“10สมุนไพรจีนบนพื้นบ้านไทย หาง่าย ดีต่อสุขภาพด้วย”
คนไทยเรามีคำสุภาษิต “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” แต่ถ้าเป็นตำรับจีนแล้ว อาหารทุกอย่างคือยาบำรุงร่างกายทั้งนั้นหากเรารู้จักและใช้อย่างถูกต้อง และ 10 อย่างนี้คืออาหารที่คนไทยเรารู้จักกันดี แต่คุณจะรู้มั้ยถึงสรรพคุณของมัน?
1. เห็ดหลินจือ
ในปี 2003 การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Ethnopharmacology ยืนยันว่าเห็ดหลินจือโดดเด่นในสรรพคุณของสารต้านอนุมูลอิสระ ผู้ป่วยเอดส์และมะเร็งบางรายจึงใช้เห็ดหลินจือในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เร่งการผลิตเม็ดเลือดขาว บรรเทาอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้ชาย และอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตหรือแพร่กระจายของเนื้องอกในร่างกาย อย่างไรก็ดี เห็ดหลินจืดมีผลข้างเคียงที่ต้องระวัง เช่น อาจทำให้คลื่นเหียน คัน และหากกินมากเกินไป อาจกระตุ้นอาการบ้านหมุนก็ได้
2. เก๋ากี้
มีชื่ออินเตอร์ว่า “โกจิเบอร์รี่” (แต่คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับชื่อภาษาจีนมากกว่า) เห็นเล็ก ๆ อย่างนี้ แต่ก็เต็มไปด้วยสารอาหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ใยอาหาร แคลเซียม โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม วิตามินบี 2 วิตามิน และยังมีกรดไขมันโอเมก้า-3 อีกด้วย แม้โดยรวมจะไม่มีการพิสูจน์ทางคลินิก แต่ก็เชื่อกันว่าเก๋ากี้มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะชั้นเลิศ
3. เกาลัดจีน
เกาลัดต่างจากถั่วหรือเมล็ดพืชอื่น ๆ ตรงที่มันมีไขมันน้อยมาก แต่กลับเป็นถั่วชนิดเดียวที่มีวิตามินซี เทียบเท่ากับมะนาว แน่นอนว่ามันเป็นพืชจึงไม่มีคอเลสเตอรอล เกาลัดจีนมีสารอาหารคล้ายข้าวกล้อง จึงมีคำกล่าวว่ามันคือ”ธัญพืชที่เกิดบนต้นไม้” ด้วยความที่มันมีกรดโฟลิก วิตามินซี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน มันจึงเป็นหนึ่งในอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายได้ดีที่สุด นอกจากนี้ ชาวจีนโบราณยังเชื่อว่าเกาลัดจะช่วยให้ลมหายใจหวานสดชื่นอีกด้วย
4. เก๊กฮวย
ชาเก๊กฮวยถูกใช้เป็นยาพื้นบ้านมานานในฐานะยาลดไข้ โดยมีสารอาหารทั้งวิตามินเอ วิตามินบี1 กรดอะมิโน ฟลาวานอยด์ เชื่อกันว่ามันจะช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดคอเลสเตอรอล “เลว” และบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก นอกจากนี้ การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Ethnopharmacology ก็ยังเปิดเผยว่ามันมีสรรพคุณช่วยปกป้องระบบประสาทจากความแก่ชราหรืออาการบาดเจ็บต่าง ๆ ดังนั้น เป็นหนุ่มสาวก็ดื่มได้ประโยชน์ดีเช่นกัน
Tip : เปลี่ยนจากชาฝรั่งมาดื่มชาเก๊กฮวยกันบ้าง โดยนำดอกเก๊กฮวยแห้งแช่ในน้ำร้อนประมาณ 5 นาที ก็จะได้ชาเก๊กฮวยสีเหลืองที่หอมกลิ่นดอกไม้
5. แปะก๊วย
เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหับสุภาพสตรีที่กำลังเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากมันมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งอาจช่วยทำหน้าที่แทนฮอร์โมนที่ไม่สมดุลได้ นักวิจัยจึงเชื่อว่ามันมีสรรพคุณบรรเทาอาการของวัยของหลายอย่าง ได้แก่ โรคกระดูกพรุน โรคนอนไม่หลับ อัลไซเมอร์ และโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม การกินแปะก๊วย ก็อาจให้ผลข้างเคียง อย่างเช่น ท้องร่วง ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้อาเจียน เลือดไหลหรือผิวช้ำผิดปกติ หากมีอาการดังกล่าวก็ให้รีบไปพบแพทย์เสีย
6. เห็ดหอม
อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก วิตามินซี โปรตีน และใยอาหาร เห็ดหอมอยู่ในตำรับยาจีนมานานกว่า 6 พ้นปี โดยเชื่อว่ามันสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้เพราะมีสารชนิดหนึ่งชื่อว่า Letinan คอยต่อสู้กับเชื้อไวรัสต่าง ๆ มันอัดแน่นไปด้วย L-Ergothioneine สารต้านอนุมูลอิสระ และดีต่อหัวใจ เนื่องจากมันช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในเห็ดหอมมีสาร Purines หากกินมากเกินไปแล้วอาจทำให้มีการสะสมกรดยูริกจนเสี่ยงต่อโรคเกาต์ และนิ่วในไตอย่างมาก คนที่มีปัญหาไต หรือเกาต์จึงไม่ควรกินเห็ดหอม
7. เมล็ดบัว
เป็นแหล่งโปรตีน แมกนีเซียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส รวมถึงเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า L-lsoaspartyl Methyltransferase ซึ่งช่วยซ่อมแซมโปรตีนที่ถูกทำลาย นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อกันว่าเมล็ดบัวเป็นอาหารที่ช่วยชะลอความแก่ชราได้ในตำรับจีนเชื่อว่า รสหวานโดยธรรมชาติของเมล็ดบัวจะช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง และช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ทำให้นอนหลับสบาย ส่วนแกนของเมล็ดนั้นมีรสขมและมีฤทธิ์เย็น จึงดีต่อหัวใจ โดยการช่วยขยายหลอดเลือดและลดความดันโลหิต อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยมีสรรพคุณรักษาอาการท้องร่วง คนที่ท้องผูกจึงควรหลีกเลี่ยงเมล็ดบัวโดยเด็ดขาด
8. โสม
หากพูดกันถึงสมุนไพรจีนคงขาดโสมไปไม่ได้โสมแดงของจีนนั้นถูกใช้ในทางการแพทย์มาหลายศตวรรษ และในปัจจุบันก็ยังมีการใช้อย่างแพร่หลาย ในสมัยโบราณเชื่อว่าโสมเป็นยาอายุวัฒนะส่งเสริมปัญญาและความแข็งแรง แม้ว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม แต่การศึกษาจาก University of Maryland ก็ชี้ว่าโสมสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้จริง ช่วยลดคอเลสเตอรอลเลว และช่วยให้กระปรี้กระเปร่า อย่างไรก็ดี โสมไม่เหมาะกับคนที่เป็นความดันโลหิตสูง คนที่เป็นเบาหวาน สตรีมีครรภ์ และหญิงสาวที่กำลังให้นมบุตร
9. รากชะเอม
นอกจากใช้ในตำรับจีนแล้วยังสาวต้นตอไปได้ถึงสมัยโรมันซึ่งมีการต้มรากชะเอมเพื่อบรรเทาอาการไอ หอบ เจ็บคอ โรคปอดอื่น ๆ และเชื่อว่ามันจะช่วยชะล้างภายในลำไส้ได้ นอกจากนี้ ยังเหมาะกับผู้หญิงวัยทองเนื่องจากมันมีไฟโตเอสโตรเจนด้วย อย่างไรก็ตาม การกินรากชะเอมมาก ๆ ก็อาจทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่ควรกินพร้อมกับยาขับปัสสาวะ เช่นเดียวกับที่คนเป็นโรคเบาหวานกับโรคตับ ควรจะหลีกเลี่ยงรากชะเอมเหมือนกัน
10. เฉาก๊วย
ด้วยเหตุที่มันดำ แวววาว และเด้งดึ๋ง เป็นที่สุด คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยนึกถึงเฉาก๊วยในแง่ของสมุนไพรหรืออาหารเพื่อสุขภาพ เฉาก๊วยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Black Jelly หรือ Grass Jelly ซึ่งตัวมันเองเป็นอาหารที่มีธาตุหยิน หรือเป็นอาหารเย็นนั่นเอง ทำให้เหมาะจะกินในหน้าร้อน และบรรเทาอาการปวดท้อง คลื่นเหียน อาหารไม่ย่อย นอกจากนี้ ยังมีใยอาหารชนิดละลายในน้ำ ซึ่งอาจจับเอาน้ำตาลและไขมันออกมาได้ มันจึงช่วยป้องกันเบาหวานและโรคหัวใจได้อีกทางหนึ่ง (ตราบใดที่คุณไม่ใส่น้ำเชื่อมเยอะมากเกินไปละก็นะ)
Facebook Comments