สมุนไพรสู้โรค | โรคหน้าหนาวในผู้สูงอายุ

สมุนไพรสู้โรค | โรคหน้าหนาวในผู้สูงอายุ

สมุนไพรสู้โรค | โรคหน้าหนาวในผู้สูงอายุ

สมุนไพรสู้โรค | โรคหน้าหนาวในผู้สูงอายุ

เมื่อเข้าสู่หน้าหนาว หลายคนรู้สึกชื่นชอบช่วงเวลานี้ แต่สำหรับผู้สูงอายุ อุณหภูมิของอากาศที่หนาวเย็นลงอาจส่งภัยร้ายต่อสุขภาพได้ หากไม่ระมัดระวังเตรียมตัวดูแลสุขภาพให้แข็งแรงไว้ก่อน
สำหรับผู้สูงอายุที่แข็งแรงดีก็ไม่ควรละเลยที่จะดูแลสุขภาพ ซึ่งทำง่ายๆ โดยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้ามีความหนาเพียงพอ ห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็น ออกกำลังกายเป็นประจำ เคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ เพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย กินอาหารร้อนๆ หลากหลายให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวัน ดื่มน้ำอุ่นวันละ 6-8 แก้ว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
👴🏻🧓🏻โรคหน้าหนาวที่ผู้สูงอายุต้องระวัง
1. โรคติดต่อทางการหายใจ ฤดูหนาวเป็นช่วงที่อุณหภูมิลดต่ำลง ความกดอากาศสูงขึ้น จึงทำให้เชื้อโรคและฝุ่นต่างๆ ไม่ได้ระบายออก แล้วสะสมตัวลอยอยู่ในอากาศรอบๆ ตัว ส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ อีกทั้งยังมีโอกาสติดต่อและแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายมาก ซึ่งผู้สูงอายุที่มีร่างกายไม่แข็งแรง จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยเป็นโรคติดต่อเหล่านี้ได้ง่าย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบหรือติดเชื้อ
🔻วิธีการป้องกัน : หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ระบายอากาศไม่ดีหรือมีอากาศเย็นมาก หากจำเป็นต้องออกข้างนอก ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการได้รับเชื้อโรคจากผู้อื่น และที่สำคัญ ควรงดสูบบุหรี่เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้งได้ผลดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคเบาหวาน และผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม โรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต
2. ปัญหาเรื่องผิวหนัง เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย อีกทั้งต่อมไขมันยังทำงานได้ลดน้อยลง จึงมีโอกาสที่ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่มีอากาศแห้ง และมีความชื้นน้อย ยิ่งอากาศหนาว ผู้สูงอายุก็ต้องอาบน้ำอุ่น ซึ่งน้ำอุ่นจะชะล้างไขมันที่ผิวหนังออกไป ยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพผิวหนังมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหา ผิวแห้ง ผื่นผิวหนังอักเสบ และมีอาการคัน
🔻วิธีป้องกัน : ผู้สูงอายุควรทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ด้วยการใส่เสื้อผ้าหนาๆ และไม่ควรอาบน้ำนานๆ หลังจากอาบน้ำควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิว เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง หากริมฝีปากแตก ไม่ควรเลียริมฝีปาก แนะนำให้ทาด้วยลิปมันบ่อยๆ
3. โรคในระบบไหลเวียนเลือด ในช่วงที่อากาศเย็น ผู้สูงอายุหลายคนมักจะไม่ค่อยอยากออกกำลังกาย หากในช่วงนั้น ผู้สูงอายุไม่ควบคุมการทานอาหาร ทานแต่อาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้หัวใจทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจมีความต้องการออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดอยู่แล้ว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง จะยิ่งทำให้โรคประจำตัวเหล่านี้รุนแรงขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ความดันโลหิตอาจจะยิ่งสูงขึ้นในฤดูหนาวอีกด้วย
🔻วิธีป้องกัน : ผู้สูงอายุควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการหนาวลงได้ นอกจากนี้ หากรู้สึกว่าโรคประจำตัวมีอาการรุนแรงขึ้น ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
