อย่ามองข้าม! สุดยอดสมุนไพร รางจืด เทพีแห่งป่า ราชาแห่งการถอนพิษ ควรมีติดบ้าน
รางจืด เป็นพืชที่รู้จักกันดีในจำนวนพืชที่สามารถแก้พิษ และกำจัดสารพิษในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้ขื่อว่าเป็น “ราชาแห่งการถอนพิษ” นอกจากนั้น คนโบราณยังนิยมใช้สำหรับแก้พิษจากสัตว์ต่างๆ มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันนอกเฉียงใต้ อาทิ ไทย และพม่า บ้านเราพบมากตามป่าดงดิบหรือป่าดิบชื้นทั่วไป แต่ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่ามีสรรพคุณเด่นในการขจัดพิษต่างๆ ทั้งพิษจากพืช พิษจากสัตว์ และพิษจากสารเคมี จึงนิยมนำมาปลูกตามบ้านเรือนทั่วไป
เป็นพืชเถาที่มีอายุนานหลายปี ในวงศ์ เหงือกปลาหมอ ACANTHACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์Thunbergia laurifolia Lindl. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า รางเย็น คาย (ยะลา), ดุเหว่า (ปัตตานี), ทิดพุด (นครศรีธรรมราช), ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์), น้ำนอง (สระบุรี), จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กำลังช้างเผือก ยาเขียว เครือเขาเขียว ขอบชะนาง (ภาคกลาง), ว่านรางจืด เป็นต้น
ลำต้น จะเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้หรือเสารั้ว ขนาดเถาส่วนโคน 0.8-1.5 เซนติเมตร และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา ส่วนความยาวจะยาวได้มากกว่า 10 เมตร เถามีลักษณะค่อนข้างกลม และเป็นข้อปล้อง เถาส่วนโคนมีสีเขียวอมน้ำตาล เถาอ่อนหรือเถาส่วนปลายมีสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน หักง่าย แต่ค่อนข้างเหนียว แก่นในสุดเป็นเยื่ออ่อนเป็นวงกลม
“รางจีด”ราชาแห่งการถอนพิษ
ใบ ออกเป็นคู่ๆ ซ้าย-ขวา ตามข้อของเถา ก้านยาว 2-4 เซนติเมตร รูปหัวใจแหลม โคนมน ปลายแหลม และมีติ่งแหลมที่ส่วนปลาย กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 5-20 เซนติเมตร ใบใหญ่จะอยู่โคนก้าน และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา ตัวใบจะมีแผ่นใบ และขอบเรียบ ด้านบนมีสีเข้มกว่าด้านล่างมีขน มีเส้นใบมี 3 เส้น เป็นร่องตื้น ยาวจากโคนใบมาปลายใบ 2 เส้น และอีก 1 เส้นใบอยู่กลางใบ ยาวจากโคนใบจนถึงปลายสุดของใบ
ดอก ออกเป็นช่อ ตามข้อบริเวณซอกใบ ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอ่อน มีโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว คล้ายรูปแตร ปลายกลีบแยกเป็นแฉกออกเป็นรูปจาน เมื่อดอกบานจะมีขนาด 5-10 เซนติเมตร ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน โดยรางจืดจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
ผล ออกเป็นฝัก จะเริ่มติดฝักให้ผลหลังจากที่ดอกร่วงไป ทรงกลมเป็นหลอด กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร ปลายฝักแหลม และโค้งเล็กน้อยเป็นจะงอยคล้ายปลายปากนก ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อแก่ และแห้งเต็มที่จะปริแตกออกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดด้านในสีน้ำตาล
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ขึ้นได้ทุกสภาพดิน ความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน
การประโยชน์
1. นิยมนำใบ ราก และเถา มาใช้ประโยชน์ในหลายลักษณะ เช่น การตากแห้ง แล้วนำมาบดอัดใส่แคปซูลกิน การนำมาต้มกับน้ำดื่ม รวมไปถึงการนำรากหรือใบสดมาขยี้ประคบแผลที่ถูกสัตว์มีพิษกัด
2. ใช้ต้มน้ำอาบ แก้อาการแพ้ ผื่นคัน ลดการเกิดโรคผิวหนัง โดยใช้ใบหรือเถาสด 10-15 ใบหรือเถาขนาดยาว 10 ซม. ต้มในน้ำประมาณ 10 ลิตร อาบทุกวัน ประมาณ 5-7 วัน
3. นำใบ 5-10 ใบ มาโคกให้ละเอียด ก่อนผสมน้ำ 1 แก้ว แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำสำหรับดื่ม
4. นำใบมาตากแห้ง แล้วสับเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนใช้ชงน้ำร้อนเป็นชาดื่ม
