“บอระเพ็ด” ยาขมแก้เบาหวาน ลดความดัน
ชาวบ้านทุกภาคนิยมใช้บอระเพ็ดเพื่อคุมเบาหวาน และความดันโลหิตสูง มีคนไข้โรคเบาหวานหลายคนที่มีประสบการณ์ด้วยตนเองจากการกินบอระเพ็ดเป็นประจำ แล้วทำให้การคุมน้ำตาลดีขึ้น
โดยเชื่อว่าโรคเบาหวานเป็นโรคที่ธาตุไฟหย่อน สมุนไพรรสขมอย่างบอระเพ็ดจะไปล้อมตับ ช่วยไม่ให้ตับร้อนเกินไปในการสร้างธาตุไฟเพื่อการย่อยและการเผาผลาญ ตับก็จะสร้างไฟได้อย่างปกติ ดังนั้น สมุนไพรที่มีรสขมจึงไปดูแลตับให้ทำหน้าที่ได้เป็นปกติ
การศึกษาวิจัยในทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ของขมๆ หลายชนิดสามารถที่จะลดน้ำตาลในเลือดได้ เช่น มะระ มะระขี้นก พืชตระกูลไทร เป็นต้น แต่บอระเพ็ดเป็นสมุนไพรรสขมที่หาได้ง่ายที่สุด ซึ่งในมาเลเซีย และเกาะบอร์เนียวก็ใช้บอระเพ็ดกับคนเป็นเบาหวานเช่นกัน
มีการศึกษาในห้องทดลองโดยนำสารสกัดเถาบอระเพ็ดด้วยน้ำไปทดลองในหนู ทั้งหนูปกติและหนูที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน พบว่า เมื่อผสมสารสกัดในน้ำดื่มขนาด 4 กรัม/ลิตร ให้หนูกินเป็นเวลาสองสัปดาห์ เมื่อทดสอบด้วยกลูโคสทอเรอแลนซ์เทส(glucose tolerance) อันเป็นการวัดความสามารถของร่างกายในการใช้น้ำตาล การทดสอบนี้จะเป็นการวินิจฉัยโรคเบาหวาน และภาวะเสี่ยงต่อเบาหวาน พบว่า ดีขึ้นกว่าก่อนให้ยา แสดงว่ามีผลลดน้ำตาลในเลือด และพบว่าหนูมีปริมาณอินซูลินเพิ่มมากขึ้นด้วย
จากการวิจัยพบว่า สารสกัดบอระเพ็ดกระตุ้นให้เซลล์ตับอ่อนของหนูขาวและคนหลั่งอินซูลิน ฤทธิ์ในการลดเบาหวานของบอระเพ็ดน่าจะมาจากกระบวนการกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินนั่นเอง และมีการศึกษาผลของสารสกัดบอระเพ็ดในการลดความดันโลหิต โดยทดลองฉีดสารสกัดบอระเพ็ดเข้าไปในหลอดเลือดดำของหนูขาวใหญ่ ก็พบว่า มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้จริงๆ
ตำรับยา
ยาลดเบาหวาน แก้ไข้ เจริญอาหาร
นำเถาบอระเพ็ดมาตัดเป็นท่อนเล็กๆ ตากให้แห้ง แล้วนำมาคั่วด้วยไฟอ่อนๆ แล้วบด ชงประมาณหนึ่งช้อนชากับน้ำอุ่นแล้วดื่ม หรืออาจจะใส่แคปซูลเพื่อความสะดวกในการรับประทาน
ยาลดความดัน
ใช้บอระเพ็ดกับบัวบกน้ำหนักเท่ากัน ตำผงทำเป็นลูกกลอนกินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น จะช่วยปรับและควบคุมลมในร่างกาย ช่วยปรับเส้นประสาท
ข้อควรระวัง
• สมุนไพรรสขมจัด เช่น บอระเพ็ด ชิงช้าชาลี แห้ม ย่านาง ถ้ากินในขนาดสูงๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดความผิดปกติของตับได้ ควรกินในขนาดที่คนโบราณกินเท่านั้น
• ถ้าใช้ไปแล้วมีอาการมือเท้าเย็น แขนขาหมดเรี่ยวแรง ตาเหลือง ให้หยุดรับประทาน เนื่องจากอาจเกิดตับอักเสบ ดังนั้น ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
หนังสือบันทึกของแผ่นดิน 8 สมุนไพรชะลอวัยไกลโรค โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
Facebook Comments