อวัยวะทุกๆ ส่วนในร่างกายต้องการ โคเอนไซม์ คิว 10 แล้วอวัยวะส่วนไหนต้องการมากที่สุด
โคเอนไซม์ คิว 10 มีความสำคัญต่อร่างกายมากๆ เซลล์ต่างๆ ในร่างกายหลายล้านเซลล์ อวัยวะ ทุกๆ ชิ้น ในร่างกาย ไม่มีชิ้นไหน จะขาดโคเอนไซม์ คิว 10 ได้ เพราะ
ทุกๆเซลล์ต้องการใช้พลังงานทั้งนั้น และพลังงานใช้ในการขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆในร่างกาย จะต้องมีการสร้างขึ้นมาใช้ใหม่ตลอดเวลา พลังงานในร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมไว้ได้ ไม่เหมือนกับ สารอาหารต่างๆที่ร่างกาย รับประทานเข้าไปแล้ว สามารถแปรรูปและเก็บสะสมไว้ รอวันที่จะนำออกมาใช้ เมื่อร่างกายต้องการ เช่น ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน เข้าไปในปริมาณ ที่เกินร่างกายจะใช้หมด ก็จะเก็บสะสม ไว้ในรูปไขมัน กล้ามเนื้อ เป็นต้น เมื่อร่างกายต้องการใช้ก็จะไปดึงออกมาใช้ แต่ พลังงานในร่างกายที่สร้างขึ้นจากการที่โคเอนไซม์ คิว 10 เป็นตัวช่วย เก็บสะสมไว้แบบนั้นไม่ได้ครับ เรียกว่า ผลิตขึ้นมา ก็ใช้ทันทีเลยครับ
ปริมาณโคเอนไซม์ คิว 10 ในแต่ละเซลล์หรืออวัยวะ จะมีปริมาณที่ไม่เท่ากัน เพราะว่า อวัยวะแต่ละอย่าง ทำหน้าที่ต่างๆกัน โดยอวัยวะที่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา จะมีความต้องการใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น จึงจะต้องมีปริมาณโคเอนไซม์ คิว 10 เยอะกว่าอวัยวะอื่นๆ จากรูปภาพประกอบจะเห็นว่า หัวใจ ไต ตับ กล้ามเนื้อ สมอง จะมีปริมาณโคเอนไซม์ คิว 10 มากในอันดับต้นๆ ในร่างกาย เพราะว่าอวัยวะเหล่านี้ต้องมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหัวใจ ที่มีปริมาณโคเอนไซม์ คิว 10 มากที่สุด มีใครหัวใจมีการหยุดเต้นระหว่างวันไหมครับ
สรุป โคเอนไซม์ คิว 10 มีอยู่ในทุกๆเซลล์ ของร่างกาย มากน้อยแตกต่างกันไป ตามหน้าที่ของเซลล์หรืออวัยวะนั้นๆ เซลล์ทุกๆเซลล์ขาดพลังงานไม่ได้ ร่างกายก็ขาดโคเอนไซม์ คิว 10 ไม่ได้เช่นกันครับ
ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี
โคเอนไซม์ คิว 10 กับการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
โคเอนไซม์ คิว 10 ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน มี 2 รูปแบบ คือ ยูบิควินอล (Ubiquinol) และ ยูบิควิโนน (Ubiquinone) หลายคนๆ อาจจะได้รับการบอกมาว่า โคเอนไซม์ คิว 10 ในรูปแบบยูบิควินอล ดูดซึมได้ดีกว่ายูบิควิโนน แต่ความจริงเป็นเช่นไร มาดูกันเลยคับ
โคเอนไซม์ คิว 10 มีขนาดโมเลกุลค่อนข้างใหญ่ ฉะนั้นการดูดซึม จึงค่อนข้างที่จะดูดซึมได้ในปริมาณไม่มากเท่าไร โดยโคเอนไซม์ คิว 10 จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย บริเวณลำไส้เล็ก และโคเอนไซม์ คิว 10 ที่บริษัทต่างๆทำการผลิตเป็นผลึกหรือคริสตัล จะไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรงจะต้องมีการแตกตัว เพื่อให้หมดสภาพเป็นผลึกหรือคริสตัลก่อน กลายเป็นโมเลกุลเดี่ยวๆของโคเอนไซม์ คิว 10 จึงจะดูดซึมได้
