ดีปลี ชื่อสามัญ Long pepper

ดีปลี ชื่อสามัญ Long pepper

ดีปลี ชื่อสามัญ Long pepper, Indian long pepper, Javanese long pepper

ดีปลี

ดีปลี ชื่อสามัญ Long pepper, Indian long pepper, Javanese long pepper
ดีปลี ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper retrofractum Vahl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Chavica officinarum Miq., Piper chaba Hunter, Piper officinarum (Miq.) C. DC.) แต่บางข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper longum L. จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)
สมุนไพรดีปลี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดีปลีเชือก (ภาคใต้), ปานนุ ประดงข้อ (ภาคกลาง), พิษพญาไฟ ปีกผัวะ เป็นต้น
สมุนไพรดีปลี สมุนไพรเก่าแก่ที่มีความสำคัญชนิดหนึ่ง มีหลักฐานการจดบันทึกมานานกว่า 4,000 ปี มีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยบ้านเราทางภาคใต้และภาคเหนือนิยมใช้ผลดีปลีมาเป็นเครื่องเทศแทนพริกและพริกไทย โดยทั้งดีปลีและพริกไทยต่างก็มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุไฟในการย่อยอาหารเหมือน ๆ กัน แต่ดีปลีจะดีกว่าในเรื่องของลมเบ่งของมดลูก หรือลมที่ค้างในลำไส้ รวมไปถึงอาการกำเริบของเสมหะและลมปอด ส่วนพริกไทยนั้นจะดีกับลมที่ขับปัสสาวะ
ลักษณะของดีปลี
ต้นดีปลี มีถิ่นกำเนิดที่เกาะโมลัคคาส (Moluccas) ในมหาสมุทรอินเดีย แต่ได้มีการนำมาปลูกและแพร่กระจายในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้เถามีรากฝอยออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะและเลื้อยพัน เถาค่อนข้างเหนียวและแข็ง มีข้อนูน แตกกิ่งก้านสาขามาก เจริญเติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น มีแสงแดดรำไร
ต้นดีปลี
ใบดีปลี มีใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร มีเส้นใบออกจากโคนประมาณ 3-5 เส้น ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร
ใบดีปลี
ดอกดีปลี หรือ ผลดีปลี ผลสดมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ลักษณะของผลอัดกันแน่นเป็นช่อรูปทรงกระบอก โคนใหญ่กว่าปลายไม่มาก ปลายเล็กมน ผลมีความยาวประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ผิวของผลค่อนข้างหยาบ และมีเกสรตัวเมียติดอยู่ ผลย่อยมีเมล็ดเดียว โดยเมล็ดมีขนาดเล็กมาก ลักษณะกลมและแข็ง ผงของผลมีสีน้ำตาล มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ดร้อน ขมปร่า นิยมเก็บผลมาใช้เมื่อผลเริ่มเป็นสีน้ำตาล แล้วนำมาตากแดดให้แห้ง
ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ส่วนของดอก ใบ ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุก หรือตากแดดให้แห้ง เถา และรากดีปลี
สรรพคุณของดีปลี
1.เชื่อกันว่าดีปลีมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังและช่วยบำรุงกำหนัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
2.ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้ดอกดีปลี 10 ดอก หัวแห้วหมู 10 หัว พริกไทย 10 เม็ด นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งแท้ ใช้รับประทานก่อนนอนทุกคืน (ดอก)
3.ดอกดีปลีช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก, ผลแก่จัด, ราก.ผลแก่จัดช่วยบำรุงธาตุไฟ แก้ธาตุไฟหย่อนหรือพิการ 4.ช่วยรักษาอาการกำเริบของธาตุน้ำและธาตุลม (ผลแก่จัด)
5.ช่วยแก้ธาตุพิการ แก้ธาตุไม่ปกติ แก้ปฐวีธาตุพิการ แก้วิสติปัฏฐี แก้ปัถวีธาตุ 20 ประการ (ผล, ดอก)
6.ใช้เป็นยากระจายลม ระบายความเจ็บปวด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
