วนเจ้าของผู้ยากจนตอบว่า
เลี้ยงโคด้วยหญ้า พระมโหสถจึงสั่งคนให้ตำใบประยงค์ผสมน้ำ
กรอกปากโคจนโคอาเจียนออกมาเป็นหญ้า พระมโหสถจึงตัดสินว่า
เจ้าของตัวจริงคือผู้ที่ตอบว่าเลี้ยงโคด้วยหญ้านั่นเอง
เหล่าชาวบ้านก็จะรุมตีและส่งเจ้าหน้าที่
พระมโหสถจึงอบรมสั่งสอน
ให้โจรทำความดีกลับใจใหม่และปล่อยตัวไป
เมื่อราบบุรุษทูลพระราชาเรื่องนี้เสนกะบัณฑิตก็ยังทูลคัดค้านว่า
เรื่องนี้ยังมิอาจยืนยันได้ว่ามีปัญญาบารมีดั่งบัณฑิต
พระราชาจึงทรงให้ไปเฝ้าดูเรื่องต่อไปอีก
“เรื่องสร้อยคอ”
มีความเป็นมาว่า
หญิงอนาถาถอดสร้อยคอที่ถักเป็นหลากสีเป็นปล้องไว้ก่อนลงสระน้ำ
ดรุณีนางหนึ่งเพิ่งเจริญวัยก็ชอบใจ
จึงเข้ามาสนทนาแล้วคว้าเอาสร้อยคอไปใส่แล้วชิงแย่งไป
ครั้งหญิงอนาถาแย่งคืน ดรุณีน้อยก็อ้างว่าเป็นของตน
เมื่อแย่งชิงวิวาทกันไม่สำเร็จจึงมาให้พระมโหสถตัดสินความ
พระมโหสถจึงถามดรุณีว่า
ถ้าสร้อยคอเป็นของนางแล้วนางย้อมสีด้วยอะไร
ดรุณีผู้ขโมยตอบว่า ย้อมด้วยของหอมนานาชนิด
ส่วนหญิงยากจนตอบว่าย้อมด้วยดอกประยงค์
พระมโหสถจึงให้คนเอาอ่างน้ำมาและให้ถอดสร้อยคอแช่อ่างน้ำ
ปรากฎว่าในน้ำมีแต่กลิ่นดอกประยงค์อย่างเดียว
เพราะหญิงยากจนมิอาจหาเครื่องหอมกำยานมาย้อมไ
พระมโหสถจึงตัดสินได้ว่าสร้อยคอเป็นของหญิงอนาถา
เมื่อราชบุรุษไปกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ
เสนกะบัณฑิตก็ทูลยับยั้งอีก โดยอ้างว่าให้พระราชารอดูต่อไปก่อนว่า
มโหสถจะแสดงปัญญาบารมีอะไรที่ดีกว่านี้อีก
เพราะเรื่องนี้ถือว่าใช้ปัญญาเล็กน้อยเท่านั้น
“เรื่องกลุ่มด้วย”
มีความเป็นมาว่าหญิงชาวไร่ฝ้าย
เก็บดอกฝ้ายมาหีบแล้วปั่นเป็นด้าย
แล้วนำเม็ดมะพลับมาทำเป็นแกนพันด้าย
ครั้นลงอาบน้ำในสระโบกขรณีก็วางกลุ่มด้ายไว้
หญิงหนึ่งผ่านมาเห็นกลุ่มด้ายก็คว้าเอาไป หญิงเจ้าของจะขอคืน
หญิงนั้นก็อ้างว่าเป็นของตัว เมื่อพระมโหสถตัดสินความจึงได้ถามว่า
แกนด้ายเป็นอะไร หญิงขโมยตอบว่าเอาเมล็ดฝ้ายเป็นแกนพันด้ายไว้
หญิงเจ้าของตอบว่าเอาเม็ดมะพลับเป็นแกนพันด้ายไว้
เมื่อพระมโหสถให้คลี่ด้ายออกจนสิ้น
ก็พบว่าแกนในคือเม็ดมะพลับนั่นเอง
เมื่อพระราชสดับฟังจากราชบุรุษ
เสนกะบัณฑิตก็ทูลค้านว่าให้รอดูไปก่อนอีก
“เรื่องบุตร”
มีความว่ามารดาวางบุตรไว้ริมสระ
นางยักษ์คิดอยากได้ทารกน้อย
จึงแปลงกายเป็นหญิงแล้วชิงบุตรของมารดาไป
เมื่อพระมโหสถตัดสินความ
ก็รู้ว่าใครเป็นนางยักษ์เพราะนัยน์ตาไม่มีแวว
แต่ก็ต้องตัดสิ้นให้ชาวบ้านเห็นชัดแจ้ง
จึงให้คนขีดเส้นบนพื้นแล้วอุ้มทารกมาวางตรงกลางเส้นนั้น
ให้นางยักษ์จับเด็กด้านศีรษะ ให้มารดาจับเด็กด้านเท้า
แล้วสั่งให้ทั้ง ๒ หญิงนั้นฉุดดึงแย่งเด็กอย่างสุดแรง
ถ้าเด็กเลื่อนเข้าไปที่ด้านใครมากกว่าคนผู้นั้นก็จะได้เด็กไป
เมื่อ ๒ หญิงดึงเด็กได้ครู่หนึ่งเด็กก็ร่ำไห้
มารดาจึงหยุดดึงร้องไห้ปิ่มว่าใจจะขาด
พระมโหสถจึงให้ชาวบ้านตอบว่าผุ้ใดเป็นแม่ที่แท้จริง
ชาวบ้านก็ตอบว่าแม่เด็กย่อมมิอาจดึงลูกตนให้เจ็บปวด
นางยักษ์จึงสารภาพออกมาโดยสิ้น
“เรื่องโคธกาฬ”
มีความว่าบุรุษนามโคธกาฬมีผิวดำร่างเตี้ย
ชวนภรรยานามทีฆตาลาไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่ซึ่งจากมานาน ๗ ปีแล้ว
เมื่อเดินทางถึงแม่น้ำเชี่ยวกรากข้ามลำบากนัก
พอดีมีชายผู้หนึ่งร่างสูง ชื่อ ทีฆปิฏฐิ
ผ่านมาและอาสาพาข้ามน้ำโดยอ้างว่าต้องแบกขึ้นหลังพาข้ามทีละคน
เมื่อนายทีฆปิฏฐิพาภรรยาโคธกาฬข้ามไปแล้ว
ก็เกี้ยวพาราสีจนนางทีฆตาลายอมไปอยู่ด้วย
โคธกาฬแค้นใจจะกระโดดน้ำตาย
ครั้นพอกระโดดไปแล้วปรากฎว่าน้ำตื้นมาก
จึงวิ่งลุยน้ำตามไปจนทันคนทั้งสองแล้วเกิดวิวาทกัน
จนชาวบ้านนำพามาให้พระมโหสถตัดสิน
เพราะนายทีฆปิฏฐิอ้างว่าตนเป็นสามีตัวจริงของนางทีฆตาลา
พระมโหสถจึงเรียกโคธกาฬเข้าไปถามว่าพ่อแม่นางทีฆตาลาชื่ออะไร
แต่งงานกันที่ใด มีใครรู้เห็นเป็นพยาน
ซึ่งโคธกาฬตอบได้ทั้งสิ้น
ครั้นเรียกนายทีฆปิฏฐิไปถาม เขาก็ไม่สามารถตอบชื่อพ่อแม่
นางทีฆตาลาได้ จึงอ้างว่าอยู่กินกันเองมิได้แต่งงานมีพยานใด
เมื่อถึงนางทีฆตาลา นางก็อ้างว่าเป็นภรรยาของทีฆปิฏฐิ
แต่นางกลับตอบพระมโหสถไม่ได้ว่าสามีนางมีพ่อแม่ชื่ออะไร
แต่งงานกันที่ใดมีใครรู้เห็นบ้าง
ในที่สุดนางจึงยอมรับสารภาพว่าเป็นภรรยาโคธกาฬ
พระมโหสถจึงอบรมให้ซื่อสัตย์ต่อกันและสั่งสอนทีฆปิฏฐิ
มิให้ประพฤติผิดลูกเมียใครอีก
“เรื่องรถม้า”
มีความเป็นมาว่า ชายผู้หนึ่งถูกขโมยรถม้า
ซึ่งชายผู้เป็นขโมยนั้นแท้จริงคือพระอินทร์ปลอมมา
เพื่อจะประกาศปัญญาบารมีพระมโหสถให้ผู้คนประจักษ์
เมื่อทั้งสองถูกนำมาให้พระมโหสถพินิจความ
พระมโหสถก็ให้ทั้งสองบุรุษเกาะท้ายรถม้า
แล้วให้คนผู้หนึ่งขับรถทะยานไป เมื่อคนทั้งสองวิ่งตามรถม้า
ชายธรรมดาเจ้าของรถก็เหน็ดเหนื่อยมิอาจตามทันได้
ส่วนพระอินทร์นั้นวิ่งทันรถม้าโดยมิมีเหงื่อสักหยด
พระมโหสถจึงเอ่ยว่าท่านไม่ใช่คน แต่เป็นเทพมาขโมยรถม้าเพื่อเหตุใด
พระอินทร์จึงทรงสารภาพว่าเป็นเทพจริง
และมาเพื่อประกาศภูมิปัญญาของพระมโหสถให้ปรากฎ
จากนั้นพระอินทร์ก็คืนรถม้าแล้วเสด็จจากไป
เรื่องนี้เป็นที่เลื่องลือทั่วแคว้น
พระราชทรงคิดขอตัวพระมโหสถเข้าวัง
แต่เสนกะบัณฑิตก็ยังคัดค้านให้รออีก
“เรื่องท่อนไม้”
มีความเป็นมาว่าพระราชาวิเทหะ
ทรงคิดลองภูมิปัญญาพระมโหสถด้วยองค์เอง
จึงสั่งช่างให้กลึงไม้ตะเคียนท่อนหนึ่งแล้วส่งไปให้
พระมโหสถตอบว่าด้านไหนปลายด้านไหนเป็นต้น
ซึ่งก่อนหน้านี้พระราชาทรงลองปัญญา ๔ ราชบัณฑิต
แต่ทว่ามิมีผู้ใดตอบได้ ฝ่ายพระมโหสถนั้นก็ให้นำ
ไม้ตะเคียนแช่น้ำโดยมัดเชือกกลางท่อนไม้ไว้
ท่อนไม้ด้านที่จมลงน้ำมากกว่าก็คือด้านโคนต้น
และทางปลายต้นจึงเบากว่าและไม่จมน้ำ
“เรื่องงู”
มีความเป็นมาโดยพระราชาทรงทดลองเอง
ทรงให้พระมโหสถหาว่างูตัวใดเป็นตัวเมียตัวผู้
พระมโหสถก็ตอบได้ว่างูตัวที่หัวใหญ่หางใหญ่คืองูตัวผู้
งูตัวเมียหางเล็กตาเล็กและลวดลายขาดจากกัน
“เรื่องศีรษะ”
มีความเป็นมาว่าพระราชาให้พระมโหสถทายว่า
กะโหลกศีรษะ ๒ กระโหลกนั้นเป็นของเพศใดอันใด
พระมโหสถก็ชี้ได้ว่ากะโหลกที่มีแสกตรง คือกะโหลกของเพศชาย
และกะโหลกที่มีแสกคดคือกะโหลกของสตรีนั่นเอง
“เรื่องไก่”
มีความเป็นมาว่าพระราชารับสั่งให้ชาวบ้านส่งโคเผือก
มีโหนกที่ศีรษะและมีเขาที่เท้า ร้อง ๓ เวลา มาให้พระราชา
ซึ่งพระมโหสถก็ส่งไก่ไปถวาย
โดยชี้แจงว่าไก่มีกายขาวและมีเดือยที่ขา
มีหงอนไก่หรือโหนกที่ศีรษะ
และร้องขันเพียงวันละ ๓ หนเท่านั้น
“เรื่องดวงแก้ว”
มีความเป็นมาว่า
พระราชาให้ส่งดวงแก้วมณีที่สายร้อยเก่าขาดไปให้พระมโหสถ
รับสั่งให้ร้อยดวงแก้วนั้นให้ได้
พระมโหสถเห็นดวงแก้วซึ่งมีรูคดยากจะร้อยเช่นนั้น
ก็นำน้ำผึ้งมาทาช่องดวงแก้วแล้วฟั่นด้ายแดงร้อยจ่อไว้ให้ชุ่มน้ำผึ้ง
จากนั้นนำไปวางที่ปากรูมดแดงเหล่าฝูงมดแดงก็กรูกันไปกินน้ำผึ้ง
จนด้ายเก่าข้างในถูกดึงออกมา
และด้ายใหม่ก็ถูกดึงร้อยเข้าไปจดทะลุอีกด้าน
“เรื่องโคตัวผู้”
มีความเป็นมาว่า
พระราชาทดลองให้ขุนวัวตัวหนึ่งจนอ้วน
เอาน้ำมันทาเขา ชุบตัวด้วยขมิ้น แล้วส่งไปให้พระมโหสถพร้อมรับสั่งว่า
โคตัวผู้นี้ตั้งท้อง ขอให้ส่งโคพร้อมลูกโคให้พระราชาเมื่อโคคลอดแล้ว
พระมโหสถจึงให้หญิงผู้หนึ่งปล่อยผมสยาย
คร่ำครวญร่ำไห้ไปตลอดทางจนถึงพระราชาแล้วให้ร่ำไห้ทูลว่า
บิดาของนางน้องโตแต่คลอดออกมามิได้ ขอให้พระองค์ช่วยด้วย
พระราชาทรงหัวร่อแล้วตรัสว่าบุรุษเพศผู้จะคลอดทารกได้อย่างไร
หญิงผู้นั้นจึงทูลว่า หากเพศผู้มิอาจคลอดทารก
แล้วโคตัวผู้ที่ส่งให้ชาวบ้านทำคลอดนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร
พระราชาทรงตรัสถามว่าเป็นความคิดใคร
ครั้นพอทราบว่าพระมโหสถคิดมาดังนี้ พระราชาก็พอพระทัยยิ่งนัก
“เรื่องข้าว”
พระราชาทรงรับสั่งให้ชาวบ้านหุงข้าว ๘ ประการให้ได้คือ
ไม่ให้ใช้ข้าวสาร
ไม่ให้ใช้น้ำ
ไม่ให้ใช้หม้อ
ไม่ให้ใช้เตา
ไม่ให้ใช้ไฟ
ไม่ให้ใช้ฟืน
ไม่ให้ชายหญิงยกมา
ไม่ให้นำมาโดยทาง
พระมโหสถจึงแก้ปริศนา ๘ ข้อคือ
๑ ไม่ใช้ข้าวสาร ก็ใช้ข้าวป่นหรือปลายข้าวที่ตำแหลกแล้ว
๒ ไม่ให้ใช้น้ำ ก็รวบรวมเอาน้ำค้างมาหุงแทน
๓ ไม่ให้ใช้หม้อ ก็หุงในกะทะดินแทน
๔ ไม่ให้ใช้เตา ก็ใช้ก้อนหินวางเป็นสามเส้าแทนเตา
๕ ไม่ให้ใช้ไฟ ก็ใช้เพลิงสีกันที่สีจากหิน
๖ ไม่ให้ใช้ฟืน ก็ใช้ใบไม้และเศษวัตถุต่าง ๆ
๗ ไม่ให้ใช้หญิงชายเป็นผู้ยก ก็ให้กะเทยยกไป
๘ ไม่ให้นำมาตามทาง ก็ให้คนเดินออกนอกทางเดินตรง ๆ
“เรื่องชิงช้า”
พระราชาทรงรับสั่งให้ชาวบ้านร้อยชิงช้าด้วยเชือกทราย
พระมโหสถจึงให้ชาวบ้านไปกราบทูลว่ามิอาจร้อยได้
เพราะมิได้รับสั่งว่าจะกำหนดให้ฟั่นกี่เกลียว
มิได้บอกว่าขนาดยาวสั้นเท่าใด แล้วที่ว่าเชือกที่ทำด้วย “ทราย”
ของในวังขาดไปนั้นของของเดิมมาเป็นตัวอย่างด้วยจะได้ทำใหม่ได้
ครั้นพระราชาทรงตรัสถามว่าใครย้อนปริศนานี้ ชาวบ้านก็ตอบว่า
พระมโหสถให้ย้อนตอบมา
“เรื่องสระน้ำ”
พระราชาทรงรับสั่งให้ชาวบ้านส่งสระโบกขรณี
ซึ่งมีดอกบัว ๕ ชนิดมาให้พระองค์ภายใน ๗ วัน ให้จงได้
มิฉะนั้นจะถูกปรับ พระมโหสถจึงให้ชาวบ้านลงเล่นน้ำจนผมเผ้ายุ่งเหยิง
ตาแดงก่ำเนื้อตัวเปื้อนดินโคลน มือถือเชือกบ้าง ท่อนไม้บ้าง
แล้วให้ไปเข้าเฝ้าพระราชา
แล้วชาวบ้านก็ทูลตอบว่า พวกตนเอาเชือกผูกสระโบกขรณีมาถึงหน้าวัง
สระนั้นเคยอยู่แต่ในป่าเมื่อเห็นวังก็ตกใจวิ่งหนีไปจนพวกตนมีสภาพดังนี้
ขอให้พระองค์นำสระน้ำของพระองค์ไปในป่า
สระน้ำในป่าจะได้คุ้นเคยกับสระน้ำในวังจนไม่หนีไปอีก
พระราชาสดับฟังดังนั้นก็ทรงพระสรวลที่พระมโหสถย้อนปัญหาได้อีก
“เรื่องสวน”
พระราชาทรงรับสั่งให้ชาวบ้านส่งอุทยานใหม่มาให้พระองค์
อุทยานเก่าของพระองค์ทรุดโทรมนักแล้ว
อุทยานใหม่ต้องเป็นสวนที่ร่มรื่นด้วยไม้นานาพันธุ์
พระมโหสถก็ให้ชาวบ้านย้อนปริศนาคืนเหมือนกับครั้งสระน้ำ
พระมโหสถขอให้พระองค์ทรงพาหนะขนาดใหญ่ไปบรรทุกสวนจากเป่าเข้าวังด้วย
ซึ่งพระราชาย่อมมิอาจหาพาหนะใหญ่โตเช่นนั้นได้
ครั้งนี้พระราชาตัดสิ้นพระทัยจะรับพระมโหสถเข้าวัง
แต่เสนกะบัณฑิตทูลว่ามิควรเสด็จไปเอง ควรตั้งปริศนาให้
พระมโหสถส่งม้าอัสดรมาถวายและให้พระมโหสถและบิดาเข้ามาเฝ้าด้วย
“เรื่องม้า”
เมื่อพระราชายอมทดลองอีกครั้งตามคำเสนกะบัณฑิต
พระมโหสถก็ให้บิดาเข้าเฝ้าพระราชาก่อนโดยนำบริวาร ๑ พันคน
ไปพร้อมกับผอบไม้จันทร์ใส่เนย เมื่อตนไปถึงขอให้บิดาลุกขึ้น
และพูดว่าลูกจงมานั่งที่นี้เถิด
เมื่อพระมโหสถนำลาเข้ามาผูกไว้แล้วเข้าเฝ้า
เศรษฐีสิริวัฒกะก็ทำตามที่นัดกันไว้
