รู้จักสรรพคุณ “รางจืด” ราชายาถอนพิษทั้งปวง

รู้จักสรรพคุณ “รางจืด” ราชายาถอนพิษทั้งปวง

รู้จักสรรพคุณ “รางจืด” ราชายาถอนพิษทั้งปวง

สมุนไพรน่ารู้ |🍃รู้จักสรรพคุณ “รางจืด” ราชายาถอนพิษทั้งปวง

▪️รางจืด…แก้ไข้ แก้ร้อนใน
รางจืดเป็นยาเย็น พื้นบ้านมีการใช้ใบสดคั้นน้ำกินแก้ไข้ ถอนพิษ ใช้ปรุงเป็นยาเขียว รับประทานเป็นยาถอนพิษ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย แก้ไข้ กระทุ้งพิษ ไข้หัว รากและเถารับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำแก้พิษร้อนทั้งปวง
▪️รางจืด…ต้านพิษยาฆ่าแมลง
สารสกัดใบรางจืด มีฤทธิ์แก้พิษยาฆ่าแมลง Folidol-E โดยพบว่า การใช้น้ำสกัดจากใบรางจืดร่วมกับ Nropine สามารถลดอัตราการตายของสัตว์ทดลองได้ และมีการทดลองในหนู พบว่า น้ำสกัดใบรางจืด มีฤทธิ์ต้านพิษยาฆ่าแมลงชนิด Organophosphate ได้
นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยเพื่อศึกษาผลของการใช้รางจืดรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษพาราควอท (Paraquat) โดย โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี ซึ่งสรุปได้ว่า รางจืด มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับสารพาราควาอทรอดชีวิตได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งยังมีรายงานการวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์ในการใช้รางจืดไปลดการสะสมของยาฆ่าแมลงในเลือดของเกษตรกร โดยวัดปริมาณของ enzyme cholinesterase ที่เพิ่มขึ้น รางจืดจึงเหมาะที่จะใช้ลดสารพิษสำหรับเกษตรกรและผู้บริโภค
▪️รางจืด…ลดพิษของตะกั่ว
เหมาะกับสถานการณ์มลพิษในเมืองกรุง ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากไอเสียน้ำมันเบนชิน ซึ่งสารตะกั่วสะสมก่อให้เกิดโรคพิษสารตะกั่วเรื้อรังในระยะยาวได้ สารตะกั่วจะสะสมในส่วนสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ (Hippocampus) โดยมีการศึกษาพบว่า สารสกัดจากรางจืด สามารถลดอัตราการตายของเซลล์สมองอันเนื่องจากพิษของตะกั่ว และสามารถยับยั้งการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระในสมองที่เกิดจากพิษของตะกั่วได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่า รางจืด ยังช่วยลดพิษจากสารหนู สตริกนีน ทั้งยังป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายด้วยเหล้าได้อีกด้วย ซึ่งพบว่ารางจืดมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในระดับที่สูงมาก
▪️รางจืด…ช่วยรักษาผู้ป่วยติดยาบ้า
หมอยาพื้นบ้านมีการใช้รางจืดมาแก้พิษยาเสพติด ปัจจุบัน มีรายงานการศึกษาพบว่า รางจืด มีฤทธิ์ที่กระตุ้นประสาทเช่นเดียวกับโคเคน (cocaine) และแอมเฟตามีน (amphetamine) แต่มีฤทธิ์ที่อ่อนกว่า จึงมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ในการทำให้ผู้ติดยาเลิกเสพยาเสพติดได้
▪️รางจืด…ต้านพิษสุรา
รางจืด ช่วยล้างพิษสุรา และช่วยแก้อาการเมาค้างได้เป็นอย่างดี โดยมีการวิจัยฤทธิ์ของรางจืด ในการต้านพิษแอลกอฮอล์ต่อตับ พบว่า สารสกัดด้วยน้ำของรางจืด ช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับจากพิษของแอลกอฮอล์
และยังมีการศึกษาฤทธิ์ของรางจืดต่ออาการขาดเหล้า พบว่า สารสกัดรางจืดให้ผลลดภาวะซึมเศร้าและทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของหนูเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ รางจืด ยังเพิ่มการหลั่งสารที่ชื่อว่า โดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ช่วยทำให้เรารู้สึกมีความสุข และคลายเครียดอีกด้วย
▪️รางจืด…ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
ปัจจุบัน มีการยืนยันจากรายงานการศึกษาที่บอกว่า รางจืดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านไวรัสโรคเริมได้ดี ซึ่งสนับสนุนการใช้รางจืดในการรักษาผดผื่นคัน เริม งูสวัดหรือผิวหนังอักเสบอื่นๆ
รางจืด เป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง จากการที่มีการรับประทานรางจืดเป็นผัก รวมทั้ง มีการศึกษาวิจัยพิษเรื้อรัง (chronic tocixity) โดยให้หนูกินรางจืดในขนาดสูงกว่าขนาดปกติที่คนได้รับประมาณ 100 เท่า เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่มีพิษ แต่อย่างไรก็ตาม การรับประทานรางจืด ควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง เพราะหากรับประทานมากเกินไปจะกลายเป็นพิษได้
⛔️ข้อควรระวัง
▪️ระวังการใช้ในผู้ป่วยตับไต และไม่ควรกินติดต่อเกิน 1 เดือน เนื่องจากเป็นยาฤทธิ์เย็น
▪️ยังไม่มีรายงานความปลอดภัยการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้
▪️ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาอื่นอย่างต่อเนื่อง เพราะยารางจืด อาจเร่งการขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ทำให้ประสิทธิผลของยาลดลง ควรทานห่างจากยาโรคประจำตัว หรือยาตามปกติอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
▪️รางจืดอาจเสริมฤทธิ์ยาลดน้ำตาลในเลือด
🔖แหล่งอ้างอิง
1. Ruangyuttikarna W, et al. Thunbergia laurifolia leaf extract mitigates cadmium toxicity in rats. ScienceAsia 39 (2013): 19–25.
2. พลอยไพลิน ฉัตตะวิริยะ และคณะ. การดื่มน้ำสกัดใบรางจืดช่วยป้องกันการเกิดพิษของแคดเมียมต่อไตหนูขาว. วารสารพิษวิทยาไทย 2553; 25(2)
3. Junsi M, et al. Phenolic and flavonoid compounds in aqueous extracts of Thunbergia laurifolia leaves and their effect on the toxicity of the carbamate insecticide methomyl to murine macrophage cells. Functional Foods in Health and Disease 2017; 7(7): 529-544
4. Phyu, M. P. and Tangpong, J. Protective effect of Thunbergia laurifolia (Linn.) on Lead induced acetylcholinesterase dysfunction and cognitive impairment in mice. Journal of Biomedicine and Biotechnology 2013: 186098.
5. คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2561
📌ปรึกษาหมอก่อนใช้ยาได้ที่คลินิกแพทย์แผนไทยออนไลน์ @abhthaimed คลิกลิ้งค์ 👉🏻 https://lin.ee/47PRVjiFz
Cr.ภาพ istockphoto
#สมุนไพรน่ารู้ #รางจืด #ล้างพิษ #สมุนไพรล้างพิษ #สารเคมี #ยาฆ่าแมลง #ยาเสพติด #สมุนไพรอภัยภูเบศร #อภัยภูเบศร

SHARE NOW

Facebook Comments