ยาหม้อ โบราณแก้กระษัย
พระคัมภีร์กระษัย (โรคความสึกหรอของร่างกาย) เพื่อความรู้และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
กระษัย เป็นชื่อเรียกอาการโรคชนิดหนึ่งในทรรศนะของแพทย์โบราณไทย ตำราแพทย์แผนโบราณว่า ทำให้ร่างกายทรุดโทรม มีอาการผอมแห้งตัวเหลืองเท้าเย็น ทางแผนโบราณถือว่าร่างกายของคนเราเกิดจากธาตุทั้ง 4 มารวมกัน มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และธาตุทั้ง 4 มันได้เสื่อมหน้าที่ของมัน จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอ ทรุดโทรมลง ทำงานไม่ได้ตาม ปกติ
ทางแพทย์แผนโบราณ รู้ได้อย่างไร?
– ใช้วิธีสอบถามอาการ จากคำบอกเล่าของผู้ ป่วย ดูอาการแสดง สอบถามความเป็นมาของอาการ เป็นนานเท่าใด กินนอนได้ไหม เป็นอย่างไร
-อาการของโรคกษัยจะสังเกตุได้
-จุกเสียดแน่นท้อง เสียดแทงยอดอก แน่นอก หายใจขัด ปวดเจ็บทั่วกายหรือหัวเหน่า
-ร่างกายผ่ายผอม ซูบ ซีดไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยหรือเพลียง่าย วิงเวียนศรีษะ ตาฟาง หูตึง
– กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือทานอาหารไม่มีรสชาติ คิดมาก ฟุ้งซ่าน หงุดหงิดง่าย
-ปวดหลัง หรือปวดขาเป็นเวลายาวนาน บางครั้งปวดมากเลยลงไปถึงก้นกบ
-มือเท้าเย็น มีเหงื่อ หรือเหน็บชา-มีอาการหนาว หรือร้อนผิดปกติ
-ไม่มีอารมณ์ทางเพศ หรืออวัยวะเพศไม่แข็งตัวในเพศชาย
โดยสรุปแล้ว กษัยเกิดจากความเครียดต่างๆ ของมนุษย์ การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา และไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การทำงานที่หนักเกินกำลัง หรืออยู่ในสภาวะที่เสื่อมโทรมนานๆ เกิดการสะสมจากการดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่จัด เกิดจากความเครียดหรือโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน, ไต, ตับ หรือโรคที่เกียวกับระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น
ยาหม้อไทย เป็นรูปแบบการปรุงยาอย่างหนึ่งตามวิถีของแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งรูปแบบของยาจะเป็นในลักษณะของยาต้ม ซึ่งเป็นการใช้น้ำเป็นตัวทำละลายยาสมุนไพรใช้รักษา บำรุงร่างกาย หรือเป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยยาหม้อต้มแบบโบราณเป็นการรักษาที่ยั่งยืนมากทีุ่สุดและให้ผลดีที่สุดแต่ใช้ระยะเวลาและความอดทนมากที่สุด
ยากระษัย มีขายตามท้องตลาด มีหลายอย่างหลายยี่ห้อ แต่ดีที่สุดคือต้มเองกับมือ หาซื้อสมุนไพรเองเลยตามร้านยาสมุนไพรไทยทั่วไป
ยาแก้กระษัยทั้งปวง ตัวยามีฤทธิ์ทางถ่าย พิษเสมหะโลหิต ชำระเมือกมัน
๑. สมอดีงู หนัก ๒๐ กรัม
๒. สมอไทย หนัก ๒๐ กรัม
๓. แสมสาร หนัก ๑๐ กรัม
๔. แสมทะเล หนัก ๑๐ กรัม
๕. ใบมะกา หนัก ๑๐ กรัม
๖. ใบมะดัน หนัก ๑๐ กรัม
๗. ขี้เหล็ก หนัก ๑๐ กรัม
๘. บอระเพ็ด หนัก ๑๐ กรัม
๙. รากช้าพลู หนัก ๕ กรัม
๑๐. เกลือ หนัก ๕ กรัม