7.ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ดอก, เถา)
8.ผงของผลมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ด ขม ปร่า สรรพคุณช่วยขับน้ำลายและทำให้ลิ้นชา (ผล)
9.ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (เถา)
10.ช่วยแก้ลมวิงเวียน ด้วยการใช้ดอกแก่นำมาต้มน้ำดื่ม (ดอก, ผลแก่จัด, ราก)
11.ใช้เป็นยาระงับแก้อาการนอนไม่หลับ (ผล)
12.ช่วยระงับอชินโรคหรือโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย หรือมักเป็น ๆ หาย ๆ (ผล)
13.ช่วยแก้ตัวร้อน (ราก)
14.ช่วยแก้ไข้เรื้อรังหรืออาการไข้ที่มักเป็น ๆ หาย ๆ ด้วยการใช้ดอกดีปลีล้างสะอาด นำมาบดหรือตำพอหยาบ ๆ ประมาณครึ่งแก้ว นำมาต้มกับน้ำ 4 แก้ว จนเหลือ 1 แก้ว แล้วกรองเอาแต่น้ำมาดื่มกินขณะท้องว่างวันละ 2 ครั้ง และสูตรนี้ยังช่วยลดอาการม้ามโตได้อีกด้วย (ดอก)
15.ช่วยแก้อาการหวัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
16.ช่วยแก้อาการหืดไอ (ดอก, ผลแก่จัด)
17.ช่วยแก้หืดหอบ (ดอก, ราก)
18.ช่วยแก้อาการไอหรือลดอาการไอ มีอาการระคายคอจากเสมหะ ด้วยการใช้ผลแก่แห้งครึ่งผลนำมาฝนกับน้ำมะนาว แทรกเกลือเล็กน้อยแล้วใช้กวาดคอหรือใช้จิบบ่อย ๆ (ดอก, ผลแก่จัด)
19.ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ (ผลแก่จัด)
20.ช่วยแก้อาการเจ็บในลำคอ ด้วยการใช้ดอกดีปลี 3 ดอก ผิวมะนาว 1 ลูก หัวกระเทียม 3 กลีบ และพริกไทยล่อน 3 เม็ด นำทั้งหมดมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำมะนาวและคลุกให้เข้ากัน นำมาปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา แล้วใช้อมบ่อย ๆ (ดอก)
21.ช่วยลดอาการเสียงแหบแห้งได้ ด้วยการใช้ผงดีปลีผสมกับสมอไทยอย่างละ 5 กรัมจนเข้ากัน แล้วผสมกับน้ำอุ่นไว้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง (ผล)
22.แก้โรคลมบ้าหมู (ผล)
23.เถาดีปลีมีรสเผ็ดร้อน ช่วยแก้เสมหะพิการ (ผล, เถา)
24.ช่วยแก้เสมหะ ขับเสมหะ แก้เสมหะพิการ น้ำลายเหนียว ด้วยการใช้ผลแก่แห้งครึ่งผลนำมาฝนกับน้ำมะนาว แทรกเกลือเล็กน้อยแล้วใช้กวาดคอหรือใช้จิบบ่อย ๆ (ดอก, ผลแก่จัด, เถา, ราก)
25.ช่วยแก้อุระเสมหะหรือเสมหะในทรวงอก (ผล)
26.ดอกดีปลีช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ดอก)
27.ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนอันเกิดจากธาตุไม่ปกติ ด้วยการใช้ผลดีปลีแก่แห้งประมาณ 1 กำมือ (10-15 ผล) นำมาต้มเอาน้ำดื่ม 2 ถ้วยแก้วประมาณ 15 นาที แล้วใช้ดื่มแต่น้ำหลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง ถ้าไม่มีผลให้ใช้เถาต้มแทนก็ได้ (ผลแก่จัด, เถา)
28.เถาดีปลีช่วยแก้อาการปวดฟัน หรือจะใช้ผลนำมาฝนเอาน้ำมาทาบริเวณที่ปวดก็ได้ (ผล, เถา)
29.แก้อาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการใช้ผลดีปลีแก่แห้งประมาณ 1 กำมือ (10-15 ผล) นำมาต้มเอาน้ำดื่ม 2 ถ้วยแก้ว ประมาณ 15 นาที แล้วใช้ดื่มแต่น้ำหลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง ถ้าไม่มีผลให้ใช้เถาต้มแทน หรือจะใช้ดอกแก่นำมาต้มเป็นน้ำดื่มก็ได้ (ดอก, ผลแก่จัด, เถา)
30.ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้ผลดีปลีแก่แห้งประมาณ 1 กำมือ (10-15 ผล) นำมาต้มเอาน้ำดื่ม 2 ถ้วยแก้วประมาณ 15 นาที แล้วใช้ดื่มแต่น้ำหลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง (ผลแก่จัด, เถา, ราก)
31.ดีปลีช่วยแก้อาการท้องเสีย (ดอก)
32.ช่วยแก้อาการท้องขึ้น (ผลแก่จัด)
33.ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ผล, ดอก, ราก)
34.ช่วยขับลมในลำไส้ให้ผายและเรอ (ดอก, ผลแก่จัด, ราก)
35.ใช้ประกอบในตำรับยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ธาตุไม่ปกติ (ผลแก่จัด)
36.ผลใช้เป็นยาขับพยาธิในท้องได้ (ผล)
37.แก้มุตฆาตหรือโรคขัดปัสสาวะช้ำเลือดช้ำหนอง (เถา)
38.ช่วยแก้ริดสีดวงทวารหนัก โดยใช้ดอกดีปลี 10 ดอก เมล็ดงาดำดิบ 20 กรัม นำมาบดให้ละเอียดผสมกับนมดื่มวันละ 1 แก้ว ติดต่อกัน 15 วัน (ผล, ดอก, เถา)
39.ผลแก่จัดของดีปลีช่วยบีบมดลูกและใช้เป็นยาขับระดูของสตรี (ผลแก่จัด)
40.ผลใช้เป็นยาขับรกให้รกออกมาง่ายภายหลังจากการคลอดบุตรและใช้เวลาโลหิตตกมาก (ผล)
41.ช่วยขับน้ำดี เมื่อมีการอุดตันของท่อน้ำดี (ผล)
42.ช่วยแก้ตับพิการ (ผล, ดอก)
43.รากดีปลีช่วยแก้เส้นแก้พิษอัมพฤกษ์ อัมพาต ดับพิษปัตคาด (ผล, ราก)
44.ช่วยแก้อัมพาตและเส้นปัตคาด (ดอก)
45.ช่วยแก้พิษคุดทะราดให้ปิดธาตุ (ราก)
46.ช่วยแก้คุดทะราด (ดอก, ราก)
47.เถาดีปลีช่วยแก้พิษงู (เถา)
48.ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็น (ใบ)
49.ช่วยรักษาโรคข้ออักเสบ เกาต์ ไข้รูมาตอยด์ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
50.นำมาฝนเอาน้ำมาทาแก้อาการฟกช้ำบวมได้ (ผล)
51.ผลแก่จัดใช้ปรุงเป็นยาทาภายนอก แก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ทำให้ร้อนแดงและช่วยให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น (ผลแก่จัด)
52.ดอกดีปลีเป็นส่วนประกอบของตำรับยา “พิกัดเบญจกูล” ในคัมภีร์อายุรเวท ซึ่งประกอบไปด้วย ดอกดีปลี รากช้าพลู เหง้าขิงแห้ง เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิง โดยเป็นตำรับยาที่ใช้ประจำธาตุต่าง ๆ และใช้แก้ในกองฤดู กองสมุฎฐานต่าง ๆ ช่วยกระจายกองลมและโลหิต แก้คูถเสมหะ แก้ลมพานไส้ ช่วยระงับโรคอันบังเกิดแต่ทวัตติงสาหาร (อาการ 32) และช่วยบำรุงกองธาตุทั้งสี่ให้สมบูรณ์ (ดอก)
53.ผลดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีสันนิบาตผล” (ตรีสัพโลหิตผล) ซึ่งประกอบไปด้วย ผลดีปลี รากพริกไทย และรากกะเพราแดง ที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้สันนิบาต ช่วยบำรุงธาตุ แก้ในกองลม และช่วยแก้ปถวีธาตุ 20 ประการ (ผล)
54.ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีกฎุก” ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องยา 3 อย่าง ในปริมาณเท่ากัน อันได้แก่ ดีปลี ขิงแห้ง และพริกไทย โดยมีสรรพคุณช่วยแก้โรคที่เกิดจากวาตะ (ลม), แก้เสมหะและปิตตะ (ดี) ในกองธาตุ กองฤดู และกองสมุฏฐาน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
55.ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตัวยาเผ็ดร้อน 6 ชนิด” ซึ่งประกอบไปด้วย ดีปลี พริกไทย ใบแมงลัก ผลกระวาน ใบโหระพา ผลผักชีลาว โดยมีสรรพคุณช่วยในการย่อยอาหาร แก้ลมจุกเสียด ช้ำบวม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
56.ดีปลีปรากฏอยู่ในตำรับยา “ยาอาภิสะ” ซึ่งเป็นตำราพระโอสถพระนารายณ์ ที่มีดีปลีเป็นองค์ประกอบหลักร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด โดยมีสรรพคุณช่วยแก้อาการไอ ผอมแห้ง แก้เสมหะในทรวงอกและลำคอ และช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
57.ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “ยาหอมนวโกฐ” อันมีดีปลีเป็นองค์ประกอบร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยตำรับยานี้มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
58.ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “ยาประสะกานพลู” ซึ่งมีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับยา โดยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
