กัญชา สมุนไพร…เพื่อระบบประสาท และจิตใจ

กัญชา สมุนไพร...เพื่อระบบประสาท และจิตใจ

กัญชา สมุนไพร…เพื่อระบบประสาท และจิตใจ

กัญชา สมุนไพร…เพื่อระบบประสาท และจิตใจ

ในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนเผชิญกับความเครียด วิตกกังวล ทำให้มีปัญหาทางระบบประสาทและจิตใจมากขึ้นหรือหาทางออกด้วยการใช้สารเสพติดและยานอนหลับ ประกอบกับการขวนขวายหาทางเลือกเพื่อพึ่งตนเองในการรักษาโรคหลายอย่างที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแผนปัจจุบัน รวมทั้งการช่วยเหลือในด้านคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยในระยะสุดท้ายทำให้ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณของกัญชาในการรักษาโรคได้รับการฟื้นฟูและเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางผ่านทางอินเทอร์เน็ต
สถาบันทางวิชาการทั่วโลกหันมาทำวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมีการนำไปพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองในการบำบัดรักษาโรค
…กรณีตัวอย่างที่รู้จักกันดี คือ วิธีการผลิตน้ำมันกัญชาขึ้นใช้เองที่เรียกว่าอาร์เอสโอ (RSO, Rick Simpson Oi) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยนายริคซิมป์สันชาวแคนาดา โดยใช้การสกัดด้วยวิธีง่ายๆ จากดอกกัญชาหลากหลายวิธี เพื่อใช้รักษามะเร็งผิวหนังที่เขาเป็น ซึ่งต่อมามีการขยายสรรพคุณไปมากกว่าการรักษามะเร็ง เช่น หอบหืด ลมชัก การล้างพิษยาเสพติดพวกฝิ่น เกิดเป็นกระแสกัญชารักษาได้หลายโรค แพร่ไปในสื่อโซเชียลทั่วโลก
🔍จากการศึกษาวิจัย พบว่า กัญชาเป็นสมุนไพรที่มีความสามารถในการสร้างสารเคมีที่มีฤทธิ์แรงต่อระบบประสาทและจิตใจ มีฤทธิ์ครอบคลุมทั้งการกระตุ้น กด และหลอน ขึ้นกับขนาดที่ใช้ และขึ้นกับการตอบสนองของแต่ละบุคคล การใช้ขนาดน้อยๆ จะมีผลลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล แต่ในขนาดที่สูงขึ้นอาจให้ผลตรงกันข้าม
🧪สารสำคัญทางยาที่พบมากในกัญชาเป็นพวกอัลคาลอยด์ ที่สำคัญ ได้แก่ ทีเอชซี (Tetrahydrocannabinol, THC) มีฤทธิ์ทำให้ติดและเมา และซีบีดี (Cannabidiol, CBD) ไม่มีฤทธิ์เสพติดและไม่เมา ทั้ง THC และ CBD มีสรรพคุณทางยาและสามารถนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้ และอาจมีอัลคาลอยด์ตัวอื่นหรือสารกลุ่มอื่น เช่น เทอร์ปืน (Terpenes) หรือฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่มีสรรพคุณทางยาอีกหลายชนิด ส่วนกลไกการออกฤทธิ์ของกัญชานั้น ผ่านระบบที่เรียกว่า ระบบเอนโดแคนนาบินอยด์ ซึ่งพบได้ในสิ่งมีชีวิตหลายชนิดจนถึงในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
…ในระบบเอนโดคานาบินอยด์ จะมีตัวรับเอนโดแคนนาบินอยด์ ซึ่งมีหลายชนิด มี 2 ชนิดที่มีการศึกษาข้อมูลไว้ค่อนข้างชัดเจน คือ…
1) ตัวรับแคนนาบินอยด์ 1 (CB 1) มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาททั้งส่วนกลาง ส่วนปลาย และระบบประสาทอัตโนมัติ ควบคุมสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับการคลื่นไส้อาเจียน การหดตัวของกล้ามเนื้อ และการชักเกร็ง
2) ตัวรับแคนนาบินอยด์ 2 (CB 2) ทำงานร่วมกับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายภายนอกสมอง ระบบเอนโดแคนนาบินอยด์มีความสำคัญในการควบคุมภาวะสมดุลของระบบประสาทที่มีผลต่อการรับรู้ ความจำ อารมณ์ ความกระวนกระวาย ความอยากอาหาร ความเครียด ความเจ็บปวด และยังมีผลต่อระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจและหลอดเลือด ภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมนความต้องการที่มีรางวัลเป็นสิ่งจูงใจ การนอนหลับ
🔬ฤทธิ์ของกัญชาจึงไปเกี่ยวข้องกับหลายระบบในร่างกาย จึงอาจมีผลต่อโรค และอาจเสริมฤทธิ์หรือขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาหลายชนิด รวมทั้ง อาจนำมาพัฒนาเป็นยาได้หลายชนิด เช่น นอนไม่หลับ ลมชักปวด โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เป็นต้น
