สมุนไพรดูแลไต ขอบคุณข้อมูลโรงพยาบาลอภัยภูเบศร

สมุนไพรดูแลไต ขอบคุณข้อมูลโรงพยาบาลอภัยภูเบศร

สมุนไพรดูแลไต ขอบคุณข้อมูลโรงพยาบาลอภัยภูเบศร

สมุนไพรดูแลไต ขอบคุณข้อมูลโรงพยาบาลอภัยภูเบศร
เราจะทราบได้อย่างไร ว่าเริ่มมีภาวะของโรคไต
…แนะนำตรวจเลือดเป็นหลัก เพราะการดูจากอาการไม่สามารถบอกได้ชัด การไม่มีอาการผิดปกติไม่ได้แปลว่าไม่มีโรคไตเรื้อรัง โดยผลเลือดแสดงการทำงานของไต เรียกว่า ค่าอัตราการกรองของไต ตัวย่อว่า GFR แบ่งเป็น 5 ระยะ
ค่าปกติจะมากกว่า 90
ถ้าอยู่ระหว่าง 60-80 ถือว่าไตเสื่อมเล็กน้อย
ถ้าต่ำกว่า 60 ถือว่าไตเสื่อมปานกลาง ระยะ 3
ถ้าน้อยกว่า 15 จะถือว่าเป็นไตวายระยะท้าย ระยะ 5
อาการแสดงแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับความรุนแรงของโรคไตนั้น อาการแสดงอาจเป็นอาการที่ไม่จําเพาะ คือ ไม่ได้เป็นอาการเฉพาะ ของโรคไตเท่านั้น เช่น
เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด
บวมที่ขาแขน และหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา
พบความดันโลหิตสูง หรือคุมความดันโลหิตได้ยาก
ซีด มึนงง ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ คันตามตัว เป็นตะคริว อาการแขนขาอยู่ไม่เป็นสุข (restless leg syndrome)
ปวดหลังใต้ชายโครง
สมุนไพรที่มีข้อมูลหรือมีการศึกษาว่าสามารถใช้เพื่อบำรุงไตได้
….ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าจะมียาหรือสมุนไพรใดที่สามารถรักษาโรคไตวายเรื้อรังให้หายขาดได้ ส่วนใหญ่ที่บอกต่อกันมามักเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น พืชตระกูลหญ้า ซึ่งอาจทำให้อาการบวมน้ำลดลง แต่ต้องระวังเรื่องปริมาณที่กิน หากเข้มข้นมากเกินไป อาจทำให้ไตทำงานหนัก รวมถึงปริมาณโพแทสเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มักพบในพืชตระกูลหญ้า อาจทำให้ไตขับทิ้งไม่ทัน และมีปริมาณสูงเกินในเลือดจนส่งผลเสีย เช่น ทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ
สมุนไพรที่มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคไต ยกตัวอย่าง 6 ชนิด คือ…
#ขมิ้นชัน
…มีการศึกษาในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง โรคไตอักเสบ พบว่า ขมิ้นชัน ช่วยลดการอักเสบของไต ลดระดับโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ลดอาการคันในผู้ป่วยฟอกไต โดยขนาดที่ใช้ส่วนใหญ่ให้ผงขมิ้นชัน 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 2-3 เดือน ซึ่งให้สารเคอร์คูมิน มีตั้งแต่ 60-1500 มิลลิกรัมต่อวัน
#ผักขมหิน
…มีเคสรายงานการใช้ผักขมหิน เป็นยารักษาโรคไตเรื้อรัง ในผู้ป่วยชายชาวอินเดีย ดื่มน้ำผักขมหิน ครั้งละ 10 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง รวมระยะเวลา 6 เดือน พบว่า ค่าการทำงานของไตดีขึ้น ทำให้อาการบวมลดลง โปรตีนรั่วในปัสสาวะลดลง เม็ดเลือดแดงในปัสสาวะลดลง ภาวะเลือดจางดีขึ้น
ผลดังกล่าวมีรายงานใช้รักษาโรคไตในสุนัขด้วยเช่นกัน
…ในทางอายุรเวทอธิบายว่า ผักขมหิน สามารถทำให้การทำงานของไตดีขึ้น โดยมีผลฟื้นฟูรักษาเนื้อเยื่อไตที่ถูกทำลาย ช่วยปรับธาตุลมให้สมดุล ซึ่งเชื่อว่าทำให้โครงสร้างไตเปลี่ยนสภาพ ช่วยลดการทำงานของธาตุไฟที่ทำให้ไตเกิดการอักเสบ และลดการทำงานของกผะ (ธาตุดิน+ธาตุน้ำ) ที่มากเกิน
#กล้วยป่า
…ยังไม่มีงานวิจัยชัดเจน แต่พบเคสผู้ป่วยหญิงชาวเชียงราย ที่ทางทีมอภัยภูเบศรเก็บข้อมูล พบว่า ใช้แล้วทำให้ไตทำงานดีขึ้น โดยใช้ใบกล้วยสดตัดส่วนยอดทิ้ง ต้มเจือจาง ครึ่งใบเต็ม ต่อน้ำ 2.5 ลิตร กลบกลิ่นเหม็นเขียวด้วยการใช้ใบเตยต้มผสมลงไปด้วย ดื่มต่างน้ำ ที่เหลือกรอกเก็บไว้กินภายหลัง