การดูดซึมสารอาหารต่างๆผ่านลำไส้เล็กเป็นกระบวนการในร่างกายที่เกิดขึ้นระดับโมเลกุล นั่นหมายถึงว่า สารอาหารต่างๆที่จะดูดซึมได้ ต้องเป็นโมเลกุลเดี่ยวๆเท่านั้น โคเอนไซม์ คิว 10 ที่หลายๆบริษัทที่ทำการผลิตในรูปแบบเป็นผลึกต่างๆ จะมีการแตกตัวที่ไม่ค่อยดี บริเวณลำไส้ เพราะว่า ผลึกเหล่านั้นต้องใช้อุณหภูมิที่สูงกว่าอุณหภูมิในร่างกายประมาณ 10 องศาเซลเซียส จึงจะมีการแตกตัวได้ เมื่อมีการแตกตัวของโคเอนไซม์ คิว 10 ในรูปผลึกเกิดน้อยลง การดูดซึมก็จะน้อยตามไปด้วย นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ โคเอนไซม์ คิว 10 ในรูปแบบผลึกหรือผง ซึ่งโคเอนไซม์ คิว 10 แบบเม็ดหรือแคปซูล มักจะมีรูปร่างเป็นผลึกดังกล่าวครับ มีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง เมื่อเทียบกับโคเอนไซม์ คิว 10 ในรูปแบบของเหลว
มาดูการกล่าวอ้างของบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับการดูดซึมของโคเอนไซม์ คิว 10 ว่าเป็นความจริงหรือเปล่ากันครับ
1. การที่บริษัท กล่าวว่า โคเอนไซม์ คิว 10 ของเขารับประทานแล้วดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว แต่ความจริง คือ โคเอนไซม์ คิว 10 ไม่ได้ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงครับ แต่จะดูดซึมเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองก่อน ไม่ใช่เลือดครับ แล้วค่อยๆ ไปที่กระแสเลือดต่อไปครับ
2. ยูบิควินอล ละลายน้ำได้เร็วกว่า ยูบิควิโนน และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วกว่า ยูบิควิโนน แต่ความจริง คือ ถึงแม้ยูบิควินอล จะมีโมเลกุลที่เพิ่มเข้ามา 2 โมเลกุล ซึ่งอาจทำให้สามารถละลายน้ำได้มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งยูบิควิโนนและยูบิควินอล ก็ยังมีความชอบที่จะละลายในไขมันเหมือนเดิมครับ ฉะนั้นการรับประทานโคเอนไซม์ คิว 10 ทั้งสองรูปแบบ พร้อมอาหารหรืออาหารที่มีไขมัน จะช่วยเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ครับ
3. โคเอนไซม์ คิว 10 ที่อยู่ในรูปแบบไลโปโซม จะทำให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น จริงๆแล้ว โคเอนไซม์ คิว 10 ที่อยู่ในรูปแบบที่กล่าวมา ตัวของไลโปโซม ไม่สามารถดูดซึมผ่านลำไส้เล็กเข้าไปได้ แต่จะช่วยพาให้โคเอนไซม์ คิว 10 เข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น โดยตัวไลโปโซมจะต้องถูกย่อย จนเหลือเฉพาะโมเลกุลของโคเอนไซม์ คิว 10 เดี่ยวๆเท่านั้น จึงจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ครับ
4. ยูบิควินอล เป็นโคเอนไซม์ คิว 10 ที่มีความคงตัวต่ำมาก เมื่อรับประทานเข้าไป จะถูกกรดในกระเพาะอาหารเปลี่ยนจาก ยูบิควินอล ไปเป็น ยูบิควิโนน ก่อนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอีกทีครับ
5. โดยทั่วไป ยูบิควินอล ที่ทำการผลิตออกมาจะอยู่ในรูปของเหลว บรรจุในแคปซูลนิ่ม (Softgel capsule) ซึ่งโคเอนไซม์ คิว 10 ที่อยู่ในรูปแบบนี้ จะถูกดูดซึมได้มากกว่าโคเอนไซม์ คิว 10 ที่ผลิตเป็นเม็ดหรือเป็นผงผลึกคริสตัลในแคปซูลครับ
สรุป โคเอนไซม์ คิว 10 ที่อยู่ในรูปแบบ ยูบิควินอล ( Ubiquinol ) หรือ ยูบิควิโนน ( Ubiquinone ) มีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของการบรรจุโคเอนไซม์ คิว 10 เช่น เม็ด แคปซูลแข็ง แคปซูลนิ่ม เป็นต้น โดยที่ Ubiquinol ที่บรรจุในแคปซูลนิ่ม จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่า Ubiquinoneที่เป็นลักษณะผงหรือเม็ดครับ
ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี
Facebook Comments