รู้จัก “ยาหอม 4 ตำรับ” เลือกกินเลือกใช้อย่างไร?

รู้จัก “ยาหอม 4 ตำรับ” เลือกกินเลือกใช้อย่างไร?

รู้จัก “ยาหอม 4 ตำรับ” เลือกกินเลือกใช้อย่างไร?

✴️ รู้จัก “ยาหอม 4 ตำรับ” เลือกกินเลือกใช้อย่างไร?

“ยาหอม” ถือเป็นเอกลักษณ์ด้านยาสมุนไพรของไทย มีการใช้มายาวนานยาหอมใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ซึ่งในทางการแพทย์แผนไทย หมายถึง ยาปรับการทำงานของลมที่เคลื่อนไหวทั่วร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก
การหมุนเวียนของเลือด เรียกรวมกันว่า ลมกองละเอียด ยาหอมบางชนิดนอกจากใช้บำรุงหัวใจแล้ว ยังใช้สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกิดจากลมกองหยาบ ซึ่งหมายถึง ลมที่อยู่ภายในทางเดินอาหาร ที่ทำให้เกิดอาการจุกเสียดอีกด้วย ดังนั้น การตั้งตำรับยาหอมจึงต้องประกอบด้วยสมุนไพรจำนวนมากเพื่อปรับการทำงานของธาตุลม ไฟ และน้ำให้เข้าสู่สมดุลย์
โดยทั่วไปแล้วยาหอม จะประกอบด้วย…
1️⃣ยาพื้นฐาน เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ส่วนใหญ่มีรสสุขุม คือ ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ได้แก่ โกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ กฤษณา ขอนดอก กระลำพัก อบเชย
2️⃣สมุนไพรเพิ่มการทำงานของธาตุลม เป็นตัวยารสร้อนหรือรสเผ็ดร้อน เช่น สมุลแว้ง สนเทศ ว่านน้ำ กระชาย เปราะหอม เป็นต้น
3️⃣ยาปรับธาตุ ซึ่งมักนำมาจากพิกัดเบญจกูล (สะค้าน ช้าพลู ขิง ดีปลี เจตมูลเพลิงแดง) หรือพิกัดตรีผลา (สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม)
4️⃣ส่วนประกอบ ที่ใส่เฉพาะตำรับ เพื่อใช้เฉพาะอาการต่างๆ เช่น ยาหอมทั้งสี่ตำรับ ที่ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม ตามอาการที่ต้องการดูแล ได้แก่…
👉🏻 ยาหอมเทพจิตร
สรรพคุณ : แก้ลมตีขึ้นบนหัว วิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น หนักๆ มึนๆ ในหัว บำรุงหัวใจ คลายเครียด ช่วยการนอนหลับ
ขนาดรับประทาน : ครั้งละ 1/2 – 1 ช้อนชา ละลายน้ำอุ่น รับประทานทุก 3 – 4 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
🔻ข้อควรระวัง :
– ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด
– ควรระวังในการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
– ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
👉🏻 ยาหอมทิพโอสถ
สรรพคุณ : แก้ลมในอก จุกเสียด ลมจุกคอ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หงุดหงิดก่อนมีประจำเดือน ทำให้รู้สึกสดชื่น
ขนาดรับประทาน : ครั้งละ 1/2 – 1 ช้อนชา ละลายน้ำดอกไม้เทศหรือน้ำต้มสุก รับประทานทุก 3 – 4 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ
👉🏻 ยาหอมนวโกฐ
สรรพคุณ : แก้ลมในท้อง ท้องอืดเฟ้อ เรอบ่อย พะอืดพะอม ท้องผูก คลื่นเหียน อาเจียน ลมปลายไข้ ปรับสมดุลธาตุลม ท้องไส้ ช่วยการนอนหลับ
น้ำกระสายยาที่ใช้
– แก้ลมคลื่นเหียน อาเจียน ใช้น้ำลูกผักชีเทียนดำต้ม
– แก้ลมปลายไข้ ใช้ก้านสะเดา ลูกกระดอม และบอระเพ็ดต้มเอาน้ำ ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ใช้น้ำสุกแทน
ขนาดรับประทาน : ครั้งละ 1/2 – 1 ช้อนชา ละลายน้ำกระสายยาทุก 3 ชั่วโมง
🔻ข้อห้ามใช้ : ยาหอมนวโกฐ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
🔻ข้อควรระวัง
– ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด
– ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
👉🏻ยาหอมอินทจักร์
สรรพคุณ : แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด จิตใจไม่สงบ กระวนกระวาย (อาการไม่สบายตัวร้อนๆ หนาวๆ)
ขนาดรับประทาน : รับประทานครั้งละ 1-2 กรัมละลายน้ำกระสายยาทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
น้ำกระสายยาที่ใช้
– กรณีแก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิ
– กรณีแก้คลื่นเหียนอาเจียน ใช้น้ำลูกผักชีเทียนดำต้ม ถ้าไม่มีใช้น้ำสุก
– กรณีแก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้ม
🔻ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
🔻ข้อควรระวัง
– ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด
– ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
📌สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถาม ปรึกษายาได้ที่ไลน์คลินิกแพทย์แผนไทยออนไลน์ https://lin.ee/47PRVjiFz
SHARE NOW

Facebook Comments