5. นำใบ 10-20 ใบ หรือ ใช้เถาตัดเป็นชิ้นๆยาว 1-2 นิ้ว ก่อนนำไปแช่สุราดื่ม
6. ดอกรางจืด นำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำ แล้วกรองแยกกาก ก่อนนำน้ำที่ได้ใช้ทำของหวาน ใช้หุงข้าว หรือใช้ทำสีผสมอาหารอื่นๆ ซึ่งจะให้สีม่วงอ่อนหรือสีคราม หรือสีอื่นตามชนิดสีของดอก
7. คนโบราณมีความเชื่อว่า การดื่มน้ำต้มจากรางจืดสามารถช่วยแก้คุณไสย ยาสั่งหรือมนต์ดำที่ผู้อื่นทำแก่ตนได้
8. ใบรางจืดตากแห้งแล้ว นำมาบดให้ละเอียด ใช้ผสมในอาหารสัตว์ อาทิ อาหารหมู อาหารไก่ เป็นต้น ช่วยเสริมภูมิต้านทานต่อโรค และช่วยรักษาให้สัตว์มีอัตราการรอดสูงขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อโรค
สรรพคุณ : ราก เถา และใบ รวมถึงดอก พบองค์ประกอบของสารเคมีที่คล้ายกัน ซึ่งมีสรรพคุณทางยาหลายด้าน ได้แก่
• ทุกส่วนมีสารต้านอนุมูลอิสระ และสามารถออกฤทธิ์กำจัดสารตั้งต้นของเซลล์มะเร็ง ทำให้ช่วยต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง และลดจำนวนเซลล์มะเร็งจนหายได้
• พบสารสำคัญหลายชนิดออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ ช่วยป้องกันเซลล์จากสารพิษ ทำให้ผิวพรรณสดใส ผิวพรรณเต่งตึง และช่วยต้านความแก่
• นำทุกส่วนมาต้มดื่ม ใช้แก้พิษยาเบื่อ ทำลาย และกำจัดพิษยาฆ่าแมลงให้ออกจากร่างกาย
• ทุกส่วนนำมาตำหรือบดผสมน้ำ ใช้สำหรับพอกแผล ระงับอาการปวด ลดอาการบวม และกำจัดพิษจากสัตว์ต่อย อาทิ งูกัด แมงป่อง ตะขาบ แมงดาทะเล เป็นต้น
• ทุกส่วนช่วยในการลด และกำจัดสารพิษของเห็ดพิษ ทำให้บรรเทาอาการจากพิษเห็ด และรักษาพิษจากเห็ดพิษได้
• ทุกส่วนออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาแผล เช่น รักษาไวรัสเริม ด้วยการบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำไปประคบบริเวณรอยแผลเริม
• ทุกส่วนนำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำมาประคบหรือทาแผลสด แผลเป็นหนอง ซึ่งจะช่วยให้แผลแห้งเร็ว ลดการติดเชื้อ ลดอาการบวมของแผล
• ทุกส่วนนำมาต้มน้ำอาบ ช่วยบรรเทาอาการผื่นคัน ต้านเชื้อรา รักษาโรคผิวหนัง
• ทุกส่วนนำมาต้มน้ำดื่มหรือคั้นน้ำดื่มสำหรับใช้เป็นยาแก้ร้อนใน และช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ
• ทุกส่วนช่วยลดพิษจากแอลกอฮอล์ กำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ช่วยบำบัดผู้ติดสุราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเมาค้าง ให้นำใบมาต้มน้ำดื่มทุกๆ 3-5 ชั่วโมง จะช่วยคลายอาการเมาค้างได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้ที่ติดสุรา ให้นำใบหรือเถามาต้มน้ำดื่มเป็นประจำ โดยใช้แทนน้ำดื่มหลังรับประทานอาหาร และดื่มก่อนนอนทุกวัน ตลอด 3 เดือน ซึ่งจะช่วยคลายอาการอยากดื่มสุราได้
• สำหรับผู้ที่ติดบุหรี่หรือสารเสพติด ให้นำใบหรือเถายางจืดมาต้มน้ำดื่มเป็นประจำ โดยดื่มแทนน้ำหลังรับประทานอาหารเหมือนกับการแก้อาการเมาค้าง และดื่มก่อนนอนเป็นประจำทุกวัน ติดต่อกัน 1 เดือน ซึ่งจะช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่ได้ แต่ทั้งนี้ผู้สูบจะต้องลดจำนวนสูบหรือไม่สูบขณะรักษา ซึ่งจะช่วยให้เลิกบุหรี่หรือสารเสพติดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การดื่มน้ำต้มใบรางจืดเป็นประจำจะช่วยในการขับสารนิโคติน และสารพิษอื่นๆที่สะสมในเลือด และปอดออกไปด้วย ส่งผลดีสำหรับลดความเสี่ยงมะเร็งปอดหลังการเลิกบุหรี่ได้
• การดื่มน้ำต้มจากใบหรือเถาร้อนๆ ช่วยในการขับปัสสาวะ นอกจากนั้น ยังทำให้รู้สึกอยากอาหารได้อีกด้วย
• ทุกส่วนใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสบางชนิด สามารถต้าน และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในกระแสเลือด ช่วยลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อ และรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ
• น้ำต้มจากทุกส่วน นำมาดื่มอุ่นๆ สำหรับรักษา และบรรเทาอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ
