‘ซีแอล’ สะเทือนโลก —วีรกรรมนายแพทย์มงคล ณ สงขลา และทีมงานประทศไทย

ขอคารวะบุคคลทั้งสามท่านค่ะ

— ‘ซีแอล’ สะเทือนโลก —วีรกรรมนายแพทย์มงคล ณ สงขลา และทีมงานประทศไทย

— ‘ซีแอล’ สะเทือนโลก —วีรกรรมนายแพทย์มงคล ณ สงขลา และทีมงานประทศไทย

ก่อนปี 2550 ผู้ป่วยโรคเอดส์ในประเทศไทยเสียชีวิตราวกับใบไม้ร่วง ปีละ 5 แสนราย สาเหตุหลักคือ “ยาต้านไวรัสเอชไอวี” มีราคาแพงจนผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึง
แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มาตั้งแต่ปี2545 ทว่าในช่วงแรกระบบก็ยังไม่รองรับการจ่ายยาต้านไวรัสฯ ให้กับผู้มีสิทธิ
แน่นอนว่า ก็เพราะยาดังกล่าวแพงหูฉี่ชนิดที่ระบบแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว
ภาพที่เกิดขึ้นในขณะนั้น คือผู้ป่วยเอดส์จำนวนมากต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อรักษาก่อหนี้ ล้มละลาย ขายทุกอย่างแม้แต่ลูกสาว
จนเมื่อเดินมาถึงทางตัน ทางเลือกสุดท้ายที่หลงเหลือก็คือการกลับไปจบชีวิตลงที่บ้าน
เพื่อหยุดยั้งการล่มสลายและการล้มละลายของผู้คน “นพ.มงคล ณ สงขลา” ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข จึงตัดสินใจประกาศมาตรการบังคับใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” หรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL)
การดำเนินนโยบายดังกล่าว สร้างแรงสั่นสะเทือนออกไปทั่วทั้งโลก
แม้ในมุมหนึ่งจะถูกโจมตีว่าประเทศแห่งนี้เพิกเฉยต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่อีกมุมหนึ่งได้จุดประกายความหวังให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะกับประเทศที่ยากจนแร้นแค้น
ความกล้าหาญทางจริยธรรมครั้งนั้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ในราคาที่ถูกลง นำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่ต่ำลง
เวลา 22.52 น. ของวันที่ 11 ธ.ค. 2563 “นพ.มงคล” ออกเดินทางไกลแล้วร่างกายบริจาคให้เป็นอาจารย์ใหญ่แก่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ตามความประสงค์
“The Coverage” ขอแสดงความอาลัย และขอบันทึกวีรกรรมบางช่วงบางตอนของท่านไว้เพื่อสดุดี
บรรทัดถัดหลังจากนี้คือเรื่องราวและบทสัมภาษณ์ของ “นพ.มงคล” ก่อนที่ท่านจะเข้าโรงพยาบาลรักษาตัวด้วยโรคมะเร็งที่ไต
— ‘ซีแอล’ สะเทือนโลก —
แม้ประเทศไทยถูกโจมตีว่าเพิกเฉยต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่ก็เป็นเพราะเงื่อนไขของบริษัทยาเองที่ทำให้การประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิกลายเป็น “หนทางเดียว” ที่จะช่วยชีวิตผู้คนได้
ตั้งแต่มีการทำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2544 เรื่อยมาจนมีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ข้อเท็จจริงที่พบก็คืองบประมาณที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่สามารถซื้อยาให้ครอบคลุมผู้ป่วยโรคเรื้อรังและร้ายแรงได้
นโยบาย 30 บาทจึงยังไม่สามารถรักษาทุกโรคได้จริงอย่างที่ประกาศไว้
“เราพยายามต่อรองมา 10 ปี แต่ไม่ได้ผล” นพ.มงคล หมายถึง “การต่อรองราคาต้านไวรัส”
ก่อนที่ นพ.มงคล ซึ่งขณะนั้นอยู่ในตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข จะตัดสินใจประกาศซีแอลยาราคาแพง มีการเชื้อเชิญบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรเข้ามาพูดคุยเพื่อเจรจาต่อรองราคายาเป็นครั้งสุดท้าย
การพูดคุยในครั้งนั้น “นพ.มงคล” ได้นำรายการยาที่ “นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในขณะนั้น คัดเลือกมาแล้วว่ามีความจำเป็นต่อผู้ป่วยจำนวนมาก พร้อมกับราคาที่ สปสช.จ่ายไหวมาเป็นฐานในการเจรจา
แต่สุดท้ายเจรจาไม่เป็นผล นพ.มงคลคว้าน้ำเหลว
“บริษัทยาไม่สนใจข้อมูล เขาไม่ลดแม้แต่บาทเดียว” นพ.มงคล บอกว่า สาเหตุที่บริษัทยาไม่ยอมลดราคาเนื่องจากมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก หากลดให้ประเทศไทยก็จะทำให้ประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าขอลดราคาด้วย
ไม่ใช่แค่บริษัทยาที่ไม่เคยลดราวาศอก แต่ รมว.สาธารณสุข ก่อนหน้านั้นหลายต่อหลายคนก็ไม่กล้าพอที่จะประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจการค้าของไทย
