มะระขี้นก /สรรพคุณ

มะระขี้นก /สรรพคุณ

มะระขี้นก /สรรพคุณ

มะระขี้นก /สรรพคุณ

หนึ่งในสมุนไพรตระกูลมะระ สมุนไพรรสชาติขมปี๋ที่ให้ใครได้ยินชื่อก็ไม่อยากจะลอง แต่ถ้าไม่อยากพลาดของดีต้องลองอ่านสักนิดแล้วตัดสินใจใหม่
ขึ้นชื่อว่ามะระ ก็ต้องนึกถึงรสชาติขม ๆ ที่ไม่ต้องลิ้มลองก็รู้สึกขมไปถึงในคอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเจ้าพืชผักชนิดนี้น่ะก็มีประโยชน์ไม่น้อยเช่นเดียวกัน แม้แต่สายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเจ้ามะระผลใหญ่ ๆ อย่างมะระขี้นก สรรพคุณของมันก็มีเพียบพร้อมไปตั้งแต่รากจนถึงเมล็ด วันนี้กระปุกดอทคอมเลยจะพาไปลัดเลาะรอบรั้ว ทำความรู้จักกับเจ้าพืชสมุนไพรใกล้ตัวชนิดกันให้กระจ่างไปเลยว่า ภายใต้รสชาติขม ๆ นั้นแอบซ่อนประโยชน์อะไรไว้บ้าง ถ้าได้ทราบแล้วบอกได้เลยว่าจะต้องรีบไปหามาปลูกไว้รับประทานกันแบบไม่มีข้อสงสัยกันอีกเลยล่ะ
มะระขี้นก ชื่อวิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ คืออะไร
มะระขี้นก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Momordica charantia L. และมีชื่อเรียกทางภาษาอังกฤษไปอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็น Balsam apple, Balsam pear, Bitter cucumber, Bitter gourd, Bitter melon, Carilla fruit
โดยพืชชนิดนี้เป็นในตระกูลพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นไม้เถา เช่นเดียวกับ บวบ แตงกวา โดยมะระขี้นกนั้นเป็น 1 ใน 2 สายพันธุ์ของมะระที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ มะระจีน และมะระขี้นก โดยมะระขี้นกจะมีผลเล็ก และขมกว่ามะระจีน โดยรสชาติขมของมะระนั้นก็มาจากสารเคมีที่ชื่อว่า Momodicine ขณะที่ส่วนใหญ่แล้วนิยมนำผลมะระขี้นกมารับประทานสดกับน้ำพริก หรือไม่ก็ลวกก่อนจะนำมารับประทาน หรือถ้าทนกับกลิ่นเหม็นเขียวและรสชาติขม ๆ ได้ ก็นำมาคั้นหรือปั่นรับประทานเป็นเครื่องดื่มได้เช่นกัน ทั้งนี้มะระขี้นกปริมาณ 100 กรัม ให้คุณค่าทางอาหารดังนี้ค่ะ
– พลังงาน 17 กิโลแคลอรี
– ไขมัน 1 กรัม
– ไฟเบอร์ 12 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 9.8 กรัม
– แคลเซียม 3 มิลลิกรัม
– โปรตีน 2.9 กรัม
– ฟอสฟอรัส 140 มิลลิกรัม
– ธาตุเหล็ก 9.4 มิลลิกรัม
– วิตามินเอ 2,924 ยูนิต
– วิตามินบี 1 0.09 มิลลิกรัม
– วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 0.4 มิลลิกรัม
– ไทอามีน 0.07 มิลลิกรัม
– ไนอะซิน 190 มิลลิกรัม
และไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่เห็นคุณค่าของมะระขี้นก เพราะจริง ๆ แล้วสมุนไพรชนิดนี้ถูกใช้ในการรักษาโรคมานานนับพันปีไม่ว่าจะในทวีปเอเชีย แอฟริกา หรือแถบละตินอเมริกา ก็ล้วนแต่ใช้เจ้ามะระขี้นกนี้ในการบรรเทาและรักษาอาการของโรคต่าง ๆ อีกด้วย
มะระขี้นก
มะระขี้นก สรรพคุณสุดเจ๋งภายในผลเล็ก ๆ
มะระขี้นกถือว่าเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และวิตามินชนิดต่าง ๆ รวมทั้งไนอะซิน ที่ดีต่อร่างกาย ขณะที่สรรพคุณทางยาของมะระขี้นกเองก็ไม่ใช่น้อย ๆ เช่นเดียวกัน เพราะไม่ว่าจะส่วนไหนของมะระขี้นกก็สามารถช่วยรักษาอาการป่วยและโรคต่าง ๆ ได้ทั้งนั้นเลยล่ะ
* รากและเถา – ใช้แก้ร้อน แก้พิษ ถ่ายบิดเป็นเลือด หรือแม้แต่รักษาฝีบวมอักเสบ และปวดฟัน
* ใบ – ใช้รักษาโรคกระเพาะ บิด บรรเทาแผลฝีบวมอักเสบ ขับพยาธิ
* ดอก – มีรสขมและเย็นจัด สามารถช่วยรักษาโรคบิดได้
* เมล็ด – ใช้เป็นยากระตุ้นอารมณ์ทางเพศ บำรุงธาตุ และบำรุงกำลัง
* ผลสด – ใช้แก้พิษร้อน และอาการร้อนใน รักษาโรคบิด ตาบวมแดง บรรเทาแผลบวมเป็นหนองและฝีอักเสบ
* ผลแห้ง – ช่วยรักษาอาการของโรคหิด
ไม่เพียงสรรพคุณทางยาเท่านั้น สาร Momodicine ในมะระขี้นกก็ยังมีสรรพคุณในการช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากอาหาร และกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำและนอกจากสารเคมีชนิดนี้แล้ว ทางอายุรเวทยังได้มีการนำมะระขี้นกมาใช้ในการรักษาโรคตับ บรรเทาอาการของโรคเกาต์ และข้ออักเสบได้
มะระขี้นก
