ยากลางบ้าน

ยากลางบ้าน

ยากลางบ้าน

ยากลางบ้าน

1 แก้ไอ ใช้มะนาวผ่าซีก โรยเกลือป่น ปล่อยให้ละลายบางส่วน แหงนคอ อ้าปาก บีบให้น้ำมะนาวไหลลงคอ
2 แก้ไอ เอาขี้ได้ชิ้นเล็ก ๆ จุดให้ติดไฟเป็นควัน เอามะนาวผ่าซีกรมควันให้ติดดำที่ด้านหน้า (ที่ฝานไว้) โรยเกลือป่น แล้วบีบให้น้ำมะนาวไหลลงคอ
3 แก้ไอ เคี้ยวลูกมะแว้งสด ๆ ห้าหกลูก กลืนแต่ส่วนน้ำ จนหมดขม (ขับเสมหะ) กากบ้วนทิ้ง
4 ปวดศีรษะ ฝานมะนาวเป็นซีกบาง ๆ (หนาประมาณ 6 มม.) เอาปูนกินกับหมาก(ปูนแดง) ละเลงบนด้านหน้า (ด้านที่ฝาน) บาง ๆ กดให้ดูดติดขมับข้างที่ปวด ปล่อยไว้จนหายปวดหรือมะนาวแห้งหลุดออกเอง ถ้ายังไม่หาย ทำซ้ำ
5 กันและแก้ปากเหม็น เคี้ยวกานพลูสองสามดอกจนหมดรสเผ็ด ทำซ้ำบ่อย ๆ
6 กันและแก้ปากเหม็น เอาเกลือเม็ดหรือเกลือป่น (ประมาณ 1 ช้อนกาแฟพูน ๆ) อมไว้ห้าหกนาที จึงบ้วนทิ้ง ทำวันละหนึ่งหรือสองครั้ง (ตื่นนอนและก่อนเข้านอน) ช่วยรักษาฟันและเหงือก
7 ปวดฟัน เหงือกเป็นหนอง อมเกลือ ถ้าฟันเป็นรู พยายามเอาเกลือป่นใส่ในรูฟัน (ตอนแรกปวด แล้วหาย)
8 ท้องผูก (ไม่มีอาการปวดท้องร่วม) สมอไท (ซื้อจากร้านขายยา 1 บาท ได้ประมาณ 20 ผล) ใช้ 5-6 ผล ต้มกับน้ำประมาณ 1 แก้ว ให้เดือดพล่าน ประมาณ 15 นาที เทเอาแต่น้ำใส่ถ้วย เติมเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา ละลายแล้วดื่มให้หมด มักถ่ายภายในสองชั่วโมง ไม่ไซ้ท้อง
9 มดหรือแมลงกัดหรือต่อย หัวหอมไทย (ที่ใช้ในครัว) หนึ่งกลีบ หรือหนึ่งหัว ผ่าเป็นสองซีก เอาด้านผ่าถูที่แผลพร้อมกับบีบให้น้ำหัวหอมออกมาด้วย หายปวดและไม่บวม
10 หัวโน (เด็กหกล้ม หรือกระแทก) ดินสอพองหนึ่งชิ้น (เล็กใหญ่ตามขนาดของก้อนโน) บี้ให้ละเอียด บีบน้ำมะนาวใส่ลงไปให้เป็น “แป้งเปียก” ละเลงให้ทั่วก้อนโน (ห้ามคลึงหรือกด) และรอบด้วย พอแห้งจะรัดตึงช่วยให้หายปวด และส่วนโนยุบเร็ว
11 เป็นลมวิงเวียน ดมผิวมะกรูด (ดมทั้งลูก หรือฝานเอาเฉพาะผิวมาดมก็ได้)
12 เป็นลมวิงเวียน เพลียหน้ามืด ให้นอน บี้พิมเสนเป็นผงละเอียด ทาที่ปากช่องจมูก (ริมฝีปาก) ให้สูดเข้าไป ส่วนหนึ่งทาถูที่หัวคิ้วและหน้าผาก
13 ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ขิงแก่ (ซื้อจากร้านขายยา) ฝานเป็นแว่นบาง ๆ 5-6 แว่น ต้มกับน้ำประมาณ 1 แก้ว พอเดือดยกลง ดื่มน้ำ (ใส่น้ำตาลเล็กน้อยได้ อย่ามาก)
14 น้ำร้อนลวก น้ำมันมะพร้าว ชุบผ้าปิด
15 น้ำร้อนลวก น้ำมันมะพร้าวผสมกับน้ำปูนใส (ถ้ามีปูนกินกับหมาก) ตีให้เข้ากันเป็นสีขาวทา
16 น้ำร้อนลวก น้ำปลาชุบผ้าปิด
17 ยาสีฟัน เกลือป่น
18 ยาสีฟัน ถ่านไม้บดละเอียด (ผสมเกลือด้วยก็ได้)
