ใบย่านาง

ใบย่านาง….สมุนไพรไทยมากคุณค่าหาได้ริมรั้ว

ใบย่านาง

ใบย่านาง….สมุนไพรไทยมากคุณค่าหาได้ริมรั้ว


“ใบย่านาง”….กำลังอยู่ในความสนใจของคนใส่ใจสุขภาพ
ด้วยสรรพคุณทางยาและโภชนาการ อย่างไรก็ตาม หากเป็นคนรุ่นเก่าผู้เฒ่าผู้แก่คงรู้จักพืชชนิดนี้เป็นอย่างดี แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ใช้กระดานชนวนไฟฟ้า อาจทำหน้างงได้
ใบย่านาง เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยในป่าเขตร้อนและป่าไม้ผลัดใบในทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือ มีถิ่นกำเนิดทางตอนกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักพบขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าดงดิบ และป่าโปร่งในทุกภาคของประเทศไทย โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละภาค คือ
ภาคกลาง เรียกว่า เถาย่านาง, เถาวัลย์เขียว, หญ้าภคินี
ภาคเหนือ (เชียงใหม่) เรียกว่า จ้อยนาง, ผักจอยนาง
ภาคใต้ เรียกว่า ย่านนาง, ขันยอ, ยาดนาง, วันยอ
ภาคอีสาน เรียกว่า ย่านาง
ย่านางเป็นพืชที่ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ปลูกได้ทุกฤดู เป็นไม้ที่ปลูกง่าย ขยายพันธุ์โดยการใช้หัวใต้ดิน เถาแก่ที่ติดหัวปักชำยอด หรือการเพาะเมล็ด
โภชนาการทางอาหารที่ได้จากใบย่านาง 100 กรัม
พลังงาน 95 กิโลแคลอรี
เส้นใย 7.9 กรัม
แคลเซียม 155 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม
เหล็ก 7.0 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 30,625 หน่วยสากล
วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.36 มิลลิกรัม
ไนอาซิน 1.4 มิลลิกรัม
วิตามินซี 141 มิลลิกรัม
โปรตีน 15.5 เปอร์เซ็นต์
ฟอสฟอรัส 0.24 เปอร์เซ็นต์
โพแทสเซียม 1.29 เปอร์เซ็นต์
แคลเซียม 1.42 เปอร์เซ็นต์
(ข้อมูลจาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)
การใช้ย่านางใช้เป็นอาหาร
ย่านาง เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นอาหารและเป็นยามาแต่โบราณ ย่านางมีชื่อทางยาในภาคอีสานว่า “หมื่นปี บ่เฒ่า” หรือภาษาภาคกลางว่า “หมื่นปีไม่แก่”
ยอดอ่อนของเถาย่านางใช้กินแกล้มแนมกับอาหารเผ็ด ชาวไทยอีสานและชาวลาวใช้ใบย่านางคั้นเอาน้ำมาปรุงอาหารต่างๆทำให้น้ำซุปข้นขึ้น เช่น แกงหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ ซึ่งย่านางสามารถลดฤทธิ์กรดยูริกในหน่อไม้ได้ ลดความขมของหน่อไม้ เพิ่มคลอโรฟิลล์และเบตาแคโรทีนให้กับอาหารดังกล่าว
ข้อควรระวัง คือ ต้องทำให้สุก หรือขยี้ใบย่านางสดกับหมาน้อย
กินถอนพิษร้อนต่างๆ ชาวกัมพูชามักใส่ใบย่านางในแกงต่างๆ
สำหรับชาวใต้บ้านเรา มักนำไปแกงเลียง แกงหวาน แกงขี้เหล็ก น้ำคั้นจากใบช่วยลดความขมของใบขี้เหล็กได้ นอกจากนี้ยังนำไปผัด แกงกะทิ และหั่นซอยกินกับข้าวยำได้อีก ผลสุกใช้กินเล่น
ส่วนชาวเหนือใช้ยอดย่านางอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก
ใบแก่คั้นน้ำนำมาใส่แกงพื้นเมือง เช่น แกงหน่อไม้ แกงแค เป็นต้น
ในภาคอีสานใช้รากต้มเป็นยาแก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น และใช้รากย่านางผสมรากหมาน้อย ต้มแก้ไข้มาลาเรีย
**น้ำตาลไซโลส เป็นองค์ประกอบหลักของสารเหนียวจากน้ำตาลโพลีแซ็กคาไรด์ของใบย่านาง สกัดได้ด้วยน้ำอุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียสที่ต้มเป็นเวลานาน สารเหนียวที่ได้มีคุณสมบัติคล้ายไซแลนที่ได้จากสาหร่ายทะเลน้ำตาลโพลีแซ็กคาไรด์นี้เองที่เป็นตัวเพิ่มความหนืดให้แก่อาหารที่ใส่ใบย่านางต้ม **
อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้ายังไม่พบว่าประเทศใดใช้ใบย่านางหลากหลายเท่ากับประเทศไทยเลย ทั้งนี้ก็ด้วยสรรพคุณทางยาที่รู้กันมาแต่โบร่ำโบราณว่า ใบย่านาง มีรสจืด กินได้ ใช้ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้ ตัวร้อน แก้ไข้รากสาด ไข้พิษ ไข้หัว ไข้กลับซ้ำ
ใช้เข้ายาเขียว ทำยาพอกลิ้นกระด้าง คางแข็ง กวาดคอ แก้ไข้ฝีดาษ ไข้ดำแดงเถา ราก มีรสจืดขม กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ ปรุงยาแก้ไข้รากสาด ไข้กลับ ไข้พิษ ไข้ผิดสำแดง ไข้เหนือ ไข้หัวจำพวกเหือดหัด สุกใส ฝีดาษ ไข้กาฬ กินแก้พิษเมาเบื่อ แก้เมาสุรา
แก้พิษภายในให้ตกสิ้น บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้โรคหัวใจบวม ถอนพิษผิดสำแดง แก้อาการท้องผูก แก้กำเดา แก้ลม อีกทั้งรากย่านางเป็นส่วนประกอบสำคัญของยาเบญจโลกวิเชียร ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาแก้ไข้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ในขณะเริ่มเป็นได้
คุณค่าจากใบย่านาง
คุณค่าทางโภชนาการพบว่า ปริมาณสารสำคัญที่มีมากและโดดเด่นในใบย่านางคือ เส้นใยอาหาร แคลเซียม เหล็ก เบตาแคโรทีน และวิตามินเอ
สารสกัดใบย่านางมีสารฟีนอลิกเป็นสารสำคัญ งานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า สารฟีนอลิกหลักในใบย่านาง คือ กรดพาราไฮดรอกซีเบนโซอิก (p-hydroxy benzoic acid) มิเนโคไซด์ (minecoside) สารกลุ่มฟลาโวนไกลโคไซด์ อนุพันธ์กรดซินนามิก (flavones glycoside cinnamic acid derivative) และโมโนอีพอกซีบีตาแคโรทีน (monoepoxy-betacarotene)
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในห้องทดลองขั้นต้นพบว่า
สารสกัดใบย่านางมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของรีเซ็ปเตอร์ที่ขนคอเลสเตอรอลเข้าสู่ตับ แต่ไม่ทราบว่าจะมีผลลดคอเลสเตอรอลในเลือดของระบบร่างกายหรือไม่ การค้นพบนี้อาจเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของย่านางที่ใช้รักษาโรคหัวใจมาแต่โบราณได้ หากแต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