ราชบัณฑิตต่างก็หัวร่อที่พระมโหสถให้พ่อลุกและนั่งแทนพ่อ
พระราชาทอดพระเนตรดังนั้นก็เสียพระทัยกล่าวว่าบิดาย่อมประเสริฐกว่าบุตร
พระมโหสถจึงทูลว่าหากตนนั่งแทนพ่อคือความผิด
ก็แสดงว่าบิดาย่อมต้องมีค่ากว่าบุตรเสมอ
ถ้าเช่นนั้น พระองค์ควรรับลานี้ไว้ไม่ต้องหาม้า
เพราะลาเป็นพ่อของพ่อม้า และบิดาก็เป็นพ่อของตน
ดังนั้นพระราชาควรรับการถวายลาและบิดาตนเถิด
พระราชาสดับฟังก็เข้าพระทัย ทรงหลั่งน้ำรดมือเศรษฐี
และให้ครองหมู่บ้านปาจีนวย ทั้งยังฝากของกำนัลแก่นางสุมนาเทวี
จากนั้นก็ขอให้พระมโหสถเป็นบัณฑิตอยู่ในเรือข้าหลวงนอกสืบต่อไป
เข้ารับราชการ
“เรื่องแก้วในรังกา”
คราวหนึ่งในสระโบกขรณีเกิดแสงสว่างเรืองรองเป็นที่ร่ำลือกันว่า
มีแก้วมณีดวงใหญ่อยู่ในสระเป็นแน่แท้ เสนกะบัณฑิตทูลว่าให้ขุดสระ
หาดวงแก้วแต่ทว่าก็มิอาจพบดวงแก้วได้ เมื่อพระราชาปรึกษาพระมโหสถบ้าง
พระมโหสถก็ให้นำขันน้ำบ้าง อ่างน้ำบ้าง
วางอยู่ทั่วบริเวณนั้นก็ปรากฏว่ามีแสงสว่างเรืองในน้ำนั้นทุกภาชนะ
จึงให้ปีนดูบนต้นตาลริมสระ ก็พบแก้วมณีอยู่ในรังกาบนต้นตาลนั่นเอง
“เรื่องกิ้งก่า”
มีความเป็นมาว่าพระราชาพอพระทัยกิ้งก่าที่ลงจากซุ้มประตูมาหมอบถวายตัว
ทรงปรึกษาพระมโหสถก็ได้ความว่าให้พระราชาทานแค่อาหาร
มิควรประทานของมีค่า ภายหลังราชบุรุษนำมณีมาผูกคอกิ้งก่า
ครั้นพระราชาเสด็จผ่าน กิ้งก่าก็อยู่บนซุ้มสูงมิลงมาหมอบอีก
พระมโหสถจึงว่ากิ้งก่าได้พลอยจึงลืมตัวและทูลค้านมิให้ฆ่ามัน
ซึ่งเป็นสัตว์ไร้ปัญญา พระราชาจึงรับสั่งให้งดเลี้ยงเนื้อแก่มัน
“เรื่องสิริกาลกิณี”
มีความว่าปิงคุตตระลาอาจารย์เมืองตักสิลากลับบ้าน
อาจารย์มอบสตรีรูปงามให้ไปด้วย
แต่งปิงคุตตระเป็นกาลกิณีมิอาจเข้ากับสิริได้จึงมิชอบพอนาง
มิพูดจาด้วย มิร่วมนอนด้วย และมิหาผลไม้ให้กิน
เมื่อนางต้องปีนขึ้นต้นมะเดื่อเองก็ลงไม่ได้
เพราะปิงคุตตระผูกลวดหนามไว้โคนต้น
พระราชาวิเทหะเสด็จผ่านมาเกิดรักใคร่
ก็นำไปอภิเษกให้นามว่าพระนางอุทุมพร
ต่อมาขณะเสด็จประพาสเมืองเห็นปิงคุตตระนั่งแผ้วถางริมทาง
พระนางอุทุมพรทรงแย้มสรวลที่บุรุษกาลกิณีมิอาจรับสิริมงคลเช่นตัวนางได้
พระราชาเข้าพระทัยผิดคิดว่าพระนางพึงพระทัยบุรุษนั้น
แม้พระนางทูลเล่าความจริงก็มิทรงเชื่อ คิดจะประหารพระนางด้วยความกริ้ว
เสนกะบัณฑิตก็ทูลว่าเป็นไปไม่ได้ที่ชายใดจะชิงชังสตรีเลอโฉม
แต่พระมโหสถทูลว่าเป็นไปได้ เหมือนกับดินและฟ้า
ซึ่งมิอาจร่วมกันได้เหมือนทะเลคนละฝั่งซึ่งต้องไกลกันมิอาจบรรจบ
พระราชาทรงเชื่อพระมโหสถและทรงอนุญาตให้
พระนางอุทุมพรรับพระมโหสถเป็นน้องชาย
“เรื่องแพะกับสุนัข”
มีความว่าพระราชาทอดพระเนตรเห็นแพะกับสุนัขเป็นมิตรกัน
แพะแอบเอาเนื้อมาให้สุนัขเพราะแพะเข้าโรงครัวได้ไม่ถูกคนตี
สุนัขก็เข้าโรงช้างแอบเอาหญ้ามาให้แพะกิน
ทั้งคู่ก็มิต้องถูกคนตีดั่งก่อนมา พระราชจึงตั้งปัญหาบัณฑิตในวังว่า
ทำไมสัตว์ ๒ ตัว จึงเป็นมิตรกันได้ หากใครตอบไม่ได้จะไล่ออกจากราชวัง
พระมโหสถทูลถามพระนางอุทุมพรว่าพระราชาทรงประทับ ณ ที่ใดเมื่อเช้านี้
เมื่อทราบแล้วพระมโหสถไปดูสถานที่นั่นจึงทราบความ
และมาบอก ๔ บัณฑิตที่คิดไม่ออก บัณฑิตทั้งหมดจึงตอบได้
แต่พระนางอุทุมพรทูลว่าพระมโหสถบอกความแก่ ๔ บัณฑิต
พระมโหสถน่าจะได้รางวัลพิเศษกว่าผู้อื่น
พระราชาทดลองภูมิปัญญา
พระราชาตรัสถามเสนกะว่า คนมีปัญญาแต่ไร้ยศศักดิ์
กับคนมียศศักดิ์แต่ไร้ปัญญา ผู้ใดประเสริฐเหนือกว่ากัน
เสนกะกราบทูลว่าคนมียศศักดิ์ประเสริฐกว่า
แต่พระมโหสถกราบทูลว่าคนมีปัญญาประเสริฐกว่า
เสนกะแก้ว่าคนมีปัญญาแต่ไร้ยศ พูดจากใดไปก็มิมีใครเชื่อถือ
พระมโหสถแก้ว่าคนมียศถ้าไร้ปัญญาก็พูดจาให้ร้ายคนอื่น
และตนเอง คนมีปัญญาพูดแต่สัจจะวาจา
ภายหน้าผู้คนย่อมสรรเสริญเอง
คราวนี้ไม่ว่าเสนกะกล่าวใดมา พระมโหสถก็แก้ได้หมด
เสนกะจนปัญญายอมแพ้รับว่าคนมีปัญญาประเสริฐกว่า
พระราชาจึงพระราชทานโค ๑ พันตัว รถม้า ๑๐ คัน
ส่วย ๑๖ บ้าน ให้แก่พระมโหสถ ด้วยทรงพอพระทัยยิ่งนัก
เนื้อคู่ปัญญาเลิศ
ครั้นพระมโหสถเจริญวัยถึง ๑๖ ปี พระนางอุทุมพรอยากให้มีคู่
พระมโหสถจึงขอออกเดินทางไปเลือกกัลยาณีด้วยตนเอง
พระมโหสถปลอมเป็นคนชุนผ้า เมื่อถึงหมู่บ้านอุตตระยวมัชฌคาม
ก็พบอมรเทวีผู้มีลักษณะดีและมีปัญญา เมื่อพบก็ลองภูมิปัญญา
กันหลายข้อจนพอใจ
อย่างเช่นนางอมรเทวีตอบว่าบิดานางไถนาอยู่ที่ไปแล้วไม่กลับ
พระมโหสถก็รู้ว่าที่ป่าช้า เมื่อสู่ขอแก่บิดานางแล้วก็พากลับเมือง
ระหว่างทางลองใจนางโดยฝากนางไว้ที่บ้านคนเฝ้าประตู
แล้ววางอุบายจ้างบุรุษรูปงามไปเกี้ยวนางทุกวัน นางก็ไม่ใยดีผู้ใด
จึงวางอุบายฉุดนางมาที่บ้านแล้วปลอมตัวรอ
นางก็ร่ำไห้ว่าเป็นเศรษฐีแต่กลับฉุดหญิงมีเจ้าของ
ย่อมต้องตกนรกหมกไหม้พระมโหสถจึงให้นำนางกลับไป
เมื่อเช้ารุ่งขึ้น พระมโหสถทูลพระราชาและพระนางอุทุมพร
พระราชาจึงทรงจัดงานวิวาห์ให้พระมโหสถอย่างสมเกียรติ
และพระราชทานทรัพย์มากมาย
นางอมรเทวีและพระมโหสถก็แบ่งทรัพย์ทำทานหลายส่วนอีกด้วย
ถูกใส่ร้าย
ต่อมาบัณฑิตทั้ง ๔ ร่วมกันคิดใส่ร้ายพระมโหสถ จึงแอบขโมย
ปิ่นทองคำของพระราชา รองเท้าทองคำ ดอกไม้ทองคำ
ผ้าคลุมบรรทมใส่ในสิ่งของธรรมดาต่าง ๆ
เช่นผอบและหม้อน้ำมันให้นางทาสีนำไปให้นางอมรเทวีที่บ้าน
นางอมรเทวีเอะใจที่ให้ฟรีแต่ไม่เอาเงิน
จึงให้บ่าวไพร่ช่วยเป็นพยานเมื่อพบสิ่งมีค่าอยู่ในของนั้น
ครั้นพระราชาจะเอาโทษ พระมโหสถหนีไปปลอมตัวเป็นช่างปั้นหม้อ
๔ บัณฑิตก็แอบมาเกี้ยวนางอมเทวี
นางจึงขุดหลุมเทอุจจาระลงไปแล้วปิดกระดานไว้
ล่อให้บัณฑิตทั้ง ๔ ตกลงไป แล้วจึงนำทั้ง ๔ โกนผม
นำผูกเชือกเข้าวังไปทูลความจริงทั้งหมดให้พระราชาทรงทราบ
พระราชาก็มิได้ลงโทษประการใด
เมื่อ ๔ บัณฑิตชั่วยังมิถูกผลกรรมตัดสิน
เทวดาจึงมาปรากฎกายถามปริศนาพระราชา
และว่าถ้าพระราชาตอบไม่ได้จะฆ่าให้ตาย
พระราชาจึงถาม ๔ บัณฑิตแต่ไม่มีใครตอบได้
พระราชาจึงให้ทั้ง ๔ บัณฑิตไปตามรับตัวพระมโหสถกลับมา
พระมโหสถจึงไขปริศนาว่า
๑ ผู้ที่ยิ่งทุบตี กลับยิ่งเป็นที่รัก นั้นก็คือทารกที่มักนอนตักแล้วดิ้นทุบตีอกมารดานั่นเอง
๒ ผู้ที่ปากดำแต่ใจรักใคร่ นั้นก็คือมารดาที่ด่าบุตรอบรมบุตรยามบุตรทำผิด
๓ ผู้ที่มักโกหกกันแต่รักใคร่นั้นก็คือสามีภรรยาที่ชอบให้โทษกันแต่ก็รักใคร่กัน
๔ ผู้ที่เอาข้าของไปแต่ถูกรักใคร่นั้น ได้แก่สมณชีพราหมณ์ที่รับเอาข้าวของจากเราไป
เหล่าเทวดาต่างแซ่ซ้องสรรเสริญพระมโหสถ
และพระราชาก็ปีตินัก แต่ไม่นานทั้ง ๔ บัณฑิตก็คิดร้ายพระมโหสถอีก
โดยทูลพระราชาว่า พระมโหสถอาจคิดแย่งบัลลังก์พระราชา
หากไม่เชื่อให้ลองถามดูว่า อันความลับนั้นคนเราควรบอกแก่ใคร
เมื่อพระราชาตรัสถาม พระมโหสถก็ได้กราบทูลว่าความลับไม่ควรบอกแก่ใคร
พระราชาสดับฟังเสียพระทัยคิดว่าพระมโหสถคิดกบฏจริง
พระราชาจึงให้เสนกะฆ่าพระมโหสถในวันรุ่งขึ้น
พระนางอุทุมพรรู้เข้าจึงส่งข่าวให้พระมโหสถทราบ
และแนะให้พระมโหสถนำพสกนิกรมาด้วย
พระมโหสถจึงนำพลเมืองไปเฝ้าหน้าพระที่นั่ง
แล้วทูลบอกความลับของทั้ง ๔ บัณฑิตที่ทำผิดอะไรบ้าง
ลักขโมยของพระราชาบ้าง ซึ่งเสนกะ
และบัณฑิตอื่นบอกความลับไว้แก่ญาติของตน
พระราชาทรงกริ้วคิดประหาร ๔ บัณฑิต
แต่พระมโหสถทรงทูลขอชีวิตไว้
๔ บัณฑิตจึงเลิกคิดร้ายต่อพระมโหสถอีกต่อไป
มหาปราชญ์รักษานคร
เมื่อพระราชาทรงนับถือและเชื่อมั่นในพระปัญญาบารมี
และความภักดีของพระมโหสถช่วยพิจารณา
และยังให้พระมโหสถช่วยเทศนาสั่งสอนเรื่องธรรมดาความดี
แก่พระราชาและข้าราชบริพารเป็นนิจอีกด้วย
พระมโหสถได้ทูลแนะนำให้พระราชาผูกมิตรกับแคว้นรอบ ๆ
พระนครมิถิลาโดยให้นักรบนำเครื่องราชูปโภคไปถวาย
พร้อมทั้งอยู่รับใช้เจ้าเมืองนั้น ๆ
เพื่อเป็นการระวังการชิงเมือง
เพราะมีสายคอยส่งข่าวอยู่แล้วในแต่ละเมือง
พระราชาก็ทรงเห็นดี
และจัดให้กระทำตามนั้นกับทั้ง ๑๐๑ เมือง รอบมิถิลานคร
ต่อมาสังขะพละกะราชแห่งเมืองกัมพลนครเตรียมทัพ
พระมโหสถส่งนกแก้วไปดูจึงรู้ว่ากัมพลนครเตรียมทัพ
เพราะเมืองของพระเจ้าจุลนีคิดยกทัพมาตี
และนอกจาตีกัมพลนครแล้วก็ยังจะตีให้สิ้นทั้ง ๑๐๑ นคร
รวมทั้งมิถิลาด้วยโดยมีเกวัฏจอมชั่วช้าคิดการเป็นใหญ่
พระมโหสถจึงให้ชาวมิถิลาเตรียมทำตามอุบาย
ในขณะที่เกวัฏยุยงพระจุลนีไปตีเมืองกัมพล และหัวเมืองต่าง ๆ
๑๐๑ กว่านครแล้ว พระมโหสถส่งคนไปทุบไหสุราในงานเลี้ยงจนสิ้น
พระราชา ๑๐๐ กว่าคนก็รอดตายมิต้องเสวยยาพิษในสุรา
เกวัฏกับพระเจ้าจุลนีแค้นนักยกทัพมาล้อมมิถิลา
ก็เห็นชาวเมืองยังจัดมหรสพเริงรื่นมิกลัวอันใด
เกวัฏคิดอุบายจะล้อมเมืองให้คนในเมืองอดอยาก
แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะพระมโหสถแก้ไขได้ทั้งสิ้น
เกวัฏคิดสู้ด้วยธรรมะ
พระมโหสถจึงทูลขอดวงแก้วพระราชาไปยื่นให้เกวัฏ
แต่ดวงแก้วหนักมากจึงหล่นลง
เกวัฏรีบก้มลงเก็บพระมโหสถจึงกดศีรษะไว้แล้วกล่าวว่า
“ท่านอาจารย์ผู้อาวุโส อย่าคารวะข้าผู้เป็นรุ่นหลานเลย
ลูกขึ้นเถิดไม่ต้องไหว้ข้า”
บรรดาชาวบ้านต่างก็โห่ร้องชอบใจ
เกวัฏเสียหน้าก็พาทัพกลับกันด้วยความอาย
ต่อมาเกวัฏวางอุบายอีก
ส่งทูตมาเจรจาว่าจะยกพระธิดาของพระเจ้าจุลนีให้แก่พระราชาแห่งมิถิลา
ขอให้พระองค์เสด็จไปรับด้วย
พระมโหสถจึงเตรียมแผนไปสร้างวังที่เมืองใกล้ปัญจานคร
และขุดอุโมงค์ไว้ด้วย
พอพระราชวิเทหะเสด็จไปที่เมืองใหม่คืนแรก
ก็ถูกเกวัฏกับพระเจ้าจุลนียกทัพมาล้อมจะจับตัว
แต่พระมโหสถกับไพร่พลลงใต้อุโมงค์ไปเข้าเมืองปัญจานคร
จับกุมมเหสีและธิดาของพระเจ้าจุลนีมาไว้ในวังใหม่จนสิ้น
พระเจ้าจุลนีถูกซ็อนกลดังนั้นก็ยอมแพ้แต่โดยดี
ทั้งยังต้องตั้งสัตย์อธิษฐานกับพระมโหสถว่าจะไม่คิดร้ายใครอีก
แล้วก็ยกพระธิดาปัญจาลจันทีให้พระราชาวิเทหะ
พระเจ้าจุลนีทรงชวนให้พระมโหสถไปอยู่ด้วย
แต่พระมโหสถทูลว่ามิอาจเป็นข้า ๒ นาย
หากพระราชาของตนสวรรคตเมื่อใดจึงจะไปอยู่ด้วยได้
ต่อมาเมื่อพระราชามีพระโอรสกับพระธิดาของพระเจ้าจุลนีได้ ๑๐ ปีผ่านไป
พระราชาวิเทหะเสด็จสวรรคต
พระมโหสถจึงไปอยู่ที่เมืองของพระเจ้าจุลนีตามสัญญา…
คติธรรมเรื่องนี้มีว่า
ปัญญาอันล้ำเลิศนั้นย่อมทำคุณให้แก่บุคคลยิ่งกว่ามีทรัพย์นับแสน
แม้มิมีปัญญาดั่งปราชญ์ แต่ถ้าเป็นผู้รู้จักคิดให้รอบคอบก่อน
ก็ย่อมเป็นผู้มีปัญญาและประพฤติชอบแล้ว
ทศชาติที่ ๖ พระภูมิทัต…
รายละเอียด : ในครั้งอดีตกาลนานมาแล้ว พระเจ้าพรหมทัตแห่งพาราณสี
ทรงเกรงว่าพระราชโอรสที่เป็นอุปราชจะคิดแย่งชิงราชสมบัติ
จึงมีรับสั่งให้พระราชโอรสเดินทางออกท่องเที่ยวไป
แล้วค่อยกลับมาครองเมืองเมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว
พระมารดาเป็นธิดานาค
พระราชบุตรจึงทรงออกเดินทางไปถึงป่าแห่งแห่ง
และครองเพศเป็นนักบวชอยู่ที่อาศรมริมฝั่งแม่น้ำยมนาตามลำพัง
ระหว่างนั้น นางนาคนาม “มานวิกา” มิอาจเห็นนาคอื่นมีคู่ครองเป็นสุข
จึงออกจากบาดาลมาเที่ยวป่า คิดลองใจนักบวชรูปงาม
จึงตกแต่งอาศรมด้วยดอกไม้และเครื่องหอมงดงามยั่วยวน
เมื่อราชบุตรกลับมาพบก็พอพระทัยนัก ลงนอนในอาศรมอย่างปีติ
นางนาคจึงรู้ว่าราชบุตรมิได้บวชด้วยศรัทธา
ก็แอบมาจัดอาศรมให้ทุกวันจนราชบุตรแอบดักพบและชอบพอกัน
จึงตกลงครองคู่กันจนมีพระโอรสและพระธิดานามว่า
“สาครพรหมทัต” และ “สมุทรชา”
ต่อมาพระเจ้าพรหมทัตเสด็จสวรรคต เสนาอำมาตย์มิรู้ว่า
พระราชโอรสอยู่ที่ใดจึงคิดจะเสี่ยงทายราชรถ
แต่พอดีมีพรานป่าผู้หนึ่งเคยไปพักพิงที่อาศรมของพระราชโอรสหลายวัน
จึงบอกแก่เสนาอำมาตย์ว่าตนรู้ที่อยู่ของพระโอรส
บรรดาเสนาอำมาตย์จึงจัดขบวนไปรับเสด็จราชบุตรในป่านั้น
หากทว่านางนาคมิยินยอมตามเสด็จเข้าวังด้วย
นางกล่าวว่า
“ข้าแต่พระสวามีหม่อมฉันเป็นนางนาค มิอาจร่วมอยู่กับเหล่ามนุษย์ได้
หากมีอารมณ์โกรธแค้นนางสนมอื่น อาจพ่นพิษใส่ให้ตายได้
ขอพระองค์เสด็จพร้อมโอรสและธิดาของเราเถิด”
พระราชบุตรและพระกุมารต่างก็ขอร้องให้เข้าวังด้วยกัน
แต่นางมิยินยอมได้แต่ร่ำไห้อาลัย สั่งความว่าให้โอรส
และธิดาเล่นน้ำในเรือขณะเดินทาง เมื่อถึงวังก็ขอให้ขุดสระ
เพื่อให้กุมารน้อยได้ลงเล่นน้ำ หากขาดน้ำและถูกแดดถูกลมมากไป
ก็จะทำให้โอรสและธิดาวายชนม์ได้
เมื่อพร่ำรำพันจากกันด้วยความโศกาอาดูรนักแล้ว
พระราชบุตรก็เสด็จกลับนครขึ้นครองราชสมบัติ
และทำตามที่นางนาคมานวิกาสั่งทุกประการ
คราวหนึ่งพระราชโอรสและพระธิดาลงเล่นน้ำในสระโบกขรณี
เห็นเต่าตัวหนึ่งก็ตกพระทัยไปทูลบิดาว่าเห็นยักษ์
ครั้งอำมาตย์จับได้เต่ามาพระราชาก็ให้ฆ่าเต่าเสีย
อำมาตย์จึงนำไปถ่วงน้ำวนที่แม่น้ำยมนา
เมื่อเจ้าเต่าถูกปล่อยลงกลางน้ำวน ก็ตกลงไปในปล่องเมืองบาดาล
พวกนาคที่อยู่ในเมืองใต้น้ำก็พากันจับเต่ามาโยนเล่นส่งต่อ ๆ
อย่างสนุกสนาน เจ้าเต่าจึงวางอุบายกล่าวว่า
“พวกท่านอย่าทำร้ายข้านะ ข้าคือเจตตจุณ เป็นราชทูตกรุงพาราณี
และพระเจ้าพรหมทัตส่งเข้ามาเจรจากับพระยาทศรถจ้าวเมืองบาดาลนี้
เรื่องจะยกพระธิดาให้จ้าวเมือง”
เมื่อนาคมานพพาเต่าไปเข้าเฝ้า ท้าวทศรถจ้าวเมืองก็หัวร่อตรัสว่า
“ราชทูตแห่งพระราชาเมืองพาราณสีไฉนมีรูปกายเป็นเต่าอัปลักษณ์เช่นนี้”
“ข้าแต่พระองค์ ราชทูตมีหลายลักษณ์หลายรูป
ข้าพระองค์เป็นทูตทางน้ำพระเจ้าข้า”
แล้วเต่าเจ้าเล่ห์ก็ทูลว่า พระราชาปราถนาจะผูกสัมพันธไมตรี
ขอให้ท้าวทศรถเตรียมเสด็จขึ้นไปรับพระธิดาด้วย
ท้าวทศรถทรงหลงเชื่อกลอุบายนั้น
จึงทรงรับสั่งให้นาคมานพ ๔ นาย
ขึ้นไปเข้าเฝ้าพระราชาพร้อมเต่าราชทูตก่อนล่วงหน้า
เมื่อเดินทางจวนจะเข้าใกล้ประตูเมืองแล้ว
เต่าก็เห็นมีสระบัวใหญ่อยู่ริมทาง
จึงกล่าวแก่นาคเสนาทั้ง ๔ ว่าให้รีบเข้าเมืองโดยเร็ว
ตนจะเก็บเหง้าบัวไปฝากพระธิดา
เมื่อเสนานาคยอมล่วงหน้าไปก่อน
เต่าร้ายก็ลงซ่อนภายในสระบัวนั้นเอง
ครั้นเมื่อนาคมานพผู้เป็นเสนาได้กราบทูลเรื่องราวทั้งปวงว่า
จะมาตกลงเรื่องเตรียมงานรับพระธิดาไปอภิเษก
พระราชาทรงงุนงงจึงตรัสว่า
“อันมนุษย์กับนาคนั้นจะแต่งงานครองคู่กันได้อย่างไร
ย่อมเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ”
นาคมานพได้ยินดังนั้นก็ไม่พอใจจึงกราบทูลว่า
“หากพระองค์รังเกียจนาค
แล้วทรงส่งเจตตจุณราชทูตลงไปส่งสาส์นนี้ไปเพื่อเหตุใด”
พระราชาทรงยืนยันว่าไม่ได้ส่งใครไป
เพราะนาคกับมนุษย์ มิอาจแต่งงานกันได้
แล้วจะทรงส่งทูตไปได้อย่างไร
นาคทั้ง ๔ จึงทูลลากลับด้วยความโกรธแค้น
เมื่อพระยาทศรถทรงทราบก็ให้แค้นนัก
จัดประชุมทัพนาคแล้วยกขึ้นบุกเมืองพาราณสี
จ้าวเมืองบาดาลเนรมิตกายเป็นนาคยาวโอบล้อมเมืองด้วย
ขนดหาง ๗ ชั้น ๗ รอบ สั่งให้นาคน้อยใหญ่กระจายไปทั่วเมือง
แต่มิให้ทำร้ายประชาชนพลเมือง
คืนนั้นทั้งเมืองก็โกลาหล
ชาวบ้านตกใจพากันแตกตื่นที่นาคเข้ามาเต็มบ้าน
แม้ในวังต่างก็มีแต่เสียงกรีดร้องวิ่งหนีนาคงูกันทั่ว
งูสีต่างหลากหลายขู่ฟ่อ ๆ แขวนอยู่ทั่วไป
มิมีผู้ใดกล้าทำร้ายเพราะกลัวถูกพิษ
พระเจ้าพรหมทัตเองก็ทรงตกพระทัยเมื่อพบงูใหญ่แผ่พังพานเหนือเศียร
รอบพระราชวังก็มีแต่เสียงร่ำร้องให้ทรงถวายพระธิดาให้นาคเสียเถิด
ในที่สุดพระราชาจึงพ่ายฤาธานุภาพ
ทรงตรัสยินยอมถวายพระธิดาให้โดยดี
กำเนิดจากเผ่าพันธุ์นาคี
ต่อมาเมื่อท้าวทศรถอภิเษกกับพระธิดาสมุทรชา
ทั้งคู่ก็ครองรักกันมีสุขดี และพระธิดาประสูติพระราชโอรส ๔ พระองค์
อันมี พระสุทัศนะกุมาร ทัตกุมาร สุโภคะกุมาร และอริฏฐะกุมาร
การอยู่ในเมืองบาดาลนั้น
ท้าวทศรถมิให้ชาวบาดาลจำแลงร่างเป็นงูเป็นนาค
ด้วยความที่เกรงว่าพระมเหสีสมุทรชาจะตกพระทัย
แต่พี่เลี้ยงของอริฏฐะกุมารน้อยสอนว่าพระมารดาเป็นมนุษย์
พระอริฏฐะจึงเนรมิตรกายเป็นงูเลื้อยไปเสวยนมพระมารดา
พระสมุทรชาตกพระทัยปัดโอรสน้อยไป
และเล็บบังเอิญจิกดวงตาพระโอรสจนมืดบอดไปข้างหนึ่ง
ท้าวทศรถจะประหารแต่งพระนางทรงขอชีวิตไว้
และได้ทรงทราบว่าตนอยู่ในเมืองนาคตั้งแต่บัดนั้นเอง
ฝ่ายท้าวทศรถนั้นต้องเข้าเฝ้ามหาราช คือ
ท้าววิรูปักข์ ๑ ครั้ง ทุก ๑๕ วัน ท้าวทศรถได้นำพระโอรสที่ ๒
คือ ทัตกุมารไปด้วย คราวหนึ่งท้าววิรูปักข์นำนาคขึ้นเฝ้าพระอินทร์
บังเอิญมีปริศนาที่มิมีใครแก้ได้ แต่ทัตกุมารสามารถแก้ได้
ทัตกุมารได้รับการสรรเสริญถึงความมีปัญญาปราดเปรื่อง
จึงได้นามว่า “ภูริทัต” นับจากครั้งนั้น
ถือศีลเพื่อสู่สวรรค์
ภูริทัตตามพระบิดาไปเฝาพระอินทร์เสมอ
เมื่อเห็นเวชยันต์ปราสาท และสมบัติทิพย์วิมานก็คิดถึงพอพระทัยนัก
ใคร่ปรารถนาจะได้ไปเกิดเป็นเทพเสวยสุขเช่นนั้นบ้าง
จึงคิดออกบวชหากทว่าพระมารดามิยินยอม
พระภูริทัตจึงทรงรักษาศีลอุโบสถอยู่ในวังนาค
แต่ต่อมาจึงคิดหาที่สงบกว่าแวดล้อมด้วยนางสมเช่นนี้
จึงขึ้นไปรักษาศีลอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำยมนาใต้ต้นไทรใหญ่
สั่งให้นำดอกไม้และดุริยางค์ไปบูชาทุกวันด้วย
โดยตั้งสัตยาอธิษฐานว่าหากใครปรารถนาในหนัง
กระดูก เอ็น เลือดเนื้อของพระองค์แล้ว
พระองค์ก็ทรงยินดีสละโดยสิ้น
วันหนึ่งมี ๒ พรานป่านามว่า เนสาทและโสมทัต
พ่อลูกเข้าป่ายิงเนื้อล่าสัตว์ไปขายเพื่อยังชีพเนืองนิจ
ครั้นตามรอยเนื้อไปใกล้บริเวณที่พระภูริทัตถือศีลอยู่
พรานทั้งสองได้ยินเสียงดุริยางค์และเห็นเหล่านางนาค
จึงเข้าไปดูใกล้ ๆ นางตกใจหนีไปเหลือพระภูริทัต
ซึ่งจำแลงองค์เป็นมนุษย์
ด้วยความที่กลัวจะถูกพรานทำร้าย พระภูริทัตจึงพาเนสาท
และโสมทัต ๒ พรานพ่อลูกลงไปชมเมืองบาดาล
พระราชทานทรัพย์และให้อยู่เป็นสุขในเมืองนาคใต้พิภพ
แต่ทว่าพรานมิมีบุญญาพอจะอยู่ในเมืองนาคได้นาน
จึงทูลขอกลับบนโลกมนุษย์ เมื่อเวลา ๑ ปีผ่านไป
พระภูริทัตก็พระราชทานทรัพย์ให้
ครั้งพอขึ้นมาบนโลกมนุษย์ ทรัพย์สมบัติก็อันตรธานหายไปทั้งสิ้น
เนสาทกับโสมทัตจึงต้องเป็นพรานล่าสัตว์ตามเดิม
ภัยจากคนโลภ
ในเวลานั้นครุฑหนึ่งบินลงจากวิมาน โฉบมาจับนาคไป
ด้วยความกลัวนาคจึงเอาหางรัดต้นไทรแน่น
เมื่อครุฑบินเหาะไปต้นไทรก็ลอยติดขึ้นไปด้วย
ใต้ต้นไทรนั้นก็มีฤาษีถือศีลอยู่ใต้ต้นไทรนั้นด้วย
เมื่อกินนาคแล้วต้นไทรก็ตกลงสู่มหาสมุทรเสียงดังกัมปนาท
ครุฑเกิดวิตกถึงผลบาปจึงแปลงเป็นมานพน้อย
เข้าไปถามพระฤาษีว่าตนบาปหรือไม่ที่เอาต้นไทรไปเช่นนั้น
เมื่อฤาษีตอบว่าผู้ไม่มีเจตนาย่อมไม่มีบาป
พระยาครุฑดีใจจึงมอบดวงแก้วให้ฤาษีและมอบเวทมนตร์บทหนึ่งชื่อ
“อาลำพายนะ” และยาทิพย์ก่อนจะจากไป
เวลาต่อมาฤาษีนั้นได้รับเอาพราหมณ์อนาถาผู้หนึ่ง
ซึ่งหลบหนีเจ้าหนี้มาซุกซ่อนตัวอยู่ในอาศรม
อาสาขอดูแลรับใช้พระฤาษีด้วยดี
ฤาษีจึงเมตตาสอนมนตร์บทนั้นและมอบยาทิพย์ให้
แรกนั้นพราหมณ์มิยินดีรับไว้แต่ก็จนใจต้องยอมรับเพราะฤาษีวิงวอน
เมื่อพราหมณ์ออกจากอาศรมก็เดินทางผ่านแม่น้ำยมนา
พบเห็นนางนาคของพระภูริทัตลงเล่นน้ำริมฝั่งแม่น้ำ
แต่ละนางวางดวงแก้วไวบนหาดทราย
เหล่านางนาคเห็นพราหมณ์ผ่านมาก็หนีกันไปด้วยนึกว่าเป็นครุฑ
พราหมณ์จึงเก็ฐดวงแก้วถือไปจนพบกับ ๒ พรานพ่อลูก
เนสาทกับโสมทัต ๒ พรานพ่อลูกจำได้ว่าเป็นดวงแก้วของเมืองบาดาล
ก็เกดโลภเข้าไปวางอุบายหลอกขอแก้ว
แต่ทว่าพราหมณ์ก็มิยินยอมให้ไม่ว่าจะแลกกับอะไร
ซ้ำยังคุยว่าตนมีเวทมนตร์และยาทิพย์
หาก ๒ พ่อลูกพาไปเมืองนาคได้ก็จะยอมให้แก้วนั้น
พรานโสมทัตผู้บุตรได้ทัดทานพ่อมิให้พาไป
เพราะพระภูริทัตมีบุญคุณนัก แต่พรานเนสาทผู้พ่อโลภนัก
โสมทัตจึงแยกทางไปบวชเป็นฤาษี พรานพ่อจึงพาพราหมณ์
ไปยังที่จำศีลของพระภูริทัต
เมื่อพราหมณ์โยนดวงแก้วให้พรานเนสาท
ดวงแก้วพลัดตกลงพื้นหายลงดินไป
พรานจึงอดได้ดวงแก้วและ
ก็ทำสิ่งเนรคุณต่อผู้มีคุณซ้ำยังเสียบุตรไปอีก
พระภูริทัตจำได้ว่าพรานผู้นี้เคยได้เสพย์สุขในบาดาล
แต่กลับพาพราหมณ์มาปองร้าย หากพระองค์จะตอบโต้
ก็เกรงจะผิดศีล จึงทรงหลับพระเนตรนิ่งเฉยเสีย
ด้วยเพราะตั้งจิตอธิษฐานสละชีวิตไว้แล้ว
ถูกทรมานแสนสาหัส
ด้านพราหมณ์ชั่วจึงกินยาทิพย์และ
ร่ายเวทมนตร์เข้าจับพระภูริทัต
กรอกยาให้สิ้นฤทธิ์จนสำรอกออกสิ้น
จากนั้นจับพระองค์มัดด้วยเถาวัลย์
ทำทารุณย่ำเหยียบจนโลหิตโทรมพระวรกาย
นำพระองค์ใส่เถาวัลย์ถักแล้วพาเข้าหมู่บ้าน
ป่าวร้องเรียกคนมาดูนาคเพื่อหาทรัพย์
ชาวบ้านต่างพากันมามุงดู
พราหมณ์ก็บังคับให้พระภูริทัตทำตัวใหญ่บ้าง ตัวเล็กบ้าง
ให้แผ่พังพานจนถึง ๗ ชั้นบ้าง เปลี่ยนสีตามตัว
เป็นหลายสีบ้าง ให้พ่นพิษบ้าง จนได้ทรัพย์มากมาย
พราหมณ์นำเขียดมาเลี้ยง พระภูริทัตก็ไม่ยอมกิน
จนกระทั่งถูกนำมาถึงเมืองพาราณสี
ก็เข้ากราบทูลพระราชาว่าวันรุ่งขึ้นจะเล่นงูถวายหน้าพระที่นั่ง
ด้านเมืองบาดาลนั้นพระนางสมุทรชาทรงสุบินว่าถูกฟันเอาแขนขวาไป
ครั้นทราบความว่าพระภูริทัตหายไป จึงส่ง ๓ พระโอรส
ออกตามหาด้วยร้อนพระทัยยิ่งนัก
พระโอรสทั้ง ๓ จึงออกตามหาพระภูริทัต
โดยพระอริฏฐไปตามที่ภพสวรรค์
พระสุทัศนะไปตามที่โลกมนุษย์
พระสุโภคะไปตามหาที่ป่าหิมพานต์
สุทัศนกุมารเมื่อไปยังภพมนุษย์
ก็ตามไปละแวกที่พญานาคภูริทัตเคยจำศีล
แต่พบรอยเลือดจึงเข้าใจว่าเกิดอันตรายขึ้นแล้วเป็นแน่
สุทัศนกุมารให้เป็นห่วงใยพระอนุชานัก
รีบออกตามหาจนทราบข่าวว่าหมองูจับนาคตัวหนึ่งได้
และจะแสดงกลหน้าพระที่นั่งด้วย
