ความทรงจำ
ความทรงจำ พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงค้างไว้ ๕ ตอน สำนักพิมพ์สมาคมสัมคมศาสตร์แห่งประเทศไทยแถลงการณ์ของสำนักพิมพ์
สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งสำนักพิมพ์ขึ้น เพื่อดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือและตำราเรียน ตลอดจนสารคดีต่างๆ อันเหมาะแก่การศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย และเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในวิชาความรู้โดยทั่วๆ ไป บัดนี้ได้จัดตั้งคณะบรรณาธิการขึ้นดำเนินงานแล้ว
การจัดตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นใหม่นี้ เพื่อมีวัตถุประสงค์ส่งเสริม ให้ผู้มีความรู้ความสามารถ และครูอาจารย์ต่างๆแต่งตำราเรียนและหนังสือต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาของมหาวิทยาลัย และการแปลตำราจากภาษาอื่นๆมาเป็นภาษาไทย สำนักพิมพ์ยินดีที่จะให้ค่าตอบแทนแก่ผู้เขียนหนังสือเหล่านี้ด้วย ในเมื่อคณะบรรณาธิดารได้ลงมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดพิมพ์ได้
ทางสำนักพิมพ์รู้สึกอยู่เสมอว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้มีคุณูปการอันใหญ่หลวงในทางสังคมศาสตร์ จึงใคร่ได้ตีพิมพ์พระนิพนธ์ ให้แล้วทัน พ.ศ. ๒๕๐๕ อันเป็นปีที่มีงานเฉลิมฉลองรอบศตพรรษแห่งพระชนมายุ เห็นว่าเรื่องความทรงจำ เป็นหนังสือเหมาะแก่โอกาส เหตุเพราะขาดตลาดมานานและเป็นเรื่องเนื่องพระประวัติ พระองค์ท่านโดยเฉพาะ ถึงการตีพิมพ์จะไม่แล้วเสร็จทันกำหนดที่มุ่งหมายไว้ ด้วยมีอุปสรรคบางประการแต่ก็เชื่อว่าหนังสือนี้คงจะเป็นเครื่องแสดงกตเวทิตาธรรมอันสำนักพิมพ์นี้มีต่อสมเด็จกรมพระยาพระองค์ผู้ทรงพระนิพนธ์นั้น
พูนพิศสมัย ดิศกุล ทรงเล่าเกี่ยวกับพระนิพนธ์เรื่องนี้ ไว้ดังนี้ ครั้นเสด็จไปอยู่ในเมืองปีนังแล้ว ก็ได้ทรงตั้งต้นเขียนเรื่อง ความทรงจำ
ตอนที่ ๑ ตั้งแต่ประสูติจนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
ตอนที่ ๒ พระราชประวัติของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อนเสด็จขึ้นเสวยราชย์
ตอนที่ ๓ เรื่องเปลี่ยนรัชกาล
ตอนที่ ๔ เริ่มรัชการที่ห้า
ตอนที่ ๕ เรื่องเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศครั้งแรก จนถึงเสด็จพ่อทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ในวัดบวรนิเวศน์ แล้วลาผนวชออกไปอยู่วังครั้งแรกกับคุณย่า
พอจบตอนที่ ๕ แล้วก็ตรัสแก่ฉันว่า “พ่อเห็นจะเขียนต่อไปไม่ได้เสียแล้ว เพราะรู้สึกว่าเหมือนลอกหนังกำพร้าของตัวเอง” ฉันทูลวิงวอนว่าเสียดายเพราะสนุก และขอประทานให้ทรงนึกว่าเขียนเรื่องของคนอื่นไม่ได้หรือ ท่านทรงนึกอยู่สองสามวันแล้วก็ตรัสบอกอีกว่า “ไม่ได้แน่ เพราะผลบางอย่างต้องเล่าถึงเหตุ แล้วเหตุนั้นต้องพาดพิงไปถึงเรื่องของผู้อื่นด้วย พ่อจึงไม่สมัครใจจะเขียน” แล้วก็ประทานเรื่องที่ทรงค้างให้เก็บไว้เพียง ๕ ตอน