มหัศจรรย์กัญชา

มหัศจรรย์กัญชา

มหัศจรรย์กัญชา

ทำไม กัญชาจึงรักษาโรคได้มากมายแทบทุกโรค เหตุผลก็คือ “โรคทุกโรคที่มนุษย์เป็นมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับสารที่อยู่ในพืชกัญชา” “บิดาแห่งกัญชาเพื่อการแพทย์สมัยใหม่” : ศาสตราจารย์ Raphael Mechoulam
เผยแพร่: 2 มิ.ย. 2562 18:39 โดย: ประสาท มีแต้ม

ผมมีเหตุผลสองประการในการเขียนถึงเรื่องกัญชาอีกครั้งในสัปดาห์นี้ เพราะว่า (1) ผู้นำของหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะว่า “กัญชาสามารถรักษาได้เพียงบางโรคเท่านั้น” ในขณะที่ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่ผมอ้างถึงนี้พบว่า “โรคทุกโรคที่มนุษย์เป็นมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับสารที่อยู่ในพืชกัญชา” นั่นคือ แม้ภาครัฐได้ยอมรับความจริงในบางระดับแต่ก็ยังได้ปกปิดความจริงที่สำคัญกว่าไว้ต่อไป และ (2) เพื่อเป็นกำลังใจกับภาคประชาสังคมที่กำลังเดินรณรงค์ให้กัญชาเป็นยารักษาโรค ไม่ใช่ยาเสพติดที่เราถูกหลอกมาตลอด

ขอแถมอีกหนึ่งประการหนึ่งครับ เพื่อเอาใจแฟนๆ ประจำที่สนใจเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพราะผมพบว่ากลไกอำนาจรัฐที่พยายามกีดกันทุกวิถีทางในการเข้าถึงกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ของประชาชน กับการกีดกันการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโซลาร์เซลล์บนหลังคานั้นช่างเหมือนกันราวกับ copy and paste ดังนั้น ภาคประชาชนที่สนใจทั้งสองกลุ่มจึงควรร่วมกันช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะด้วยครับ

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับผู้ที่ได้รับเกียรติว่าเป็น “บิดาแห่งวงการกัญชาทางการแพทย์สมัยใหม่ (The Father of Modern Cannabis Medicine หรือ Father of Cannabinoid Medicine)” ผมขอเสนอภาพปกหนังสือออกใหม่ (2018- ผมยังไม่ได้อ่าน) อีกสักภาพ ซึ่งในภาพมีข้อความจากนักวิทยาศาสตร์ชาวอิสราเอลที่ได้จับงานวิจัยเรื่องกัญชาอย่างกัดไม่ปล่อยมานานกว่า 50 ปี (ปัจจุบันท่านอายุ 89 ปี) ว่า “แทบจะไม่มีระบบสรีระใดในร่างกายเลยที่ระบบ Endocannabinoid ไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ด้วย”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สาร Endocannabinoid มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคทุกชนิดในมนุษย์

ประเด็นที่เป็นความแตกระหว่างข้อมูล “ผู้นำของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง” กับ ข้อมูลของ “บิดาแห่งวงการกัญชาเพื่อการแพทย์” อยู่ตรงนี้แหละครับ

คือ ฝ่ายหลังบอกว่า “แทบจะไม่มีระบบสรีระใดของร่างกาย ที่ระบบ Endocannabinoid ไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ด้วย”

ซึ่งสาร Endocannabinoid (ในสมองของร่างกาย) ก็คือสาร Phytocannabinoid (ในพืชกัญชา) หรือเรียกรวมๆ ว่า Cannabinoid โดยมีชื่อนำหน้ามาเติมให้ทราบที่มาเท่านั้นเอง

การทำงานหน้าที่ของระบบสรีระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบการสร้างกระดูก ระบบการอักเสบ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบการเจริญอาหาร ระบบความเจ็บปวด การเติบโต ระบบการตั้งครรภ์ ฯลฯ ต่างก็เกี่ยวข้องกับระบบ Endocannabinoid หรือระบบที่ต้องใช้สารจากพืชกัญชาทั้งนั้น

ศาสตราจารย์ Raphael Mechoulam ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ในต่างกรรมต่างวาระกันว่า “นักวิจัยที่มีความมุ่งมั่นมากกลุ่มหนึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ระบบ Endocannabinoid มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับโรคทุกชนิดในมนุษย์”

ขอย้ำว่า “โรคทุกชนิดในมนุษย์”ไม่ใช่ “บางโรคเท่านั้น” ดังที่ผู้นำบางหน่วยงานได้ออกมาปรามกระแสความตื่นตัวของประชาชน

อนึ่ง ผมเองไม่ใช่แพทย์ และไม่มีความรู้ในเรื่องสรีระที่ลึกซึ้งพอ แต่ผมเป็นคนชอบ “คิดลึก” ชอบรับฟังเหตุผลและชอบค้นคว้าหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายของทุกฝ่ายแล้วนำมาพิจารณา แล้วผมก็เชื่อในคำอธิบายของศาสตราจารย์ Raphael Mechoulam รวมทั้งของนักวิชาการท่านอื่นๆ ด้วย