เมื่อถึงวันแสดงพราหมณ์เปิดถุงแก้วให้พระภูริทัตเลื้อยออกมา
เห็นสุทัศนะกุมารผู้เป็นเชษฐาจำแลงเป็นมนุษย์มายืนดูอยู่
พระภูริทัตก็เลื้อยไปหยุดตรงหน้าน้ำตาคลอ
พระสุทัศนะก็ทรงกันแสงด้วยสงสารน้อง
เหล่าชาวบ้านเป็นงูร้องไห้ไม่แสดง
ก็หลีกหนีด้วยความกลัวจะถูกงูกัด ได้แต่เลี่ยงไปยืนห่าง ๆ
พราหมณ์เกร่งว่าดาบสสุทัศนะจะกลัวงูกัดจึงเดินเข้ามาปลอบ
แต่พระสุทัศนะแกล้งท้าว่าไม่กลัวงูไร้พิษนี้หรอก
หากพราหมณ์กล้าเอางูนี้มาสู้กับเขียดน้อยได้ชนะ
ก็จะได้เงิน ๕ พันตำลึง
ฝ่ายพราหมณ์หัวร่อและเย้ยว่าดาบสเช่นนี้จะมีเงินมากมายได้อย่างไร
พระสุทัศนะจึงเข้าไปทูลขอพระราชทานเงินจากพระราชา
อ้างว่าการต่อสู้น่าดูเช่นนี้พระองค์ควรช่วยให้เดิมพันด้วย
เมื่อพระราชาเสด็จออกมากับพระสุทัศนะแล้ว
พระสุทัศนะก็ร้องว่าพราหมณ์นำนาคไร้พิษมาหลอกชาวบ้านว่ามีพิษ
แต่เขียดน้อยของตนนั้นมีพิษสงยิ่งกว่านับร้อยเท่าพันเท่า
จะลองพิสูจน์หรือไม่
ครั้นแล้วพระสุทัศนะก็นำเขียดน้อยออกมาจากชฎา
เขียดน้อยนี้คือ “พระธิดาอัจจมุนี” น้องสาวต่างพระมารดา
ซึ่งรักใคร่พระภูริทัตยิ่งนัก เมื่อเขียดน้อยจำแลง
กระโดดออกมาคายพิษใส่มือพระสุทัศนะแล้ว
ก็กระโดดไปอยู่ในชฎาตามเดิม พระสุทัศนะจึงประกาศว่า
“ถึงกาลพินาศของเมืองพาราณสีแล้ว”
“เหตุใดท่านจึงว่าเมืองจะพินาศ”
พระราชาตรัสถามอย่างแคลงพระทัย
พระสุทัศนะจึงกราบทูลว่า พิษนี้ร้ายแรงยิ่งนัก
หากพิษหยดลงดิน รุกขชาติทั้งสิ้นจะล้มตาย
หยดลงน้ำ สัตว์น้ำจะตายเกลื่อน
สาดขึ้นอากาศ ฝนจะแล้งนาน ๗ ปี
ต้องขุดหลุม ๓ หลุม
ใส่ยาสมุนไพรหลุมหนึ่ง
ใส่หญ้า หลุมหนึ่ง
และใส่ยาทิพย์ อีกหลุมหนึ่ง
เมื่อพระสุทัศนะหยดน้ำพิษใส่หลุมที่ ๑
ก็เกิดเปลวเพลิงไหม้ลามไปยังหลุมที่ ๒ และ ๓
ฝ่ายพราหมณ์ยืนดูใกล้หลุมที่ ๓ ด้วยเพราะมิเชื่อนัก
จึงถูกควันไฟไหม้ลามจนตัวด่าง
เป็นขี้เรื้อนพุพองเจ็บปวดร่ำร้องว่าจะปล่อยนาคโดยดี
พ้นภัยที่ทดลองพระขันติ
เมื่อสิ้นคำว่ายอมปล่อย พระภูริทัตก็กลายร่างเป็นมนุษย์
งามสง่าเช่นเดียวกับพระธิดาอัจจมุนีและพระสุทัศนะ
“ข้าแต่พระองค์ ท่านทราบหรือไม่ว่าพวกข้าพระองค์เป็นผู้ใด”
พระสุทัศนะทรงทูลถาม
พระราชาจึงตรัสว่าใคร่จะรู้เช่นกัน เพราะเอะพระทัยมานาน
พระสุทัศนะจึงกราบทูลว่า
ตนกับพระภูริทัตเป็นพระโอรสของพระนางสมุทรชา
พระธิดาของพระราชาองค์เดิมจำได้หรือเปล่า
พระราชาดีพระทัยที่ได้พบหลาน
เพราะพระราชานี้คือพี่ชายของพระสมุทรชานั่นเอง
จึงทรงพาพระโอรสทั้งสองไปพบเสด็จตา
ที่ทรงสละสมบัติออกบรรพชาอยู่ที่อาศรม
เมื่อทูลลาและกลับเมืองบาดาล
พระนางสมุทรชาก็ทรงดีพระทัยยิ่งนัก
รีบจัดให้พระภูริทัตนอนพักรักษาพระวรกายอย่างดี
ข้างฝ่ายสุโภคะกุมาร ออกตามหาพระภูริทัตอยู่ที่ป่าหิมพานต์
พบพราหมณ์เนสาทที่แม่น้ำยมุนา ซึ่งกำลังอาบน้ำชำระบาปอยู่
สุโภคะพญานาคจึงเอาหางรัดพราหมณ์
ให้จมน้ำเพื่อทรมานเพราะแค้นนัก
จากนั้นก็นำตัวลงบาดาลเพื่อให้รับโทษ
แต่พระภูริทัตขอให้พระเชษฐาละเว้นการลงโทษพราหมณ์
โดยทรงกล่าวว่า พราหมณ์นั้นก็ยังเป็นมนุษย์ที่มีความโลภ มีกิเลส
แต่ที่มาถือบวชถือศีลก็แสดงว่ายิ่งเลวร้ายกว่าคนธรรมดา
เหมือนดั่งคนมือถือสากปากถือศีล น่าสมเพชนัก
เมื่อพราหมณ์ถูกปล่อยตัวแล้วก็สำนึกในบาปของตนเป็นยิ่งนัก
หลักจากนั้นพระนางสมุทรชาจึงเชิญเสด็จท้ายทศรถ
และพระโอรสทั้ง ๔ ยกขบวนไปเยี่ยมพระเจ้าสาครพรหมทัตผู้พี่ชาย
และไปนมัสการพระบิดาที่บรรพชาอยู่ในป่า
พระภูริทัตจึงทูลขอรั้งอยู่กับเสด็จตาที่อาศรมนั้น
เพื่อถือศีลไปตลอดอายุขัย
ชาดกนี้ให้คติธรรมว่า
ความโลภนั้นเป็นสิ่งชั่วร้ายเช่นเดียวกับการเนรคุณ
แต่ความอดทนย่อมประเสริฐยิ่งนักแล
ทศชาติที่ ๗ พระจันทกุมาร…
รายละเอียด : ในสมัยอดีตกาล
พระเจ้าเอกราชเป็นพระราชแห่งเมืองบุปผาวดีนคร
อันเป็นนามเดิมของเมืองพาราณสี
พระเจ้าเอกราชมีพระอัครมเหสีนาม “โคตมี”
มีพระราชโอรสพระนาม “จันทกุมาร” และ “สุริยราชกุมาร”
มีพระธิดาพระนาม “เสลากุมารี”
ทรงธรรมช่วยประชา
ในพระราชวังมีปุโรหิตใจบาปนามว่า “กัณฑหาลพราหมณ์”
เป็นผู้มักคิดการชั่วช้าชอบสินบน ตัดสินความใดก็มิชอบธรรม
ผู้รู้เห็น ก็มิกล้าปริปากไปด้วยกลัวปุโรหิตจะเอาโทษได้
คราวหนึ่งผู้แพ้ความทั้ง ๆ ที่เป็นฝ่ายถูกแต่มิได้ติดสินบน
เดินร่ำไห้ออกมาพอดีพระมหาอุปราชจันทกุมารผ่านมาพบ
จึงทรงตรัสถามเมื่อทรงทราบเรื่องก็เรียกชำระความใหม่
แล้วตัดสินสอบสวนอย่างชอบธรรม
ให้ผู้ชนะที่ติดสินบนนั้นกลายเป็นฝ่ายผิด
และให้ผู้แพ้ที่บริสุทธิ์เป็นฝ่ายชนะความ
เหล่าไพร่ฟ้าทราบเรื่องก็พากันแซ่ซ้องสรรเสริญกันทั่วนคร
พระเจ้าเอกราชจึงให้พระอุปราชจันทกุมาร
เป็นผู้ตัดสินความแทนปุโรหิตกัณฑหาล
เมื่อกาลกลับเป็นดังนั้น
ปุโรหิตก็อดได้ลาภสักการะโดยมิชอบ
ยังความแค้นใจอาฆาตต่อพระจันทกุมารเป็นยิ่งนัก
ที่มาขัดลาภทำให้อดทรัพย์และเสียหน้าอีกด้วย
คนบาปคิดแค้น
เวลาต่อมาพระเจ้าเอกราชทรงพระสุบินเห็นพระองค์
ได้เสด็จขึ้นสรวงสวรรค์ ณ ชั้นดาวดึงส์
ได้เที่ยวชมวิมานทิพย์ปราสาทแก้ว
ซุ้มประตูทองและปราสาททิพย์สูง ๑ พันโยชน์
อุทยานสวรรค์มีแต่เหล่าอัปสรและบุปผาชาติหอมจรุง
ริมสระโบกขรณีมีดุริยางค์ทิพย์ขับกล่อมบรรเลง
ทุกหนแห่งล้วนน่าตื่นตาตื่นใจทั้งสิ้น
ครั้นตื่นบรรทมจึงให้ทรงปีติพระทัยนัก
ทรงตรัสถามปุโรหิตกัณฑหาลว่า
ควรบำเพ็ญกุศลใดหนอ
จึงจักได้เสด็จไปเสวยสุขในชั้นสวรรค์ได้
พราหมณ์ชั่วจึงกราบทูลด้วยความกระหยิ่มใจว่า
“ข้าแต่พระองค์ หากประสงค์จะเสด็จสู่สวรรค์
ต้องทำพิธีบูชายัญ พระเจ้าข้า
พระองค์จะต้องทรงสละสิ่งอันเป็นที่รักทั้งปวง พระเจ้าข้า”
“สิ่งอันเป็นที่รักอย่างไรหรือท่านปุโรหิต”
“ก็คือพระราชโอรสทั้ง ๔
พระราชธิดาทั้ง ๔
พระมเหสีทั้ง ๔
ช้างแก้ว ๔
ม้าทรง ๔
และเศรษฐีอีก ๔ พระเจ้าข้า”
ปุโรหิตทูลให้ฆ่าคนทั้งปวงนั้น
แล้วเอาถาดทองคำรองเลือด
แล้วนำเลือดไปบูชายัญ
โดยจะต้องตัดคอพระโอรสจันทกุมารเป็นองค์แรกด้วย
ซึ่งปุโรหิตคนชั่วคิดแค้นเพียงพระจันทกุมารองค์เดียว
แต่เกรงเป็นที่ครหา จึงหาอุบายให้มีการฆ่าผู้อื่นด้วย
เป็นอุบายที่อำมหิตยิ่งนัก
บรรดาเสนาไพร่ฟ้าเมื่อได้ยินข่าวนี้
ก็ให้หวาดกลัวเสียขวัญกันไปทั่ว
ต่างเลื่องลือกันต่อ ๆ ไป
ว่าพระเจ้าเอกราชจะทรงประหารลูกเมียบูชายัญ
ด้วยเพราะอยากเสวยสมบัติทิพย์ดั่งพระอินทร์บนดาวดึงส์
มิว่าผู้ใดก็มิอาจทัดทานเปลี่ยนพระทัยได้
ด้านพระบิดาพระมารดาของพระเจ้าเอกราชก็เสด็จมาทูลวิงวอน
ตรัสว่ากษัตริย์ที่ใดจะประหารมเหสี
ธิดาและโอรสเพื่อบูชายัญให้เป็นบาปเป็นกรรมผิดธรรมเนียม
ควรปฏิบัติทศพิธราชธรรมจึงจะถูกต้อง
แต่ทว่าพระเจ้าเอกราชทูลตอบว่า
“ขอเดชะพระราชบิดา ปุโรหิตกัณฑหาลพราหมณ์นั้นกล่าวว่า
การบูชายัญนี้จะทำให้ขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้าได้เมื่อสวรรคตแล้ว”
ฝ่ายจันทกุมารก็กราบทูลว่า
“ขอเดชะพระราชบิดา การฆ่าคนเพื่อบูชายัญมิใช่ทางไปสวรรค์
หากการสละของรักทำให้ขึ้นสวรรค์ได้จริง
เหตุใดปุโรหิตจึงมิฆ่าลูกเมียบูชายัญบ้างเล่า
ปุโรหิตทำเช่นนี้เพราะแค้นเคืองหม่อมฉัน
หากพระบิดาทรงเมตตาก็ให้ขับหม่อมฉันออกจากนคร
แล้วไว้ชีวิตทุก ๆ คนด้วยเถิดพระเจ้าข้า”
เมื่อถูกวิงวอนหลายครา
พระเจ้าเอกราชก็ใกล้จะใจอ่อนยอมเลิกการบูชายัญ
ฝ่ายปุโรหิตจึงรีบเตรียมพิธีและให้ขุดหลุมโดยเร็ว
แล้วก็รีบมายุยงเพ็ดทูลพระราชาให้รีบกระทำพิธีโดยมุ่งมั่น
มิให้ทรงเปลี่ยนพระทัยได้ดังนั้น
พระธิดาเสลากุมารีก็ทรงเข้ากราบพระบาทพระราชา
และทูลวิงวอนว่า
“พระบิดาจะฆ่าเสด็จพี่และฆ่าหม่อมฉัน
เพื่อไปสวรรค์ได้อย่างไรกันเพคะ”
ฝ่ายพระนางจันเทวี มเหสีของจันทกุมารก็ทรงกันแสง
พระโอรสของจันทกุมารมีนามว่า “วสุละกุมาร”
จึงทูลวิงวอนเสด็จปู่ว่า
“พระอัยยิกาทรงเว้นการประหารพระบิดาของหม่อมฉันด้วยเถิด”
เมื่อเห็นหลานและคนทั้งปวงร่ำไห้
พระเจ้าเอกราชจึงทรงสลดพระทัยตรัสว่า
“เอาล่ะ เราจะงดบูชายัญ มิต้องคิดเรื่องไปสวรรค์แล้ว”
เมื่อพระราชาเปลี่ยนพระทัย
ปุโรหิตจึงรีบเข้าเพ็ดทูลยุยงพระราชาตามลำพังว่า
“ขอเดชะ การบูชายัญนั้นเป็นเรื่องยากนัก
ดังนั้นถ้าผู้ใดมีจิตเปลี่ยนพระทัย
จงรีบให้ทำพิธีที่หลุมบูชายัญทันทีมิรั้งรออีกแล้ว
พิธีบูชายัญอำมหิต
พระมเหสีทั้ง ๔ ที่จะถูกบูชายัญ คือ
พระนางโคตมี
พระนางวิชยา
พระนางเอราวดี
พระนางเกสินี
พระโอรสทั้ง ๔ ก็มี
เจ้าชายจันทกุมาร
เจ้าชายสุริยกุมาร
เจ้าชายภัททเสน
เจ้าชายรามโคตร
เศรษฐีทั้ง ๔ คือ
ปุณณมุขะ
ภัททิยะ
สิงคาละ
วัทธะ
และช้างแก้ว ม้าแก้ว อย่างละ ๔ ทั้งหมดทั้งปวงนี้
ถูกนำไปรอพร้อมที่พิธีทันที
ท่ามกลางความโกลาหลของชาววังและชาวเมือง
ที่หน้าพระราชวังจึงมีแต่เสียงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินร่ำไห้กันอึงคนึง
เหล่านกกาก็บินว่อนร้องกันผิดอาเพศทั่วในนภากาศ
ปุโรหิตสั่งให้นำตัวจันทกุมารมานั่งก้มพระศอที่หลุมเป็นองค์แรก
แล้วปุโรหิตก็เตรียมดาบจะฟันพระศอพระจันทกุมารให้วายชนม์
สมความแค้นแห่งจิตบาปหยาบช้า
เทวดาคุ้มครอง
ฝ่ายพระนางจันทเทวีพระมเหสีของพระจันทกุมารทรงกันแสง
ด้วยอาดูรใจจะขาด พระนางยกมือพนมตั้งสัตย์อธิษฐานแก่ทวยเทพว่า
“ข้าแต่เทพยดาอันทรงศักดิ์
พระอุปราชจันทกุมารสวามีของข้ามิเคยประพฤติชั่ว
แต่กัณฑหาลพราหมณ์นี้เป็นปุโรหิตที่ทุศีล
ประพฤติบาปหยาบช้าอยู่เป็นนิจ
คิดแต่จะทำร้ายผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตน
คำกล่าวนี้เป็นคำสัตย์ ขอเทพยดาทั้งปวงเป็นพยาน
ของจงทรงช่วยพระจันทกุมารให้พ้นภัยจากมือคนบาปด้วยเถิด”
ด้วยแรงอธิษฐานนั้น พระอัมรินทราชาบนดาวดึงส์
จึงทรงถือค้อนเหล็กอันลุกโชติช่วงด้วยเปลวเพลิง
เสด็จเหินลอยลงมากลางอากาศ
ทรงตวาดด้วยสุรเสียงอันกึกก้องว่า
“ชะช้า…. ไอ้พระราชาโฉดเขลา มิได้ครองราชย์โดยธรรม
คิดจะฆ่าลูกเมียบูชายัญ มิรู้มีประเพณีที่ใดปรากฎเช่นนี้
หากทำพิธีเราจะประหารท่านด้วยค้อนเหล็กนี้แหละ”
พระอินทร์ตวาดพลางทรงฟาดค้อนใส่ฉัตรล้มระเนระนาด
เสียงกัมปนาทลั่นนคร
ผู้คนทั้งปวงเห็นฤทธานุภาพเช่นนั้นก็แตกตื่นอลหม่าน
ต่างกรูกันเข้ารุมทุบตีขว้างปาพราหมณ์กัณฑหาลจนสิ้นใจตาย
หลังจากนั้นก็กรูกันจะเข้าจับตัวพระเจ้าเอกราช
พระจันทกุมารจึงทรงเข้ากอดพระบิดาขวางประชาชนไว้
พรางขอร้องมิให้ฆ่าพระราชา
บรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินพากันตะโกนขับไล่พระราชา
ต่างโห่ร้องประฌานมิให้ครองราชย์สืบต่อไป
