กระเจี๊ยบแดง พุทราจีน เตยหอม
สุดยอดสามสมุนไพรบำรุงหัวใจดีต่อสมอง
เป็นที่รู้กันว่าโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีถ้าไม่นับโรคมะเร็งแล้ว ก็ต้องยกให้โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันและโรคหลอดเลือดสมองตีบ แม้ยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาโรคทั้งสองจะมีประสิทธิภาพดี แต่ก็มีผลข้างเคียงมากเช่นกัน ผู้ที่รักสุขภาพจึงหันมานิยมยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ปลอดภัยหาง่าย และมีประสิทธิภาพในการรักษาไม่แพ้กัน
สมุนไพรมีอยู่มากมายหลายตำรับ แต่ที่ตรงคำกล่าวที่ว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ” ยาสมุนไพรสูตรตำรับเดียว ที่ใช้ป้องกันได้ทั้งสองโรคนั้นมีอยู่ไม่กี่ตำรับ ในที่นี้ขอแนะนำตำรับหนึ่งที่มีผู้ใช้ได้ผล และบอกต่อกันมา คือตำรับกระเจี๊ยบแดง พุทราจีน และเตยหอม
สมุนไพรชนิดแรก สีแดงและรส เปรี้ยวจี๊ดของกลีบเลี้ยงผลกระเจี๊ยบแดง นอกจากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในไต และในระบบทางเดินปัสสาวะแล้ว ยังมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด และรักษาโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งลดความเหนียวข้นของเลือดลง ทำให้การไหลเวียนของโลหิตทั่วร่างกายดีขึ้น ซึ่งก็ช่วยรักษาเส้นเลือดขอดให้ทุเลาลงได้ด้วย
กระเจี๊ยบแดง
กระเจี๊ยบแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ hibiscus sabdariffa l. ชื่ออื่นว่า กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ยว ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง ส้มตะเลงเครง ส้มปู ส้มพอ และชื่อที่ฝรั่งทั่วโลกรู้จักกันดีเรียกว่า jamaica sorrel, roselle, red sorrel, rozelle กระเจี๊ยบเป็นพืชล้มลุก ชอบอากาศร้อน ทนต่อความแห้งแล้ง ไม่ชอบน้ำขัง เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ตลาดมีความต้องการตลอด จึงแนะนำให้ปลูกไว้เป็นยาและพืชเศรษฐกิจได้
สมุนไพรชนิดที่สอง รสหวาน มัน ฝาด ของผลพุทราจีนสุก ช่วยบำรุงโลหิต บำรุงร่างกาย บำรุงประสาท แก้โรคนอนไม่หลับ นอกจากนี้ ยังอุดมด้วย วิตามินเอ วิตามินซี ซึ่งช่วยบำรุงสายตา และเพิ่มภูมิต้านทานโรค ที่สำคัญผลพุทราช่วยลดผลข้างเคียงจากกรดซิตริกของกระเจี๊ยบ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมฤทธิ์ป้องหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และเส้นเลือดสมองตีบ
พุทราจีน
พุทราจีน มีความหลากหลายของสายพันธุ์มาก อยู่ในวงศ์ rhamnaceae ชื่อวิทยาศาสตร์ที่สืบค้นดูบางที่เรียก ziziphus mauritiana บางทีก็เรียก ziziphus jujub แค่คนจีนเรียกว่า red date หรือ chinese date คนไทยภาคอีสานเรียกต้นพุทราว่า บักทันหรือหมากกะทัน ภาคเหนือเรียก มะตัน มะตันหลวง นางต้มต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีหนาม ผลมีเมล็ดเดียว ผิวเรียบ ผลสุกจะเป็นสีเหลืองบางพันธุ์มีสีแดงเข้ม เป็นพืชกำเนิดในประเทศจีนตอนเหนือ ที่รู้จักกินใช้มานาน 4,000 ปีแล้ว แต่ในอินเดียก็ปลูกพุทราเช่นกัน สืบค้นไปได้สมัยพุทธกาลเช่นกัน
สมุนไพรชนิดที่สาม คือ รสหวานเย็นของใบเตย ช่วยบำรุงหัวใจ ชูกำลัง ลดพิษไข้ ดับพิษร้อนภายใน เตย มีชื่อวิทยาศาสตร์ pandanus amaryllifolius roxb ชื่ออื่นๆ เตยหอมใหญ่ เตยหอมเล็ก ปาแนะวองิง (มลายู)
ต้นเตยหอม
ต้นเตยหอม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กรู้จักกันดี ไม่จำเป็นต้องอธิบายมากนัก : มาดูสรรพคุณโดยรวมของสมุนไพรสูตรตำรับนี้ (สามประสาน) จึงสามารถตอบโจทย์ในการดูแลสุขภาพหัวใจและสมองให้แข็งแรง ป้องกันโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองตีบ อันเป็นโรคสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประเทศไทย รวมทั้งมีผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ที่เกิดจากโรคเส้นเลือดสมองตีบ เนื่องจากความเครียดของสมองและจิตใจ ในวิถีชีวิตของสังคมบริโภคนิยมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน
วิธีปรุงยา : นำสมุนไพรสามเกลอ คือ กระเจี๊ยบแดงแห้ง 30 กรัม เนื้อพุทราแห้งไม่มีเมล็ด 30 กรัม ใบเตยแห้ง 5 กรัม ล้างน้ำให้สะอาด แล้วเคี่ยวไฟอ่อนๆ ราว 10-15 นาที จะเติมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อยก็ได้ เพื่อให้ได้รสชาติดีขึ้น แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรเติมอะไรเพิ่ม ดื่มขณะอุ่น วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว เช้า-เย็น หลังอาหาร น้ำยาที่เหลือเก็บแช่ตู้เย็นได้ แล้วนำมาอุ่นเพื่อดื่มในมื้อต่อไป
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคเส้นเลือดสมองตีบเรื้อรัง สามารถดื่มคอกเทลสมุนไพรสูตรนี้ได้ทุกวัน ช่วยเสริมการบำบัดรักษาที่แต่ละคนดูแลสุขภาพตนเองอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น ดื่มเป็นประจำรับรองว่าสมองจะแจ่มใส หัวใจสดชื่นไปอีกนาน สำหรับผู้ที่ใช้สมองมาก เช่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือผู้บริหาร สามารถดื่มสมุนไพรสามเกลอนี้แทนซุปไก่สกัด หรือผลไม้สกัดราคาแพงๆ ได้เช่นกัน นอกจากจะได้ยาบำรุงสมองที่มีสรรพคุณดีกว่าแล้ว ยังได้ยาราคาถูกกว่าอีกด้วย
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : หนังสือพิมพ์มติชน โดย โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย
และ http://www.ecepost.com/viewtopic.php?id=701897051
Facebook Comments