ศาสตราจารย์ Raphael Mechoulam เกิดที่ประเทศบัลกาเรีย (1930) แล้วอพยพตามบิดาซึ่งเป็นแพทย์ไปอยู่ประเทศอิสราเอลเมื่อเขาอายุ 19 ปี และจบปริญญาเอกสาขาเคมีในปี 1958

“กฎหมายในหลายประเทศทำให้นักวิชาการไม่ต้องการจะทำวิจัยเรื่องกัญชา นักเคมีไม่สามารถหากัญชามาศึกษาได้ นักชีววิทยาไม่มีอะไรให้ศึกษาและทุนวิจัยก็ไม่มี” นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Raphael Mechoulam นักวิชาการหนุ่มไฟแรงต้องการจะปลดล็อกเมื่อ 50 ปีก่อน

ก่อนปี 1963 Raphael Mechoulam และทีมงานได้ค้นพบสูตรโครงสร้างของ cannabidiol (CBD) ซึ่งอยู่ในพืชกัญชา (ซึ่งฝรั่งเรียกว่า cannabis) และในอีกหนึ่งปีต่อมาทีมงานของเขาก็พบสารเคมีอีกชนิดหนึ่งซึ่งเรียก Tetrahydrocannabinol เป็นครั้งแรก ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า THC

ปี 1988 มีการค้นพบว่าในสมองของหนูมีระบบที่สามารถรับสาร cannabidiol (CBD) โดยเรียกว่า cannabinoid receptors

(ตัวรับสาร CBD) ซึ่ง ตัวรับสารตัวนี้จะกระจายตัวอยู่ทั่วร่างกายซึ่งทำให้สาร cannabidiol สามารถออกฤทธิ์ได้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ผมได้สอบถามอาจารย์ด้านชีววิทยาท่านหนึ่ง (ซึ่งมีความรู้ในเรื่องนี้มากกว่าผมเยอะมาก) ว่า ถ้าเราจะเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ว่า สาร CBD เหมือนกับโทรศัพท์ต้นทาง เมื่อส่งสัญญาณถูกส่งออกไป ผู้ที่จะรับสัญญาณได้ก็ต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ต้นทางไว้ก่อน cannabinoid receptors จึงเปรียบเสมือนเครื่องโทรศัพท์ปลายทาง อาจารย์ชีววิทยาดังกล่าวบอกผมว่าเป็นคำอธิบายที่พอใช้ได้

สาร THC ก็มีตัวรับชนิดหนึ่งเป็นการเฉพาะ สาร CBD ก็มีตัวรับอีกตัวหนึ่ง ไม่เหมือนกับของ THC

หรือเหมือนกับลูกกุญแจแบแม่กุญแจ จะไขกันได้ก็ต้องมีการจัดการเป็นพิเศษมาก่อนแล้วเท่านั้น

จากภาพข้างต้นเราจะเห็นว่า แต่ละอวัยวะมีตัวรับสารที่แตกต่างกัน และแต่ละตัวมีหน้าที่แตกต่างกัน

ปัจจุบันมีการค้นพบสาร CBD กว่าร้อยชนิดแล้ว

“ผมเชื่อว่าสารที่มีอยู่ในพืชกัญชาเป็นขุมทรัพย์ทางการแพทย์ที่รอการค้นพบ”ศาสตราจารย์ Raphael Mechoulam

ในชีวิตส่วนตัว Raphael Mechoulam มีบุตร 1 คน เป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ มีลูกสาว 2 คน เป็นกุมารแพทย์ด้านตา และกุมารแพทย์ด้านเวชการ มีหลาน 7 คน ทุกคนอาศัยอยู่ในเยรูซาเลม

“เราโชคดีมาก ทุกวันศุกร์พวกเขาจะมาทานอาหารเย็นด้วยกัน”

ประโยคสุดท้ายนี้สะท้อนถึงความสุขในชีวิตครอบครัวของท่าน ซึ่งครั้งหนึ่งท่านได้พูดอย่างติดตลกว่า ชาวอิสราเอลไม่ค่อยมีความสุข จึงเป็นเหตุว่าท่านได้ตั้งชื่อสารที่ท่านค้นพบในสมองมนุษย์เป็นภาษาสันตกฤต ว่า Anandamide ซึ่งคำว่า Ananda แปลว่าความสุขสำราญกันสุดยอด

ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว สาร cannabinoid คือสารที่ทำหน้าที่กำกับการทำงาน หรือเป็นซีอีโอของร่างกายมนุษย์ทุกระบบ ดังนั้น สารเคมีดังกล่าวซึ่งมีอยู่ในพืชกัญชาจึงเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับการเกิดและการรักษาโรคทุกชนิดครับ

 

SHARE NOW

Facebook Comments