ให้พระองค์ทรงโพกผ้าย้อมขมิ้นที่ศีรษะเป็นคนจัณฑาล
ให้เนรเทศออกไปอยู่หมู่บ้านจัณฑาล
แล้วอัญเชิญจันทกุมารขึ้นครองเมือง
เวลาต่อมาพระเจ้าจันทกุมารเสด็จออกนครบุปผวดี
ไปดูแลปฏิบัติต่อพระบิดาอยู่เนือง ๆ
พระบิดาก็ทรงถวายพระพร
ให้พระเจ้าจันทกุมารเสวยราชสมบัติโดยสุขตลอดพระชนมายุ
โดยมิต้องประสบภัยใดอีกเลย…
ชาดกเรื่องนี้มีคติธรรมคือเรื่องอาฆาตจองเวรนั้น
ย่อมให้ทุกข์กลับคืนแก่ตนในที่สุด
และความเขลาหลงในทรัพย์และสุขของผู้อื่น
ก็ย่อมให้ผลร้ายแก่ตัวได้ในไม่ช้าเช่นกัน
ทศชาติที่ ๘ พระนารทะ…
รายละเอียด : ในครั้งหนึ่งเหล่าพระภิกษุและพุทธศาสนิกชน
ได้พากันทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ให้ทรงเล่าเรื่องอดีตชาติ
เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นมหาพราหมณ์และปราบมาร้ายให้บรรพชาได้
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสเล่าประทาน
หลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศธรรมจักกัปปวัตนสูตร
ณ ลัฏฐิวนอุทยานใกล้กรุงราชคฤห์
ความเป็นมาว่าในครั้งอดีตกาล
กษัตริย์แห่งมิถิลานครมีพระนามว่า “อังคติราช”
ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวพระนามว่าเจ้าหญิงรุจา
พระเจ้าอังคติราชได้ทรงครองเมืองโดยธรรม
ทรงพระราชทานผอบดอกไม้
และภูษาแพรพรรณอย่างดีให้พระธิดาทุก ๆ วัน
และในทุก ๑๕ วัน ทรงพระราชทานทรัพย์ให้พระธิดาบริจาคทาน
ทรงให้พระสนมอีกหลายร้อยหมั่นบริจาคทานอยู่เนือง ๆ ด้วยเช่นกัน
ในพระราชวังมี ๓ เสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่นามว่า
อำมาตย์วิชัย อำมาตย์สุนามะ และอำมาตย์อลาตะ
ซึ่งเป็นบุคคลที่พระราชามักขอให้ถวายคำปรึกษาอยู่เนืองนิจ
ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ บนท้องฟ้าปรากฏเพ็ญเต็มดวงสว่างไสว
ในสระน้ำก็เจิ่งนองสดใสเต็มไปด้วยบัวใหญ่งดงามชื่นบาน
เป็นฤดูกาลที่ทั่วแคว้นดั่งแดนวิมานประดับแก้วแวววาว
พระเจ้าอังคติคราชจึงทรงมีรับสั่งว่า
“ดูกรท่านอำมาตย์ทั้งสาม ในวันเป็นฤกษ์ดีแห่งฤดูกาลนี้
ท่านว่าเราควรจะประพฤติใดจึงเป็นมงคลดีสม”
ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันเห็นว่าพระองค์สมควร
ออกทัพตีหัวเมืองมาไว้ในครอบครองพระเจ้าข้า”
อำมาตย์อลาตะกราบทูล
“ขอเดชะ พระองค์น่าจะจัดมหรสพเฉลิมฉลอง
ตกแต่งอุทยาน จัดมโหรีบรรเลงตลอดวันคืน
ให้นางกำนัลฟ้อนถวายด้วยเครื่องประดับงดงาม
จัดโภชนาการอาหารเพรียบพร้อม
ให้อภิรมย์ทั้งฤดูพระเจ้าข้า”
อำมาตย์สุนามะทูลดั้งนั้น
“ขอเดชะ พระองค์เป็นสมมติเทพผู้ไม่ยินดีในทางอภิรมย์
สมควรจะสนทนาธรรมกับปราชญ์
เพื่อให้รู้กระจ่างเห็นแจ้งในธรรมยิ่งขึ้นพระเจ้าข้า”
เมื่ออำมาตย์วิชัยกราบทูลถวายทางสงบ
พระเจ้าอังคติราชก็ทรงตรัสเห็นด้วย
อำมาตย์อลาตะจึงรีบทูลเอาความดีว่า
“ข้าพระองค์คุ้นเคยกับท่านคุณาชีวกะ
ท่านเป็นผู้ใฝ่ธรรมและมีผู้ศรัทธามากพระเจ้าข้า”
คำตอบพราหมณ์เขลา
ครั้นพระราชาทรงสดับฟังแล้ว
จึงให้ยกขบวนเสด็จไปยังสำนักชีต้นนั้น
พระราชาทรงตรัสถามแก่คุณาชีวะเป็นปริศนาธรรมว่า
“สิ่งใดควรทำสำหรับพระราชา
เมื่อทำแล้วย่อมสำเร็จสู่สวรรค์
สิ่งใดมิควรทำสำหรับพระราชา
ทำแล้วย่อมเป็นทางนำสู่นรก
และสิ่งใดเป็นข้อควรประพฤติปฏิบัติต่อบิดามารดา
อาจารย์ บุตรภรรยา ผู้เฒ่าผู้อาวุโส พราหมณ์และสมณสงฆ์
และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน”
เมื่อชีเปลือยคุณาชีวกะอับจนปัญญา
จึงกราบทูลตามลัทธิมิจฉาทิฐิของตนว่า
“ขอเดชะท่านมหาบพิตรความสงสัยของพระองค์นั้นตอบได้ดังนี้
๑ เรื่องของบุญนั้นไม่มีจริง บาปก็ไม่มี ภพหน้าก็ไม่มี
๒ เรื่องของบุพการีบิดามารดาก็ไม่มีจริง มิต้องปฏิบัติด้วยดีอย่างใด
เพราะคนเราเกิดมาตามธรรมดา ดั่งเรือเล็กตามเรือใหญ่
ไม่ใช่ผู้มีบุญคุณต่อกัน
๓ สัตว์ทั้งหลายก็เสมอกันเช่นดั่งคน วัยผู้เฒ่าผู้อาวุโสก็เสมอเหมือนกัน
มิต้องนอบน้อมบำรุงปฏิบัติหรือเกื้อกูลแต่อย่างไร
๔ สมณพราหมณ์ก็มิได้วิเศษใด ทำดีไปสวรรค์
ทำชั่วไปนรกมิใช่เรื่องจริง ทำทานไปก็มิได้สิ่งใดตอบแทน
มิมีผลแห่งบุญหรือผลแห่งบาป
๕ การถือศีลก็จะทำให้หิว มิควรถือศีลการให้ทานก็คือความโง่
แต่คนฉลาดคิดแต่รับทาน”
คุณาชีวิกะเห็นพระราชานิ่งสดับฟังด้วยความทึ่งดังนั้น
ก็รีบกล่าวต่อย่างลำพองใจในปัญญาอันมืดมิดของตนอีกว่า
“แม้แต่ร่างกายของคนเรานั้นก็รวมกันมาจาก ๗ สิ่งคือ
ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์ และชีวิต
หากเมื่อสูญสลายตายไปแล้วส่วนที่เป็นไฟก็จะไปอยู่กับไฟ
ส่วนที่เป็นลมก็จะล่องลอยไปอยู่กับลม
สุขและทุกข์ก็ลอยไปในลมในอากาศเช่นเดียวกับชีวิต
ดังนั้นการฆ่าหรือตัดชีวิตใครก็จึงมิใช่เรื่องของบาปหรือกรรม
สัตว์และมนุษย์เวียนว่ายตายเกิดอีกชั่ว ๖๔ กัปป์กัลล์อยู่แล้ว
ต่อจากนั้นก็จะบริสุทธิ์ได้เองมิต้องถือศีลทำบุญ”
อำมาตย์อลาตะฟังดังนั้นก็รีบทูลสนับสนุน ว่าตนเองก็เห็นจริงเช่นนั้น
อ้างว่าตนระลึกชาติได้ว่าเคยเป็นคนใจบาปชื่อ “ปิงคละ”ผู้ฆ่าโคขาย
ชาติต่อมายังได้เกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลเสนาบดีจนมียศศักดิ์จนถึงวันนี้
มิเห็นต้องตกนรกหมกไหม้แต่อย่างใด
ก็ย่อมแสดงว่าบาปบุญไม่มีจริงดังที่ท่านอาจารย์กล่าว
เพราะหากบาปมีจริง ตนก็คงต้องไปตกนรกหมกไหม้แล้ว
แต่ในทางแห่งความเป็นจริงที่เป็นมา
อำมาตย์อลาตะเกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลดี
เนื่องจากในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
ได้ถวายพวงอังกาบบูชาพระเจดีย์
เมื่อตายไปเกิดเป็นปิงคะผู้ฆ่าโคขาย
และอานิสงส์ในภพที่ถวายพวงอังกาบ
จึงได้มาเกิดเป็นเสนาอำมาตย์ในชาติภพนี้
แต่อำมาตย์ระลึกชาติได้ชาติเดียวจึงเห็นผิดไปว่า
เรื่องการทำบาปมิได้ส่งผลให้ต้องชดใช้กรรมแต่อย่างใด
คนบาปเห็นผิดเป็นชอบ
ในขณะนั้น บุรุษนาม “วิชกะ”
บุตรช่างหม้อยากไร้ได้ฟังความด้วยก็ร่ำไห้ออกมา
ครั้นพระราชาตรัสถาม วิชกะก็กราบทูลว่า ตนเสียใจนัก
ตนเคยระลึกชาติว่าเป็นเศรษฐีเมตตาจิตบริจาคทานอยู่ตลอดชีวิต
แต่ชาตินี้จึงมาเกิดเป็นคนจนอนาถา แสดงว่าบุญและบาปไม่มีจริง ๆ
แน่นอนแล้วล่ะนี่
ซึ่งในความจริงนั้น ชาติเดิมวิชกะเป็นคนเลี้ยงโค
วันหนึ่งโคหายก็พาลดุด่าพระภิกษุที่ผ่านมาถามหนทาง
ตายไปจึงมาเกิดเป็นคนต่ำต้อย
ซึ่งวิชกะระลึกชาติได้แค่ชาติเดียวที่เกิดเป็นเศรษฐี
เมื่อมีผู้สนับสนุนเห็นพ้องด้วย
พระเจ้าอังคติราชก็พลอยเชื่อถือคำของคุณาชีวกะ
จึงทรงตรัสแก่วิชกะว่าพระองค์ก็บริจาคทานไปแล้วเหมือนกัน
นับเป็นทางที่ผิด พระองค์จะหาความสุขให้ตัวเองนับแต่นี้
และไม่มาสำนักนี้อีกเลย
ในเมื่อมิได้มีใครบันดาลผลบุญธรรมแก่เราทุกคน
ตรัสดังนั้นก็มิทรงทำความเคารพชีเปลือยอีก
ทว่าเสด็จกลับวังในทันทีนั้นเอง
เมื่อเสด็จสู่พระราชวังพระเจ้าอังคติราชก็ทรงให้จัด
มหรสพรื่นเริงให้มีดุริยางค์ขับกล่อมตลอดเวลา
มีนางกำนัลตกแต่งกายยั่วยวนฟ้อนรำ
จัดสุราอาหารสำราญพร้อม มิสนใจในกิจแห่งแผ่นดินอีก
ทรงมุ่งแต่มัวเมาในทางกามคุณ ละเว้นโรงทานและศาลาธรรมจนสิ้น
พระธิดาช่วยเหนี่ยวรั้ง
ครั้นเมื่อถึงวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ
พระธิดารุจากุมารก็ทรงเข้าเฝ้าตามกำหนด
พระราชาก็ทรงพระราชทานทรัพย์พันหนึ่งดั่งเดิม
แต่มิได้ใส่พระทัยว่าจะนำเงินไปทำบุญหรือทำสิ่งใด
พระธิดายังทรงถือศีลอุโบสถและทำทานเป็นนิจ
และทรงระลึกชาติได้ ๑๔ ชาติ คือ
ชาติภพเดิม ๗ ชาติ ภพหน้า ๗ ชาติ
และพระนางก็คิดช่วยเหลือพระราชบิดา
ด้วยว่าทั่วนครต่างก็เลื่องลือว่าพระราชา
หลงอบายมุขตามลัทธิชีเปลือยไปเสียแล้วนั้น
ครั้นถึงวันพระอีกคราว
พระธิดารุจาก็เสด็จเข้าตามกำหนด
ทรงให้นางกำนัลแต่งกายละลานตา
ทรงได้สนทนากับพระราชาเป็นอันดี
ทว่าเมื่อทรงทูลขอทรัพย์ตามปกติ
พระราชจึงทรงตรัสว่า
ตั้งแต่แจกทานทำบุญก็มีแต่หมดทรัพย์
แต่มิได้สิ่งตอบแทนคืน
ตอนนี้พระองค์รู้ทางถูกแล้ว
คนเราควรเอาเงินบำรุงบำเรอความสุขให้ตนเอง
ดังนั้นขอให้พระธิดาเลิกเอาเงินไปบริจาคทานเสียทีเถิด
คุณาชีวกะอาจารย์ก็ได้สำแดงลัทธิให้เข้าใจแล้ว
ทาสวิชกะก็ยังยืนยันเช่นกัน
เมื่อธิดารุจาได้ฟังก็ให้สลดพระทัยยิ่งจึงกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระบิดา
ไฉนพระองค์หลงผิดไปเชื่อความของคนที่ไร้สติปัญญาเช่นนั้น”
พระราชบิดาตรัสตอบพระธิดาว่า
“เจ้าหญิงเอ๋ย
พ่อเชื่อเพราะเห็นว่าความที่คุณาชีวกะแสดงมานั้นเป็นเรื่องจริงที่น่าเชื่อถือ
ทำให้พ่อหายโง่ เลิกทำบุญถือศีลซึ่งมิได้ผลดีอันใด”
“หากพราหมณ์นั้นกล่าวว่าคนนั้นเสมอเหมือนกัน
และการบำเพ็ญภาวนาไม่มีผลใด
แล้วพราหมณ์นั้นไฉนจึงเฝ้าบำเพ็ญภาวนา
เป็นอาจารย์ให้ผู้คนกราบไหว้และเชื่อฟัง
ข้าแต่พระราชบิดา หากคนเราคบคนพาลย่อมเป็นพาลไปด้วย
หากคบหาบัณฑิตนักปราชญ์ก็ย่อมจะพลอยเป็นปราชญ์ไปด้วย
ชีเปลือยคุณาชีวกะก็ยังให้คนนับถือตนและบำเพ็ญกิริยาต่าง ๆ
แล้วจะมาว่าการบำเพ็ญไม่มีผลบุญบาปได้อย่างไร”
ส่วนอลาตะและวิชกะนั้นระลึกชาติแค่ชาติเดียวเท่านั้น
หม่อมฉันระลึกได้ถึง ๑๔ ชาติ
ในชาติหนึ่งนั้นเกิดเป็นหญิงมีสกุลแต่คบชู้
ตายไปก็ได้เกิดเป็นบุตรมหาเศรษฐี ด้วยผลบุญก่อนยังหนุน
และผลกรรมยังตามมามิทัน
ยามเป็นบุตรเศรษฐีก็ทำทานถือศีลเพราะมีมิตรดี
เมื่อตายไปก็ตกนรกหมกไหม้เพราะผลกรรมที่ลักลอบเป็นชู้ตามมาทัน
จากนรกก็ไปเกิดเป็นลา ถูกทรมานตาย
แล้วเกิดเป็นลูกลิง ถูกกัดกินจนตาย
ก็ไปเกิดเป็นกะเทย
จากนั้นจึงไปเกิดบนชั้นสวรรค์
เป็นพระมเหสีของพระอินทร์ ๔ ชาติ
เพราะผลบุญจากชาติที่ทำทานตามมา
และในชาตินี้ก็เกิดเป็นพระราชธิดาพระราชาคือพระบิดานี้เอง”
พระราชาทรงเงียบนิ่งด้วยเพราะหาทางโต้แย้งมิได้
พระธิดารุจาจึงทูลต่อว่า
“การคบคนเลวต่างหากที่จะพาให้พระบิดาตกนรก
การคบหาคนดีจึงจะเสด็จสู่สวรรค์ได้ คนที่เป็นครูเป็นอาจารย์
หากอบรมสั่งสอนสิ่งชั่วร้ายเลวทรามให้แก่ศิษย์
ผู้เป็นศิษย์ก็ย่อมตกต่ำไปด้วยเสมือนดั่งใช้ใบไม้เน่าห่อปลา
ปลานั้นย่อมจะเหม็นเน่าไปด้วย
หากห่อปลาด้วยใบไม้หอม ปลาก็ย่อมจะหอมหวลด้วยแน่นอน
ขอให้พระบิดาทรงใคร่ครวญ”
เมื่อพระราชาสดับฟังดังนั้นก็ยังมิเปลี่ยนความเชื่อมั่น
ด้วยเพราะยังคงทรงตกต่ำมัวเมาอยู่ในเพศรสมิจฉาทิฐิดังเดิม
ให้ทวยเทพช่วยเหลือ
พระธิดารุจาจึงทรงนมัสการ ๑๐ ทิศ
แล้วตั้งสัตย์อธิษฐานว่า
ขอให้ทวยเทพยดาช่วยให้พระราชบิดา
ให้พ้นทางมัวเมาตามมิจฉาทิฐินั้นด้วยเถิด