…ปัจจุบัน จากงานวิจัยที่มีความก้าวหน้าขึ้น จึงมีตำรับยากัญชาสมัยใหม่ที่มีสิทธิบัตรอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้แล้ว คือ…
1. Nabiximols ใช้บรรเทาอาการเกร็งและปวดในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล และบรรเทาอาการปวดในมะเร็งระยะรุกรานที่ไม่ตอบสนองต่อยาในกลุ่ม Opoids
2. Dronabinol ใช้ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็ง ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล กระตุ้นความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์
3. Nabilone ใช้ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ในผู้ป่วยมะเร็งในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล
4. Canabidiol ใช้ในโรคลมชักชนิดรุนแรง (Lennox-Gastaut syndrome, Dravet syndrome)
〽️กระแสกัญชารักษาโรค และวิธีการสกัดดังกล่าว ได้ขยายวงจากตะวันตกแพร่เข้ามาในสังคมไทย ทำให้รูปแบบการใช้กัญชาเปลี่ยนไปจากองค์ความรู้ดั้งเดิม จากการกินยาต้ม ยาชง ยาผง มาเป็นน้ำมันหยอดใต้ลิ้น จากสรรพคุณแต่เดิมที่กัญชารักษาทางกองลม(โรคทางระบบประสาท) มาเป็นยาวิเศษรักษาโรคได้สารพัด ซึ่งมีผลตามมาทั้งด้านบวกและด้านลบ
ในด้านบวก ก็คือ เกิดการผ่อนปรนทางกฎหมาย มีโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งครอบคลุมทั่วประเทศ เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้บริการกับประชาชน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นหนึ่งในนั้น ก็มีการผลิตและจำหน่ายยาสารสกัดกัญชา ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ผสมผสาน ในรูปแบบของน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น 3 ตำรับ คือ ตำรับ THC 1.7 %, ตำรับ CBD 10%, ตำรับ THC : CBD 1 : 1 และมีการจ่ายยาตำรับ ยาแผนไทย “ศุขไสยาสน์” ด้วย
…นอกจากนี้ การผ่อนปรนทางกฎหมายของกัญชา ยังส่งผลดีต่อการฟื้นฟูการใช้กัญชาตามองค์ความรู้ดั้งเดิมของไทยด้วย โดยมีการประกาศบัญชีรายชื่อตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม 16 ตำรับ ที่อนุญาตให้ใช้เพื่อรักษาโรค หรือการศึกษาวิจัยได้ โดยสามารถสั่งจ่ายผ่านแพทย์แผนไทย และมีการอนุญาตให้หมอพื้นบ้านสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมได้ (ใช้ในตำรับเฉพาะของตน ในตำรับที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษแล้วเท่านั้น)
⚠️โจทย์สำคัญในการกลับมาของกัญชา คือ การส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้ในการใช้กัญชาในรูปแบบต่างๆ อย่างเหมาะสม และใช้เมื่อจำเป็น โดยไม่ปฏิเสธการรักษาแผนปัจจุบันที่ได้รับอยู่ จนทำให้เสียโอกาสที่อาการจะดีขึ้นหรือหายจากโรค
…การใช้สมุนไพรใดๆ ก็ตาม จะต้องตระหนักว่า ยาทุกตัวมีข้อจำกัด และอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีผลต่อระบบประสาทมักจะทำให้เกิดการเสพติดด้วยไม่มากก็น้อย กัญชาก็เช่นกัน
พึงระลึกเสมอว่า…
🔻ยาต้องปลอดภัยมีการระบุสารสำคัญมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้
🔻โรคที่ผู้ป่วยเป็นนั้น มีความจำเป็นต้องใช้ยาจากกัญชาหรือไม่ หรือมีทางเลือกที่ปลอดภัยและประหยัดกว่า
🔻ต้องรู้ขนาดการกิน ระยะเวลาในการกิน รู้ว่าอาการข้างเคียงในขนาดที่กินมีอะไรบ้าง เช่น ง่วง เพื่อหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอันตราย เช่น ขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เป็นต้น
🔻การใช้ยากัญชาจะส่งผลต่อโรคอื่น หรือมีผลต่อยาที่กินเพื่อรักษาโรคนั้น ๆ หรือไม่ และอย่างไร
🔻ผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชา มีความรู้เพียงพอหรือไม่ ทั้งในเรื่องกัญชาและเรื่องโรค
🔻กัญชาทำให้เกิดการเสพติดได้
📚หนังสือบันทึกของแผนดิน ๑๒ กัญชา และผองเพื่อน สมุนไพร…เพื่อระบบประสาท และจิตใจ โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
SHARE NOW

Facebook Comments