• น้ำต้มหรือน้ำคั้นสดจากใบหรือเถา ช่วยปกป้องเซลล์ตับ และไตจากพิษของสารเคมีชนิดต่างๆ และมีส่วนกระตุ้นการทำงานของไตในการกำจัดสารพิษ ลดภาระการกรองสารพิษของไตด้วยการทำลายพันธะของสารเคมีที่มีพิษให้กลายเป็นสารอนุพันธ์ที่ไร้พิษ และทำให้สามารถขับสารพิษเหล่านั้นออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น
• น้ำต้มใบหรือเถาอุ่นๆ นำมาดื่มสำหรับการรักษาไข้หวัด รักษาโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะสามารถต้าน และกำจัดเชื้อโรคบางชนิดที่อยู่ในกระแสดเลือดได้
• ช่วยลดความดันโลหิต ปรับระดับการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ
• ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยกระตุ้นระบบการหลั่งอินซูลินให้เป็นปกติ ลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน และลดอาการของโรคเบาหวาน
• ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน และลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
• ช่วยกระตุ้นระบบควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง
• ทุกส่วนนำมาต้มน้ำดื่มเพื่อปรับประจำเดือนให้มาปกติ หรือสำหรับหญิงที่คลอดบุตรใหม่ ให้ต้มดื่มสำหรับดับน้ำคาวปลา ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาสภาพเดิมโดยเร็ว
แม้ว่ารางจืดจะมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายในการช่วยขับล้างสารพิษ แต่การนำมาใช้หรือนำมารับประทานก็ควรใช้อย่างพอดีและสมเหตุสมผล หากพิจารณาดูตัวเองหรือได้รับการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญว่าร่างกายมีสารพิษมากเกินไป คุณก็สามารถรับประทานได้ แต่ก็ต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมถูกต้องและถูกเวลา
คำแนะนำ
รางจืดวิธีใช้ประโยชน์จากใบสดรางจืดในการรักษาพิษ หากใช้สำหรับคนให้ใช้ประมาณ 10-12 ใบ (แต่ถ้าใช้สำหรับวัวควายให้ใช้ 20-30 ใบ) เมื่อได้ใบสดให้นำมาตำจนละเอียดผสมกับย้ำซาวข้าวประมาณครึ่งแก้ว ว่านรางจืดวิธีรับประทานก็ง่าย ๆ เพียงนำมาคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ และอาจจะต้องดื่มซ้ำอีกภายในครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงถัดมา
การใช้ประโยชน์จากรากรางจืดในการรักษาพิษ หากใช้สำหรับคนให้ใช้ 1-2 องคุลี (แต่ถ้าหากใช้กับวัวควายให้ใช้ประมาณ 2-4 องคุลี) เมื่อได้รากมาแล้วให้นำมาฝนหรือนำมาตำเข้ากับน้ำซาวข้าว แล้วนำมาดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ และอาจจะต้องใช้ซ้ำอีกภายในครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงเช่นเดียวกับการใช้ใบรางจืด
สำหรับการใช้รางจืดเพื่อถอนพิษยาฆ่าแมลง สำหรับผู้ป่วยที่ดื่มยาฆ่าแมลง ใช้ถอนยาพิษ ยาเบื่อ และพิษจากสตริกนินนั้น ต้องใช้ยารางจืดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะได้ผลดี เพราะถ้ายาซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากหรือทิ้งไว้ข้ามคืนรางจืดก็จะได้ผลน้อยลงนั่นเอง
ข้อควรระวังในการใช้รางจืดก็คือ การใช้รางจืดมันร่วมกับตัวยาชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาในการรักษาอย่างต่อเนื่องก็ควรจะระวังไว้ด้วย เพราะรางจืดอาจจะไปขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกายได้นั่นเอง
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การใช้ก็ควรจะระมัดระวังด้วยเพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
แหล่งที่มาข้อมูล : เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร), สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,หนังสือสมุนไพรกับวัฒนธรรมไทยตอนที่ 2 ไม้ริมรั้ว (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,คู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย (กันทิมา สิทธิธัญกิจ,พรทิพย์ เติมวิเศษ)
Facebook Comments