“ข้าแต่ทวยเทพยดา ท้าวจตุโลกบาล
ท้าวมหาพรหมแลสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
ขอพระองค์ทั้งหลายทรงโปรดช่วยพระราชบิดาให้พ้นทางมัวเมา
ให้เห็นทางสว่างพ้นจากทางผิดอันมืดมิดด้วยเทอญ”
ยามนั้นพระนารทะมหาพรหมซึ่งคือพระพุทธเจ้านั้นเอง
ได้ทรงจำแลงกายเป็นนักบวชมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอังคติราช
โดยเหาะลอยมาในอากาศพร้อมทองหาบหนึ่ง
พระราชาทรงตรัสถามพระมหานารทะว่า
ไฉนพรหมจึงเหาะได้ พระนารทะจึงทรงทูลว่า
เพราะพระองค์บำเพ็ญคุณธรรม ๔ ประการ คือ
รักษาสัจจะ
ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ไม่ประพฤติผิดในกาม
และประพฤติชอบธรรมทั้งกาย วาจา ใจ คือเสียสละ
พระราชาแคลงพระทัยนัก
ทรงถามว่าภพหน้าและบาปบุญมีจริงหรือ
พระนารทะทรงทูลว่า เรื่องนั้นมีจริงพระราชาจึงทรงว่า
ถ้างั้นก็ขอยืมเงิน ๑ พัน แล้วชาติหน้าจะใช้คืนให้
พระนารทะว่า พระราชเป็นคนผิดศีล
ไม่มีธรรม ตายไปก็จะเกิดในนรก
ซึ่งคงไม่มีใครกล้าลงไปทวงในนรก
แต่หากพระราชาเป็นคนประพฤติชอบ
แม้กี่พันก็จะให้ยืม
เพราะชาติหน้าพระองค์ย่อมชดใช้โดยดี
เมื่อพระราชาฟังแล้วเงียบนิ่ง
พระนารทะจึงทรงกล่าวสืบไปว่า
ถ้าพระราชาหลงผิดในทางอบายมุขละเว้นธรรมเช่นนี้
เมื่อตายไปก็จะเกิดในนรก
ต้องถูกแร้งกาจิกกินจนเลือดโทรมกาย
เจ็บปวดทรมานในนรกโลกันต์อันมืดมิด
มีดหอกคอยทิ่มตำ มีหนามงิ้วเสียดแทง
มีทั้งฝนอาวุธตกลงมาทิ่มแทงใส่กาย
หากล้มไปก็ถูกนิริยบาลรุมแทง
กระหน่ำย่ำเหยียบและโยนลงกะทะเดือด
ในนรกมีภูเขาเหล็กลูกมหึมากลิ้งมาทับบดร่างให้แหลกยับ
ถูกกรอกด้วยน้ำทองแดงจนตับไตไส้พุงขาดวิ่น
ยามหิวต้องกินน้ำเลือดน้ำหนองของตนเอง
บรรดาสุนัขนรกตัวเท่าช้างก็คอยมาแทะกัดกินเนื้อตัว
ให้ทุกข์ทรมานมิรู้สุดสิ้น
พระราชาทรงนิ่งสดับฟังเสร็จแล้วก็ให้หวาดหวั่นพระทัยนัก
ทรงตรัสด้วยความกลัวตัวสั่นว่า
“เรานี้เป็นคนหลงมัวเมาในทางผิด
เรามิอยากตกในนรกเลยนะท่านนารทะ
ขอให้ท่านจงช่วยชี้ทางถูกให้ข้าพเจ้าเถิด”
จากนั้นพระนารทะจึงทรงทูลว่า
ให้พระราชาทรงละมิจฉาทิฐิหมั่นบำเพ็ญกุศลทำทาน
และรักษาศีลอย่างแน่วแน่
บรรดาช้าง ม้า โค กระบือที่แก่เฒ่าก็ให้ปล่อยเสีย
เช่นเดียวกับอำมาตย์ชราก้ฬห้เลี้ยงดูมิต้องทำราชการอีก
และให้ยึดมั่นในการรักษาศีล ๕ และศีล ๘
อันจะมีผลในภายหน้าอย่างสูงส่ง
เป็นทางสู่สวรรค์ชั้นฟ้าด้วย
ให้พระราชาครองราชย์โดยชอบธรรม
ตั้งกายเป็นราชรถ ตั้งจิตเป็นสารถี
ให้สารถีขับรถคือจิตนำกายไป
ประพฤติตามกุศลกรรมบท ๑๐ ประการ
ละเว้นกิเลส สำรวมตน คบมิตรที่ดี
และไม่ประมาทเสมอไป
เมื่อทรงแสดงโอวาทแล้ว
พระนารทะมหาพรหมก็เหาะกลับสู่วิมานแมน
พระราชาและเหล่าเสนาอำมาตย์ที่พบเห็นก็แตกตื่นรีบก้มสัการะ
และนับแต่นั้นมาพระเจ้าอังคติราชก็ประพฤติตามโอวาทพระนารทะ
บำเพ็ญกุศลถือศีลทำทาน ปกครองเมืองโดยสงบร่มเย็น
เมื่อเสด็จสวรรคตก็ทรงขึ้นสู่สวรรค์
คติธรรมอดีตนิทานนี้มีว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ทำดี ย่อมได้ผลดี
ทำผิดบาป ย่อมได้ชั่วช้าสามานย์เป็นผลตอบ
และการคบมิตรสหายนั้นก็จะส่งผลดีเลวแก่ตัวบุคคลนั้นด้วย
ทศชาติที่ ๙ พระวิฑูรบัณฑิต…
รายละเอียด : เมื่อครั้งอดีตกาลนานมาแล้ว พระบรมศาสดาเคยเสวยชาติ
เป็นผู้มีปัญญาบารมี เข้าใจเวไนยสัตว์และปราบมารให้สิ้นพยศได้
อดีตนิทานมีเรื่องราวดังนี้
ในแคว้นกุรุรัฐ
พระเจ้านัญชัยโกรพทรงครองเมืองอินทปัตตี
มีราชเสวกนามว่า “วิฑูรบัณฑิต”
เป็นอาจารย์สอนธรรมที่มีความปราดเปรื่อง
และน้าวพระทัยให้พระราชาใฝ่ธรรมะด้วยดีเสมอมา
ครั้งนั้นมีพราหมณ์ ๔ คน คบหาเป็นมิตรกัน
ออกบวชด้วยเพราะเบื่อในทางโลกีย์
มีชาวบ้านเลื่อมใสกันทั่วไป
วันหนึ่งคหบดี ๔ คนพบเห็นก็พึงพอใจ
นิมนต์ให้พราหมณ์ไปพักที่บ้านของตนบ้านละคน
ต่างก็สักการะและถวายอาหารอย่างดี
ฝ่ายพราหมณ์ก็พักผ่อนยามกลางวัน
โดยองค์หนึ่งไปสู่ภพดาวดึงส์
องค์หนึ่งไปยังภพพญานาค
องค์หนึ่งไปยังภพพญาครุฑ
องค์หนึ่งไปยังอุทยานพระเจ้าโกรพ
เมื่อกลับมาจากพักผ่อนมาก็เล่าให้เศรษฐีที่อุปการะตนฟัง
ตามที่พราหมณ์แต่ละคนไปพบเห็นมาว่า
สมบัติของแต่ละในภพนั้นเลิศเลออย่างไร
หากอยากได้เสวยสุขเช่นนั้นก็ต้องหมั่นทำกุศลไว้ให้มั่น
คหบดีทั้ง ๔ ก็ปฏิบัติตามเคร่งครัด
เมื่อตายไปก็ได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
อีกคนได้ไปเกิดเป็นพญานาคในเมืองบาดาล
อีกคนหนึ่งไปเกิดเป็นพญาครุฑ
อีกคนไปเกิดในครรภ์พระมเหสีพระเจ้าโกรพ
ประสูติออกมามีพระนามว่า ธนัญชัยกุมาร
เมื่อเจริญพระชันษาขึ้นครองราชย์
พระเจ้าธนัญชัยก็ทรงรักษาศีลบำเพ็ญทานตามที่วิฑูรบัณฑิตถวายพระโอวาท
ตัดสินด้วยปัญญา
คราวหนึ่งพระเจ้าธนัญชัยออกไปถือศีลที่อุทยานในวันอุโบสถ
บรรดาพญานาคพญาครุฑและพระอินทร์ก็มาเจริญสมาธิ
ณ อุทยานแห่งนั้นด้วย
ทั้ง ๔ ต่างใคร่รู้ว่าศีลของผู้ใดจะประเสริฐล้ำยิ่งกว่ากัน
พญานาคจึงกล่าวว่า
“ธรรมดาของครุฑนั้นมักเช่นฆ่านาคอยู่เสมอ
แต่ข้าพเจ้าสามารถอดทนได้
มิให้เกิดอารมณ์เคืองโกรธ
ศีลของข้าพเจ้าจึงประเสริฐนัก”
พญาครุฑจึงเอ่ยว่า
“ข้าพเจ้าอดกลั้นความอยากได้สำเร็จ
เพราะธรรมดาของครุฑย่อมกินนาค
แต่ข้าพเจ้าอดกลั้นได้ ศีลของข้าพเจ้าย่อมประเสริฐนัก”
พระอินทร์เอ่ยบ้างว่า
“ข้าพเจ้าละกามละสมบัติมารักษาศีลได้
ศีลของข้าพเจ้าจึงประเสริฐนัก”
มาถึงพระเจ้าธนัญชัยตรัสบ้างว่า
“ข้าพเจ้าไม่ยึดมั่นในตัณหา
ไม่กังวลในสิ่งใด ศีลของข้าพเจ้าประเสริฐที่สุด”
เมื่อทั้ง ๔ มิอาจตัดสินยอมกันได้ว่าศีลของผู้ใดจึงประเสริฐกว่ากัน
ทั้งหมดจึงพากันไปเล่าความให้วิฑูรบัณฑิตช่วยตัดสินให้กระจ่าง
วิฑูรบัณฑิตทรงทูลว่า ศีลทั้ง ๔ ข้อ
ล้วนเสมอกันเป็นคุณธรรมเลิศล้ำด้วย
เพราะความไม่โกรธคือความขันติ
ความไม่ทำชั่วก็คือความดีงาม
การละกามคุณก็ดีงาม
การไม่ยึดติดกังวลใดก็ดีงามเสมอกัน
ทั้ง ๔ พระองค์ได้สดับก็ให้ปีติยินดี
พระอินทร์พระราชทานผ้าทิพย์สีดอกบัวเนื้อละเอียดเป็นเครื่องบูชาธรรม
พญาครุฑพระราชทานดอกไม้ทอง เกสรแก้ว
พญานาคพระราชทานดอกแก้วมณี
พระเจ้าธนัญชัยพระราชทานโค ๑ พันตัว รถม้า ๑๐๐ คัน ส่วย ๑๖ บ้าน
ครั้นด้านพญานาคเมื่อร่ำลากลับบาดาล
มเหสีวิมาลาเทวีจึงทูลถามหาดวงแก้วที่พระศอ
พญานาคเล่าความให้ฟัง
พระมเหสีจึงอยากฟังธรรมและพบวิฑูรย์บัณฑิตบ้าง
แต่คงขึ้นไปเองมิได้แน่
จึงวางอุบายแกล้งป่วยไข้
ร้องทูลขอหัวใจของวิฑูร
บัณฑิตโดยเจ้าตัวต้องยินดีมอบให้
พญานาคลำบากใจอ้างว่า
วิฑูรบัณฑิตไม่มีใครได้พบเห็นง่ายดาย
ในวังเองก็มีการอารักขาแน่นหนา
จะพาตัวมาก็ยากดั่งสอยพระอาทิตย์นั่นไซร้
พญานาคได้แต่กลัดกลุ้มเมื่อวิมาลาเทวียังป่วยหนักอยู่
พระนางอิรันฑตีพระราชธิดาทราบความก็ทรงอาสา
“เสด็จแม่มิต้องทรงกังวลหรอกเพคะ เรื่องของวิฑูรบัณฑิตนี้
ขอให้ลูกได้จัดการเอง ลูกจะไปยังภพของมนุษย์และ
นำหัวใจของวิฑูรบัณฑิตมาถวายให้เพคะ”
ธิดานาคและยักษา
ครั้นแล้วพระธิดาอิรันฑตีจึงแต่งองค์งดงาม
ประดับดอกไม้แก้วมณีและเครื่องหอม
ว่ายน้ำไปยังกาฬคีรีขึ้นยืนบนยอดแล้วขับร้องฟ้อนรำในบทอันเสนาะหูว่า
“ผู้มีปัญญาทั้งปวง คนธรรพ์ กินนร นาค ครุฑ
หรือมนุษย์อันใดหากนำหัวใจวิฑูรบัณฑิตมาถวายพระมารดาของเราได้
เราจะยอมเป็นคู่ครองภักดีจนตาย”
ยามนั้นยังมียักษ์นามปุณณกะ
ผู้เป็นหลานท้าวเวชสุวรรณ
กำลังขี่ม้าเหาะผ่านมาทางยอดเขา
ได้ยินเพลงไพเราะและโฉมงดงามของพระธิดาก็ให้เกิดหลงใหล
เพราะเคยครองคู่กันมาแต่ปางก่อน
จึงเข้าพบถามความแล้วตกลงจะไปนำดวงใจวิฑูรบัณฑิตมาให้ได้
ยักษ์ปุณณกะ กลับไปทูลขออนุญาตท้าวเวชสุวรรณ
แต่ขณะนั้นท้าวเธอตัดสินคดีพิพาทของยักษ์มิทันฟังความ
ยักษ์ปุณณกะจึงทูลลาไปด้วยนึกว่าทรงอนุญาตแล้ว
เมื่อปุณณกะเหาะไปถึงเมืองราชคฤห์
แวะเก็บแก้วมณีชื่อ “มโนหร”
บนยอดเขาบรรพตไปด้วย
แก้วนั้นมีแวววาวพราวรัศมี
เมื่อเหาะไปถึงอินทปัตตีนครก็เข้าพระราชวังไปขอเฝ้า
พระเจ้าธนัญชัยด้วยสืบทราบมาว่าพระราชาโปรดเล่นสกายิ่งนัก
จึงคิดอุบายทูลท้าแข่งสกา
ขอเดิมพันคือดวงแก้วดวงหนึ่งและม้าตัวหนึ่ง
พระราชาทรงตรัสว่ามีม้าและแก้วมากมายแล้ว
แต่ปุณณกะที่จำแลงเป็นมนุษย์ได้อ้างว่า
ม้าและแก้วของตนมีฤทธานุภาพยิ่งนัก
จากนั้นจึงสำแดงให้พระราชาทอดพระเนตร
จากนั้นจึงขึ้นขี่ม้าทะยานขึ้นบนกำแพง
ฝีเท้าม้าว่องไวจนไม่เห็นตัวม้า
แม้ทะยานลงสระผิวน้ำก็ไม่กระเพื่อม
แล้วก็แสดงดวงแก้วให้ดูในดวงแก้วปรากฎเหล่าเทวบุตรและนางฟ้า
ทั้งนาค ครุฑ และบนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ
พระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็อยากได้
จึงทรงตรัสว่า
ถ้าพระองค์เป็นฝ่ายพ่ายก็จะทรงยกราชสมบัติทั้งปวงให้
เว้นเพียงตัวพระองค์ พระมเหสี และเศวตฉัตรเท่านั้น
แข่งสกา
ครั้นแล้วการเล่นสกาก็ถูกจัดขึ้นที่โรงสกา
พระเจ้าธนัญชัย ทรงอธิษฐานถึงเทพธิดาที่รักษาพระองค์
และสรรเสริญคุณมารดา จากนั้นพระราชาเลือกลูกบาศก์ชื่อพาหุลี
ส่วนปุณณกะเลือกลูกบาศก์สาวดี
ก่อนจะทอดลูกสกาทองคำนั้น ปุณณกะได้ขอให้เสนาอำมาตย์
และกษัตริย์ทั่วทวีปที่มาประชุมกันพอดีในวันนั้นได้ร่วมเป็นพยานการแข่งขัน
มิให้เกิดการอิดออดบิดพลิ้ว ถ้ามีการพ่ายแพ้
คนทั้งปวงในที่นั้นต่างก็รับคำโดยดี
เมื่อพระราชาทอดลูกบาศก์ลง
ปุณณกะก็บังคับลูกบาศก์ให้ออกแต้มไม่ดี
พระราชาทรงรับลูกบาศก์ไว้ได้ก่อนตกพื้น
ปุณณกะจึงถลึงตาใส่เทพธิดาและยักษ์เสนาบดีของเมือง
จนตกใจหวาดกลัวหนีไปจนสุดขอบจักรวาลกันทั้งสิ้น
เมื่อโยนลูกบาศก์อีก ผลออกมาแต้มพระราชาก็พ่ายแพ้
ยักษ์ปุณณกะจึงประกาศก้องว่า
“เราชนะแล้ว พระราชาแพ้แล้ว”
จากนั้นปุณณกะก็ทูลทวงถามถึงของเดิมพัน
ซึ่งผู้ชนะจะต้องได้ พระเจ้าธนัญชัยราชาจึงตรัสว่า
“พ่อหนุ่มเอ๋ย เมื่อท่านเป็นผู้ชนะ
ก็จงขนเอาทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทอง
แลช้างม้าทั้งปวงของเราไปเสียเถิด”
“ข้าแต่พระราชา
สิ่งที่มีค่าเหล่านั้นข้าพระองค์มิต้องการหรอกพระเจ้าข้า”
พระราชาสดับฟังดังนั้นก็ให้งุนงงนัก ตรัสถามว่า
“ถ้าเจ้าไม่ต้องการทรัพย์สินเงินทอง
แล้วยังมีสิ่งใดที่ต้องการอีกหรือ”
ยักษ์ปุณณะทูลตอบด้วยเสียงอันดังว่า
“ข้าพระองค์ต้องการตัววิฑูรบัณฑิตพระเจ้าข้า”
พระราชาทรงตกพระทัย ตรัสปฏิเสธว่า
“เราเดิมพันยกเว้นตัวเราด้วย
แต่วิฑูรบัณฑิตนั้นก็เปรียบเป็นตัวของเราเอง
จึงมิอาจยกให้ได้หรอกนะ
ขอให้เป็นสิ่งของอื่นเถิด
ยักษ์ปุณณกะจึงให้วิฑูรบัณฑิตเป็นผู้ตัดสินเอง
