ผักขมหิน

ผักขมหิน

ผักขมหิน

ผักขมหิน
ชื่อสามัญ Pigweed, Spreading hog weed
ชื่อวิทยาศาสตร์ Boerhavia diffusa L. จัดอยู่ในวงศ์บานเย็น (NYCTAGINACEAE)
สมุนไพรผักขมหิน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักปั๋งดิน (เชียงใหม่), ผักขมฟ้า (สุโขทัย), ผักเบี้ยหิน ปังแป ผักปังแป (ภาคเหนือ), ผักขมหิน (ภาคกลาง), นังกู่แซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ผักเบี้ยใหญ่, ผักโหมฟ้า, ผักโขมหิน เป็นต้น
ลักษณะของผักขมหิน
ต้นผักขมหิน จัดเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีลักษณะทอดเลื้อยขนานไปตามพื้นดินชูยอดขึ้น สูงได้ถึง 1 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ผิวเรียบหรือมีขนบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะต้นกลมเป็นสีเขียวปนแดง ยอดอ่อนมีขน เป็นวัชพืชที่พบขึ้นทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคตามที่รกร้างและข้างถนน
ใบผักขมหิน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน แผ่นใบมีขนาดไม่เท่ากัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวค่อนข้างหนา ท้องใบมักมีสีอ่อนกว่าหลังใบ มีต่อมสีแดงตามแนวขอบใบ
ดอกผักขมหิน ออกดอกเป็นช่อกระจุกคล้ายซี่ร่มรวมกันเป็นช่อแยกแขนง โดยจะออกบริเวณซอกใบและที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกมีขน ดอกย่อยมีหลายดอก กลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ดอกมีทั้งสีขาว สีชมพู และสีแดง กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกออกเป็น 10 กลีบ ปลายมน กลีบรวมมีขนาดยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 2-3 อัน ยื่นพ้นกลีบรวมเล็กน้อย
ผลผักขมหิน ผลเป็นผลแห้ง มีส่วนโคนกลีบรวมหุ้มอยู่ ลักษณะของผลเป็นรูปกระบอง ขอบผลเป็นสัน 5 สัน ตื้น ๆ มีต่อมทั่วไป ผลมีขนาดยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ผิวผลมีขนเมื่อจับดูจะรู้สึกเหนียวมือ
สรรพคุณของผักขมหิน
ดอกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต
ช่วยขับโลหิต
ต้นมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
ต้น ราก ใบ และดอกมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ
ช่วยทำให้คลื่นไส้อาเจียน
ต้น ราก และใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม ขับลม ทำให้เรอ
ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมอัณฑพฤกษ์
ช่วยแก้อาการปวดท้อง
ต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย
ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
ช่วยแก้ริดสีดวงทวารหนัก
ช่วยแก้ดีพิการ
รากใช้เป็นยาแก้ฝีซ้อน จักษุขาว
ตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานจะใช้ใบนำมาตำพอกรักษาฝี
ช่วยแก้ฟกบวมในท้อง
วิธีใช้ : การใช้ตาม ต้น ราก และใบ ให้นำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น
ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจจะทำให้แท้งบุตรได้
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักขมหิน
สารสำคัญที่พบ ได้แก่ alanine, arachidic acid, aspartic acid, behenic acid, boeravinone A, B, C, D, E, borhavine, flavone, glutamic acid, histidine, leucine, methionine, oleic acid, oxalic acid, palmitic acid, proline, punarnavine, serine, theonine, tyrosine, ursolic acid, valine, xylose
ผักขมหินมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด บำรุงหัวใจ ต้านการชัก ช่วยขับปัสสาวะ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดบิลิรูบินในพลาสมา
จากการทดลองโดยใช้สารสกัดทั้งต้นด้วยน้ำและเอทานอล นำมาฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
จากการศึกษาฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์และฤทธิ์ต้านเอสโตรเจนของผักขมหิน ในเซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF-7 โดยทดสอบกับสารสกัดเมทานอลของผักขมหิน (BME) ความเข้มข้นตั้งแต่ 20 – 320 มคก./ล. พบว่าสารสกัดดังกล่าว มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ MCF-7 ได้ตั้งแต่ระดับปานกลางถึงระดับสูง และ BME สามารถเข้าแย่งจับกับตัวรับเอสโตรเจนแบบแข่งขันกับสาร [3H]-estradiol และพบว่า BME ลดการแสดงออกของยีน pS2 ซึ่งบ่งบอกถึงฤทธิ์ต้านเอสโตรเจน นอกจากนี้ยังทำให้เซลล์ MCF-7 อยู่ในช่วง G0 – G1 ของวัฏจักรของเซลล์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ช่วงอื่น ๆ ลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิด cell cycle arrest ที่ระยะ G0-G1 จากผลการทดลองจึงสามารถสรุปได้ว่าผักขมหินน่าจะมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมที่เกี่ยวข้องกับผลของเอสโตรเจน
จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยใช้สารสกัดทั้งต้นด้วยน้ำและเอทานอล พบว่าในขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้คือ 1 กรัมต่อกิโลกรัม ถ้าใช้สารสกัดจากรากด้วยน้ำ พบว่าขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 298 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
เมื่อปี ค.ศ.1996 ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองผลของสมุนไพรผักขมหิน โดยทำการทดลองในกระต่ายที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน จากการกระตุ้นด้วยสาร alloxan โดยทำการเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน (tolbutamide, glibenclamide) พบว่าภายในเวลา 8 ชั่วโมง สามารถให้ผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เทียบเท่ากับยา tolbutamide
ประโยชน์ของผักขมหิน
ใบใช้รับประทานเป็นผัก ใช้ลวกจิ้มกับน้ำพริก โดยเฉพาะคนที่มีฐานะยากจนในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา และไทย
ในประเทศออสเตรเลียถือว่าผักขมหินเป็นวัชพืชชั้นดีที่ใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงวัวและแกะ
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ผักโขมหิน”. หน้า 107-108.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักขมหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [20 พ.ย. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ผักขมหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [20 พ.ย. 2014].
โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก. “ผักขมหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.lrp.ac.th. [20 พ.ย. 2014].
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต้านมะเร็งของผักโขมหิน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th. [20 พ.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Robinson Galindo Tarazona, Scamperdale, CANTIQ UNIQUE, cpmkutty, poornikannan)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

SHARE NOW

Facebook Comments