๑๑. แก่นลั่นทม หนัก ๕ กรัม
๑๒. เถาวัลย์เปรียง หนัก ๕ กรัม
๑๓. ยาดำ หนัก ๕ กรัม
๑๔. ดินประสิว หนัก ๕ กรัม
๑๕. ส้มป่อย หนัก ๕ กรัม
๑๖. ใบมะขาม หนัก ๕ กรัม
๑๗. ดอกคำฝอย หนัก ๕ กรัม
๑๘. สะค้าน หนัก ๕ กรัม
๑๙. ดอกดีปลี หนัก ๕ กรัม
๒๐. รากเจตมูลเพลิง หนัก ๕ กรัม
๒๑. กระเพรา หนัก ๕ กรัม
๒๒. เทียนทั้ง ๙ หนัก ๕ กรัม
๒๓. ฝักราชพฤกษ์ ๓ ฝัก
วิธีปรุง นำตัวยาทั้งหมดมาต้มรวมกัน
วิธีรับประทาน วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น
(เพิ่มลดได้ตามธาตุหนัก-เบา) ครั้งละ ๒ – ๓ ช้อนโต๊ะ
ควรใช้หม้อเคลือบ หรือหม้อสแตนเลส เทยาลงหมดทีเดียวค่ะ แต่จะต้มแล้วเก็บในตู้เย็นหรือเอาค้างไว้ในหม้อแล้วต้มอุ่นเฉพาะตอนจะดื่มก็ได้ค่ะ
ต้มไฟอ่อนนานสัก 1/2 ชม. ก็ต้องเคี่ยวให้เหลือ 2/3 หม้อของแต่ละรอบค่ะ
แล้วกรองออกมา เคี่ยว 2 รอบ ก็ทำหม้อสองเหมือนกันแต่ใส่น้ำลงไปน้อยกว่าค่ะ เพราะยาเริ่มจางลงแล้วค่ะ แล้วเอามารวมกัน เคี่ยวให้เข้มอีกครั้ง รอเค้าเย็นลงแล้วเก็บใส่ ขวดน้ำค่ะ ได้หลายขวดมากส่วนนี้เอาเข้าตู้เย็น พอจะดื่มก็อุ่นค่ะ หรือผสมน้ำร้อนลงไป
ยาหม้อจะมีข้อดีในการรักษาที่เราจะเน้นการรักษาจากสาเหตุของโรค อีกทั้งตัวยาก็จะมีทั้งตัวยาที่ออกฤทธิ์เพื่อครอบคลุมอาการทั้งหมด ทั้งอาการหลัก อาการรอง และอาการข้างเคียงต่างๆ และการรับประทานยาหม้อยังเป็นยาที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยไม่ต้องแปรรูปยา ทำให้อวัยวะภายใน เช่น ตับและไต ไม่ต้องทำงานหนักในการแปรรูปยา เพื่อการออกฤทธิ์และกำจัดออกจากร่างกาย
ข้อเสีย ในเรื่องของสี กลิ่นและรสชาติในการรับประทาน อีกทั้งยาต้มไม่สามารถเก็บไว้ได้นานเนื่องจากขึ้นราได้ง่าย ซึ่งเราคงจะต้องระวังในเรื่องของวัตถุดิบตัวยา ที่เราจะนำมาใช้ เป็นยาหม้อ โดยสิ่งที่อยากให้ระวังในเรื่องแรกคือ ความสะอาดของตัวยา ไม่ควรที่จะมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ หรือแม้กระทั่งยาบางตัวที่มีฤทธิ์แรง ก็จะต้องทำการสะตุ ประสะ หรือฆ่าฤทธิ์ยาเสียก่อน เพื่อทำให้ฤทธิ์ยาอ่อนลงจนสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย
วิธีการกินและเก็บรักษายาหม้อที่ถูกต้อง
ให้รับประทานยาในเวลาท้องว่าง คือ ก่อนอาหาร เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้ดี และวิธีในการเก็บรักษายาหม้อที่ถูกต้องคือ ยาหม้อโดยปกติสามารถต้มกินได้ไม่เกิน 7-10 วัน หรือจนกว่าตัวยาจืด แต่จะต้องอุ่นยาเช้า-เย็น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อรา และทำให้ยาหม้อบูด หรือเสียได้
แพทย์แผนไทยมรดกที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย ขอให้สุขภาพดีถ้วนหน้าค่ะ
ที่มา แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ พระคัมภีร์กระษัย
อ้างอิง: ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม
กองประกอบโรคศิลปะ
ตำหรับยา อ. หมอสุชาติ ภูวรัตน์
Facebook Comments