มะระขี้นก กับเบาหวาน สมุนไพรโดดเด่นลดน้ำตาลได้ดีเยี่ยม
การศึกษาในปี 1962 ได้พบว่า สารซาแรนติน (Charatin) ในผลมะระขี้นกสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือด ต้านอาการของโรคเบาหวานในหลาย ๆ กลไก ได้แก่ ช่วยเพิ่มการหลั่งของอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ กระตุ้นการเผาผลาญน้ำตาล และเพิ่มความทนทานจากกลูโคส และยับยั้งการหลั่งของกลูโคสในลำไส้เล็ก รวมทั้งยับยั้งเอนไซม์กลูโคไซเดส อันเป็นสาเหตุของอาการเบาหวานได้อีกด้วยค่ะ
ที่น่ามหัศจรรย์ไปยิ่งกว่านั้นคือ มะระสามารถชะลอความผิดปกติของไต และความเสื่อมของเส้นประสาทภายในร่างกายที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงสะสมเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังช่วยชะลอการเกิดโรคต้อกระจกในผู้ป่วยเบาหวานได้อีกด้วย ซึ่งถ้าหากรับประทานเป็นประจำก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้อีกด้วย
มะระขี้นก
มะระขี้นก รักษางูสวัดได้จริงหรือ ?
อาจจะเคยได้ยินตำรายาโบราณกันมามากว่า ถ้าเป็นงูสวัดแล้วให้นำใบแก่ของมะระขี้นกมาตำพอแหลกแล้วพอกลงบนงูสวัด แต่ขอบอกเลยว่ายังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ใด ๆ ยืนยันว่าใบมะระขี้นกสามารถรักษางูสวัดได้ แต่ที่มีความเชื่อกันแบบนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าตัวใบของมะระขี้นกเองก็มีฤทธิ์เย็น สามารถช่วยบรรเทาอาการบวมอักเสบของงูสวัดได้ แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อของงูสวัดได้ค่ะ
ข้อควรระวังในการรับประทานมะระขี้นก
ถึงจะมีสรรพคุณมากมาย แต่การรับประทานมะระขี้นกก็ยังมีข้อจำกัดในคนบางกลุ่ม เนื่องจากมะระขี้นกมีฤทธิ์เย็น การรับประทานมากไปอาจส่งผลเสียได้ เช่น สตรีมีครรภ์ เด็กหรือผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะระขี้นกโดยเด็ดขาด เนื่องจากมะระขี้นกมีสารที่ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง หากรับประทานเข้าไปอาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงได้ โดยเฉพาะคนท้องที่อาจจะเป็นอันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่เองและเด็กในครรภ์
นอกจากนี้ยังไม่ควรรับประทานมะระติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ เพราะอาจจะทำให้ร่างกายเกิดการเสียสมดุล ควรเว้นระยะในการรับประทาน อีกทั้งผลสุกของมะระขี้นกก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะผลสุกของมะระขี้นกมีสารไซยาไนต์ และสารซาโปนินที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาท รับประทานเข้าไปแล้วอาจจะทำให้เกิดอาการระบบประสาทผิดปกติ ทำให้เกิดการอาเจียน ท้องร่วงหรือช็อกหมดสติได้ค่ะ
เห็นไหมล่ะคะว่าคำว่า “หวานเป็นลมขมเป็นยา” เป็นคำที่ถูกต้องที่สุดเลยล่ะ เพราะประโยชน์ของมะระขี้นกนั้นดีต่อร่างกายมากมายหลายอย่าง ยังไงไปตลาดสดคราวหน้าอย่าลืมซื้อมะระขี้นกมาลองรับประทานกันนะ หรือถ้าใครกินมะระขี้นกแบบเป็นผลสด ๆ ไม่ได้เพราะทำใจไม่ไหว ลองเริ่มด้วยการรับประทานมะระขี้นกแบบแคปซูลดูก่อนก็ได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีแบบแคปซูลวางขายตามท้องตลาดอยู่เพียบ ลองเลือกดูสักทางจะได้เห็นว่าสมุนไพรชนิดนี้มีสิ่งดี ๆ ที่ล้ำกว่ารสชาติยังไงล่ะ
มะระขี้นก
รู้ไว้ใช่ว่า
มะระทำอย่างไรไม่ให้ขม ?
ไม่ว่าจะมะระสายพันธุ์ไหนก็ขึ้นชื่อในเรื่องของความขมแทบทั้งนั้นจนบางคนอาจจะรับประทานแทบไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปค่ะ แค่เพียงใช้เกลือแกง โดยหากจะนำมะระไปต้มสุกก็ควรจะเติมเกลือแกงลงไปในน้ำที่ใช้ต้มมะระด้วยก็จะทำให้ความขมลดลง แต่ถ้าอยากรับประทานสด ๆ แต่ไม่อยากลิ้มรสชาติขม ๆ ก็เพียงนำมะระมาทำความสะอาด ผ่าครึ่งและควักเมล็ดออก จากนั้นนำมาคลุกกับเกลือแกงทิ้งไว้สักครู่ แล้วนำไปล้างน้ำออก เกลือก็จะช่วยให้ดูดความขมออกไปได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หมอชาวบ้าน
หมอชาวบ้าน
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
SHARE NOW
Exit mobile version