ว่านพระฉิม ว่านอยู่ยงคงกระพัน ของคนโบราณ
ชื่ออื่น กลิ้งกลางดง (ภาคเหนือ); เดะควา (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); เถามันนก (สุราษฎร์ธานี); เบี้ย (จันทบุรี); มะมู (ภาคเหนือ); มันกะทาด (นครราชสีมา); มันขมิ้น (ภาคกลาง); มันตกเลือด (นครศรีธรรมราช); มันทราย, มันนก, มันนางนอน (ชลบุรี); มันแนบ (สระบุรี); มันเสิน (นครศรีธรรมราช); มันหมู (ชลบุรี); มันหลวง (ประจวบคีรีขันธ์); มันหามเป้า (ภาคเหนือ); มันอีโม้ (สุโขทัย); มันอีลุ้ม (จันทบุรี); ละสา, เล่าะแจ๊มื่อ (กะเหรียง-แม่ฮ่องสอน); ว่านพระฉิม, ว่านสามพันตึง (ภาคกลาง); หำเป้า (ภาคเหนือ); อีรุมปุมเป้า (สระแก้ว); อึ้งเอี๊ยะ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dioscorea bulbifera L.
ชื่อสามัญ Air potato วงศ์ Dioscoreaceae
พบในอเมริกา แอฟริกา และเอเชียเขตร้อน ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า ความสูงจนถึง 1400 เมตร หัวใต้ดินและหัวย่อยใช้ปรุงอาหารคล้ายกลอย D. hispida Dennst. มีสารแอลคาลอยด์ และซาโปนินมีพิษ ทางภาคกลางเรียกว่า ว่านพระฉิม
สกุล Dioscorea L. มี 450-600 ชนิด ในไทยมีประมาณ 42 ชนิด หลายชนิดเป็นพืชอาหาร เช่น กลอย D. hispida Dennst. มันมือเสือ D. esculenta (Lour.) Burkill ที่ลำต้นและกิ่งมีหนาม หัวรูปทรงกระบอก หรือรูปนิ้วมือในต้นที่ปลูก และมันเสา D. alata L. ลำต้นมีเหลี่ยมเป็นปีก หัวใต้ดินและชั้นผิวมีหลายรูปแบบ ชื่อสกุลตั้งตามนายแพทย์ชาวกรีกในช่วงศตวรรษที่ 1 Pedianos Dioscorides
ไม้เถาล้มลุก เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น มีหัวอยู่ใต้ดินขนาดใหญ่ และเกิดหัวขนาดเล็กชนิด bulbil ที่ซอกใบ รูปทรงกลม ขนาดประมาณ 0.6-2.5 เซนติเมตร อาจกว้างได้ถึง 13 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายผล มีปุ่มปมที่ผิว ผิวนอกสีน้ำตาลปนเทาซีด เมื่อฝานออกเนื้อภายในมีสีเหลืองส้ม หัวใต้ดินโป่งนูนเป็นลูกๆ โดยเชื่อมติดกันที่โคนต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปหัวใจปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบบาง ดอกมีขนาดเล็ก ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อเชิงลด ห้อยลง ยาว 5-13 เซนติเมตร ออกเป็นกลุ่มบนแกน บางครั้งอาจพบช่อแยกแขนง ดอกสีขาวออกเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ผลแบบแคปซูล เมล็ดมีปีกที่ฐาน พบที่ระดับน้ำทะเล 1,000-2,000 เมตร ออกดอกราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน
ความเชื่อ
– ว่านนี้ถ้าปลูกทำเป็นซุ้มหน้าบ้านให้ว่านพระฉิมเลื้อยเกาะจะทำให้ร่มเย็นเป็นเมตตามหานิยม และสิริมงคล แก่บ้านและร้านค้า
– หัวว่านมาทำผงผสมทำพระเครื่อง หรือ หัวนำหัวพกติดตัวไปไหนมาไหนป้องกันอุปัทวเหตุ และแคล้วคราดจากภัยทั้งปวง ก่อนพกพาให้เสกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” 7 จบ เป็นสิริมงคล อุดมด้วยโภคทรัพย์และคงกระพันชาตรี
– วางว่านไว้หัวเตียงป้องกันสิ่งไม่ดีมากระทำ
การปลูก
ใช้ดินร่วนๆ เป็นดินปลูก อย่ากดดินให้แน่น เวลารดน้ำอย่าใช้น้ำมาก รดพอชุ่มเท่านั้น ตั้งไว้ในที่ร่ม ถูกแดดพอรำไร น้ำที่รดทุกครั้งควรเสกด้วย “นะ โม พุท ธ า ยะ ” ๓ คาบ
สรรพคุณ
หัวใต้ดิน ทำให้สุกรับประทานได้ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้บิด แก้ลำไส้อักเสบ แก้ริดสีดวงทวาร บำรุงธาตุ แก้น้ำเหลืองเสีย ขับพยาธิ เจริญอาหาร แก้ปวดท้อง ท้องย้อย เป็นยาขม ยาเย็น ขับน้ำนม หรือหั่นเป็นแผ่นบางๆ ใช้ปิดแผล แก้อักเสบ
ชาวเขาใช้ ราก ตำเป็นยาพอกแก้สิว ฝ้า ไฝ หัว ฝานตากแห้ง ปรุงเป็นอาหารแป้ง และกินเป็นยาแก้โรคกระเพาะ หัวสด นำมาทุบแล้วนำไปใส่แผลให้สุนัข ใบและยอดอ่อน กินเป็นผักสด หรือผักลวก หัวย่อยเผาไฟกินเนื้อในเป็นอาหาร
ตำรับยา
– ใช้หัวว่านฝนรวมกับว่านเพชรหึง มีน้ำซาวข้าวเป็นกระสาย กินแก้ฝีกาฬ ทาแก้ฝีหัวเดียว ระงับพิษร้อน แก้เมื่อยหลัง เจ็บเอว
– ใช้หัวว่านพระฉิมฝนกับฝาละมี (ฝาหม้อดิน) ละลายน้ำมะนาว ทาแก้แผลต่าง ๆ ทาแก้เริม งูสวัด ไฟลามทุ่ง
ชมรมผักพื้นบ้าน
Facebook Comments