นอกจากนี้ในงานวิจัยทางเคมียังพบว่า สาร Tiliacorine และ Tiliacorinine ซึ่งสกัดจากรากย่านางมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียฟัลซิพารัมในหลอดทดลองอีกด้วย
กระแสน้ำใบย่านาง
ปัจจุบันมีกระแสการบริโภคน้ำย่านางคั้นบีบเย็น ซึ่งเชื่อกันว่ารักษาโรคได้มากมาย เช่น ลดน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง อาการตกเลือดในมดลูก โรคเกาต์ โรคเชื้อราทำลายเล็บ อาการริดสีดวงทวาร หรือเป็นผื่นคัน
ย่านางเป็นยาเย็น ในปริมาณที่มีผู้ดื่มรักษาโรคเป็นปริมาณสารสกัดน้ำที่ไม่เข้มข้นมากนัก คล้ายการดื่มน้ำใบเตยเพื่อความชื่นใจดับกระหาย แต่ไม่มีรายงานการวิจัยทั้งในและต่างประเทศสนับสนุนการใช้งานดังกล่าว เพราะประเทศตะวันตกไม่มีต้นย่านางให้ศึกษา
การศึกษาพิษวิทยาในประเทศไทยพบว่า ระยะสั้นสารสกัดใบย่านางไม่มีพิษต่อหนูทดลอง คิดว่าเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการดื่มเครื่องดื่มธรรมชาติไร้น้ำตาล และถ้าสุขภาพดีขึ้นหายจากโรคภัยไข้เจ็บด้วยก็เป็นของแถมที่มีค่ายิ่ง และขอปิดท้ายกับสูตรน้ำใบย่านางง่ายๆ ลองทำดื่มกันได้
1. ใบย่านางประมาณ 20 ใบ
2. น้ำต้มสุก 3 แก้ว (600 มิลลิลิตร)
3. นำใบย่านางสดโขลกให้ละเอียดแล้วเติมน้ำ หรือขยี้ใบย่านางกับน้ำ กรองผ่านกระชอนเอาแต่น้ำสีเขียว ดื่มครั้งละ 1/2 ถึง 1 แก้ว วันละ 2-3 เวลาก่อนอาหารหรือตอนท้องว่าง เนื่องจากใบย่านางมีกลิ่นเหม็นเขียวจึงอาจใส่ใบ เตยหอม 3 ใบ ใบบัวบก 1 กำ และดอกอัญชัญ 10 ดอกลงไปด้วย เพื่อแต่งรสและกลิ่น ถ้าแช่ในตู้เย็นควรดื่มภายใน 3-7 วัน
ความเป็นพิษของใบย่านาง
ยังไม่พบรายงานการศึกษาความเป็นพิษ ของย่านางทางคลินิก
มีแต่การทดลองในสัตว์ทดลองซึ่งพบว่า เมื่อป้อนและฉีดสารสกัด 50% เอทานอลจากใบแห้งเข้าใต้ผิวหนังหนูเม้าส์ ขนาด 10 ก./กก. ไม่พบความเป็นพิษ การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดน้ำจากทั้งต้นในหนูแรท พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 5 ก./กก. ไม่พบพิษ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ทำให้หนูตาย และไม่มีผลต่ออวัยวะภายใน สำหรับการทดสอบพิษกึ่งเรื้อรัง โดยป้อนสารสกัดขนาด 300, 600 และ 1,200 มก./กก. นาน 90 วัน ก็ไม่พบความผิดปกติเช่นกัน ข้อมูลส่วนใหญ่จากการทดลองในสัตว์ทดลอง แสดงว่าย่านางค่อนข้างปลอดภัย แต่มีบางรายงานที่พบความเป็นพิษ เช่นการป้อนรากย่านาง ขนาด 2.5 ก./กก. ครั้งเดียวแก่หนูเม้าส์ทำให้หนูตายร้อยละ 80 อย่างไรก็ตามเนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในคนจึงไม่ทราบขนาดและระยะเวลาในการใช้ที่เหมาะสม หากต้องการใช้จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมและใช้อย่างระมัดระวัง
http://www.oknation.net/
http://www.medplant.mahidol.ac.th/

SHARE NOW

Facebook Comments