ทว่า สำหรับ “นพ.มงคล” แล้ว คงไม่อาจปล่อยให้การล่มสลายและการล้มละลายของผู้คนดำเนินต่อไปได้
เดือนพฤศจิกายน 2549 รัฐบาลไทยจึงได้สร้างความสั่นสะเทือนเลือนลั่นไปทั่วทั้งโลก ด้วยการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522
ยาที่ถูกทลายกำแพงราคา คือเอฟฟาไวเรนซ์ (Effavirenz) ชื่อทางการค้าคือStocrin เป็นยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานที่ใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวี ช่วยลดปริมาณเชื้อเอชไอวีในร่างกายและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น
ถัดมาอีกไม่ถึง 2 เดือน คือมกราคม 2550 รัฐบาลไทยประกาศเพิ่มอีก ได้แก่ ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ชื่อทางการค้าคือ Plavix เป็นยาละลายลิ่มเลือดใช้รักษาและป้องกันการอุดตันในเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองและหัวใจ และยาสูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ (Lopinavir & Ritonavir) ชื่อทางการค้าคือ Kaletra ยาสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ดื้อยาสูตรพื้นฐาน
“พอยาเอฟฟาไวเรนซ์เข้ามา โรคเอดส์ที่เคยตายกันปีหนึ่งสี่แสนห้าแสนคนกลับเหลือไม่ถึงแสน ที่ตายก็เพราะป่วยระยะสุดท้ายแล้ว แต่หลังจากนั้นเกือบพูดได้ว่าจนถึงวันนี้ไม่มีใครตายจากโรคเอดส์อีก” นพ.มงคล เล่าถึงดอกผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ
— แรงปะทะ —
ทันทีที่รัฐบาลประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ บริษัทยาต่างประเทศได้ออกข่าวโจมตีและร้องเรียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวอ้างว่ากระทรวงสาธารณสุขของไทยไม่ได้ทำตามขั้นตอนในกฎหมายสิทธิบัตร
เพราะไม่ได้เจรจากับบริษัทยาอย่างถึงที่สุดก่อน แต่กลับประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยลำพัง
แน่นอนว่า อาการเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาปกติที่ นพ.มงคล รู้ดีว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
“มีการโจมตีเยอะแยะเลย โดนทั้งรัฐบาลและตัวบุคคล เรื่องส่วนตัวก็มีบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมได้คุยกับท่านนายกฯ (พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) ไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าถ้าประกาศซีแอลจะลดคนตายในบ้านเราได้ไม่น้อยกว่าปีละ 5 แสนราย จากโรคมะเร็ง โรคเอดส์ และการล้มละลายจากการรักษาจะหมดไป ท่านนายกฯ ก็โอเค”
ทันทีที่ประกาศซีแอล ประเทศไทยถูกตั้งคำถามจากนานาประเทศอย่างไม่ไว้หน้าบุคคลที่มีส่วนช่วยในการชี้แจงข้อเท็จจริงในเวทีโลกก็คือ ทูตแสบ – “วีรชัย พลาศรัย” เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
สิ่งที่ท่านยืนยันหนักแน่นมาโดยตลอดคือ ประเทศไทยทำถูกต้องตามกฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังเป็นไปตามกฎหมายขององค์การการค้าโลก
มีอยู่ครั้งหนึ่ง นพ.มงคล ท่านทูตวีรชัย พร้อมคณะ ได้รับเชิญให้ไปตอบคำถาม ณสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือยูเอสทีอาร์ (United States Trade Representative: USTR) ซึ่งเมื่อคณะของประเทศไทยเดินเข้าไปในห้องก็ถูกชี้หน้าตำหนิ
“You are the bad guy.” ยูเอสทีอาร์เปิดฉายทักทายคณะของประเทศไทยด้วยประโยคนี้
นพ.มงคล โค้งรับ
ยูเอสทีอาร์ยืนกรานว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยทำผิดกฎหมาย ทูตวีรชัยจึงแจกแจงกฎหมายต่างประเทศ กฎหมายองค์การการค้าโลก และกฎหมายไทย สรุปแล้วประเทศไทยทำถูกต้องทั้ง 3 ฉบับ และตอบคำถามได้ทุกประเด็น ซึ่งเจ้าหน้าที่องค์การการค้าโลกที่ร่วมคณะไปด้วยกันก็ยืนยันความถูกต้องนี้
“ใครยังมีข้อข้องใจเรื่องการทำซีแอลของไทยอีกบ้าง” เอกอัครราชทูตไทยถามถึงตอนนั้นไม่มีใครแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกแล้ว
ก่อนจะแยกย้าย นพ.มงคล เดินกลับไปหาคนของยูเอสทีอาร์พร้อมชี้หน้า
“You are the real bad guy.”
แล้วผู้แทนสองคณะก็ลาจากกัน
——————————
Prapatchot Thanavorasart
ขอแสดงความอาลัย และขอให้ดวงวิญญาณของ นพ.มงคล ณสงขลา ไปสู่สุคติ ในสัมปรายภพ ณ แดนสรวงสวรรค์ ด้วยเทอญ
SHARE NOW

Facebook Comments