ชาตัวหอม ตำรับกายหอมจากนางในวัง
…ในยุคของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หญิงสาวก่อนที่จะแต่งงาน จะต้องผ่านการดูแลตนเองด้วยเครื่องหอม ของหอม โดยใช้เวลาเตรียมตัวกันเป็นเดือน
การดูแลก็มีทั้งการกิน อาบ อบ แช่ เพื่อให้กลิ่นกายหอมอวลดังกลิ่นดอกไม้ รวมถึง คลามลับจากในรั้วในวังสมัยก่อน หากจะต้องถวายงานรับใช้ต้องมีการอบร่ำรมด้วยตำรับดอกไม้ รวมทั้งการดื่มกินชาดอกไม้เพื่อให้กลิ่นกายหอม เสริมเสน่ห์ สร้างความประทับใจ ด้วยกลิ่นกายที่หอมดังดอกไม้
…นอกจากนี้ ชาดอกไม้ หรือชาตัวหอม ยังมีประโยชน์ ช่วยให้ผ่อนคลาย คลายเครียด คลายกังวล และช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นได้ การกำหนดสูตรตำรับนั้น ก็สามารถปรับเองได้ เลือกสรรค์ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ปรับปรุงจนได้กลิ่นที่ลงตัว ดังเช่น ตำรับที่เรามานำเสนอ ประกอบด้วย สมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ ขลู่ บัวก จำปี จำปา(ลีลาวดี) กระดังงา
ประโยชน์
ขลู่ : ช่วยขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ ช่วยให้กลิ่นหอมของดอกไม้ออกมากับเหงื่อของเราได้
บัวบก : ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดในร่างกาย
จำปี : ความหอมช่วยในการผ่อนคลาย คลายเครียด คลายกังวล ช่วยเรื่องการนอนหลับ
จำปา(ลีลาวดี) : ความหอมช่วยในการผ่อนคลาย คลายเครียด คลายกังวล ช่วยเรื่องการนอนหลับ
กระดังงา : กลิ่นหอมเย้ายวน ช่วยเสริมเสน่ห์ กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
ส่วนผสมชาตัวหอม
1. ขลู่ 15 กรัม
2. ใบบัวบก 15 กรัม
3. ดอกลีลาวดี 5 กรัม
4. ดอกกระดังงา 5 กรัม
5. ดอกจำปี 5 กรัม
วิธีทำชาตัวหอม
1. นำขลู่ ใบบัวบก จำปี ลีลาวดี กระดังงา ล้างให้สะอาด แล้วเอามาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปตากจนแห้งดี
2. ตั้งน้ำปริมาณ 1.3 ลิตร ให้เดือด ยกลงจากเตา ทิ้งไว้ 15 นาที
3. จากนั้นนำสมุนไพรทั้งหมดมาเตรียมใส่กาน้ำชาไว้ แล้วนำน้ำร้อนเทลงไปในตัวยาสมุนไพร ทิ้งไว้ให้เย็น กรองเอาน้ำชามาดื่ม 3 เวลา ควรดื่มติดต่อกันประมาณ 2-3 สัปดาห์
เคล็ดลับการทำชาดอกไม้คนสมัยก่อน จะนำดอกไม้มาหั่นฝอย ตากลม หรือผึ่งให้แห้งหมาดๆ ไม่แห้งกรอบเพราะกลิ่นหอมจะหายไปหมด ผึ่งจนดอกไม้แห้งหมาดดีไม่ชื้น เก็บใส่ภาชนะสูญญากาศไว้ชงดื่มได้ หากนำไปอบ ใช้ความร้อนประมาณ 40 องศาเซลเซียส จะทำให้ได้กลิ่นหอมของดอกไม้ที่ยาวนานและคงทนขึ้น
ในระหว่างใช้ชาตัวหอม แนะนำหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นฉุน เช่น เครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุนไม่ว่าจะเป็น หอมแดง หอมใหญ่ ต้นหอม กระเทียม สัตว์ใหญ่ย่อยยาก กาแฟ เพราะเหล่านี้จะถูกขับออกมาทางเหงื่อได้นั่นเอง
สามารถรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย ยกเว้นผู้ที่แพ้ดอกไม้ดังกล่าว
Facebook Comments