โดยถามวิฑูรบัณฑิตว่าเป็นทาสพระราชาหรือเสมอเหมือนพระราชา
วิฑูรบัณฑิตจึงตอบตามความสัตย์ว่าตนเป็นทาสพระราชา
หากพระราชาจะพระราชทานแทนเดิมพันก็สมควรแล้ว
ยักษ์ปุณณกะจึงหัวร่อเย้ยพระราชาว่า
ตนชนะสกาด้วย และยังได้บัณฑิตไปโดยง่ายอีกด้วย
พระราชาทรงพิโรธ
และเสียพระทัยที่วิฑูรบัณฑิตถูกส่งไปโดยง่าย
จึงตรัสว่าถ้าอยากได้ก็จงเอาไป
แต่ขอให้วิฑูรบัณฑิตแสดงธรรมครั้งสุดท้าย
จึงตรัสถามถึงความว่า
การประพฤติตัวให้มีความปลอดโปร่ง
สำหรับผู้ครองเรือนนั้นมีอย่างไรบ้าง
การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้สงเคราะห์ที่ดีนั้นต้องปฏิบัติอย่างไร
การละเว้นจากการเบียดเบียนผู้คนอื่นนั้นทำอย่างไร
การจะจากโลกนี้ไปอย่างไม่อาวรณ์นั้นทำได้อย่างไร
วิฑูรบัณฑิตทูลถวายโอวาทว่าการทั้งหมดนั้นปฏิบัติได้โดยดังนี้
ให้กล่าวคำสัตย์ รักษาสัจจะ รักษาศีล
ประพฤติสุจริต เว้นอบายมุข
ละเว้นการเบียดเบียน มิผิดในกามคุณ
สำรวมกายวาจา ไม่กระด้างทะนงตน
มีอัธยาศัยนุ่มนวล มีเหตุผล มีสติ
ศึกษาธรรมให้มีปัญญา
รู้จักแบ่งปันเข้าหาสมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล
หากปฏิบัติได้ดังนี้ก็จะทำให้จิตใจสะอาด
เมื่อถึงกาลเวลาดับจิตไปโลกหน้าก็มิมีความทุกข์ทรมานอันใด
จากนั้นวิฑูรบัณฑิตขอเวลาอีก ๓ วัน เพื่อร่ำลาอบรมบุตรภรรยาก่อนจาก
ยักษ์ปุณณกะตกลงและพักในปราสาทชั้นที่ ๗ ของวิฑูรบัณฑิต
พักอยู่สุขสบายพร้อมนางสนม ๕๐๐ นาง
อาหารและมโหรีกล่อมบรรเลงชั้นเลิศ
วิฑูรบัณฑิตสั่งสอนธรรมแก่ลูกเมียให้จงรักพระราชา
ให้ตั้งอยู่ในความสุจริตและอดทนรักษาสัตย์
ไม่ควรขลาดจนงานเสีย
ไม่ให้กล้าจนโอหังอวดดีเกินไป
ไม่ให้เดินบนทางที่พระราชาเสด็จ
การกินอยู่นุ่งห่มมิให้เทียมพระราชา
นางสนมกำนัลของพระราชาก็มิควรไปตีสนิทชิดใกล้
มิให้ดื่มสุราเมรัยจนไร้สติ
มิควรเห็นแก่การพักผ่อนจนมิเอางาน
พึงประพฤติตนให้มีคุณประโยชน์ต่อพระราชาทั้งต่อหน้าแลลับหลัง
เมื่อ ๓ วันผ่านไปจึงถวายบังคมลาพระราชาไปกับปุณณกะ
ชนชาวเมืองและบรรดาเสนาอำมาตย์ ต่างก็โศกาอาดูรโดยทั่ว
ถูกยักษ์นำตัวไป
ฝ่ายยักษ์ปุณณกะขี่ม้าเหาะไปในอากาศ
คิดจะให้วิฑูรฑิตถูกกระแทกตายจะได้ควักหัวใจโดยง่าย
จึงขี่ม้าทะยานไปในลมโดยแรงแต่ลมก็แหวกออกเป็นช่อง
ด้วยอำนาจศีลและสัตย์ซึ่งวิฑูรบัณฑิตตั้งอธิษฐาน
ปุณณกะดึงม้าไปยังภูเขา หวังให้ฟาดต้นไม้และหินผา
แต่วิฑูรบัณฑิตก็มิตกจากม้ากระแทกสิ่งใด
ยักษ์ปุณณกะคิดเนรมิตกายเป็นพญาช้างวิ่งเข้ามาแทง
พระวิฑูรก็มิหวาดหวั่นตกใจกลัวแม้แต่น้อย
ยักษ์จึงแปลงเป็นงูใหญ่มาพันกายแผ่แม่เบี้ยขู่
พร้อมเสกพายุใหญ่พัดสนั่นเพื่อให้พระวิฑูรตกผาตาย
พระวิฑูรก็มิทรงสะดุ้งสะเทือน
ยักษ์ปุณณกะจับพระวิฑูรฟาดภูเขา
โยนไป ๓๐ โยชน์ พระวิฑูรก็ไม่ตาย
ไม่ว่าจะทำมหิทธิฤทธิ์อย่างไรก็มิอาจทำอันตรายได้
ยักษ์ปุณณกะจึงตัดสินใจจะลงมือฆ่าด้วยตัวเอง
ขณะนั้นพระวิฑูรจึงเอ่ยถาม
“ท่านมิใช่มานพหนุ่มธรรมดาจึงมีฤทธิ์มากมาย
ท่านยักษ์หรือเทวดา
ไฉนจึงทำร้ายข้าพเจ้าให้เป็นกรรมแก่ตัวเองดังนี้”
“เราชื่อปุณณกะ เป็นยักษาหลานของท่านท้าวเวชสุวรรณ”
แล้วยักษ์ปุณณกะจึงเล่าความทั้งสิ้นให้ฟัง
วิฑูรบัณฑิตจึงให้โอวาทแก่ยักษ์ว่า
อันสาธุนรธรรมนั้นมี ๔ ประการ
คือ ไม่สมควรร้ายมิตรหรือผู้ให้น้ำให้ที่พัก
มิควรทำร้ายผู้อื่นดุจเผามือที่ชุ่ม
ไม่ควรลุอำนาจกามหรือหลงสตรีจนทำชั่ว
สมควรเดินตามคนที่เดินก่อนและเชื้อเชิญเขา
คือ ให้รู้จักตอบแทนคุณ
เมื่อพระวิฑูรอธิบายรายละเอียดให้ฟังจนกระจ่าง
ยักษ์ปุณณกะก็สำนึกได้ด้วยความเข้าใจตลอด
และรู้ว่าตนประพฤติทุกข้อนั้นผิดทั้งสิ้น
จึงคิดซาบซึ้งธรรมปล่อยตัวพระวิฑูร
แต่พระวิฑูรยืนยันจะลงเมืองบาดาล
ยักษ์ปุณณะจึงอาสานำพาไปให้กับพญานาค
ลงเมืองบาดาล
ครั้นเห็นพระวิฑูรนิ่งเฉย
พญานาคทรงกริ้วที่พระวิฑูรไม่ถวายบังคม
จึงตรัสถามไถ่
พระวิฑูรตอบว่า
“ข้าแต่พญานาค
ข้าพเจ้ามิได้ดูหมิ่นพระองค์
แต่ธรรมดาของบัณฑิต
จะให้กราบไหว้คนที่จะฆ่าตนได้อย่างไรกัน”
พญานาคสดับฟังจึงทรงพอพระทัยนัก
พระวิฑูรทูลถามถึงสมบัติวิมานทิพย์ของพระองค์
พญานาคตอบว่าสมบัติทิพย์เหล่านี้มิได้สร้างเอง
แต่มีโดยผลบุญในอดีตชาติที่เคยถือศีลบำเพ็ญกุศลตลอดชีวิต
พระวิฑูรจึงว่าถ้าเช่นนั้นไฉนไม่ทำทานอีกในภพนี้
พญานาคจึงว่าก็ในบาดาลไม่มีภิกษุหรือสมณพราหมณ์ให้ทำบุญ
พระวิฑูรจึงว่าทำด้วยการแผ่เมตตาจิตก็ได้
ไม่ต้องทำทานด้วยวัตถุ
การไม่คิดร้ายเอาชีวิตผู้ใดก็คือแผ่เมตตาจิตแล้ว
พญานาคจึงทรงให้วิฑูรบัณฑิตแสดงธรรมแก่พระนางวิมาลา
เป็นที่ซาบซึ้งเข้าใจแจ้งกันเป็นที่น่ายินดี
พญานาคจึงตรัสว่าการแสดงธรรม คือ
“หัวใจ” ของพระวิฑูรนั่นเอง
จากนั้นจึงพระราชทานพระธิดาให้ยักษ์ปุณณกะ
จัดงานพิธีวิวาห์เฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ในบาดาล
ให้เว้นการดื่มสุรา เว้นการประทุษร้าย
ปล่อยสัตว์จากที่ขัง ตลอดเวลาเดือนหนึ่ง
พระวิฑูรก็ได้บรรณาการจากบาดาลทุกเดือน
และดวงแก้วมณีที่พระธิดาและยักษ์ปุณณกะ
มอบให้ตนก็ยกถวายยังพระราชาด้วยความภักดียิ่ง
จากนั้นจึงแสดงธรรมให้โอวาทแก่ปวงชน
ด้วยการถือศีลบำเพ็ญบุญตราบจนสิ้นอายุขัย
คติธรรมเรื่องนี้อยู่ที่เหตุแห่งความพิบัติคือการพนัน
และการมีเมตตาจิตย่อมส่งผลให้ได้รับเมตตาจิตตอบด้วยในที่สุด
ทศชาติที่ ๑๐ พระเวสสันดร…
รายละเอียด : เมื่อครั้งอดีตกาลที่ล่วงมา
นครสีพีรัฐบุรีนั้นมีพระราชาพระนามสีพีราช
ทรงครองเมืองโดยทศพิธราชธรรม
พระราชาทรงยกบัลลังก์ให้พระโอรสขึ้นเสวยราชย์แทน
เมื่อเจริญวัยสมควรแล้ว
พระราชโอรสมีพระนามว่า “สัญชัย”
และได้อภิเษกกับพระนางผุสดี
พระธิดาแห่งราชากรุงมัททราช
พรจากภพสวรรค์
แต่ปางก่อนนั้นผุสดีเทวีเสวยชาติเป็นอัครมเหสีของพระอินทร์
เมื่อจะสิ้นพระชนมายุจึงขอกัณฑ์ทศพรจากพระอินทร์ได้ ๑๐ ข้อ
ทั้งยังเคยโปรยผงจันทร์แดงถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า
และอธิฐานให้ได้เกิดเป็นมารดาพระพุทธเจ้าด้วย
พร ๑๐ ข้อนั้นมีดังนี้
๑ ขอให้เกิดในกรุงมัททราช แคว้นสพี
๒ ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย
๓ ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง
๔ ขอให้ได้นาม “ผุสดี” ดังภพเดิม
๕ ขอให้มีพระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป
๖ ขอให้พระครรภ์งาม ไม่ป่องนูนดั่งสตรีสามัญ
๗ ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานคล้อยลง
๘ ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ
๙ ขอให้ผิดพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ
๑๐ ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษท่ต้องอาญาประหารได้
เมื่อได้มาเกิดเป็นอัครชายา
ของพระราชาแคว้นสีพีรัฐสมดั่งคำพระอินทร์นั้น
พระนางยังมีพระสิริโฉมงดงามตามคำพรอีกด้วย
ครั้งเมื่อทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน
พระอินทร์ก็ทูลอาราธนาพระโพธิสัตว์มาจุติในครรภ์พระนาง
ประสูติพระกุมาร
วันหนึ่งพระนางผุสดีทรงทูลขอพระราชาประพาสพระนคร
เมื่อขึ้นสีวิกาเสลี่ยงทองเสด็จสัญจร
ไปถึงตรอกทางของเหล่าพ่อค้าก็เกิดปวดพระครรภ์
และทรงประสูติพระราชาโอรสกลางตรอกนั้น
พระราชกุมารจึงได้พระนามว่า “เวสสันดร”
ในวันที่พระราชกุมารทรงประสูติ
พญาช้างฉัททันต์ได้นำลูกช้างเผือกเข้ามาในโรงช้างต้น
ช้างเผือกคู่เผือกคู่บารมีนั้นมีนามว่า “ปัจจัยนาเคนทร์”
พระราชกุมารเวสสันดร
ทรงบริจาคทานตั้งแต่ ๔-๕ ชันษา ทรงปลดปิ่นทองคำ
และเครื่องประดับเงินทองแก้วเพชรให้แก่นางสนมกำนัลทั่วทุกคนถึง ๙ ครั้ง
เพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณภายภาคหน้า
เมื่อทรงเจริญชันษาได้ ๙ ปี
ก็ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะบริจาคเลือดเนื้อ
และดวงหทัยเพื่อมุ่งพระโพธิญาณในกาลข้างหน้าอย่างแน่วแน่
ครั้นถึงวัย ๑๖ พรรษา ก็แตกฉานในศิลปวิทยา ๑๘ แขนง
ทรงได้ขึ้นครองราชย์และอภิเษกกับพระนางมัทรี
และมีพระโอรสกับพระธิดาพระนามว่า “ชาลีกุมาร” และ “กัณหากุมารี”
อันหมายถึงห่วงทองบริสุทธิ์
เวลาต่อมาเมืองกลิงครัฐเกิดกลียุค
ฝนแล้งผิดฤดูกาลข้าวยากหมากแพงเป็นที่ยากเข็ญทุกข์ร้อนไปทั่ว
ชาวนครมาชุมนุมร้องทุกข์หน้าวังกันแน่นขนัด
พระเจ้ากลิงคราชจึงทรงถือศีล ๗ วัน
เพื่อขอบุญกุศลช่วย ทว่าฝนฟ้าก็ยังแล้งหนัก
อำมาตย์จึงทูลให้ทรงขอช้างเผือกแก้วปัจจัยนาเคนทร์ของพระเวสสันดร
ด้วยว่าพระเวสสันดรกษัตริย์สีพีรัฐนั้นขี่ช้างคู่บารมีไปหนใด
ก็มีฝนโปรยปรายชุ่มชื้นไปทั่วแคว้น
พระเจ้ากลิงคราชจึงส่ง ๘ พราหมณ์ไปทูลขอช้างแก้วจากพระเวสสันดร
เมื่อได้ช้างแก้วจากพระเวสสันดรแล้ว
พราหมณ์ก็ขี่ช้างออกจากกรุง
บรรดาชาวนครเห็นช้างพระราชาก็กรูกันเข้าล้อม
และตะโกนด่าทอจะทำร้ายพราหมณ์ทั้ง ๘ คน
แต่พราหมณ์ตวาดตอบว่า
พระเวสสันดรพระราชทานช้างให้พวกตนแล้ว
เมื่อพราหมณ์นำช้างแก้วไปถึงเมือง
ฝนฟ้าก็โปรยปรายลงมาเป็นที่ยินดีทั้งแคว้น
แต่ในกรุงสีพีนั้นกลับอลหม่าน
มหาชนต่างมาชุมนุมที่หน้าพระลานร้องทุกข์พระเจ้ากรุงสัญชัยว่า
พระเวสสันดรยกพระยาคชสารคู่บ้านเมืองให้คนอื่น ผิดราชประเพณี
เกรงว่าอีกต่อไปภายหน้าอาจยกเมืองให้คนอื่นก็ได้
ขอให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากนครเถิด
พระเจ้ากรุงสัญชัยจำต้องเนรเทศพระราชโอรสด้วยเสียพระทัยนัก
พระนางผุสดีทูลขออภัยโทษก็มิเป็นผลสำเร็จ
พระเวสสันดรทูลลาพระมารดาพระบิดา
และขอบริจาคทานให้พิธีสัตตสตกมหาทาน
คือ ช้าง ม้า โคนม รถม้า ทาสและทาสี
อย่างละ ๗๐๐ บริจาคให้คนทั่วไป
สัตตสตกมหาทานนั้น คือ
ช้าง ๗๐๐ เชือก
ม้า ๗๐๐ ตัว
โคนม ๗๐๐ ตัว
รถม้า ๗๐๐ คัน
นารี ๗๐๐ นาง
ทาส ๗๐๐ คน
ทาสี ๗๐๐ คน
ผ้าอาภรณ์ ๗๐๐ ชิ้น
เสด็จออกจากนคร
พระนางมัทรีพาพระโอรสและพระธิดาตามเสด็จออกป่าด้วย
มิทรงยอมอยู่ในวังแม้พระเวสสันดรจะยับยั้งห้ามปราม
มิให้มาตกระกำลำบากด้วยกันในป่า
ระหว่างทางที่เสด็จขึ้นราชรถทองไปนั้น
มีพราหมณ์วิ่งมาทูลขอม้าบ้าง
ขอราชรถบ้าง พระเวสสันดรก็ยกให้ทั้งสิ้น
ในที่สุดจึงต้องทรงอุ้มพระโอรสและพระธิดาเสด็จเข้าป่าไป
เมื่อเสด็จด้วยพระบาทถึงเมืองเจตรัฐ
พระราชาเสด็จมาต้อนรับและทูลเชิญให้ครองเมืองเจตรัฐนั้น
แต่พระเวสสันดรขอไปบำเพ็ญเพียรในป่า
กษัตริย์เจตรัฐจึงรับสั่งให้เจตบุตรคอยอารักขาในป่า
และถวายน้ำผึ้งและเนื้อให้พระเวสสันดรด้วย
เมื่อพระเวสสันดรเดินทางมาถึงเขาวงกต