4. ภาวะอุณหภูมิของร่างกายลดลงผิดปกติ ประสาทรับรู้อากาศที่ผิวหนังของผู้สูงอายุมีความไวลดลงตามอายุ เมื่อผู้สูงอายุเจออากาศหนาว ร่างกายจึงไม่ค่อยตอบสนองด้วยการหนาวสั่น หรือการหดตัวของกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นได้ดีเหมือนเคย อีกทั้ง ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหลอดเลือดที่ผิวหนัง ไม่ให้สูญเสียความร้อนจากร่างกาย ก็เสื่อมสภาพลงเช่นกัน จึงส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายของผู้สูงอายุ ลดลงมากผิดปกติ
🔻วิธีป้องกัน : เมื่ออากาศเย็นลง ผู้สูงอายุควรทำร่างกายให้อบอุ่นไว้ก่อน แม้จะไม่ได้รู้สึกหนาวมาก ควรสวมเสื้อผ้าหนาๆ ห่มผ้า และหลีกเลี่ยงการเปิดแอร์ตอนนอน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือหรือพื้นที่ชนบทที่มีป่าเยอะ เพราะเป็นบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นมากกว่าปกติ
5. โรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่พบกับปัญหาเจ็บปวดบริเวณกระดูกและข้อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงฤดูหนาว อากาศเย็นจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น หรืออาจเป็นโรคข้ออักเสบได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคเกี่ยวกับข้อเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรคเกาต์ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
🔻วิธีป้องกัน : รักษาให้ร่างกายอบอุ่น พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้ปวดบริเวณข้อและกระดูก เช่น ยกของหนัก นั่งพับเพียบ แนะนำให้บริหารร่างกายเบาๆ เพื่อทำให้ข้อแข็งแรง และข้อไม่ติด หากมีอาการปวดให้ทายาแก้ปวดเพื่อบรรเทา แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ทันที
#ขิง สมุนไพรสำหรับผู้สูงวัยในหน้าหนาว
ขิง เป็นสมุนไพรรสเผ็ดร้อนบำรุงไฟธาตุที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง ทั้งกลิ่นดีรสดี ไม่เผ็ดร้อนเกินไป มีความพอเหมาะพอควร ไม่ทิ้งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ไว้เป็นหลักฐาน เข้ากับอาหารได้หลากหลาย ใช้ได้ทั้งขิงแห้ง ขิงสด ขิงอ่อน ใช้ทำอาหารหวาน อาหารคาว เครื่องดื่ม ชา ได้สารพัด ในผู้สูงอายุ ทางการแพทย์แผนไทยนั้นนับว่าเป็นช่วงปัจฉิมวัย มีวาตะเป็นเจ้าเรือน ทำให้เรามักจะพบว่าผู้สูงอายุตัวผอมแห้ง การย่อยอาหารไม่ดี ทนร้อน ทนหนาวไม่ค่อยได้ ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดตามข้อ นอนไม่หลับ ซึ่งเป็นภาวะที่วาตะหรือธาตุลมกำเริบนั่นเอง ขิงเป็นสมุนไพรหนึ่งที่ช่วยเพิ่มไฟธาตุ สร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ช่วยลดอาการกำเริบของธาตุลมได้เป็นอย่างดี
🚫ข้อควรระวัง
– หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินมาก เพราะในการแพทย์ตะวันออกจัดว่าขิงเป็นยาร้อน เชื่อว่าการกินยาร้อนมากเกินไปอาจทำให้แท้งได้ เช่น คนสมัยก่อนจะใช้ขิง ดีปลี กระเทียม ดองเหล้าเป็นยาขับประจำเดือน
– ไม่ควรใช้ขิงในผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี หากจะใช้ควรระมัดระวังและอยู่ในความดูแลของแพทย์
– ขิง สามารถเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาของยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด ให้ระมัดระวังการกินขิงและควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
– การกินขิงในปริมาณมาก อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากขิงมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง
– ขิงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะ แต่ก็มีรายงานว่า ขิงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย H. pylori ซึ่งทำให้เกิดโรคกระเพาะ
📃เรื่องโดย พท.ป.ณิชนันท์ ปุ่มเพชร
📌 ติดตามอภัยภูเบศรได้ที่
FB : https://www.facebook.com/abhaiherb
IG : https://www.instagram.com/abhaiherb.official/
เว็บหลัก : http://www.abhaiherb.com
Line shop : https://lin.ee/Z9aG01W
Line คลินิก : https://lin.ee/HGT0wkz
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCtYAMPNpxrb62S3h3agetOQ
TikTok : https://www.tiktok.com/@abhaiherb
Cr. ภาพ istockphoto
#สมุนไพรสู้โรค #สมุนไพรหน้าหนาว #โรคหน้าหนาวในผู้สูงอายุ #ผู้สูงอายุ #สมุนไพรอภัยภูเบศร #อภัยภูเบศร
SHARE NOW

Facebook Comments