สิ่งที่น่าห่วงเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ในช่วงที่ไม่มีความชัดเจนของภาครัฐ
สิ่งที่น่าห่วงเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ในช่วงที่ไม่มีความชัดเจนของภาครัฐ คือ
การใช้กัญชาบนความไร้มาตรฐานของคุณภาพกัญชา ซึ่งผมขอแยกออกเป็น 2 ประเด็น ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสมุนไพรอื่นๆด้วย
ประเด็นที่ 1 การใช้กัญชาและสมุนไพร ในบริบทสมุนไพรพื้นบ้าน หรือ ใช้ตามหลักการ อาหาร คือ ยา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกัญชา ขมิ้นชัน กระชายดำ ใบบัวบก การใช้ตามหลักการนี้ คือ การใช้เพื่ออยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น คนทางภาคใต้ป่วยเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร หรือ มีโรคในระบบทางเดินอาหาร พวกโรคกระเพาะอาหารน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ เพราะภาคใต้จะมีการนำขมิ้นเข้ามาอยู่ในอาหารมากมายหลายเมนู
เอาเป็นว่า อาหารใต้สมัยเก่า คุณจะได้กินขมิ้นชันแทบจะทุกๆวันแน่นอน และสมุนไพรไทยส่วนใหญ่ การออกฤทธิ์ตามหลักเภสัชศาตร์ จะเป็นแบบ สะสมไปเรื่อยๆ จนเพียงพอต่อการป้องกันหรือรักษาโรค
ฉะนั้น การใช้กัญชา หรือ สมุนไพรอื่นๆ ตามหลักการนี้ คุณจะมีขมิ้นชัน หรือ กัญชา ที่สมบูรณ์ ไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ใช่เรื่องต้องกังวลมากนัก เพราะยังไงคุณก็ได้ประโยชน์ในระยะยาวแน่นอนในการกินสะสมไปเรื่อยๆ เราเรียกว่า การกินสมุนไพรเพื่อป้องกันโรค (Preventive Medicine)
ประเด็นที่ 2 การใช้กัญชา หรือ สมุนไพรอื่นๆ เพื่อจุดประโยชน์เพื่อรักษาโรคตอนนั้นๆเลย หรือเข้าใจง่ายๆ คือ ตอนนี้ป่วยแล้ว เป็นโรคแล้ว ต้องการใช้กัญชารักษาโรค หรือ บรรเทาอาการของโรค ปัญหาก็จะอยู่ตรงนี้ เพราะว่า สมุนไพร รวมทั้งกัญชา คุณภาพหรือความสมบูรณ์ของสารออกฤทธิ์จะมีผลในการรักษามาก จนสามารถชี้เป็นชี้ตายได้เลย ยกตัวอย่างเช่น
ขมิ้นชัน มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า สามารถแก้ปวดได้ และก็ได้จริง แต่การแก้ปวดนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ขมิ้นชันนั้นต้องมีสารออกฤทธิ์ที่เรียกว่า เคอร์คิวมินอยด์ มากพอ ไม่ใช่ จะเป็นขมิ้นชันอะไรก้ได้ที่จะมีฤทธิ์ถึงระดับแก้ปวดได้
ในส่วนของกัญชาก็เช่นกัน เราพบว่า สาร THC กับ CBD รวมทั้งสัดส่วนของสารดังกล่าว ส่งผลชี้เป็นชี้ตายในการมีฤทธิ์รักษาโรคได้แตกต่างกัน แต่เราแทบไม่รู้ หรือ มีมาตรการ หรือ ระบบอะไรที่จะทำให้มีความเชื่อมั่นได้เลยว่า กัญชาที่เรานำมาใช้อยู่ตอนนี้ โดยเฉพาะในรูปแบบน้ำมัน ที่กำลังเป็นที่นิยมในตอนนี้ มีสารที่กล่าวถึงอยู่เท่าไร ในสัดส่วนเท่าไร
เราแนะนำกันว่า ใช้กี่หยดๆ แต่ในหยดนั้น เราไม่รู้ว่ามีสารอยู่กี่มิลลิกรัม หรือ สัดส่วนของสารต่างๆอยู่เท่าไร
ตรงนี้ตรวจสอบ หรือ ทำความเข้มข้นไม่ยาก ภาครัฐสามารถสนับสนุนและให้ความสะดวกในการตั้งมาตรฐานขึ้นมาได้ ซึ่งชาวบ้านเข้าถึงได้แบบสบายๆ
การทำให้มาตรฐานบนพื้นฐานง่ายๆ นอกจากจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนไข้ที่ใช้กันอยู่ ซึ่งหลายคนหมายถึง การได้โอกาสมีชีวติต่อไป แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าน้ำมันกัญชาที่นำมาใช้นั้น แทบจะไม่มีสารออกฤทธิ์ หรือ มี แต่สัดส่วนผิดเพี้ยนไปจากการที่มีการศึกษาวิจัย
หรือเข้าใจง่ายๆว่า จะเป็นอย่างไร ถ้าคุณซื้อยาแก้ปวดมา 1 เม็ด ที่เขียนว่า 400 มิลลิกรัม ที่มันแก้ปวดได้ แต่จริงๆแล้ว มีตัวยาที่ใส่จริงเพียงแค่ 50 มิลลิกรัม ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ผล แล้วถ้าเป็นโรคอย่างมะเร็งละ (อย่าลืมว่า กัญชา ถ้าใช้ไม่ถูก ร่างกายดื้อได้ ดื้อได้หมายถึง การใช้แล้วไม่เห็นผล เพราะใช้ผิดหลักการแพทย์นั่นเอง)
ภาครัฐควรรีบสรุป เพราะมันหมายถึง ชีวิตคน ชาวบ้านที่ทำน้ำมันกัญชา เขาจะได้รู้ว่า น้ำมันที่มีการใช้ มีมาตรฐานหรือไม่ มีห้องแลปให้เขาสามารถใช้บริการหรือนำมาตรวจสอบได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ
อย่าให้กระแสการเห่อกัญชา หมายถึง ช่องทางการค้าขายยาสมุนไพรดีๆอย่างกัญชา ต้องนำมาซึ่งชื่อเสียงในทางลบๆเกี่ยวกับกัญชาอีก เหมือน สมุนไพรอื่นๆ เพราะมันจะเป็นช่องทางให้คนที่ไม่ชอบนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการตัดตอนกัญชาออกจากสารบบการแพทย์ แบบที่ทำๆกันมากับสมุนไพรดีๆหลายๆตัวของประเทศไทย
More Science Less Marketing
ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี