7 น้ำมันพืชสุขภาพ ผัด ทอด อย่างไรไม่เป็นมะเร็ง

7 น้ำมันพืชสุขภาพ ผัด ทอด อย่างไรไม่เป็นมะเร็ง

7 น้ำมันพืชสุขภาพ ผัด ทอด อย่างไรไม่เป็นมะเร็ง

7 น้ำมันพืชสุขภาพ ผัด ทอด อย่างไรไม่เป็นมะเร็ง
น้ำมันพืชสุขภาพ น้ำมันในท้องตลาดมีให้เลือกมากมายจนตาลาย ส่วนใหญ่ใช้สำหรับการปรุงอาหาร ชีวจิต รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับน้ำมันยอดนิยม 7 ชนิดที่ได้รับการกล่าวถึงด้านสุขภาพ พร้อมแจกแจงส่วนประกอบ ประโยชน์ วิธีปรุงที่เหมาะสมไปจนถึงวิธีการผลิต เพื่อเป็นข้อมูลให้คุณผู้อ่านก่อนตัดสินใจซื้อค่ะ

1. น้ำมันดอกคำฝอย
น้ำมันดอกคำฝอยสกัดจากเมล็ดดอกคำฝอย ซึ่งประเทศที่ปลูกต้นคำฝอยมาก ได้แก่ ประเทศอินเดีย เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา
ในเมล็ดดอกคำฝอยมีน้ำมันอยู่ถึงร้อยละ 25 – 37 โดยจะใช้วิธีบีบหรือสกัดตัวทำละลายเพื่อแยกน้ำมันออกมา
น้ำมันดอกคำฝอยได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นน้ำมันพืชที่มีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งสูง ซึ่งมีข้อมูลรายงานว่า น้ำมันดอกคำฝอยสามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดร้ายในเลือด ป้องกันไขมันในหลอดเลือดอุดตัน และช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้
น้ำมันดอกคำฝอยใช้ผัด ทอดและทำน้ำสลัดได้
2. น้ำมันเมล็ดทานตะวัน
น้ำมันเมล็ดทานตะวันสกัดจากเมล็ดทานตะวัน พื้นที่ที่มีการปลูกต้นทานตะวันมากคือ ประเทศรัสเซีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา ฮังการี และอาร์เจนตินา
สำหรับการสกัดน้ำมันเมล็ดทานตะวันจะใช้วิธีบีบหรือสกัดด้วยตัวทำละลาย โดยน้ำมันชนิดนี้มีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งสูง เช่นเดียวกับน้ำมันดอกคำฝอย แต่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูงกว่า
มีรายงานการวิจัยระบุว่า น้ำมันเมล็ดทานตะวันมีส่วนช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลร้ายชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอล แต่ไม่ช่วยลดปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์หรือเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลดีชนิดเอชดีแอลคอเลสเตอรอล
น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันเหมาะสำหรับการผัด การทอดโดยใช้ไฟแรง และใช้ทำน้ำสลัด
3. น้ำมันงา
น้ำมันงาสกัดจากเมล็ดงา ผลิตมากในประเทศจีน อินเดีย พม่า แอฟริกา เม็กซิโก ประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้
ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Yale Journal of Biology and Medicine ระบุว่า เมื่อนักวิจัยให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอายุ 35 – 60 ปี ที่ได้รับการรักษาด้วยการกินยาขับปัสสาวะ กินอาหารที่ปรุงจากน้ำมันงาแทนน้ำมันชนิดอื่น โดยใช้น้ำมันงาปรุงอาหารเฉลี่ยวันละ 35 กรัม หลังจากนั้น 45 วัน นักวิจัยจึงทดลองให้ผู้ป่วยกลับมากินอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันชนิดเดิมที่เคยใช้
ผลการทดลองพบว่า น้ำมันงาทำให้ค่าความดันโลหิตทั้งตัวบนและตัวล่างกลับสู่ระดับปกติ ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวและค่าดัชนีมวลกายลดลงแต่หลังจากหยุดกินน้ำมันงา ค่าสุขภาพต่างๆ กลับเพิ่มสูงขึ้น
ผลการทดลองดังกล่าวสรุปว่า น้ำมันงาช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตที่กินยาขับปัสสาวะร่วมด้วยได้
น้ำมันงามีสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวมีจุดเกิดควันต่ำ ไม่เหมาะกับการทอดที่ต้องใช้ไฟแรง เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดสารก่อมะเร็ง เหมาะสำหรับการผัดโดยใช้ไฟแรงปานกลาง หรือทำน้ำสลัด
4. น้ำมันรำข้าว
น้ำมันรำข้าวคือผลผลิตจากข้าว มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูง ทั้งยังมีสัดส่วนของกรดไขมันอิ่มตัวและกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งที่เหมาะสม จึงนับเป็นน้ำมันอเนกประสงค์ที่สามารถทำอาหารได้หลากหลายเมนู
นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมหิดลทำการศึกษาผู้หญิงไทยที่มีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โดยผู้เข้าร่วมวิจัยจะได้รับคำแนะนำให้กินอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม คือ คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 55 โปรตีนร้อยละ 15 และไขมันร้อยละ 20 ของพลังงานรวม และควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารให้น้อยกว่าวันละ 300 มิลลิกรัม โดยกินอาหารที่ปรุงจากน้ำมันต่างชนิดกัน
พบว่า กลุ่มที่กินอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันรำข้าว มีระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลร้ายในเลือด ชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลลดลง
กลุ่มที่กินน้ำมันผสมจากน้ำมันรำข้าวและน้ำมันปาล์มในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 มีระดับไขมันในเลือดทั้งสองชนิดลดลงเช่นกัน ในขณะที่กลุ่มที่กินอาหารที่ปรุงจากน้ำมันปาล์มเพียงอย่างเดียว มีระดับคอเลสเตอรอลร้ายในเลือดชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น
สามารถใช้น้ำมันรำข้าวทอด ผัดหรือทำน้ำสลัดได้
5. น้ำมันมะกอก
ปัจจุบันมีการปลูกต้นมะกอกแพร่หลายในประเทศแถบอเมริกาใต้ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทย น้ำมันมะกอกมีสีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นเฉพาะตัว ผลิตจากเนื้อของผลมะกอก โดยการบดเนื้อแล้วบีบน้ำมันออกมา
ผลมะกอกให้น้ำมันประมาณร้อยละ 35 – 70 เฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหุ้มเมล็ดให้น้ำมันมากกว่าร้อยละ 75
น้ำมันมะกอกมีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ 3 ประการ คือมีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูงและมีสัดส่วนของกรดไขมันโอเมก้า – 6 และโอเมก้า – 3 ในปริมาณที่เหมาะสม
นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยรายงานถึงประโยชน์มากมายของน้ำมันมะกอก เช่น ช่วยลดน้ำหนัก ลดปริมาณคอเลสเตอรอลร้ายในเลือด ลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร โรคอัลไซเมอร์ โรคกระดูกพรุน
น้ำมันมะกอกมีจุดเกิดควันต่ำ คือ 325 องศาฟาเรนไฮต์จึงไม่ควรทอดหรือผัดโดยใช้ไฟแรง เหมาะสำหรับใช้ผัดด้วยไฟอ่อน หรือทำน้ำสลัด
6. น้ำมันถั่วลิสง
ถั่วลิสงนิยมปลูกในประเทศอินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกาโดยน้ำมันถั่วลิสงสกัดจากส่วนที่เป็นเนื้อในเมล็ดซึ่งมีน้ำมันประมาณร้อยละ 45 – 55
น้ำมันชนิดนี้มีไขมันอิ่มตัวต่ำ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูง งานวิจัยหลายเรื่องระบุถึงประโยชน์ของน้ำมันถั่วลิสงว่าช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลร้ายในเลือด ป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ลดความอยากอาหาร และช่วยควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
น้ำมันถั่วลิสงไม่เหมาะกับการทอดหรือผัดโดยใช้ไฟแรง เหมาะสำหรับการผัดโดยใช้ไฟปานกลาง หรือนำมาทำน้ำสลัด
7. น้ำมันมะพร้าว
มะพร้าวมีถิ่นกําเนิดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยปลูกมะพร้าวมากเป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย บราซิล และศรีลังกา
น้ำมันมะพร้าวสกัดจากเนื้อมะพร้าวแห้งซึ่งมีน้ำมันประมาณร้อยละ 63 – 68 โดยใช้วิธีบีบแยกน้ำมันออกมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลในวันแถลงข่าว เรื่อง “น้ำมันดี น้ำมันเลว มีจริงไหม” ว่า
“แม้ว่าน้ำมันมะพร้าวจะมีกรดไขมันอิ่มตัวมาก แต่ต่างจากน้ำมันชนิดอื่นตรงที่ส่วนประกอบ
ของน้ำมันมะพร้าวประมาณครึ่งหนึ่งมีความยาวโมเลกุลปานกลาง
“เมื่อร่างกายได้รับจะย่อยง่ายและดูดซึมได้ง่าย ทำให้มีการสะสมในร่างกายน้อยกว่าน้ำมันชนิดอื่น ที่มีกรดไขมันอิ่มตัว เช่นเดียวกัน จึงพบว่ามีการรับประทานเป็นอาหารเสริม แต่หากกินร่วมกับน้ำมันอื่นจนได้รับปริมาณเกินเกณฑ์ก็ไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นควรใช้ในการประกอบอาหาร แต่ไม่ควรกินเป็นอาหารเสริม”
น้ำมันมะพร้าวนับว่ามีประโยชน์ที่ดูดซึมง่าย ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศบราซิล โดยการทดลองให้อาสาสมัครกินน้ำมันมะพร้าววันละ 30มิลลิลิตร ร่วมกับอาหารพลังงานต่ำและออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 วัน
หลัง 12 สัปดาห์พบว่า น้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย ระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลร้ายชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีผลเพิ่มระดับไขมันดีชนิดเอชดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือด
น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวสูงสามารถใช้ทอดหรือปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงได้
SHARE NOW

Facebook Comments