19 ยาสีฟัน ลิ้นทะเล (ซื้อจากร้านขายยา) ตำละเอียด (ผสมเกลือด้วยยิ่งดี)
20 เครื่องสีฟัน ชานอ้อย (สด หรือตากแห้งเก็บไว้)
21 ไม้สีฟัน กิ่งไม้ข่อย (มีขึ้นอยู่ตามริมรั้วในสวน ฯลฯ) ตัดเป็นท่อนยาวพอเหมาะ ทุบปลายให้แตกเป็นฝอย ตากแห้ง ใช้สีฟัน (เวลาสี เคี้ยวไม้ไปด้วยได้ตัวยาออกมาจากไม้เพิ่มประโยชน์)
22 ขัดเคล็ด ฟกช้ำ ไพลสด ฝนกับเหล้าโรง (28 ดีกรี) ในฝาละมี เป็นน้ำข้น ๆ ทาถูนวดบริเวณที่เคล็ด
23 แผลเปื่อย ไพล (ล้างสะอาด) ตำละเอียด ผสมเกลือป่นให้เข้ากันดี พอกที่แผล
24 ลมพิษ ผื่นคัน ใบพลู (กินกับหมาก) บดกับเหล้าโรงทา (แก้คัน)
25 ลมพิษ เปลือกส้มโอ (ทั้งผิว) หั่นเป็นชิ้น ขนาดประมาณนิ้วมือ ต้มกับน้ำพอเดือดปล่อยให้เย็น เอามาราดหรืออาบ
26 ผื่นคัน ขมิ้นผง (สีเหลือง ซื้อได้จากร้านขายยา) ทาให้ทั่วบริเวณ
27 หิด
1. กำมะถันเหลือง แช่น้ำมันหมู เอาส่วนน้ำมันทา หรือ
2. ป่นกำมะถันให้ละเอียด เอากล้วยจิ้มกินก็ได้
28 อ่อนเพลีย
1. ให้กินน้ำผึ้ง 1 หรือ 2 ช้อนคาว
2 .ให้ดื่มน้ำอ้อยสด 1 ถ้วย
3. ให้ดื่มน้ำขิงใส่น้ำตาล หรือ
4. ให้กินน้ำตาลงบ (น้ำอ้อยงบ) หรือน้ำตาลปึก (น้ำตาลมะพร้าว) กับน้ำ หรือน้ำชา
29 ท้องเดิน
1. (ถ้าไม่มียาอื่น) ให้ดื่มน้ำชาจีนชงแก่มากๆ หรือ
2. หัวขมิ้นชันตำละเอียด คั้นเอาแต่น้ำกิน
30 ปากเปื่อย เป็นแผล อมน้ำละลายเกลือกับน้ำชาจีนชงแก่ๆ สลับกัน
31 ตัวจี๊ด (ยากิน) เอาลูกกระเจี๊ยบมอญหั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำ กินทั้งน้ำทั้งเนื้อ
32 ตัวจี๊ด (ยาทา) เอาเมล็ดน้อยหน่าตำจนเป็นผงละเอียดเตรียมไว้ เอ สารส้มใส่ในฝาละมี หรือหม้อตาลตั้งบนไฟถ่าน จนสารส้มละลาย เอาผงเมล็ดน้อยหน่าผสมลงไปทีละน้อยๆ พร้อมทั้งคนให้ทั่ว รีบเอาขึ้นจากไฟก่อนที่ผงเมล็ดน้อยหน่าจะไหม้ ปล่อยให้เย็นลงจนถึงอุ่นๆ เอายาทาส่วนที่บวมก่อนที่จะเย็นแข็ง จะทาอีกก็ต้องทำให้ละลายก่อนทุกครั้ง ระวังอย่าให้ร้อนจนพอง (ตำรับของ น.ส.สาลี จันทนิยมานนท์)
33 ท้องผูก ดอกชุมเห็ดเทศ ต้มกะทิ จิ้มน้ำพริก (กิน 2-3 ช่อจึงระบาย)
34 หอบหืด ใบลำโพง หั่นเป็นฝอย ตากแห้ง มวนเป็นบุหรี่มวนเล็ก ๆ ด้วยกระดาษ หรือใบจาก สูบขณะหืดจับ (สูบแล้ว สูดให้ควันเข้าไปในปอดสองสามครั้งพอ) สูบเฉพาะเวลาหืดจับ สูบบ่อย ๆ อาจจะติด
35 ขัดเบา ให้กินไส้สับปะรด (กินเนื้อด้วยก็ได้) ดื่มน้ำบ่อย ๆ
36 ท้องเสีย ธาตุเสีย อาหารไม่ย่อย กระเทียมสด 6-7 กลีบ ปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ กลืนกินทั้งหมด หลังอาหารทุกครั้ง ทำติดต่ออยู่สองสามวัน
37 กลากเกลื้อน
1. ใบชุมเห็ดเทศสด ๆ ตำจนแหลก ใช้พอกหรือเอาส่วนน้ำทา
2. ข่า ฝานเป็นแว่น แช่เหล้าโรง ใช้น้ำทา