พระนางมัทรีและชาลีกุมาร
กัณหากุมารีต่างก็เหน็ดเหนื่อยสะอื้นไห้ด้วยความลำบากยากเข็ญ
พระเวสสันดรจึงทรงเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นนุ่งห่มของนักบวช
พระนางมัทรีก็ทรงบวชเป็นดาบสินี
บำเพ็ญศีลกันในป่าอยู่ที่อาศรม
พระนางมัทรีต้องปัดกวาดอาศรมทุกวันแล้วก็หาผลไม้ในป่า
ตักน้ำมาเตรียมไว้
ในป่านั้นอุดมด้วยผลไม้นานาชาติ
มีสระโบกขรณีน้ำสะอาดใสไหลเย็น
มีพฤกษาร่มรื่นและมีดอกไม้หอมหวลทั่วทั้งป่าราวกับวิมานทิพย์
ชูชก ขอทานเฒ่า
อีกด้านหนึ่งนั้น พราหมณ์นาม “ชูชก”
ได้เที่ยวขอทานเก็บเงินได้ถึง ๑๐๐ กษาปณ์
จึงนำเงินไปฝากเพื่อนไว้พลางคุยอวดเศรษฐีอย่างปีตินัก
จากนั้นก็ออกเดินทางตระเวนขอเงินสืบไป
ส่วนพราหมณ์ผัวเมียเก็บเงินไว้นานแล้ว
เห็นว่าชูชกไม่มาเอาสักที
คิดว่าชูชกคงจะตายไปแล้ว
จึงชวนกันนำเงินนั้นออกมาใช้จ่ายเสียจนหมดทั้งสิ้น
ครั้นชูชกหวนกลับมาทวงเอาเงิน
สองผัวเมียก็ตกใจงันงกมิรู้จะทำประการใด
ด้วยความที่กลัวชูชกจะเอาความ
จึงตกลงจะยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูชกแทนเงินที่ใช้หมดไป
นางอมิตดามีรูปงามและวัยสาว
ส่วนชูชกนั้นเฒ่าชราและมีรูปลักษณ์อุบาทว์อัปลักษณ์ยิ่งนัก
เมื่อชูชกพานางอมิตดาไปอยู่กินด้วยกันที่หมู่บ้านทุนวิฐ
พวกเมียพราหมณ์บ้านอื่นต่างพากันริษยาอิจฉานางอมิตดา
พราหมณ์ทั้งหมู่บ้านก็ชื่นชมนางอมิตดาจนมาทุบตีเมียตนกันทุกวัน
ด้วยเพราะนางอมิตดานั้นเป็นบุตรกตัญญู
เมื่อมาอยู่กับชูชกก็ปรนนิบัติรับใช้ทุกประการมิให้ขาดตกบกพร่อง
วาจาก็ไพเราะมิเคยขึ้นเสียง
เหล่าเมียของพราหมณ์จึงมาดักนางอมิตดาที่ท่าน้ำ
รุมด่าว่นางอมิตดาที่มาเป็นเมียชูชกน่าเกลียดตัวเหม็นน่าขยะแขยง
ยอมรับใช้ตาเฒ่าทุกอย่างน่าสมเพช
นางอมิตดาถูกรุมด่าก็หิ้วหม้อน้ำร้องไห้กลับบ้าน
บอกแก่ชูชกว่าจะไม่ไปตักน้ำและไม่ทำงานบ้านอีกแล้ว
ขอให้ชูชกไปทูลขอกัณหาชาลี
จากพระเวสสันดรมาช่วยงานบ้านก็แล้วกัน
ด้วยความรักภรรยา เฒ่าชูชกจึงเตรียมข้าวตู
และถั่วงาใส่ย่ามออกเดินทางไปยังเขาวงกตทันที
ในระหว่างเดินทาง ตาเฒ่าชูชกแวะเวียนถามชาวบ้านว่า
พระเวสสันดรเสด็จประทับอยู่ ณ ที่แห่งใด
พวกชาวบ้านต่างก็เขวี้ยงอิฐหินเข้าใส่ขอทานเฒ่า
แล้วขับไล่ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ ว่าเป็นไอ้พวกจั ญไร
มักขอเอาทุกอย่างจนพระเวสสันดรตกระกำลำบาก
เฒ่าชูชกเดินดุ่มเข้าป่าไปเจอสุนัขของเจตบุตรที่อารักขาป่า
สุนัขต่างวิ่งกรูเข้าไล่กัดขอทานเฒ่า
จนต้องวิ่งขึ้นต้นไปม้ด้วยตกใจเสียขวัญ
พรานเจตบุตรผู้มีรูปร่างกำยำไว้หนวดแดงหน้าตาถมึงทึง
ก็ถือหน้าไม้อาบยาพิษมาหาชูชกหมายจะฆ่าให้ตาย
ตามคำสั่งกษัตริย์เจตรัฐ
เฒ่าชูชกเจ้าเล่ห์คิดอุบายเอาตัวรอดจึงตัวสั่นงันงกรีบร้องว่า
ตนเองเป็นราชทูตของพระราชา
มาทูลเชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับวัง
เพราะพระราชาทรงอภัยโทษแล้ว
พรานเจตบุตรได้ยินก็ดีใจจึงเชื่อคำเท็จนั้น
จึงจัดเสบียงเพิ่มให้ชูชกและชี้ทางให้อีกด้วย
เฒ่าชูชกเดินทางไปกลางป่า
พบฤาษีอัตจุตก็เล่าความเท็จอีก
ฤาษีจึงยอมชี้ทางไปอาศรมของพระเวสสันดร
เมื่อไปถึงเป็นเวลาพลบค่ำ
เฒ่าชูชกก็ซ่อนตัวบนชะง่อนเขาด้วยคิดว่า
ต้องรอรุ่งเช้าให้พระนางมัทรีออกไปหาผลไม้
เพราะนางคงไม่ยอมยกลูกให้ใครแน่
เคราะห์ร้ายมาถึง
และในคืนนั้นเอง พระนางมัทรีทรงสุบินร้ายว่า
มีบุรุษผิวดำร่างสูงใหญ่นุ่งผ้าย้อมฝาด
สองหูทัดดอกไม้แดง มือถือดาบใหญ่
ตรงเข้าจิกพระเกศาแล้วแทงดาบใส่ดวงพระเนตร
ควักดวงตาออกไปทั้งสองข้าง
จากนั้นกรีดพระอุระควักเอาพระทัยไปทั้งดวง
พระนางร้องลั่นสะดุ้งตื่นบรรทมพระวรกายสั่นสะท้าย
รีบไปหาพระเวสสันดรเพื่อจะให้ทำนายฝัน
แต่เมื่อเข้าไปในอาศรมพระเวสสันดรก็ตรงตรัสว่า
“น้องหญิงจงเล่าความอยู่ที่ข้างนอกเถิด”
พระนางมัทรีทรงทูลเล่าพระสุบินนั้นพระทัยสั่น
พระเวสสันดรทรงทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นในรุ่งเช้า
แต่ทรงตรัสแก่พระนางว่าเป็นความตรากตรำลำบาก
จึงทำให้เกิดธาตุวิปริตดังนี้
เมื่อรุ่งเช้าพระนางมัทรีมีลางสังหรณ์ไม่อยากเสด็จเข้าป่า
จึงตรัสสั่งพระโอรสและธิดาให้อยู่ใกล้ ๆ เสด็จพ่อ
ครั้นพระนางมัทรีไปแล้ว
เฒ่าชูชกจึงรีบเข้าไปยังบริเวณอาศรมทันที
เมื่อพระกุมารชาลีเข้าไปถามต้อนรับ
ชูชกสังเกตุรู้ว่าพระกุมารเป็นเด็กฉลาด
จึงทรงร้องตวาดไล่ไปด้วยหวังจะข่มให้กลัวแล้วหนีไป
แล้วเฒ่าชูชกก็เข้าเฝ้าพระเวสสันดร
พยายามอ้างถึงความลำบากยากเข็ญนานาประการ
ในการเดินทางฝ่าอันตรายมาถึงป่านี้
ก็เพื่อขอปิยบุตรไปช่วยงานที่บ้าน
เนื่องจากตนจนยากไม่มีเงินซื้อทาสได้
พระเวสสันดรทรงตรัสอนุญาต
ชาลีกุมารแอบได้ยินจึงพาน้องสาวไปซ่อนที่ใต้ใบบัวข้างสระน้ำ
เฒ่าชูชกเห็นเด็กทั้งสองหายไป
ก็แกล้งติเตียนตัดพ้อพระเวสสันดรด้วยคำบริภาษว่า
“ไหนล่ะที่พระองค์บริจาคทาน
ปากยกให้แต่ไหนละเด็กร้ายทั้งสองคงจะคิดหนีไปแล้ว
พระองค์มิได้มีจิตบริจาคทานตามที่ลั่นสัจจะไว้เลย”
เมื่อสดับดังนั้น พระเวสสันดรจึงทรงเสด็จออกตามหาทั่วบริเวณ
ชาลีราชกุมารมิอยากให้พระราชบิดาออกร้องเรียกนานไป
จึงจูงน้องออกมา
พระเวสสันดรขอให้กัณหา ชาลี ติดตามเฒ่าชูชกไปเถิด
แต่ให้รอร่ำลาพระนางมัทรีก่อน
เฒ่าชูชกไม่ยอมฟัง
รีบหาเชือกเถาวัลย์มาผูกมัดพระโอรสพระธิดา
แล้วเอาหวายเฆี่ยนตีต่อหน้าพระเวสสันดร
พลางฉุดกระชากลากไปอย่างโหดเหี้ยม
กัณหา ชาลี ถูกตีรุนแรงก็ร่ำไห้หาพระบิดาพระมารดา
พระเวสสันดรทรงกันแสง
แต่ก็ตั้งมั่นในสัจจะที่พระองค์ตั้งจิตไว้
ก่อนไปนั้นชูชกว่า
ถ้าจะไถ่ตัวกันหาชาลีได้ต้องให้
ทาส ทาสี ช้าง ม้า โคนม ทองคำ สิ่งละ ๑๐๐ แก่ชูชก
ครั้นเมื่อเฒ่าร้ายนำตัวพระกุมารและกุมารีไปแล้ว
ก็ให้เกิดอัศจรรย์ดินฟ้าวิปโยคครืนครั่น
ฟ้าผ่าน่าสะพรึงกลัวไปทั่วป่าหิมพานต์
ฝ่ายพระนางมัทรีอยู่ในป่า ประสบแต่เหตุอาเพศ
ทรงหลงทางและมีสัตว์ป่ามานอนขวางมิให้เสด็จกลับได้
จนเย็นย่ำถึงกลับอาศรมได้สำเร็จ
เรียกหาธิดากับโอรสอยู่นานก็มิพบเห็น
พระเวสสันดรทรงเล่าความทั้งหมดให้พระนางทราบ
พระนางมัทรีทรงตกพระทัยกันแสงจนสลบไป
ครั้นฟื้นขึ้นมาจึงทรงยอมอนุโมทนา
ในพระโพธิญาณซึ่งบริจาคทานด้วยบุตรไป
ขณะนั้นท้าวสหัสนัยบนสวรรค์
เกรงว่าจะมีชายโฉดมาทูลขอพระนางมัทรี
จึงจำแลงกายเป็นนักบวชชรามาทูลขอพระนาง
พระเวสสันดรทรงยินดีบริจาคทานให้
องค์อินทร์ประสาทพร
พระสหัสนัยจึงทูลว่าขอฝากไว้
แล้วให้พระเวสสันดรรับพร ๘ ประการดังนี้ คือ
หนึ่ง
ให้ทรงได้รับอภัยโทษ
สอง
ให้ทรงช่วยคนถูกฆ่าได้
สาม
ให้ไพร่ฟ้าได้พึ่งพา
สี่
ให้มั่นคงในมเหสี ไม่ลุ่มหลงสตรีอื่น
ห้า
ให้ได้สืบสันติวงศ์
หก
ให้มีสิ่งของบริจาคทานมิสิ้น
เจ็ด
ให้มีอาหารทิพย์พอเพียงทุกรุ่งเช้า
แปด
ให้ได้สำเร็จพระโพธิญาณ
แล้วท้าวสหัสนัยก็เนรมิตรร่างเป็นพระอินทร์เหาะขึ้นฟ้าไปทันที
ด้านชูชกเฒ่านั้นฉุดลากสองกุมารน้อยไปพลางทุบตีไปพลาง
ด้วยหวังจะกลับไปหาภรรยาโดยเร็ว
เมื่อถึงทางแยกเข้าเมืองกลิงคราฐ
เทพยดาก็ดลบันดาลให้ชูชกเดินเข้ามาในเมืองสีพีรัฐ
พระเจ้ากรุงสัญชัยก็ได้ทรงสุบินประหลาดว่า
มีชายอัปลักษณ์นำดอกบัวตูมและดอกบัวบานมาถวายให้
พระองค์รับมาทัดที่พระกรรณแล้วก็ทรงตื่นบรรทม
เหล่าโหรก็ถวายคำทำนายว่า
พระราชวงศ์ที่จากพลัดไปจะเสด็จคืนวัง
วันรุ่งขึ้นนั้นเฒ่าชูชกจูงกุมารน้อยผ่านหน้าพระลาน
พระราชาทรงเฉลียวพระทัย
จึงให้เรียกตัวเฒ่าอัปลักษณ์และกุมารน้อย
มอมแมมแต่ผิวพรรณเปล่งปลั่งนั้นเข้ามาเฝ้า
เมื่อพระราชาสอบถาม
ชูชกก็กราบทูลว่าได้รับบริจาคมามิได้ไปฉุดคร่ามาที่ใด
พระราชาจึงทรงรู้ว่า ๒ กุมารน้อยนั้นเป็นหลานของพระองค์
จึงทรงไถ่ตัวหลานและพระราชทานรางวัลให้แก่ชูชกมากมาย
ทั้งยังจัดอาหารคาวหวานชั้นเลิศมาให้แก่ชูชกอีกด้วย
ขอทานเฒ่าไม่เคยเห็นอาหารชั้นดี
มีความโลภจะกินให้หมด
จึงกินเข้าไปไม่หยุดจนกระทั่งท้องแตกตายไป
พระราชาเจ้ากรุงสัญชัยทรงจัดพิธีเวียนเทียนบายศรี
สมโภชรับขวัญหลานเป็นที่ยิ่งใหญ่สมเกียรติ
ครั้นแล้วก็ทรงถามถึงพระนางมัทรีและพระเวสสันดร
ที่จากไปนานเป็นเวลา ๑ ปี ๑๕ วันแล้ว
“พระมารดาทรงลำบากเหลือแสนพระเจ้าข้า”
ชาลีราชกุมารทูลพระราชาด้วยสุรเสียงกำสรดยิ่งนัก
เสด็จคืนเวียงวัง
พระราชาจึงทรงให้จัดขบวนแต่งกองเกียรติยศ
ยกออกนครไปรับพระเวสสันดร
กลับสู่เวียงวังด้วยทรงคิดถึงราชบุตรและสำนึกผิดแล้ว
กองขบวนเกียรติยศ พร้อมมโหรีและไพร่พล
ก็เคลื่อนสู่ป่าด้วยเสียงอันกึกก้องลั่นป่า
พระเวสสันดรเข้าพระทัยว่า
กองในพระราชวังคงจะมาประหารพระองค์
จึงทรงพาพระนางมัทรีไปหลบซ่อนในพุ่มไม้
ครั้นพระเจ้ากรุงสัญชัยบอกความให้ทราบ
พระนางมัทรีก็ออกมาถวายบังคม
ต่างก็ร่ำไห้ด้วยสลดใจกันถ้วนทั่วในเคราะห์กรรมนี้
แม้บรรดาเสนาอำมาตย์และนางกำนัลต่างก็ร้องไห้กันทั่ว
พระราชาตรัสให้พระเวสสันดรลาผนวชกลับคืนสู่เวียงวัง
พระนางผุสดีก็ขอให้พระนางมัทรีคืนสู่พระราชวังเถิด
พระนางมัทรีได้แต่กันแสงสวมกอดกัณหาพระธิดา
และพระโอรสชาลีไว้แนบอกด้วยทรงคิดถึงยิ่ง
บริเวณป่าเต็มไปด้วยเสียงคร่ำครวญระงมจนหมดสติไปทั้งสิ้น
พระอินทร์บนสรวงสวรรค์เล็งทิพยเนตรเห็นดังนั้น
จึงทรงบันดาลสายฝนให้โปรยปรายเป็นอัศจรรย์
ในป่าชุ่มชื้นด้วยในโบกขรพรรษที่มิสาดให้ผู้ใดเปียกปอน
บรรดาพระราชวงศ์ก็ทรงฟื้นขึ้นมาด้วยความแช่มชื่นปราโมทย์
พระเวสสันดรเสด็จขึ้นครองราชย์ครองแผ่นดิน
ให้ไพร่ฟ้าเสนาอำมาตย์มีสุขสงบกันทั่วทั้งแคว้น
ชาวเมืองต่างก็หมั่นถือศีลบำเพ็ญกุศลตามสัตย์อธิษฐานของพระเวสสันดร
กษัตริย์เมืองกลิงคราฐก็นำช้างปัจจัยนาเคนทร์มาถวายคืน
เพราะบ้านเมืองมีฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้ว
พระเวสสันดรก็ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม
ทรงบริจาคทานตราบจนสิ้นพระชนมายุ
ชาดกเรื่องนี้มีคติธรรม
สั่งสอนให้คนเราเพียรประกอบคุณงามความดีโดยมิท้อถอย
หากรู้จักสละทรัพย์บริจาคทานเนื่องนิจก็จะเป็นที่สรรเสริญทั่วไป
คนโลภคนจิตบาปหยาบร้ายก็ต้องได้ภัยเพราะตัวเอง ดั่งชูชกนั้นเอง
ทศชาติ ผ่านมาจนครบสิบชาติแล้ว
กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามงาน และติชมกันมา
หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดตกบกพร่องไปบ้าง
ต้องกราบขออภัยอย่างสูงขอรับ
มีความยินดีอย่างยิ่ง ให้นำเสนอ เผยแพร่ คัดลอก ได้ความสะดวก
ด้วยความมุ่งหวังสร้างธรรมะเป็นทาน ตลอดไป…
กระผม โก๋ ๒๐๐๐ ปีขอรับ…