อาการคัน ทางผิวหนังที่พบได้บ่อย และมักนำไปสู่การติด เชื้อแบคทีเรีย
อาการคัน (Pruritus) เป็นกลุ่มอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อย และมักนำไปสู่การแกะเกา โดยผู้ป่วยที่มีอาการคันอาจมีผื่นผิวหนังร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ อาการคันอาจเป็นเพียงเฉพาะที่หรือเป็นทั่วทั้งตัว และอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ เช่น ทำให้เสียสมาธิ รบกวนการทำงาน การนอน หรือส่งผลเสียทางด้านจิตใจ ในผู้ป่วยที่มีการแกะเกามาก อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบริเวณผิวหนังตามมาได้ด้วย
ชนิดของอาการคัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
1. อาการคันเฉียบพลัน มีอาการคันเป็นมาไม่เกิน 1 สัปดาห์
2. อาการคันเรื้อรัง มีอาการเป็นมานานเกิน 1 สัปดาห์ถึงหลายเดือน
สาเหตุของอาการคัน เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการคันเรื้อรัง
1. โรคทางผิวหนัง เช่น ภาวะผิวแห้งจากอายุ อากาศ หรือจากโรคต่างๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบ โรคลมพิษ โรคสะเก็ดเงิน ผื่นจากแมลงกัดต่อย ตุ่มยุงกัด การติดเชื้อราที่ผิวหนัง และโรคหิด ตลอดจนอาการคันจากการแพ้สารที่สัมผัสผิวหนัง
2. โรคทางระบบอื่นๆของร่างกาย เช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะดีซ่าน โรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็งเม็ดเลือด และหรือเกิดจากยาที่รับประทาน เป็นต้น
3. โรคทางระบบประสาท อาการคันอาจพบได้ในโรคปลายประสาทอักเสบจากงูสวัด และเนื้องอกในสมอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบไม่มากนัก
4. สาเหตุทางจิตใจ เช่น ผู้ป่วยที่เข้าใจว่ามีพยาธิไชตามผิวหนัง ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือมีภาวะซึมเศร้า
ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจพบสาเหตุของอาการคันหลายชนิดร่วมกันได้ ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการคันบางราย แม้ว่าแพทย์จะได้ทำการตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดแล้ว อาจยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีเพียงอาการคันโดยปราศจากผื่นผิวหนัง
หลักการรักษาอาการคัน
1. การรักษาแบบจำเพาะ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของอาการคันให้พบ และหลีกเลี่ยงหรือกำจัดสาเหตุดังกล่าว
– การใช้ยาทาประเภทสเตอรอยด์หรือยาทาลดการอักเสบชนิดอื่นๆ ในผู้ป่วยที่มีสาเหตุของอาการคันจากผื่นผิวหนังอักเสบ
– การใช้ยาทากำจัดเชื้อรา หรือเชื้อหิด ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อดังกล่าวที่ผิวหนัง
– แพทย์อาจพิจารณาให้ยาที่จำเพาะต่ออาการคันจากโรคบางชนิด เช่น ภาวะดีซ่าน โรคไตวายเรื้อรัง หรือจากสาเหตุทางระบบประสาท
– ในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะเครียดหรือมีอาการคันจนนอนไม่หลับ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านภาวะซึมเศร้า
2. การรักษาประคับประคอง เพื่อระงับอาการคัน ได้แก่
– ยาต้านฮิสตามีนชนิดรับประทาน ซึ่งมีหลายชนิด ทั้งชนิดที่ง่วงและไม่ง่วง การจะเลือกใช้ยาต้านฮิสตามีนตัวใดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะปรับยาตามความเหมาะสม ทั้งต่อตัวโรคและการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย
– การใช้ยาทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนัง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และผู้ป่วยที่มีผิวแห้ง
– การฉายแสงอาทิตย์เทียม (phototherapy) ซึ่งใช้ในบางภาวะ เช่นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สะเก็ดเงิน และภาวะไตวายเรื้อรัง ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบปกติ
– พฤติกรรมบำบัด เพื่อลดอาการเครียด และควบคุมพฤติกรรมการเกา
การปฏิบัติตัวในผู้ป่วยที่มีอาการคัน
– ตัดเล็บให้สั้น
– หลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณผิวหนัง เนื่องจากจะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคอาจเป็นมากขึ้นได้
– ใช้สบู่อ่อนๆ ใช้โลชั่นทาผิว เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง
– หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ ผ้าเนื้อหยาบ หรือใยแก้ว ซึ่งอาจระคายเคืองและกระตุ้นให้เกิดอาการคันเพิ่มมากขึ้นได้ ควรใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่รัด
– ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด
– ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อควบคุมอาการคัน และรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการคัน
การพยากรณ์โรค
ภาวะคันสามารถดีขึ้น ควบคุมได้ หรือหายเป็นปกติได้ ในกรณีที่สามารถหาสาเหตุของอาการคันได้ชัดเจน อาการคันจากบางสาเหตุอาจเป็นมากขึ้น เมื่อมีตัวกระตุ้นเช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง รอยโรคมักกำเริบในช่วงหน้าหนาว ผู้ป่วยที่มีอาการคันจากโรคทางระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง การพยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ทั้งปัจจัยของตัวโรคเอง และปัจจัยจากภายนอก ซึ่งอาการคันมักจะเป็นเรื้อรัง
ขอบคุณที่มาจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Facebook Comments