**คนที่ต้องจำกัดน้ำต้องปรับปริมาณการดื่มให้เหมาะกับตนเอง
#หญ้าหนวดแมว
…ได้ชื่อว่าเป็นชาดูแลไต ปัจจุบันเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้แก้ปัสสาวะขัด และขับนิ่วในไตขนาดเล็ก โดยชงกินครั้งละ 2 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง มีการศึกษาการ พบว่า ยาชงหญ้าหนวดแมว ทำให้การทำงานของไตดีขึ้น ในผู้ป่วยนิ่วในไต
…นอกจากนี้ ยังพบฤทธิ์ลดอักเสบ และป้องกันการยึดติดของเชื้อก่อโรค ที่เซลล์ของทางเดินปัสสาวะ
**ต้องระวังในผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม เพราะมีปริมาณโพแทสเซียมสูง
#ไหมข้าวโพด
…มีการศึกษาวิจัยในหนูทดลอง พบว่าสารสกัดโพลีแซคคาไรด์จากไหมข้าวโพด มีฤทธิ์ปกป้องไต ช่วยฟื้นฟูไตที่ถูกทำลายได้ นอกจากนี้
ในโมเดลหนูทดลองที่เป็นเบาหวานและไตวาย ทำให้การทำงานของไตดีขึ้น พื้นบ้านชงเป็นชา ใช้ขับปัสสาวะ รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต โดยใช้ไหมข้าวโพดจากข้าวโพด 4 ฝัก ต้มน้ำ 1.5 ลิตร หากอยากให้หอมให้นำไปคั่วด้วยไฟอ่อนๆ ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 2-3 ครั้ง
#รางแดง หรือ #เถาวัลย์เหล็ก
…ทางคลินิกแผนไทยร้านยาโพธิ์เงินโอสถ อภัยภูเบศร มีการจ่ายในผู้ป่วยไตเสื่อมที่ยังไม่ฟอกไต พบว่า ผู้ป่วยบางราย มีการทำงานของไตดีขึ้น แต่บางรายก็คงที่
สมุนไพรที่กล่าวมาข้างต้น เรามักแนะนำใช้ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ยังไม่ฟอกไต แต่ตามหลักการใช้สมุนไพรให้ปลอดภัย มักให้หลีกเลี่ยงในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะ 3 หรือมีค่าการกรองของไตต่ำกว่า 60
การดูแลไตด้วยตนเอง
…การรักษาที่สําคัญที่สุดในการชะลอความเสื่อมของไตในโรคไตเรื้อรัง คือ…
ควบคุมความดันโลหิต ให้น้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท อย่างเคร่งครัด หากควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี จะทําให้การทํางานของไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือด สมอง เป็นต้น
กินจืด เน้นผักผลไม้ เลี่ยงของหวาน/ของเค็ม/อาหารไขมันสูง
จำกัดการบริโภคเกลือ (โซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม/โซเดียมคลอไรด์ ไม่เกิน 3 กรัม/วัน หรือเทียบเท่ากับการรับประทานน้ำปลาหรือซีอิ๊วขาว ไม่เกิน 3 ช้อนชา/วัน) แต่อย่าลืมว่าเกลือสามารถพบในอาหารได้หลายชนิด เช่น อาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ซอส เครื่องปรุงรส เต้าหู้ยี้ ปลาเค็ม เนื้อเค็ม เนื้อสัตว์แดดเดียว กุ้งแห้ง ไข่เค็ม กุนเชียง หมูยอ แหนม ปลากระป๋อง ปลาร้า ปลาส้มปลาจ่อม หอยดอง ปลาทูเข่ง การจำกัดเกลือทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมความดันโลหิตให้ดีขึ้น
กินอาหารให้สมดุล ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่สูบบุหรี่
ดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตร เพื่อช่วยขับของเสียและป้องกันนิ่วในไต *หากไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ในการดื่มน้ำ
ไม่กลั้นปัสสาวะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
ตรวจร่างกายประจำปี
ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ไตเสื่อมให้ดี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน
ไม่ซื้อยา/อาหารเสริม/สมุนไพรกินเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเซด ยาลูกกลอน หรือยาน้ำสมุนไพรที่อาจมีสารสเตียรอยด์เจือปน

SHARE NOW
Exit mobile version