59.ดีปลีปรากฏอยู่ในตำรับยา “ยาประสะไพล” ที่มีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยมีสรรพคุณช่วยแก้ระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติของสตรี (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
60.ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “ยาเหลืองปิดสมุทร” โดยมีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีก 12 ชนิดในตำรับยา ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน หรืออาการท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ เป็นต้น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
61.ดีปลีจัดอยู่ในตำรับยา “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งมีส่วนประกอบของดีปลีร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับยา โดยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดีปลี
สมุนไพรไทยดีปลี มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ช่วยต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ช่วยเสริมฤทธิ์ยานอนหลับ ช่วยต่อต้านออกซิเดชัน ต้านพิษต่อตับ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว และมีสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ที่มีฤทธิ์ทำให้สัตว์ทดลองแท้ง ดังนั้นสำหรับสตรีตั้งครรภ์จึงไม่ควรรับประทาน
คำแนะนำในการรับประทานดีปลี
ไม่ควรบริโภคดีปลีในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจจะทำให้กระเพาะอักเสบ แสบทวารเวลาขับถ่ายได้
สำหรับผู้ที่เป็นไข้ ไม่ควรรับประทานดีปลี เพราะจะทำให้เป็นร้อนในด้วย
และสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ห้ามรับประทานดีปลีเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้แท้งบุตรได้
ประโยชน์ของดีปลี
1.ผลอ่อนดีปลีสามารถใช้รับประทานเป็นผักสดได้
2.ผลแก่สามารถนำมาใช้ตำน้ำพริกแทนพริกได้ หรือในบางท้องถิ่นก็นำมาใช้แต่งใส่ในผักดองเช่นเดียวกับพริก
3.ยอดอ่อนดีปลีสามารถนำมาใช้ใส่ในข้าวยำได้
4.ผลดีปลีแห้งมีรสเผ็ดร้อนขม สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องในการประกอบอาหาร ด้วยการนำผลสุกดีปลีมาตากแห้งแล้วใช้ปรุงรสแกงคั่ว หรือแกงเผ็ด เพื่อใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี และยังช่วยปรุงรสปรุงกลิ่นให้อาหารน่ารับประทาน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้แต่งกลิ่นผักดองได้อีกด้วย
5.เครื่องเทศดีปลีสามารถช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี
6.ช่วยถนอมอาหารไม่ให้เกิดการบูดเน่าได้
7.นอกจากจะปลูกไว้เป็นเครื่องเทศและเป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังปลูกไว้เป็นไม้ประดับเพื่อชมใบสีเขียวสดดูชุ่มชื่น หรือปลูกเพื่อดูผลที่เป็นสีเหลืองจวนสุกก็ได้เช่นกัน
8.ผลดีปลีมีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์สามารถฆ่าแมลงด้วงงวงและด้วงถั่วได้ และอาจนำมาสกัดเป็นสารกำจัดแมลงสูตรธรรมชาติได้
9.ดีปลีใช้ปลูกในเชิงการค้าเพื่อใช้อุตสาหกรรมการผลิตยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพร โดยมีทั้งการปลูกเป็นพืชหลักและพืชเสริม โดยแหล่งผลิตที่สำคัญในบ้านเราได้แก่ ตำบลบ้านใหม่ ตำบลพังตรุ อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนแหล่งผลิตอื่น ๆ ก็ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จันทบุรี และนครศรีธรรมราช
แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร), สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3, ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร, เว็บไซต์เกษตรพอเพียง.คอม, เว็บไซต์โหระพาดอทคอม , เว็บไซต์ thaigoodview.com
SHARE NOW
Exit mobile version