38 ท้องผูก มะขามเปียกแกะเอาแต่เนื้อ ปั้นก้อนโตประมาณหัวแม่มือ คลุกกับเกลือป่น แบ่งเป็นสองสามลูก กลืนกินกับน้ำ
39 ยาสระผม
1. มะกรูดผ่าซีก เอาด้านตัดถูที่ผมและศีรษะ
2. ลูกประคำดีควาย (ซื้อจากร้านขายยา) 5-6 ลูก ใส่ในน้ำอุ่นประมาณ 1 ถ้วยแก้ว บี้ให้เนื้อหลุดออกมาให้หมด เอาเมล็ดออก แล้วใช้ช้อนตีให้แหลกละเอียด ใช้น้ำทั้งหมดนั้นสระผม
40 เคล็ดขัดยอก
1. ไพล โขลกให้ละเอียด (ไม่ต้องใส่น้ำ) คั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำมันงาเท่าตัว (หรือน้ำมันมะพร้าว) เคี่ยวจนส่วนน้ำมันระเหยหมด ทิ้งให้เย็น ใช้ทาถูนวดวันละสองสามครั้ง หรือ
2. ว่านนางคำ ใช้อย่างเดียวกับไพล
41 ช้ำใน (หกล้มหรือกระแทก) ใบบัวบก 1 กำมือ ตำสด ๆ จนละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ดื่มวันละสองสามครั้ง (อาจเติมเกลือหรือน้ำตาลปรุงรสก็ได้ แต่ห้ามต้ม)
42 ช้ำใน (ถูกชกต่อย หกล้ม ตกจากที่สูง) ดีหมี (หรือดีงู ดีจระเข้ ซื้อได้จากร้านขายยา) ก้อนเท่าหัวไม้ขีดไฟ ละลายกับเหล้าโรงประมาณ 1 ช้อนคาวให้กิน
43 นอนไม่หลับ ให้กินแกงขี้เหล็ก (ใบขี้เหล็กมีฤทธิ์ระงับประสาท)
44 .แผลมีดบาด
บีบให้เลือดออกจนหยุด ฝานกระเทียมสดเป็นชิ้นบาง ๆ ปิดบนแผล แล้วเอาผ้าสะอาดพันไว้
45 .ลักปิดลักเปิด (เลือดออกตามไรฟัน)
ให้กินมะขามป้อมสด ครั้งละสามสี่ลูก วันละสามสี่มื้อ (มะขามป้อมมีตามินซีมาก)
46. ท้องเสีย ธาตุพิการ
เปลือกมะตูม (ซื้อตามร้านขายยา) ต้มกับน้ำดื่มต่างน้ำ (ใส่น้ำตาลเล็กน้อยก็ได้) ดื่มมาก ๆ ทำให้ท้องผูก
47. เด็กท้องอืด
มหาหิงคุ์ (ซื้อจากร้านขายยา) ฝนกับน้ำ ทาหน้าท้อง แล้วเอาผ้าปิดไว้ (ห้ามกิน)
48. ร้อนใน กระหายน้ำ
เหง้าบัวหลวง (ซื้อจากร้านขายยา) ฝานบาง ๆ ต้มกับน้ำ (เติมน้ำตาล) กินทั้งน้ำทั้งเนื้อ
49. ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
เอาเปลือกอบเชย (ซื้อจากร้านขายยาหรือร้านชำ) ตำให้ละเอียดพอควร แช่เหล้าโรงทิ้งไว้ รินเอาแต่ส่วนน้ำ กินหลังอาหารครั้งละ 1-2 ช้อนชา
“ยากลางบ้าน” ทั้ง 49 ขนานนี้ได้คัดมาแต่เฉพาะที่เคยใช้ได้ผลมาแล้ว หากท่านผู้อ่านท่านใดมีตำรับยาอื่นที่เคยใช้ได้ผล กรุณาติดต่อกับผู้เขียนได้ที่ภาควิชาเภสัชวิทยา โรงพยาบาลศิริราช เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องยาไทย และเพื่อเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป คุณความดีของบทความนี้ ขอมอบเป็นเครื่องบูชาคุณแด่ ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ปรมาจารย์ทางเภสัชวิทยาของผู้เขียน ทั้งในแง่ยาไทยและยาแผนปัจจุบัน
(มูลนิธิหมอชาวบ้าน)
SHARE NOW

Facebook Comments