ผักปลาบ ผู้ป้องภัยพระอาทิตย์
ผักปลาบ ผู้ป้องภัยพระอาทิตย์
ร้อนๆอย่างนี้ มีพืชชนิดหนึ่งซึ่งจะไม่มีทางถูกทำลายโดยพระอาทิตย์ เรืองมีอยู่ว่า ในสมัยก่อนโน้น มีพระอาทิตย์ 7 ดวง จนคนทนความร้อนไม่ไหว หาเครืองมือไปยิงพระอาทิตย์ไปเรือยๆ จนดับไปได้ 6 ดวง ดวงสุดท้าย หนีไปแอบอยู่หลังกอผักปลาบ จึงรอดมาได้ จึงสัญญากับผักปลาบว่า แม้พระอาทิตย์จะไม่เผาทำลายผักปลาบ เป็นเหตุให้ผักปลาบตายยากนักหนา…
นัยของเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกว่า พระอาทิตยร้อนแค่ไหน ยังมาหลบที่กอผักปลาบได้ ดังนั้นผักปลาบดับพิษร้อนได้จรัา…
รู้จักผักปลาบกันหน่อย
ผักปลาบ กำราบมะเร็ง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Commelina benghalensis L.
ชื่อวงศ์: COMMELINACEAE
ชื่ออื่น: ผักปลาบ ผักปลาบนา หญ้าขวยขวง ผักงอง สะพาน ผักกาบปลี ผักขาบ ลอเบาะอายร์(Lobak air)
ลักษณะทั่วไป: พืชล้มลุก ทอดเลื้อยบนดิน ลำต้นกลม สีเขียว ยาวได้ถึง 40 ซม. มีรากออกตามข้อ ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับ รูปหอกแกมขอบขนาน โคนก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ขอบด้านบนมีขน ดอกสีน้ำเงินฟ้า ออกเป็นช่อตามซอกใบ มีใบประดับรองรับสีเขียวอ่อนรูปเรือ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 3 กลีบ เกสรเพศผู้ 6 อัน รูปร่างต่างกัน ผล แก่แล้วแตกตามรอยตะเข็บ รูปไข่ เมล็ด ค่อนข้างกลมผิวเรียบ
การขยายพันธุ์: ปักชำ
ผักปลาบ หญ้าปักกิ่ง ยาพี่น้องรักษามะเร็ง
ผักปลาบเป็นผักดอกสวยชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ทั่วไปตามที่ชื้นแฉะหรือริมชายน้ำ ตาส่วน สีมะพริกบอกว่า ผักปลาบเป็นสมุนไพรรักษามะเร็ง ตอนหลังมีโอกาสได้มาช่วยคุณลุงณรงค์ สุทธิกุลวณิชย์ ทำงานเผยแพร่เรื่องหญ้าปักกิ่งต้านมะเร็ง จึงมารู้ว่าผักปลาบเป็นพี่น้องกับหญ้าปักกิ่ง เพราะเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน เลยไม่แปลกใจว่าทำไมจึงมีสรรพคุณแก้มะเร็งได้เหมือนกัน ผักปลาบมีอยู่หลายชนิด ทุกชนิดกินเป็นผักได้เช่นเดียวกับหญ้าปักกิ่งคือ ใช้ยอดอ่อนจิ้มน้ำพริกกิน เป็นผักแกล้มส้มตำ หรือนำมาผัดน้ำมันหอยอร่อยไม่แพ้ผัดผักบุ้ง
ผักบำรุงร่างกาย คลายร้อน ถอนพิษ
นอกจากใช้แก้มะเร็งแล้ว ยังรู้จากตาส่วนว่า ผักปลาบเป็นยาเย็นดับพิษร้อน แก้ร้อนใน แก้ไข้ แก้น้ำเหลือง เป็นยาอายุวัฒนะ รักษาเบาหวาน ความดัน แก้ริดสีดวง แก้ฟกช้ำ แก้โรคฝีหนอง แม่หมอและพ่อหมอยาสามจังหวัดภาคใต้เล่าว่า ผักปลาบใช้กินเป็นยาบำรุงร่างกาย ยายมือลอ มะแซหมอยาภาคใต้ เล่าว่า “ในสมัยก่อนชาวบ้านมีการนำผักปลาบไปใช้ประโยชน์มากมาย แต่ในปัจจุบันผักปลาบเป็นเพียงแค่วัชพืชที่ขึ้นรกและไร้ค่า มิหนำซ้ำยังไร้ชื่ออีกต่างหาก เพราะคนปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่รู้จักเสียแล้ว ช่างน่าเศร้านัก” นอกจากกินเป็นผักแล้ว ยังใช้เป็น แก้ร้อนใน บรรเทาอาการอักเสบในลำคอ แก้ไข้แก้ปวดหัว ท่านเหล่านี้ต่างบ่นเสียดายที่คนสมัยนี้ไม่รู้จักและกินผักปลาบไม่เป็นกันเสียแล้ว ส่วนพ่อลายแสงหมอยาไทใหญ่เรียกผักปลาบว่า ผักขาบ ใช้รักษาความดันโลหิตสูง แก้บวมและโรคเก๊าท์ โดยเอาทั้งต้นมานึ่งแล้วเอานวดตากแห้งเหมือนใบชา พอแห้งแล้วนำมาชงกิน
ในตำรายาก็แทบไม่ปรากฏสรรพคุณของผักปลาบ แต่มีรายงานการศึกษาวิจัยที่พบว่า ผักปลาบเลื้อย (C. benghalensis) มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านเนื้องอก ต้านการอักเสบ ขับปัสสาวะ ต้านแบคเรีย แก้ปวด ส่วนผักปลาบ(C.diffusa) ซึ่งเป็นชนิดใบแคบ มีฤทธิ์ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ขับปัสสาวะ ผักปลาบยังมีสารลูทีน(lutein)ซึ่งเป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์(carotenoids)ในปริมาณที่สูงมาก สารเหลานี้ช่วยบำรุงตาและบำรุงผิว ต้านแบคทีเรีย แก้ปวด คลายเครียด ทำให้ผ่อนคลาย ขับปัสสาวะ ปกป้องไตจากสารพิษ
แม้ว่าคนไทยจะไม่ค่อยรู้จักหรือกินผักปลาบกันแล้ว แต่ผลการศึกษาเหล่านี้อันเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันการใช้ของหมอยาพื้นบ้าน คงจะทำให้ผักปลาบไม่เป็นเพียงวัชพืชไร้ชื่อที่ขึ้นรกในสายตาของคนที่ไม่รู้จัก และทำให้คุณค่าของสมุนไพรชนิดนี้หวนกลับมาสู่การรับรู้ของผู้คนในยุคนี้ได้บ้าง
ขอบคุณข้อมูลความรู้
Cr.พญ. ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร